top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

The Isaander X Lanna : เมื่อวัดในลำปางมีคิวปิด "ฝรั่งใจ" จากพม่ามาถึงล้านนาตะวันตก



“ตามความเชื่อตะวันตกคิวปิดเป็นเทพเจ้าแห่งความรัก ในลำปางคิวปิดเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษาวัดพม่า”


ที่นี่สถานีนครลำปาง - เมืองที่มีความหลังทอดยาวย้อนไกลไปถึง 1,300 ปีก่อน ว่ากันว่าตำนาน "เขลางค์นคร" ดั้งเดิมเริ่มในสายธารวัฒนธรรมทวาราวดี เคียงคู่บ้านพี่เมืองน้อง หริภุญชัย หรือลำพูนในปัจจุบัน ลำปางเข้าสู่ยุคที่สอง เวียงละคอร ภายใต้อำนาจของล้านนา พม่า และอยุธยา ยังผลให้หน้าประวัติศาสตร์ลำปางเต็มไปด้วยตำนาน วัด ศิลปะ สิ่งปลูกสร้างและผู้คน แต่ละตำนานล้วนมีความหมายและทิ้งเบาะแสให้ตีความมากมาย

.


พอเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์ลำปางเฟื่องฟูไปด้วยการค้าเนื่องจากมีแม่น้ำวังที่เปรียบดั่งเส้นเลือดใหญ่ของการสัญจร และการมาถึงของรางเหล็กรถไฟ (ปี 2459) นั้นก็พลิกโฉมฉากและชีวิตของผู้คนที่นี่ไปตลอดกาล ในเมืองที่ว่ากันว่าเป็นศูนย์กลางการค้าไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ยิ่งเฉพาะป่าไม้สัก ในช่วงปี 2430-2440 ไม้สักเป็นที่ต้องการของบริษัทค้าไม้ต่างชาติ ยิ่งกับเจ้าอาณานิคมอังกฤษเข้ามาทำสัมปทานค้าไม้จากราชสำนักสยามในเขตเมืองลำปาง ลำปางจึงเริ่มคลาคล่ำไปด้วยคนหลากหลายกลุ่ม คนพื้นเมือง พม่า ไทใหญ่ จีน ฝรั่ง ที่สลับมามีบทบาท


.


- สิ่งที่ตามมาจากช่วงเวลาอาณานิคม คือแรงงานชาวพม่าที่ตามติดนายจ้างผู้เชี่ยวชาญจากอังกฤษเพื่อมาช่วยในธุรกิจป่าไม้ อาจด้วยความเชื่อแบบตะวันออก ชาวพม่ามีคติให้ความเคารพต่อธรรมชาติที่มีบุญคุณทุกอย่าง เมื่อมีอาชีพตัดไม้ โค่นต้นไม้ในป่า พวกเขาคิดว่าควรจะขอขมาต่อธรรมชาติเจ้าป่าเจ้าเขา โดยความฝันอันสูงสุดคือสร้างวัดเพื่อทำบุญให้ พร้อมกับอธิษฐานให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในป่าปกป้องคุ้มครองตนเองไม่ให้มีภัย

.


และแล้วด้วยความขยันขันแข็งของชาวพม่าจำนวนหนึ่ง ทำให้พวกเขากลายเป็นเจ้าของกิจการค้าไม้ กระทั่งสะสมทุนเป็นบุคคลที่มั่งคั่ง จึงเริ่มสร้างวัดขึ้นในถิ่นที่พวกเขาทำมาหากิน ไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการทำนุบำรุงศาสนาพุทธ โดยเฉพาะชุมชนที่ท่ามะโอ ตำบลเวียงเหนือ คหบดีชาวพม่า สร้างวัดแบบศิลปะพม่าไว้หลายแห่ง

.


จุดเด่นของวัดพม่าที่เห็นชัดคือ สร้างด้วยไม้ แกะสลักอย่างละเอียดงดงาม ว่ากันว่าลำปาง เป็นจังหวัดที่มีวัดมีศิลปะพม่ามากที่สุดในประเทศ สิ่งสำคัญเป็นภาพจำโดดเด่นในงานศิลปะพม่ามากที่สุดคือ จองหรือวิหาร วัดที่มีความงดงามและขึ้นชื่อที่สุด คือ วัดศรีชุม วัดจองคา วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม มากไปกว่านั้นวัดบางแห่งยังผสมผสานร่องรอยทางศิลป์ระหว่างพม่าและอังกฤษจนเป็น อัตลักษณ์ที่พบเฉพาะในลำปางอีกด้วย

.


เมื่อ”ฝรั่งใจ”ปรากฎกายในวัดพม่า - อีกสิ่งที่เป็นอิทธิพลจากประเทศตะวันตกมาถึงเมืองในทิศตะวันตกของล้านนาแห่งนี้ คือศิลปะที่คนพม่าหยิบยืมจาก “ฝรั่ง” นั่นคือการใช้ “คิวปิด “ กามเทพ ในตำนานกรีกที่เชื่อกันว่ามีฤทธิ์บันดาลใจให้ใครรักใครก็ได้

.

“ตามความเชื่อตะวันตกคิวปิดเป็นเทพเจ้าแห่งความรัก ในลำปางคิวปิดเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษาวัดพม่า “

จากข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปาง (มิวเซียมลำปาง) พบว่า ปัจจุบันมีสองวัดพม่าในลำปาง ที่ปรากฏ “คิวปิด” ในลวดลายและส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรม

.

หลังฟังการบรรยายเสร็จสิ้น เราจึงเดินทางไปที่นั่น หมุดหมายแรกคือ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม วัดเก่าแก่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำวัง งานศิลปกรรมพม่าที่พบภายในวัดคือ “เปียตั๊ด”หมายถึงปราสาท สร้างในสมัยเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง (2440 - 2465) และวัดนี้มีมณฑปลักษณะเป็นอาคารโปร่ง มีทางเข้า 3 ทางเพื่อที่จะไปนมัสการองค์พระประธาน

.

กระทั่งเราเห็นรูปคิวปิดโดนเด่นสีทอง ปรากฏหน้ามณฑป และบริเวณเพดานยังมีตัวคิวปิดอีก 9 แบบ ในอิริยาบถแตกต่างกัน ให้ความรู้สึกทั้งวิจิตรและพิสดารใจไปตามกัน ที่พบเห็นเทพเจ้ารูปแบบศิลปะแบบตะวันตกในอารามต่างบ้านต่างเมืองแบบนี้

.


ส่วนประกอบของมณฑปทั้ง จั่ว หน้าบัน และรวงผึ้ง ล้วนประดับด้วยไม้แกะสลักและงานปั้นรัก ประดับกระจกแทบทั้งสิ้น ชั้นด้านหลังคาเป็นงานช่างที่แสดงลักษณะเฉพาะแบบพม่า

.

นอกจากนี้อีกฟากของมณฑปยังพบเห็นการประดับ”ลายอาร์ม” เครื่องหมายราชวงศ์อังกฤษ มีอักษรตัว T อยู่ในกรอบ มีรูปสิงโตและม้าถือธงอังกฤษยืนยกขาขนาบข้าง ด้านล่างมีแนวริบบิ้นที่มีตัวอักษรพม่า ด้านบนมีมงกุฎ


.

เราไปต่อกันที่วัดศรีชุม ริเริ่มสร้างโดยคหบดีชาวพม่าคนหนึ่ง ความพิเศษคือจองหรือวิหารที่วัดเแห่งนี้สร้างขึ้นราว ปี 2443 และบูรณะซ่อมแซมในช่วงปี 2463 ลักษณะอาคารแบบเดิมเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ชั้น มีหลังคายอดปราสาททรงพม่า ถือว่าเป็นอาคารแบบพม่าที่สมบูรณ์และสวยงามมากที่สุด แต่ว่าอาคารนี้ถูกไฟไหม้ในปี 2535 กรมศิลปากรจึงบูรณะ ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ตามลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเดิม ความแแปลกตาที่สัมผัสได้


.

นอกจากเป็นวัดพม่าที่ใหญ่ที่สุดในไทยแล้ว ตรงข้ามกับวัดยังเป็นมัสยิด อีกด้วย กล่าวได้ว่าบริเวณนั้นเป็นพื้นที่หลากหลายทาง วัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง และภารกิจการตามหากามเทพบันดาลรัก ในแบบฉบับ "ฝรั่งใจ" ก็เห็นผลเมื่อพบ คิวปิด จำนวนหนึ่งอยู่ในส่วนหน้าของวิหารวัด แม้รูปลักษณ์จะไม่คุ้นตาและต่างออกไปกับที่วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม แต่นั่นคือสิ่งที่ช่างพม่าและชาวพม่าที่ศรัทธาในศาสนาพุทธต้องการสะท้อนถึงความรักในรูปแบบที่รับมา พวกเขาต่างหยิมยืม ถ่ายทอดและส่งต่อเรื่องราวจากอดีตถึงปัจจุบันผ่านทั้ง วัฒนธรรม ความศรัทธา และศิลปะ ยังผลให้ตัวเมืองลำปางมีชีวิตชีวาและรอการค้นพบและปลุกตื่นจากผู้สัญจรเดินทางผ่าน

.


และนี่คือเรื่องราวของ คิวปิด- เทพจากแดนดินไกลโพ้นที่จำแลงกายภายในวัดพม่าที่ลำปาง เมืองหนึ่งในภาคเหนือที่คุณอาจถูกแผลงศรให้รักปักใจจนอดไม่ไหวที่จะกลับมาเยือนอีกครั้ง

.


"Love looks not with the eyes but with the mind; And therefore is winged Cupid painted blind".


(William Shakespeare)


*ขอบคุณข้อมูลที่และการบรรยายที่เป็นแรงบันดาลใจจาก: อุทยานการเรียนรู้มิวเซียมลำปาง และหนังสือตามรอยวัดพม่าในจังหวัดลำปาง


*ผู้สนใจสามารถเข้ารับชมมิวเซียมลำปางได้ ทุกวันอังคาร-วันพฤหัสบดี และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ระหว่างเวลา 9.00 น.-17.00 น. ที่ตั้งอยู่ในบริเวณเทศบาลนครลำปาง ติดต่อ 054-237-237


*ชื่อ "ฝรั่งใจ" มาจากบทเพลงหนึ่งในอัลบั้ม Million Way to Dobe:ตื่นเถิดชาวไทย(2004) ขับร้องโดย นภ พรชำนิ


#TheIsaander #Lanna #Cupud #ลำปาง #ภาคเหนือ #ลำปาง #สถานีนครลำปาง #เขลางค์นคร #ลำปางหนา #กระดาษบางหนา #วัดพม่าในลำปาง #วัดศรีชุม #วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม #มิวเซียมลำปาง

#คิวปิด #บางใครในนั้น #เอิ้น #ทิวลิป #พม่า #อังกฤษ #ฝรั่ง #ฝรั่งใจ — at Museum Lampang มิวเซียมลำปาง.

440 views0 comments
bottom of page