“That's one small step for a man, one giant leap for mankind”.
จากดวงจันทร์- ภารกิจสำรวจของนักบินอวกาศทั้ง 3 คน ประกอบด้วย นีล อาร์มสตรอง, เอ็ดวิน บัซ อัลดริน และ ไมเคิล คอลลินส์ กลายเป็นเรื่องสำคัญที่บุกเบิกวงการอวกาศ และเป็นข่าวใหญ่สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก เมื่อพวกเขากลับจากดวงจันทร์สู่พื้นโลกอย่างปลอดภัยในวันที่ 24 กรกฎาคม 1969 หรือเมื่อ 50 ปีที่แล้ว
.
แน่นอนว่า นีล อาร์มสตรอง ในฐานะผู้บัญชาการยานอวกาศอะพอลโล 11 ได้รับยกย่องให้เป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล และเป็นบุคคลสำคัญที่มีคุณูปการต่อวิทยาการของโลกสมัยใหม่
.
และแล้ววันหนึ่งวันนั้น- ในฤดูฝน ปี 1969 นักเรียนหญิงจากประเทศไทยชื่อ อรนุช ภาชื่น และ เพ็ญพร เพียรชอบ กับเพื่อนรวม 6 คน เขียนจดหมายเป็นภาษาอังกฤษส่งไปยัง นีล อาร์มสตรอง
.
จดหมายฉบับนั้นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ นีล อาร์มสตรอง เดินทางมาเยือนประเทศไทย ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเขาและเหล่านักบินอวกาศ มาถึงกรุงเทพฯ ในเดือนตุลาคม 1969 (พ.ศ. 2512) มีคณะรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร ให้การต้อนรับ และพวกเขาเข้าเฝ้าในหลวง ร.9 ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อรับพระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์ตริตรากรณ์ช้างเผือก นักเรียนส่วนหนึ่งที่ส่งจดหมายไปก็ได้ไปต้อนรับด้วย
.
ต่อมาในวันที่ 20 ธันวาคมปีเดียวกัน นีล อาร์มสตรอง เดินทางมาประเทศไทยอีกครั้ง และมุ่งหน้าไปยัง จังหวัดสุรินทร์ เพื่อทักทายคณะครูและนักเรียนโรงเรียนสิรินธรตามคำเชิญในจดหมายฉบับดังกล่าว
.
พรเพ็ญ อินทร์ทอง อดีตอาจารย์โรงเรียนสิรินธร หนึ่งในบรรดานักเรียน 6 คนที่ร่วมเขียนจดหมายธรรมดาของเด็กๆ ถึงผู้พิชิตดวงจันทร์ให้นีล อาร์มสตรองเผยว่า ปีที่ยานอะพอลโล่ 11 ไปสำรวจดวงจันทร์สำเร็จเป็นข่าวดังมาก เพื่อนๆ ในชมรมภาษาอังกฤษจึงเขียนจดหมายที่มีเนื้อหาระบุว่า
.
“พวกเราได้อ่านข่าวของท่านเกี่ยวกับการเดินทางไปดวงจันทร์ เราตื่นเต้นมากและขอให้ท่านเดินทางปลอดภัย เรากำลังจะจัดสัปดาห์อวกาศกันที่โรงเรียน และทำกิจกรรมหลายอย่างเพื่อเรียนรู้ว่าท่านกำลังทำอะไรอยู่ ปกติเมื่อนักบินอวกาศจะได้ไปหลายประเทศเมื่อกลับสู่โลก และพวกเรามีความยินดีที่จะเชิญท่านทุกคนมาที่โรงเรียนเราที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อให้ท่านได้เล่าถึงการเดินทางของพวกท่าน ขอบคุณที่พวกท่านช่างกล้าหาญ"
.
โดยมี ‘มิสมาร์กาเร็ต’ อาจารย์ชาวอเมริกันเป็นผู้ส่งจดหมายฉบับดังกล่าวถึงสำนักงานข่าวสารอเมริกันประจำประเทศไทย (USIS) เพื่อให้เป็นสื่อกลางประสานงาน
.
วันที่ได้พบกัน คณะครู นักเรียน และชาวสุรินทร์ ต่างร่วมให้การต้อนรับอย่างชื่นมื่น ทั้งนำพวงมาลัยมาคล้องคอให้กำลังใจอาร์มสตรองอย่างล้นหลาม จนเขานำความประทับใจไปเขียนในสมุดเยี่ยมของโรงเรียนสิรินธรว่า “ข้าพเจ้าอยากจะมีคอยาวเหมือนคอยีราฟ เพื่อจะได้สวมใส่พวงมาลัยเหล่านี้ให้หมด”
.
ขณะที่ทาง อรนุช ภาชื่น หนึ่งในนักเรียนที่เขียนจดหมายฉบับนั้น ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รศ. ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า ภารกิจพิชิตดวงจันทร์ของ นีล อาร์มสตรอง กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้เธอไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค เมื่อมีเป้าหมายก็ต้องพยายามไปถึงให้จนได้ เหมือนการขึ้นไปบนดวงจันทร์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นเรื่องที่ไม่เกินความพยายามของมนุษย์”
ดิ อีสานเด้อ นำภาพและข้อมูลบางส่วนมาจาก : https://www.rabbittoday.com/th-th/articles/scoops/from-moon-to-mars
และ Dark-Sky Thailand ซึ่งได้ลงวิดีโอสัมภาษณ์ ท่านอาจารย์ อรนุช เอาไว้อย่างน่าสนใจ สามารถ รับชมเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/watch/?v=493119491496174
ขอบคุณ Rabbit Today และ Dark-sky Thailand ที่อนุเคราะห์ข้อมูล และไม่ถือโทษโกรธเราที่ตอนแรกใช้ภาพโดยไม่ได้บอกกล่าว และให้เครดิตเด้อ ตอนแรก เราบ่รู้ที่มาจริงๆ เด้อท่านเด้อ
Comments