เขาคนหนึ่ง - พิรุณ อนุสุริยา ผู้กำกับหนังคลื่นลูกใหม่เชื้อสาย ไทย-อุดร-จีน แรงบันดาลใจจาก 8½ ภาพยนตร์คลาสสิคจากผู้กำกับอิตาเลียน เฟเดรีโก เฟลลีนี ทำให้เขาสร้างงานภาพยนตร์ วันหมาหอนที่ค่ายลูกเสือหนังสยองขวัญจากตำนานสถานที่สุดเฮี้ยนออกมา แม้ได้รับเสียงวิจารณ์จนบางเพจรีวิวหนังให้ 0/10 คะแนน แต่เมื่อมองในแง่รายได้แล้ว พบว่าเป็นหนังไทยที่ได้กำไรเรื่องหนึ่ง ด้วยที่มาที่ไปน่าสนใจ เราชวนเขามาคุยในแบบคนอีสานเฮ็ดหนัง
.
แม้เขาจะย้ำตลอดช่วงพูดคุยว่า "อย่ามาขายความเป็นอีสานเพราะผมเป็นผู้กำกับหนังห่วยๆ เรื่องหนึ่ง ที่นักวิจารณ์ให้ 0 คะแนน "
.
เขาอีกคน- พี่โจวอ่ะครับ สื่อมวลชนอิสระ ผู้สนใจปรากฎการณ์ตั่งๆ (ต่างๆ) ในสังคมไทยและสะท้อนให้ณ๊องๆ (น้องๆ) ได้ซึมซับแนวคิด"ทวนกระแสในกระแสทวน" บทสนทนานี้เกิดขึ้นเพียงเพราะเขาต้องการสัมภาษณ์คนอีสานที่ดูล้มเหลวบ้าง เพราะรู้สึกว่าพวก The Isaander สัมภาษณ์คนที่ประสบความสำเร็จไปเยอะแล้ว
.
การพูดคุยที่ร้านลาบย่านห้วยขวางวันนั้น ยังมีสมานฉันท์ พุทธจักร บรรณาธิการ z-world.in นักทำสื่อจากอีสานตอนกลางอีกคน ร่วมถกเถียง และคอยสอดแทรกให้เนื้อหาที่ว่าด้วย คนทำหนังและวิถีอีสานร่วมสมัย นั้นสมบูรณ์แบบขึ้นมาด้วย
เป็นงานที่พวกเรา The Isaander แทบไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงนั่งฟัง จับจังหวะการเล่าเรื่อง หัวเราะกับเรื่องเล่าพวกเขา สั่งเครื่องดื่มที่พร่องไป และรอเวลา ค่อยๆ ถอดเทปกลั่นกรองเนื้อหาออกมาในที่สุด
.
พี่โจว : คำถามแรก ทำไมในหนังที่คุณทำต้องมี กะเทย ผี คนอีสาน ทำไมไม่เอาคนแคระ คนขาด้วนมาด้วย ?
พิรุณ : อันนี้ผมต้องตอบให้ดูฉลาด ใช่ไหมครับ
พี่โจว: ท้ายที่สุดอาจจะเป็นสูตรสำเร็จ ของอุตสาหกรรมหนังทุนนิยม ?
พิรุณ: แต่ก่อนผมเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ เอาตัวเองไปอยู่ในกองถ่ายหนังแบบอาร์ตๆ เลยนะ ไม่ขอเอ่ยชื่อละกันว่าเป็นหนังของใคร เคยอยู่ในกองหนังอาร์ตๆ ของคนทำหนังฝั่งประชาธิปไตย และคนทำหนังฝั่ง กปปส.
.
เราก็เห็นว่ามันมีความเอาคนเสื้อแดงมาเป็นเครื่องมือ สมมติพี่โจวเป็นคนเสื้อแดงใช่ไหม แล้วก็เห็นว่าภาพลักษณ์ของคนเสื้อแดงเป็นแบบนี้ แทนที่จะเล่าว่าคนเสื้อแดงเป็นยังไงตรงๆ ไม่เอา เอามาเป็นสัญญะทางการเมืองแล้วเอามาบิดให้มันดูลึกซึ้งมากกว่าที่เป็น จริงๆเสื้อแดงอาจจะ ไม่มีอะไรลึกซึ้งขนาดนั้นไง เขาจ้างกูมาม๊อบ กูก็มา แต่ว่าในหนังมันจะถูกทำให้เป็นภาพสะท้อนของการต่อสู้ของชนชั้น ผมก็เลยรู้สึก
"อิหยังวะ"
.
ดังนั้นพอมาทำหนังเรื่อง วันหมาหอนที่ค่ายลูกเสือ ผมเลยทำให้มันออกมาเป็นเรื่องพื้นๆ ของกองถ่ายหนัง แล้วในความเป็นจริงกองถ่ายหนังมันมีคนอีสานนะ เวลาคนอีสานเจอกันที่อยู่ในกองอ่ะ เขาสั่งให้ยกไฟ แบกสเตจ เขาก็พูดเป็นอีสาน แต่พอเจอผู้กำกับเขาก็จะพูด พี่สวัสดีครับ แต่ลับหลังเขาอาจจะพูดว่า " บักห่ามึง เอ้ย " อะไรแบบนี้ ก็เลยเข้าใจว่าเขาเป็นแบบนี้ ก็คือพอพูดออกสื่อด้วยกันเขาจะใช้ภาษาพูดเป็นภาษากลาง แต่เวลามันบ่นมันตกใจกลัวผีอะไรแบบนี้ เขาจะพูดเป็นภาษาอีสาน(หัวเราะ)
.
ส่วนกะเทย อันนี้ไม่ได้เป็นความตั้งใจ คือนายทุนเขาบอกว่าเอากะเทยคนนี้ให้มาเล่น ผมเลยอ่ะ งั้นเอามาเล่นก็ได้ ก็คือบุ๊กโก๊ะ ซึ่งเขาเป็นคน Nice มาก สั่งอะไรก็ทำได้ตามขอบเขต ไม่โวยวาย แต่เราก็ไม่รู้จะเอามาเล่นบทอะไรก็เลย เอามาเล่นเป็นตัวเองซะ นั่นคือบุ๊คโกะเล่นเป็นดาราที่ชื่อบุ๊คโกะ แต่เป็นดาราเรื่องเยอะ เป็นดารารับเชิญในกองถ่าย แล้วโดนคนในกองถ่ายแกล้ง แกล้งไปแกล้งมาก็เลยรู้สึกแบบมึงแกล้งกูเกินไปแล้วนะ มันก็ไม่พอใจมันก็โวยวาย แล้วมันก็เกิดเหตุการณ์บานปลายในหนัง
.
The Isaander : (แทรก) วันหมาหอนที่ค่ายลูกเสือใช้งบไปเท่าไหร่ ?
.
พิรุณ : นายทุนบอกว่า หลักล้านบาท ซึ่งไม่รู้เลยจริงๆ ว่าใช้หมดหรือเปล่า สถานที่ใช้สถานที่จริง ที่จังหวัดระยอง ซึ่งคาดเดาว่าน่าจะไม่ได้จ่ายค่าสถานที่ มีแค่ทีมไฟที่เป็นมืออาชีพแต่ว่าเป็นทีมไฟราคาถูกนะ ส่วนตัวโปรดิวเซอร์หลักที่ทำผมเคยทำงานด้วย (เรื่องก่อนหน้านี้) เขาไม่มาร่วมงานกับผมแล้ว เลยไปหานักเรียนฟิล์มป.โทมาเป็นโปรดิวเซอร์แทน ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเพราะ จะได้ไม่ต้องใช้เงินเยอะ เพราะการจ้างโปรดิวเซอร์มืออาชีพมามันแพง
.
พี่โจว: ค่าตัวคุณได้เท่าไหร่ในการกำกับหนังเรื่องนี้ ?
พิรุณ : ค่าตัวนี่จ่ายผมไม่ครบ รวมสองเรื่องกับก่อนหน้าผมนับได้ประมาณ แสนกว่าบาท ตอนนี้ยังไม่จ่ายและผมคิดว่าเขาคงไม่จ่าย
พี่โจว: รวมแสนกว่าบาท แล้วเขาจ่ายก่อนหน้าไปเท่าไหร่ ?
พิรุณ: ผมจำตัวเลขที่จ่ายไปแล้วไม่ได้จริงๆ ประมาณห้าหมื่นมั้ง แต่ที่ค้างอยู่ประมาณแสนหนึ่ง อันนี้ยังไม่รวมว่าหนังได้กำไรเท่าไหร่แล้วมาแบ่งเปอร์เซ็นอะไรแบบนี้นะ อันนี้เฉพาะค่าตัว ยังไม่ได้ ยังได้ไม่ครบ อย่างตอนเอาไปฉายที่เขมร หรือพม่าหรือลาว ที่ไหนอีกบ้างก็ไม่รู้ มันต้องได้เงินดอลลาร์มาก้อนหนึ่ง พูดง่ายๆ สมมติพี่โจวจะทำหนังเรื่องหนึ่ง
.
พี่โจวเพลย์เซฟด้วยการคิดทุนสร้างไว้ก้อนหนึ่ง แล้วคิดเลยว่า ไปขายต่างประเทศ สมมติไปขายเขมรตรงนี้ ไปขายพม่าตรงนี้ คุ้มทุนแล้ว ขายเมืองไทย ยังไงก็คือกำไร นี่คือหลักคิดของนายทุน
ผู้ร่วมวงสนทนา: แล้วมันไปขายต่างประเทศได้ชัวร์ขนาดนั้นเลยเหรอ ?
พิรุณ: มันเป็นเรื่องคอนเนคชั่นด้วย และอีกอย่างเทียบกันด้วยเรื่องคุณภาพหนังไทยกับหนังประเทศนั้นๆ ยังต่างกันมาก เขาเลยต้องซื้อเรา ละครไทยคนลาวยังดูอยู่ทุกวันนี้
.
พี่โจว: คือคุณก็ดูหนังอินดี้ หนังอะไรมาเยอะ ทำไมต้องมาทำวันหมาหอนที่ค่ายลูกเสือ อยากพิสูจน์ตัวเองว่าแมส ความคิดของตัวเองดี เราจะสอดแทรก คาฟคา สอดแทรก ชิเช็ก หรือเอาเควนติน ทารันติโน เข้าไปในหนังบ้าง ?
.
พิรุณ: พี่โจวอย่าไปคิดแบบนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนทำหนังอาร์ต หรือคนเป็นผู้กำกับ บางทีเราก็เลือกไม่ได้ เราอยากมีงานทำ เขาให้ทุนเรามาทำเรื่องหนึ่ง แล้วเราจะไปบอกว่า เฮ้ย! พี่ให้ทุนผม ผมจะทำชิเช็คเว้ย ไม่ให้ ผมก็จะไม่ทำ เราเลือกไม่ได้แบบนั้น แต่คือว่าเขาจะเดินมาเลย ถ้าเราไม่ทำ เขาก็จะเอาไปให้คนอื่นทำ สมมติพี่อยากชิเช็คมากเลย อยากเก๋มากเลย แต่นายทุนบอกกูมีงานลาวๆแบบนี้ให้มึงทำ ถ้ามึงไม่ทำกูให้ไอ้โจวทำนะ แบบนี้เอาไหมล่ะ เราอยากได้งาน เราก็ต้องทำ
.
พี่โจว: พูดถึงผู้กำกับทางอีสานบ้าง ประเด็นการเลือกทำหนัง คนอย่างเจ้ย อภิชาติพงศ์ เขาเลือกได้ อย่างคุณนี่ถือว่าเป็นปลายแถวไหม ?
พิรุณ: ถ้าพี่เอาคนอีสานอย่างเจ้ย มาเปรียบเทียบ มันก็เหมือนกับคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว กับผู้ชายต้อยต่ำ
.
พี่โจว: นี่รับจ้างสัมภาษณ์ให้ Isaander ปกติเขาจะไปสัมภาษณ์คนอีสานที่ประสบความสำเร็จ แต่นี่คือสัมภาษณ์คนที่ล้มเหลวไง ?
พิรุณ: ไม่ใช่ๆ ตอนผมทำวันหมาหอนที่ค่ายลูกเสือเสร็จ อันนี้อย่าหาว่าขี้โม้นะ ผมทำเสร็จ ผมรู้ว่าผมแน่กว่าผู้กำกับหนังอาร์ตชื่อดังอีก อันนี้พูดเรื่องจริง ความรู้สึกตอนนั้นผมโพสต์เฟซบุ๊กด้วย เพราะผมรู้สึกว่าผมมีเงินเท่านี้ ผมมีทรัพยากรเท่านี้ ผมทำเสร็จได้ขนาดนี้ละ มันจะลึกซึ้งไม่ลึกซึ้งอะไรก็ช่างเหอะ แต่ทำได้แล้วไง เอาผู้กำกับชื่อดังมาทำ ก็ทำแบบผมไม่ได้ เข้าใจไหม
.
พี่โจว: จากที่ดูหนังเกรด A และใฝ่ฝันจะทำแบบนั้น สมมติทำแบบ Mr.Zero(ชื่อภาษาไทยว่า คนหมายเลขศูนย์-กำกับโดย นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ และชวัลรัตน์ รุ้งแสงเจริญทิพย์ ได้รางวัลดุ๊ก (ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม) ปี 2016) ได้รางวัล วันหนึ่งต้องลดระดับมาทำเกรด B หรือหนังแมส รู้สึกยังไง ?
.
พิรุณ: ตอนแรกก็คิดชั่งใจ แต่ก็อยากทำ มารู้สึกบ้างตอนที่เขาเริ่มด่าหนัง คือเราไม่รู้หรอกตอนทำเสร็จ แต่ก็โดนถล่มหนักจากทั้งนักวิจารณ์หรือเพจเฟซบุ๊กต่างๆ ถ้าเป็นเพลงซีเปีย นี่คงอารมณ์แบบ กูไปฆ่าพ่อมึงหรือ อะไรแบบนี้ แต่ก็ไม่ได้ว่าหรอก เขาด่าก็ด่าได้ ข้อดีอย่างหนึ่งคือมันยังมีคนดู อาจจะพูดปลอบใจตัวเองก็ได้คือ มีคนดู ได้เงิน ก็ยังโอเค ดีกว่าไม่มีใครพูดถึงมันเลย
.
ผมก็เห็นคลิปในยูทูปพูดถึงหนังผมเหมือนกัน หนังมึงเหี้ยมาก ส้นตีน ถามความรู้สึกก็คือเศร้า แต่ก็ยังดีกว่าไร้ตัวตน แต่ที่เจ็บใจในเรื่องนี้ที่สุดคือ มันไม่ได้ตังค์(ค่าจ้าง) พูดกันในแวดวงทำหนัง เขียนบทเรื่องหนึ่งบางคนได้สามแสนนะ ผมกำกับด้วย เขียนบทด้วย ทำสองเรื่อง ยังได้ไม่ถึงแสนห้าเลย และได้ไม่ครบด้วย
.
พี่โจว: แบบนี้ทำให้คุณท้อไหม กับการทำหนังไทย บางคนเอากล้องดิจิตัลตัวเดียว ทำแล้วโด่งดังก็มี คุณต้องไปรับใช้นายทุน มีกองถ่ายหนัง ดูนักแสดง หรือจัดการอะไรต่างๆ เจ็บตัวมากที่สุดแล้วในหนังเรื่องนี้ ?
.
พิรุณ: มีคนเจ็บตัวมากกว่าผม เสียความรู้สึกมาก คนๆ นั้นถึงกับร้องไห้ในกองถ่ายเลย คือถ้าพูดถึงกองถ่ายหนังของไทย มันยังไม่ได้เป็นอุตสาหกรรมแบบฮอลลีวู้ด ที่มีการจ้างงาน มีการเซ็นสัญญาชัดเจน แต่ของไทยมันมีลักษณะคำว่า ช่วยๆกันหน่อย ซึ่งเป็นคำที่แย่มาก และส่วนใหญ่ไม่ได้ตังค์ด้วย
.
พี่โจว: บทสัมภาษณ์นี้จะเรียกร้องสิทธิ ให้พวกกองถ่ายหนัง คนทำหนังสักหน่อยบ้างไหม ?
.
พิรุณ: เรื่องขัดแย้งของนายทุน ผู้กำกับโปรดิวเซอร์ บางทียังดูเป็นสิ่งเล็กน้อย ถ้าเทียบกับเรื่องสวัสดิการในกองถ่าย อย่างเช่นช่างไฟหรือฝ่ายแบกหาม มันเทียบได้กับงานกรรมกรเลยนะ แล้วก็ความปลอดภัยไม่มี สมมติวันหนึ่งน๊อตหลุดแล้วเครนตกใส่หัวอย่างนี้ ก็ตายสิ ก็แค่หาคนใหม่ อันนี้ไม่ได้ปิดบัง มันเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมหนังไทยจริงๆ ถ้าคุณเป็นช่างไฟ จัดไฟอยู่แล้วฝนตก ก็ต้องจัดให้ได้ ถ้าไฟดูดแล้วตาย ก็ตายไง ก็หาคนใหม่เฉยๆ เป็นอย่างนี้มันน่าเศร้า
.
พี่โจว: มันเป็นความเหี้ยม ตอนคุณเป็นผู้กำกับคุณเหี้ยมแบบนี้ไหม ?
พิรุณ: : ก็ไม่ถึงขั้นนั้น เพราะงานถ่ายหนังมันต้องทำทุกวัน แล้วเงินที่ครอบคลุมมาถึงความปลอดภัยคน มันไม่ได้มีมาก แล้วก็รู้สึกว่าเราทำกับเขาเหมือนคนงานก่อสร้าง เราจะได้ยินเรื่องอุบัติเหตุการตายจากงานก่อสร้างบ่อยๆ มันก็เหมือนๆ กันเลย ประเด็นมันอยู่ตรงนี้มากกว่า ซึ่งการถูกดูแล ถูกให้ความสำคัญระหว่างคนงานระดับนี้จะต่างจากดารามาก
________________________________________________
พิรุณ: พี่โจว ยังไม่รู้ วงการหนังไทย เป็นวงการที่โกงกันเยอะมาก เช่น กรณีมีคนมาบอกให้เราทำหนัง บอกว่าหาเวลา หารอบฉาย ที่คานส์ไว้แล้ว เห็นคนนั้นคนนี้มันดังไหม เราจะดังและรวยเหมือนมัน คือเป็นการขายฝันด้วยแหละ เด็กจบใหม่ๆ จะโดนหลอกเยอะมาก ไปหว่านล้อม ไปบอกว่าเดี๋ยวพี่จะทำให้น้องเป็นแบบนี้ แบบนั้น น้องจะดัง น้องจะรวย แล้วเด็กมันจะรู้อะไร มันไม่เคยทำงาน จู่ๆ จะได้เป็นผู้กำกับ ได้ไปยืนสั่งคนอื่น ทำไมจะไม่เอา
.
พอโดนดึงเข้ามาปั๊บ อ่ะ! มึงเขียนบทมา เอ๊ะ ! พี่ว่าร่างแรกมันยังไม่ดีว่ะ ทำไปแก้ไป สักพักเด็กทวงถามว่าเมื่อไหร่จะได้ทำสักที คนพวกนั้นก็จะบอกว่า บทมันยังไม่ดีน้อง อย่างโน้นอย่างนี้ หาข้ออ้างชักแม่น้ำทั้งห้าใส่ เช่นประโยคที่ว่า รู้ไหมว่าเงินมันไม่ได้หาง่ายๆ นะรู้เปล่า อดทนหน่อยสิ อดทนหน่อย อะไรประมาณนี้ สุดท้ายกลายเป็นว่าเด็กที่พกความฝัน ความหวังว่าจะได้ทำหนัง กลับถูกหลอกใช้ ไม่ก็หลอกเอาบทไปขาย หรือหลอกให้ทำจ๊อบอื่นที่เงินน้อยกว่า
.
มีแบบหนึ่งที่เลวร้ายพอกัน คือคนบางจำพวกที่ไปหากินกับพวกนายทุน สมมติพี่โจวเป็นนายทุนต้องการมีหน้าตาในสื่อสาธารณะ ผมเป็นโปรดิวเซอร์ ที่ต้องการทำมาหาแดกกับพี่โจว ก็จะชวนมาทำหนัง แล้วขายว่า พี่จะได้ออกสื่อกับดารา ได้เดินพรมแดง ได้ไปงานสุพรรณหงส์ ก็ขอเงินไปทำก้อนหนึ่ง แล้วมันหายไปสักพัก พี่ก็รู้สึกไม่ดีเลย เงินตั้งเยอะ เลยโทรไปทวงว่า เอ๊ะ! เมื่อไหร่หนังเอ็งจะเสร็จ ก็บอกว่าติดขัดนู่นนี่แล้ว ดึงเช็ง หลังๆ ก็ไม่รับสายเลย
ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ถ้าไปถามคนทำหนังคนอื่นเขาไม่บอกหรอก แต่เป็นเรื่องธรรมดามากในแวดวง แต่เราพูดในที่นี้คนดีๆ ในวงการมันก็มีเหมือนกันนะ เป็นเรื่องธรรมดาที่มีดีมีแย่
.
พี่โจว: แล้วอยากให้กำลังใจอะไรคนทำหนังอีสานไหม ?
พิรุณ: ตอนนี้วงการหนังอีสานน่าจะป๊อปสุดแล้ว เอาไอคอนแรกเลย อย่างพวกทำหนังไทบ้านเดอะ ซีรี่ย์ เราต้องยอมรับว่าหนังจากภาคอื่นมันก็มี แต่ก็ไม่ป๊อป อย่างหนังเรื่องเทริด หรือมหาลัยวัวชนของทางใต้ ซึ่งสิ่งที่คนทำหนังยุคนี้ควรต้องตระหนักรู้คือ คนที่ดูหนังทุกวันนี้ไม่ใช่คนรุ่นผู้ใหญ่ แต่เป็นวัยรุ่น คนที่จะเสียเงินเข้าโรงหนังส่วนมากคือคนกลุ่มนี้ กลุ่มนี้เป็นนักศึกษา ไม่ได้หาเงินเอง ได้ตังค์จากพ่อแม่ ก็เอามาซื้อความผ่อนคลายผ่านการดูหนัง ซึ่งถ้าเราทำหนังเจาะกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นได้ น่าจะรวย
.
พี่โจว: ความสำเร็จของหนังไทบ้านคืออะไร ?
พิรุณ: มันเข้าถึงคน มันไม่ได้พยายามครอบคนด้วยทัศนคติอะไร มันเล่าด้วยความจริงใจ อย่างเราเห็นหนัง GDH มันก็จะครอบงำทัศนคติเราด้วยคนเมือง ชนชั้นกลาง แต่มันไม่มีเสียงของคนแว๊นซ์รถ หรือแบบ จาลอด ในไทบ้านเดอะซีรี่ย์ มันยังมีตัวละครที่มีเซ็กส์กลางทุ่งนา มันอาจจะดูอ่อนไหวในความคิดผู้ใหญ่ แต่ความจริงมันเป็นแบบนั้นไง เด็กเขาก็จะหาหนังที่มันพูดภาษาเดียวกับเขา
.
พี่โจว: แล้วจุดอ่อนคือไร ?
พิรุณ: มันขายวัฒนธรรมคนต่างภาคมากไม่ได้ มันขายคนรุ่นที่โตเลยวัยนั้นไปแล้วไม่ได้ เพราะเขาจะมองว่าในหนังมันทำอะไรของมันวะ
.
ขณะที่วัยรุ่นคนเมือง วัยคนออฟฟิศเขาสามารถดูหนังแบบ Friend Zone ดูรู้เรื่องนะ แต่พวกเสพงานของไทบ้านอ่ะ มันไม่ได้อินกับความแอบรักเพื่อนแล้ว เขาไปถึงขั้นเย็ดกันแล้ว จะมาเฟรนด์โซน งี่เง่าอะไรวะ ไม่ได้อินกับการไปต่างประเทศแล้วก็รักกัน คือมันพาฝันสำหรับคนชั้นกลาง
.
พี่โจว : คนอีสานคือ เจอกันในสถานีอนามัย แล้วมา ต๊าบๆๆ กันเลยหรือเปล่า ?
สมานฉันท์: มันไม่เคยมีในภาพจำของคนอีสาน พี่เคยเห็นหนังชาวนาเย็ดกันไหม เย็ดกันบนเถียงนา มันไม่มีน่ะ หนังฮอร์โมนก็เป็นฮอร์โมนของคนกรุงเทพอ่ะ สมัยเด็กเราไม่ได้มีประสบการณ์แบบนั้น ขับมอเตอร์ไซด์เป็นแก๊งๆ เปิดโรงแรมไกลๆ ไว้เย็ดกันอะไรประมาณนี้
.
พิรุณ: แต่โมเดลแบบไทบ้าน มันมีข้อดีอย่างคือ การที่คนอย่างจาลอด หน้าตาแบบนี้ ทรงผมแบบนี้ ไปอยู่ในหนัง GDH คงเป็นได้แค่ตัวประกอบ พอมาอยู่ในหนังไทบ้านนี่ เลยเป็นที่ยืนของเขาไปเลย เพราะบางทีคนหน้าตาไม่ดี ก็มีเมียสวยไง แต่จุดสำคัญของเรื่องคือต้องทำนางเอกให้สวยนะ ถ้านางเอกหน้าเหี้ย หนังก็เหี้ยไปด้วยเลยนะ
พี่โจว: พระเอกหน้าอีสานได้ แต่นางเอกต้องเสริมดั้งมาหน่อย ?
พิรุณ: ต่อให้เราพูดกันว่า อีสาน Natural เท่าไหร่ เราก็ยังครอบกันด้วยกรอบแบบหนึ่ง เราต้องการนางเอกสวยไง
คือตอนนี้ถ้าเราตั้งโจทย์หนังอีสาน ต่อให้ทำหนังแบบ แหยม ยโสธร ออกมา มันก็ Out ไปแล้ว มันขายไม่ได้แล้ว มันต้องพาฝันคนระดับหนึ่ง ต่อให้เราสะท้อนความจริงแค่ไหน ก็ต้องพาฝัน พาคนออกไปจากโลกความเป็นจริงได้บ้าง เพราะในความดิบเรียลทั้งหลายของไทบ้าน ใจความมันก็ยังเป็นหนัง Rom-Com (โรแมนติคคอมเมดี้) อยู่ดี
.
คือชีวิตจริงเราไม่สามารถมีเมียสวยได้ เราเลยต้องการเติมเต็ม เราเหมือนบักจาลอด ที่เฝ้าฝันว่าจะมีผู้หญิงสวยโปรไฟล์ดีให้เลือกได้ตั้งสองคน ความดีงามของไทบ้านอีกอย่างคือ เขาพยายามแทรกวัฒนธรรมผ่านหนัง ตอนแรกอาจจะดูเป็นหนังตลก แต่เขามีจุดมุ่งหมายบางอย่างที่อยากเล่า แต่ต้องทำเป็นตลกไปก่อน เพราะไม่งั้นจะขายไม่ออก และเด็กๆ ที่อินก็เพราะมันอยู่ในยุคสมัยของเขา เขามีแฟนกันแบบนี้ เคยแว๊นมอเตอร์ไซด์ไปเย็ดกันแบบนี้ เคยเลิกกับแฟนแบบนี้ เคยคิดถึงแฟนเก่าแบบนี้ มันเป็นเรื่องร่วมสมัยของสังคมอีสาน เขาเลยอินกับมันง่าย
.
พี่โจว: พูดถึงความรักในอีสาน มีคนใน Isaander กำลังเขียนเรื่องเมียฝรั่ง แต่ผมไปสนในคนหนึ่ง คนเดนมาร์ก ที่เขาให้สัมภาษณ์ว่า อย่าไปตัดสินความรักของเขา ระหว่างเมียคนอีสานกับฝรั่ง เรื่องรักเพราะให้เงิน ?
.
สมานฉันท์: ก็มันเรื่องจริงนี่พี่ เรื่องจริงเปล่า บ้านผมมันมีบริษัทหาเมีย หาผัวฝรั่ง เศรษฐกิจของอีสานก็ผลักดันให้คนเหล่านี้ออกมาทำสิ่งแบบนี้ด้วย ถึงที่สุดถ้าเขารักกันด้วยเงินมันก็ไม่ได้ผิดนะ
พี่โจว: งั้นเราจบกันเรื่องนี้ก่อน
พิรุณ: เห็นว่าพี่โจว สนใจพวกโอเคร้านลาบ กับปรีปรัมมุย อยู่ช่วงหนึ่ง ?
พี่โจว: นั่นไม่ใช่อีสาน ออกแนวเขมรไปเลย ตอนนี้กำลังรวบรวมน้องๆ สายอินดี้ ไว้ล้อเลียนพวกทำหนังอาร์ตเท่ๆ
_________________________________
พี่โจว: คุณรู้สึกน้อยใจบ้างไหม ที่เป็นคนอีสานแต่พูดอีสานไม่ได้ อยากทดแทนบุญคุณอะไรคนอีสานบ้างไหม ?
พิรุณ: พูดตรงๆ ผมรู้สึกว่า ผมไม่ใช่คนอีสาน ผมเป็นคนเจ๊ก คนในเมือง แต่ถ้าไปเจอคนอื่นในภูมิภาคอื่น ถ้าเขาบอกว่า มาจากอุดรฯ เหรอ ทำไมพูดลาวไม่ได้ อ้าว! ไอ้เชี่ย ก็กูพูดไม่ได้ จะให้กูทำไง แต่ฟังออกนะ ที่บ้านไม่ได้พูด
.
พี่โจว: เสียใจไหมที่เป็นคน อีสาน ที่เขาเอ็นดูเรามากเป็นพิเศษ ?
พิรุณ: ไม่เคยเจอนะ
พี่โจว: เพราะนักประชาธิปไตยเขาจะเอ็นดูภูมิภาคนี้เป็นการพิเศษ ?
สมานฉันท์: มันจะมีบางกลุ่มที่เชื่อการปลดแอกของความเป็นคนลุ่มน้ำโขง ทั้งที่ เอาเข้าจริงทุกภูมิภาคก็มีคนแบบนี้อยู่ มันมีกบฏผีบุญ แต่มันก็มีกบฏเงี้ยว กบฏหะยีสุหลง เรายกย่องกันเกินไปว่าอีสานเป็นกบฏกว่าภาคอื่น ทั้งที่ภาคอื่นก็มีเหมือนกัน
.
พิรุณ: แต่มันมีบางคนที่คิดว่า คนภูมิภาคอีสานต้องหน้าตาบล็อกเดียวกัน ต้องหน้าตาเหมือนหม่ำ จ๊กมก บางทีผมไปเจอเพื่อน เจอผู้หลักผู้ใหญ่ บอกว่ามาจากอุดรฯ ครับ เขาตอบว่า หน้าไม่เห็นเหมือนคนอีสานเลย เราก็จะงงว่า กูต้องหน้าเหมือนหม่ำเหรอ แสดงว่าเขามีภาพจำว่าคนอีสานต้องมีโหนก มีกราม ดั้งหักอะไรแบบนี้ป่าววะ
สมานฉันท์: แล้วคนอีสานเป็นคนตลกจริงไหม ?
พิรุณ: ตลก จริง
สมานฉันท์: มันมีข่าวหนึ่งที่ คำรณ หว่างวังศรี ไปทำที่ภาคอีสาน แล้วไปเจอคนงานมาจากใต้ ก็แซวเขาว่า ระวังโดนวางระเบิดนะ อย่ามาวางระเบิดแถวนี้นะ ก็เป็นดราม่า ช่วงหนึ่งในพันทิป แต่มันสะท้อนว่า ทัศนติเขามองคนใต้เป็นคนโหดร้าย ส่วนคนอีสานเป็นคนตลกที่พูดแซวได้ คนภาคเหนือถูกมองว่าขายตัวงี้ คือทุกภูมิภาคทั่วโลกมันมีเรื่องสเตอริโอไทป์อยู่ คนไอริชเป็นคนขี้เมางี้
______________________________________
พิรุณ: พูดถึงการทำหนังกับการลงทุน เวลาทำหนังเขาคิดต้นทุนทุกอย่างไว้หมดแล้ว ว่าจะเอาใครมาแสดงหรือต้นทุนเท่าไหร่ อย่างเอาซันนี่มา สมมติจ้างมาสามล้าน เขาต้องคิดแล้วว่าต้องได้คืนแน่นอน สังเกตง่ายๆว่าอย่างค่าย GDH เขาแทบไม่เอาดาราโนเนมมาแสดงเลย เพราะการเอาดารามามันต้องคำนึงถึงเรื่องกระแส ความดึงดูดต่อกลุ่มคนดูว่าเอามาเล่นแล้วเขาอยากจะดูไหม คือกลุ่มคนพวกนี้เขามาจากสายหนังโฆษณา เขาก็มีกลยุทธ์มีการสำรวจตลาดไว้แล้ว เนื้อเรื่องแบบไหนจะเหมาะกับคนแบบไหน หรือจะเปลี่ยนแปลงการรับบทบาทของดาราให้น่าสนใจยังไง เขาวางไว้หมดแล้ว
.
พี่โจว: เพื่อทำเงิน ?
พิรุณ: เพื่อทำเงิน อย่าลืมว่ามันคือพาณิชย์ศิลป์ ลงทุนไปแล้วมันต้องได้อะไรกลับมา แต่ว่าอย่างเราไม่ได้เท่ขนาดนั้นหรอก เราไม่ได้มีการวางแผนขนาดนั้น เราคิดแค่ว่า โอ้วกูได้เรื่องมาแล้ว ได้เรื่องของค่ายลูกเสือมาทำ มันเฮี้ยน มันดัง มันน่าขายได้
.
พี่โจว: ทำไมนายทุนเรื่องนี้ต้องเลือกคุณ ?
พิรุณ: ก่อนหน้านี้มันมีโปรเจคหนึ่งมาก่อน แล้วผมทำกับเขา หนังแมสๆนี่แหละ หนังที่บอกว่าเอาชีวิตสมา (สมานฉันท์ - หนึ่งในผู้ร่วมบทสนทนา) มาทำ พอเสร็จเรื่องนั้นก็ว่างอยู่ครึ่งปี แล้วจังหวะได้มาเจอเรื่องของคุณหมี(หมี เพื่อนผี นักเล่าเรื่องผีขวัญใจแฟนรายการ The Ghotst Radio)ที่เขากำลังจะเอามาทำหนัง แต่อาจจะเป็นทุกขลาภก็ได้ที่ได้มาเจอกันแบบนี้ (คุณหมีเจ้าของต้นขั้วเรื่องวันหมาหอนที่ค่ายลูกเสือ)
.
พี่โจว: ทำไมเขาต้องโปรคุณหมี ?
สมานฉันท์: เขาดังจริงนะ เป็นเซเลปเรื่องผี
พิรุณ: ไม่ต้องโปรโมทอะไร แค่รู้ว่าค่ายลูกเสือ คนที่ตามเรื่องนี้ก็แทบจะฮือฮาแล้ว อย่าลืมว่าคนไทยเป็นคนที่ชอบฟังเรื่องน่ากลัวอยู่แล้วไง ยิ่งเรื่องนี้มันมี สถานที่จริง มีรูปปั้น มีเรื่องเล่า แล้วมันมีทั้งคนไปลองของมาก่อนหน้านี้ด้วย ด้วยปัจจัยหลายๆอย่างมันก็มีผลให้ทำเงินได้สองล้านแหละ หนึ่งคนรู้จัก สองมันเป็นเรื่องที่ดังที่สุด และบังเอิญคุณหมีก็ยอมมาเล่นด้วย
.
พี่โจว: ตอนแรกคนคาดหวังว่าอาจเป็นแบล์วิช โปรเจค เลยประมาณนี้ไหม ?
พิรุณ: คนคาดหวังแบบเนื้อเรื่องธรรมดา คือมีผีลูกเสือ มีผีที่วิ่งขึ้นมาจากน้ำ ไปชนกับข้าวแตก แต่พอคนไปดูปุ๊ป ไอ้เชี่ยแม่งแบล์วิช ? แถมยังไปล้อเลียนเขาอีก
คือความตั้งใจแรก นายทุนเขาบอกว่า เฮ้ยพวกเรา เราไปสถานที่จริงกัน เอากล้องไปถ่าย เจอผีก็เจอ ไม่เจอเดี๋ยวก็ไปว่ากันอีกที (แต่คือมั่นใจมากว่าต้องเจอดี) พูดแค่เนี้ย ตอนแรกเราฟังก็คิดว่า ไปถ่ายวีดีโอเหรอ มันจะเป็นหนังได้ไงวะ คือนายทุนเขาไม่ได้พูดเลยว่าเราจะทำหนังโดยอิงจากเรื่อง เพียงแต่พูดว่า เดี๋ยวเราจะไปสถานที่นี้ ทำหนัง เจออะไรก็ถ่ายเลย ซึ่งเราก็เอา
.
ตอนหนังฉาย ผมไปนั่งอยู่ในโรงหนังที่อุดรฯ เป็นโรงแถวชานเมือง เจอคนข้างๆบ่น หนังไม่สนุกเลย แต่คนชมก็มี ดูจบ เห็นเดินมาคุยข้างนอก เขาพูดถึงการตระหนักว่าถ้าหลงอยู่ในป่าแบบนั้นจะทำยังไง
The Isaander: ความน่ากลัวของหนังเรื่องนี้คืออะไร ?
พิรุณ: ก็คือเวลาอาถรรพ์มันเล่นงานเรา อย่าง แอนนาเบล์เขาจะเดินเรื่องแบบนึง คือให้ตัวละครเดินไปมืดๆแล้วเจอผี แต่นี่เป็น Candid หลอกให้เราเชื่อว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเป็นความจริง
.
พี่โจว: คนจะไปดูหนังคุณเพิ่มอีกแสนคน จากบทสัมภาษณ์นี้
พิรุณ: มันไม่มีคนลงยูทูปเรื่องนี้ไง นายทุนเขาก็ไม่ได้ทำแผ่นเรื่องนี้
กลับไปเรื่องโรงหนัง คือเรื่องวันหมาหอนที่ค่ายลูกเสือมันยังอยู่ได้ตั้งสามอาทิตย์นะ อย่างแรกคือมันมีกระแสพูดถึง คือตอนนี้อุตสาหกรรมการทำหนัง ไม่ได้อยู่กับคนทำหนัง มันอยู่กับโรงฉายหนัง ซึ่งมีอยู่แค่สองเจ้า
.
ถ้าพี่โจวเอาหนังมาฉายแล้วกระแสไม่ดี ตอนแรกผมอาจจะให้หนังพี่ สามรอบต่อวัน หลังๆอาจจะเหลือรอบเดียวแล้วเหลือตอนบ่ายสอง เหลือตอน 11 โมง ใครจะมาดูหนังพี่วะ ?
จากนั้นก็อยู่ได้เต็มที่อาทิตย์เดียวแล้วก็หายไป หนังอีสานอิสระหลายเรื่องถูกลืมไปจากความจำของคน ล่าสุดหนังอย่าง หน้าฮ่าน ที่เป็นหนังอินดี้ ถ้ากระแสไม่แรงพอโรงหนังก็ไม่เอาแล้ว อย่างไทบ้านฯ ยังพอไหว แต่ถ้ามาแบบโนเนม ดาราก็ไม่ขาย เนื้อเรื่องชนชั้นกลางก็ไม่ดู วัยรุ่นก็ไม่ดู เขาก็จะไล่ไปไกลๆเลย เรื่องอะไรที่เขาจะเอาโรงที่เสียบอเวนเจอร์ได้มาให้คุณวะ อันนี้พูดกันตามตรงนะ
.
The Isaander : เคยได้ยินมาว่า บางเรื่องสองวัน ก็หลุดจากโรงแล้ว ?
พิรุณ: ใช่ หนังเข้าวันพฤหัส ถ้าวันศุกร์เงียบ วันเสาร์อาทิตย์เละปุ๊ป คือจบละ แล้วคิดดูคนทำหนังนั้นลำบากรากเลือด ฉายได้สามวัน โคตรเศร้าเลย
.
ที่เราอยู่ได้สามวีก ส่วนหนึ่งเพราะกระแสด่าด้วย คนเลยอยากรู้ ส่วนหนึ่งคนต่างจังหวัดก็ดู คนต่างจังหวัดที่ไม่ได้เล่นอินเทอร์เน็ตนะ แล้วเขาไม่ได้มาสนใจฟีดแบ็คในโลกโซเชี่ยล เขาไม่ได้อ่านเพจรีวิวหนัง แล้วพวกได้เงินคือพวกสายหนัง สมมติว่าพี่เป็นคนทำหนัง พี่ขายให้สายหนังสายอีสาน ที่เขาครอบคลุมพื้นที่อีสานทั้งหมด รายได้มาจากกรุงเทพ กับเชียงใหม่
.
สมมติได้สองล้านสามแสน แบ่งกับโรงคนละครึ่ง เหลือหนึ่งล้านหนึ่งแสนห้าหมื่น ยังไม่รวมหักค่าอะไรจากโรงหนัง แต่ถ้าเป็นอีสาน คือการขายขาดเลย สมมติเขาซื้อหกหมื่น เขาจะไปฉายกี่รอบ กี่วีกเขาก็รับเละ แต่คนทำหนังได้เงินแค่หกหมื่น พวกสายหนังน่ะรวย ยิ่งเอาไปฉายกลางแปลงได้อีกด้วย
.
พี่โจว: ขณะที่คุณก็เคยวิจารณ์หนังมาเหมือนกัน ตอนหนังวันหมาหอนที่ค่ายลูกเสือออกไป แล้วคุณโดนเพจวิจารณ์ให้ 0 คะแนน หน้าคุณเสียไหม ?
พิรุณ: ก็มีเพจดังๆด่าเยอะ และคนแชร์เป็นหมื่น แต่ในจุดนั้น รู้สึกแค่ว่า แม่ง เมื่อไหร่ กูจะได้เงินวะ ส่วนเรื่องบทวิจารณ์ตามเพจ ความรู้สึกแรกคือโกรธอยู่แล้ว แต่ก็ตอบโต้นะ บางเพจใหญ่เขาก็ไม่ได้โปรโมทให้เราด้วยความว่าเป็นหนังดี แต่ออกเชิงประชดประชัน เสียดสี กึ่งๆแนวเสียบประจาน ผมยังไม่ได้ว่าอะไร ก็ไปตอบ ประมาณว่า ผมขอโทษครับ ให้โอกาสผมหน่อย หนังผมแย่ ก็ไม่เห็นเป็นอะไร
ก่อนหน้าที่มีเสียงวิจารณ์ไม่ดี นายทุนก็ให้ไปติดต่อเพจวิจารณ์ในเชิงขอร้อง ว่าวิจารณ์ซอฟท์ๆ ลงหน่อยได้ไหม อันนี้ผมไม่ได้ว่านายทุน เพราะเขาต้องการทำหนังให้ได้เงิน มันมีเรื่องเหี้ยอย่างหนึ่งคือ พวกเพจวิจารณ์มันไปคุยกันข้างหลัง ว่าหนังก็กาก ยังไม่ให้พวกเขาวิจารณ์ อะไรแบบนี้ แต่คนพวกนี้ผมไม่ให้ราคา เพราะมันเป็นการพูดลับหลังและเสียบประจาน ผมไม่โกรธนะจะด่าหนังผมก็ได้ แต่มาทำพฤติกรรมแบบนี้มันกระจอก
.
พี่โจว: คุณรู้จักคนวิจารณ์หนังจากเพจเหล่านั้นหรือเปล่า ?
พิรุณ: ไม่รู้จัก แต่คือเวลาเราทำหนังเรื่องหนึ่ง ต้องมีเพื่อนแชร์มาให้เราดูอยู่แล้ว ว่ามีเพจนั้นเพจนี้เขาวิจารณ์ไว้
พี่โจว: ปัญหาที่คุณเจอคือ เขามาด่าคุณมากไปหรือเปล่า ?
พิรุณ: นั่นไม่ใช่ปัญหา แต่วิธีการที่ผมไม่ชอบคือการเอาคนอื่นมาพูดลับหลัง เอาเรื่องในมุ้งมาพูดข้างนอก แล้วมาหัวเราะกันเองเชียร์กันเอง แล้วบอกว่า หนังแม่งก็กากจริงๆ มาขอกูไม่ให้วิจารณ์ทำไม คือต่อให้ผมเป็นเพจหนังผมก็ไม่ทำแบบนี้ เพราะพฤติกรรมมันทุเรศไง
.
พี่โจว: แล้วช่วงนั้นคุณดาวน์ไปกี่วัน ?
พิรุณ: ผมไม่ดาวน์ ผมด่าเลย ผมด่าลงเฟซบุ๊กเลย
พี่โจว: คุณมาให้อภัยพวกนี้ได้ในกี่เดือน ?
พิรุณ: ทุกวันนี้ก็ยังไม่ให้อภัย
พี่โจว: ที่ถาม เพราะพวกนี้มาอยู่ด้วยการที่ต้องวิจารณ์พวกคุณ ถ้าไม่มีงานพวกคุณเขาก็ไม่มีงานของเขาเหมือนกัน ?
พิรุณ: ก็เข้าใจอยู่ เพราะการมีเพจพวกนี้ขึ้นมา บางทีถ้าจะเป็นกระแสของเพจเขา ก็เพราะมีหนังเหี้ยๆเรื่องหนึ่งขึ้นมา แล้วก็มาด่าด้วยคำพูดจาที่แบบว่า สาแก่ใจคนอ่านมาก
.
พี่โจว: ตอนคุณยังไม่ได้ทำหนังเอง แล้วอยู่ในแวดวงวิจารณ์หนัง คุณเคยวิจารณ์แบบหนักๆบ้างไหม ?
พิรุณ: ไม่เคยแบบที่เขาทำกับผม ผมเป็นคนทำหนังด้วย ต่อให้หนังมันเหี้ยที่สุด มันก็มีข้อดีอะไรบางอย่าง ผมพูดเปรียบเทียบง่ายๆ สมมติมีหนังเรื่องหนึ่ง ที่ตอนผมอยู่มหาลัยฯ ผมอาจจะดูไม่รู้เรื่อง พอโตขึ้นคุณมีประสบการณ์มากขึ้น มีทัศนะคติที่เปลี่ยนไป แล้วกลับมาดูอีกครั้ง ก็เลยเข้าใจว่าเขาจะสื่อถึงอะไร
.
พี่โจว: คุณคิดว่าที่เขาให้ 0 คะแนน เพราะเขาคาดหวังหนังของคุณมากไปหรือเปล่า ?
พิรุณ: คนวิจารณ์เขารู้อยู่แล้วหนังห่วย คือเขาเข้าไปดูเพื่อจะเอาความห่วยมาเอ็นเตอร์เทนคนอ่าน เอาความห่วยมาให้อ่านแล้วลูกเพจสนุกใช่ไหมละ เปรียบเทียบแบบหมาๆ หน่อย คือเหมือนเอาความพิการของพี่โจวมาล้อเล่นเป็นเรื่องขำ คนบางคนมันเป็นแบบนี้นะ เหมือนเอาข้อด้อยของแต่ละคนมาทับถมและสนุกสนานกัน แต่ผมรู้ว่าตรงนั้นไม่เป็นไรผมยังไม่โกรธ แต่ผมจะโกรธเรื่องที่พูดกันลับหลัง และอีกเรื่องคือเรื่องไม่ได้เงิน
.
พี่โจว: พวกทำหนังอาร์ตมักจะเสนอว่า รัฐไทยควรสนับสนุนหนังอาร์ต แต่นายทุนที่ให้เงินคุณมาทำโคตรดีเลยเพราะเขาไม่สนใจเรื่องนี้ ประเด็นคือ โจวชิงหมาเกิด ไม่ได้อยากเสียภาษี มาให้คนทำหนังอาร์ต ดูดคXย กันป๊าบๆๆ เราก็อยากดูหนังที่ต่อสู้กัน แล้วคนที่เคยทำหนังทั้งหนังอาร์ตแบบคนดูไม่รู้เรื่อง หรือหนังวันหมาหอนที่ค่ายลูกเสือ แบบนี้ความสุขของคนทำหนังคืออะไร ?
.
พิรุณ: ได้เงิน ปัจจัยหลักของผมนะ อันนี้ไม่โลกสวยด้วย คือถ้าได้ร้อยล้าน ผมแม่งโคตรดีใจเลย แล้วถ้าได้ร้อยล้าน ต้องแบ่งกูนะ ไม่ใช่ร้อยล้านเอาไปคนเดียว อย่างที่สอง มีคนดูแล้วรู้สึกมีทัศนคติกับเรื่องบางอย่างเปลี่ยนไป
.
พี่โจว: แต่ผมอยากจะบอกว่า คนไปดูหนังคุณก็บุญแล้ว
พิรุณ: ไม่ใช่ คือในอารมณ์คนทำ เขามีศรัทธาแบบนั้นจริงๆ อันนี้ไม่โลกสวย ผมอยากพูดแทนคนทำหนังทุกคนเลย คนทำหนังทุกคนเขามีแพชชั่นอะไรที่อยากจะเล่า ถ้าอย่างงั้นจะมาเหนื่อยตรากตรำบากหน้าไปขอเงินขอทุนชาวบ้านเขามาทำหนังเพื่ออะไร
.
พี่โจว: แต่สิ่งที่คุณเล่ามาก่อนหน้านี้คือคุณสามารถไปแอบนั่งฟังคนที่นินทาหนังคุณในโรงได้ นี่มันมีความสุขมากที่สุดของผู้กำกับ คือเราได้ไปอยู่ในจุดนั้นที่มีคนด่า คนชมเรา ท้ายที่สุดคือเราไปนั่งเบาะแดงๆในโรงหนัง แม้จะมีบางคนหลับในโรง แต่คุณก็ได้เห็นว่าหนังคุณกำลังเล่นอยู่ คุณผ่านจุดนั้นมาแล้ว
พิรุณ: ใช่ครับๆ
#TheIsaander #คนอีสาน #คนอีสานเฮ็ดหนัง #วันหมาหอนที่ค่ายลูกเสือ #พิรุณอนุสุริยา #บทสนทนาระหว่างพี่โจวอ่ะครับกับผ้กำกับวันหมาหอนที่ค่ายลูกเสือ
コメント