top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

อ่านแหน่เด้อ : แด่บัณฑิตและอื่นๆที่รักใคร่


วันนี้(27 พฤษภาคม 2562) วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ได้รับรางวัล ศิลปินศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2562 เป็นรางวัลที่สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยมอบให้กับศิลปินรุ่นกลาง(อายุ30-55ปี) ผู้สร้างสรรค์ผลงานมาอย่างต่อเนื่อง และเกิดปรากฎการณ์และผลกระทบเชิงบวกแแก่สังคม


ในฐานะสื่อมวลชน นักเขียน นักสัมภาษณ์ "ยืนหนึ่ง" The Isaander ขอแสดงความยินดีกับคุณหนึ่งด้วย จากหนังสือกว่า 20 ปกของนักเขียนผู้นี้ เราขอเขียนถึงบทสัมภาษณ์ "แด่บัณฑิต" งานเขียนที่กลั่นกรองและบันทึกความคิดชีวิตผู้คนจากเหตุการณ์สังคมการเมืองไทยหลังรัฐประหาร 2557


บ้างเจ็บปวด บ้างหลีกลี้หนีหาย และมีอีกบ้างที่รอคอยความรักและความหวัง ดังเช่นคำอุทิศที่เขาเลือกเชื่อเลือกใช้ในหนังสือเล่มนี้


"แด่ วัฒน์ วรรลยางกูร

และทุกคนที่กลับบ้านไม่ได้

ด้วยเพียงเพราะความคิดและคำพูด"


และขอตั้งชื่อข้อเขียนนี้ว่า "แด่บัณฑิตและอื่นๆที่รักใคร่"


------------------

ย้อนไปต้นปี 2555 ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ผมพบเจ้าของเล่ม 'ความมืดกลางแสงแดด' บรรยากาศวันนั้นนอกจากไปขอลายเซ็น ตามประสานักเขียนและคนอ่าน จำได้ที่วรพจน์ถามกันว่า รู้ไหมหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับอะไร?


คงเพราะบรรยากาศการเมืองขณะนั้น ทำให้เราทั้งสองพอมีพื้นที่ถกเถียงเรื่อง กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ แม้วัยวันนั้นจะยังไม่รู้อะไรมาก แต่ก็พอจะมองเห็นปัญหาระบบยุติธรรมภายใต้คดี'112 ' วันนั้นผมตอบวรพจน์ไปว่า เรื่องคดีที่โทษสูงๆมั้งครับ ไว้ผมจะไปอ่านเนื้อในอีกที


ก่อนหลายปีถัดมาหลังเรียนจบได้มาทำงานในประเด็นเดียวกันนี้ ในสถานการณ์บางอย่างที่พูดได้ว่ามันเลวร้ายเลยเถิดไปจากเนื้อหาในเล่มนั้นเเล้ว อีกทั้งความมืดยังปกคลุมอย่างไม่มีทีท่าจะสิ้นสุด


ถ้าจะพูดถึง'ส่วนหนึ่ง'ที่ชอบผ่านบทสัมภาษณ์และความเรียงของวรพจน์น่าจะเป็น การเลือกประเด็นที่แหลมคม อย่างปัญหาไฟใต้ ใน ที่เกิดเหตุ ,คดี 112, เอามาตีแผ่ให้เห็นในหลากมุม หรือกระทั่งข้อคิดนานาทรรศนะบั้นปลายชีวิตผ่านเสียงพูดสุดท้าย 'รงค์ วงษ์สวรรค์ที่สวนทูนอิน แม่ริม เชียงใหม่ ก็เป็นเรื่องที่ใครหลายคนอยากเสพอ่าน


ผมได้ 'แด่บัณฑิต'หนังสือเล่มใหม่ที่เพิ่งตีพิมพ์ของเขา ก่อนงานสัปดาห์หนังสือปี 2559 จะเริ่มในไม่กี่วัน หลังฟัง- อ่านจากชื่อ แด่บัณฑิตนั้นเป็นบัณฑิตแบบที่วรพจน์นิยามไว้คือ ผู้ที่ศึกษาและเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา โดยชื่อปกนี้เลือกตามชื่อบทความชิ้นหนึ่งที่เขาไปเสวนากับนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร


หนังสือความยาวกว่า สองร้อยหน้าเล่มนี้ จึงอาจเป็นบันทึกการเดินทาง และถ้อยรำพึงของหนุ่มสาว หรือเป็นบทบันทึกหน้าใหม่ แห่งยุคสมัย-สังคม


วรพจน์เลือกเปิดหัวเรื่องกึ่งแกมประชดว่า คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาชีวิตที่ดี โดยระลึกทบทวนในขวบปีที่ผ่านมา ว่ารอนแรมไปไหนกับใครบ้าง ขณะเดียวกันวันหนึ่งวันนั้น ก็ตระเตรียมสัมภาระข้าวของออกเดินทางไปกับโจ้ ยุทธนาเพื่อนช่างภาพหนุ่ม ที่กำลังจะออกป่าถ่ายภาพสัตว์ทำสารคดีที่ห้วยขาแข้ง วรพจน์เลือกปิดบทนำ โดยทิ้งถ้อยความว่า จะได้ความเรียงหรือบทกวีอะไรใหม่ๆไหมไม่ใช่ประเด็น สิ่งที่พอบอกได้คือ เขาไม่หยุด


หากจะแบ่งแยกแจกแจง บัณฑิตที่เขากล่าวไว้ คงได้ไล่เรียงเรื่องราวจาก เติ๊ด ต่อพงษ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เรื่องเขาบอกถึง ว่าคนตาดีที่กลายเป็นคนตาบอด ต้องใช้เวลาปรับตัวนานแค่ไหน จากจุดบอดเขาใช้อะไรเป็นจุดเปลี่ยน เพื่อผลักดันให้เกิดการก้าวหน้าและเรียนรู้


ต่อด้วยเรื่องของ ซิโก้ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง อดีตกัปตันทีมชาติ ผู้กุมบังเหียนแวดวงลูกหนังของประเทศ เปิดเปลือยชีวิตตัวเองว่า ใช้วิธีคิดแบบไหน จากจุดตกอับชีวิตค้าแข้งในฝันต่างแดน เพื่อหวนกลับมาเป็นราชสีห์ในบ้านเกิด


โดยบัณฑิตถัดไปที่จะกล่างถึงของวรพจน์ คือ ธีร์ อันมัย ที่สวมสถานะทั้งครูบาอาจารย์และเพื่อนผู้ร่วมอุดมการณ์ยาวนาน เขามีความน่ารักทั้งหัวจิตหัวใจ จึงไม่มากไปที่ผู้เขียนจะกล่าวคำว่าทั้งรักทั้งใคร่กับผู้ชายได้อย่างไม่เคอะเขิน


ส่วนอดีตฮีโร่โอลิมปิค สมรักษ์ คำสิงห์ ก็ปล่อยหมัดจากมุมว่า เมื่อถึงเวลาควรหัดปลงชะตาชีวิตบ้าง ในขณะที่ พี่อ้อย คนทำเกตส์เฮ้าส์ แถวน้ำแควเมืองกาญจน์ ก็เป็นบัณฑิตได้เช่นเพราะเธอเรียนรู้งานบริการควบคู่กับมีชีวิตที่รื่นรมย์ นอกจากนี้วรพจน์ยังพาเราไปสนทนาแลกเปลี่ยนกับ ตูน ชนกนันท์ นักกิจกรรมสาว ที่หัวใจกร้าวแกร่ง เธอคงยืดหยันยืนยันในหลักการและมุ่งมันต่อไฟฝันประชาธิปไตย


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ ที่ชอบตั้งคำถามยิ่งใน ประเด็นร้อนแรงของสังคมการเมืองไทย จนเจ้าตัวต้องระหกระเหินออกสู่แผ่นดินอื่นด้วยพิษภัยการเมืองทางด้านเพื่อนอีกคนของวรพจน์ นักเขียน เจ้าของผลงาน ตื่นบนเตียงอื่น ที่วรพจน์บอกย้ำทิ้งท้ายว่า เป็นไปได้ไหมที่ ตื่นบนเตียงอื่นนั้น ปราบดา หยุ่น ตั้งใจส่งสารอาจไม่ใช่ตื่นในความหมาย wake up แต่เตียงอื่นหรือบ้านอื่นอาจทำให้เราตื่นในความหมาย Enlightenment


และประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าว ผู้ยืนหยัดในเสรีภาพสื่อ ก่อนต้องเข้าไปอยู่ในค่ายทหารหลายวันหลายคืน จากการทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล นอกจากได้พบพานหลากหลายบัณฑิตวิถีแล้ว บางช่วงบางตอนวรพจน์ยังมีบทวิพากษ์สังคมหนักๆ ผ่านความเรียงเรื่องศีลธรรมที่หลายครั้งถูกทำให้คร่ำครึ ดังเช่น การจูบไม่มีนัยซ้อนซ่อนอยู่ข้างหลัง ไม่มีความหมายในทางสังคมว่าหื่น บ้ากาม ลามก


หรืออย่างสุราก็ไม่มีความหมายของบาป อบายมุข ความเลว ใครชอบน้ำก็ดื่มน้ำ ใครปรารถนาไวน์ก็ดื่มไวน์ ไม่มีสายตาของใครหมิ่นหยามประณามว่าขี้เมา ไม่เอาถ่าน กระทั่งอาจจะถือเป็นพวกเกเรอันธพาลแบบที่สังคมไทยเซ็ตและสร้างไว้อย่างฝังรากลึกและจูบของไทยมีเซ้นส์ไปในทางเซ็กซ์ เรื่องราวคาวใคร่ ใฝ่ต่ำเหล้ายาคือการมอมเมา เสเพล เป็นรูปธรรมหนึ่งของความเลว


ยิ่งเฉพาะวรพจน์ใช้ความเปรียบระยะห่างของหลักกิโลเมตรทางศีลธรรมว่า ปารีสกับกรุงเทพฯ อยู่ไกลกัน ทว่าการให้ค่าความหมายของจูบและสุราดูจะไกลกันยิ่งกว่า..ไกล กระทั่งมองเห็นเป็นตรงกันข้าม


ขณะเดียวกันเขาเองก็ยอมรับว่า ไม่ได้คิดให้แต่ละมุมโลกต้องมีทัศนะต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเหมือนกัน เราต่างกันแน่ๆ เพียงแต่บางเรื่องมันก็เป็นจุดร่วมอันแสนสามัญของมนุษย์ วรพจน์ยังฉายภาพว่าการจูบและวัฒนธรรมสุราคือภาพเปลือยที่สะท้อนความไม่ปกติของสังคมไทย เป็นการกดเอาไว้ และบิดเบือนความหมาย


เรื่องที่ควรจะง่าย ปกติ เปิดเผย ผ่อนคลาย ก็กลับกลายเป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยความหมายแฝงเร้น ซ้ำร้ายยังเอียงไปในทางความชั่ว


เราถูกกระทำให้อยู่กับความไม่ปกติ ถูกกระทำมานาน และหลายคนเริ่มคุ้นชิน จนมองว่ามันคือความปกติ เป็นลักษณะเฉพาะของชนเผ่าพิเศษ ไม่เหมือนใครในโลก


พอชาชิน พอนานวันเข้าเราก็ไม่มีคำถามไม่สงสัย ว่าทำไมต้องแต่งชุดนักศึกษา ทำไมสวนสาธารณะจึงต้องมีเวลาปิดเปิด ทำไมแปดโมงเช้าหรือหกโมงเย็นต้องเปิดเพลงชาติ ทำไมการเมืองมีปัญหา


ท้ายที่สุด ในหน้ากระดาษแผ่นหลังๆของแด่บัณฑิต ว่าด้วยการพูดคุยกับรุ่นน้องมหาวิทยาลัยของผู้เขียน-ในฐานะศิษย์เก่าและบัณฑิตอักษรทับแก้ว ของวรพจน์ ก็เป็นการตอกย้ำว่า แท้จริงเเล้ว บัณฑิตไม่ใช่ใครที่ไหน หากคือผู้ที่จะไม่มีวันปิดตัวเองในการแสวงหา ตัวตน ความรู้ และโลก


และถ้าจะมอบอะไรเป็นของขวัญแด่บัณฑิตที่เพิ่งจบการศึกษาหรือผู้ไม่หยุดแสวงหาความรู้ตลอดเวลา นอกจากใบปริญญาเเล้ว หนังสือเล่มนี้ก็มีคุณค่าพอจะส่งต่อการตั้งคำถามและการเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ตามความรู้สึกมนุษย์ผู้หนึ่ง ..ที่อยากเห็นสังคมเราเชื่อมั่นในความรู้และเหตุผล ทั้งไม่หยุดยั้ง แช่แข็งกับวาทกรรมปรัมปรา


หนังสือ แด่บัณฑิต

พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก มีนาคม 2559

นักเขียน วรพจน์ พันธุ์พงศ์


*วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เป็นสื่อมวลชนอิสระ เกิดที่จังหวัดนครราชสีมา เติบโตที่ราชบุรี ก่อนจบปริญญาตรี ที่อักษร ทับแก้ว ผลงานหนังสือเล่มแรกคือ เราต่างมีแสงสว่างในตัวเอง และผลงานอื่นๆที่เป็นที่รู้จักลำดับต่อๆมาคือ ที่เกิดเหตุ,ความมืดกลางแสงแดด,ฯลฯ และล่าสุด Portrait ธนาธร ปัจจุบันวรพจน์พำนักอยู่ที่จังหวัดน่าน


#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #โคราช #นครราชสีมา #วรพจน์พันธุ์พงศ์

#แด่บัณฑิต

59 views0 comments
bottom of page