top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

อีสานเฮ็ดหนัง#4 อีสานใหม่-อีสานอินดี้


วันที่ 15 พฤษภาคม- 27 มิถุนายน 2562 โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จะจัดโปรแกรมหนังอีสานให้คนดูฟรี


วันพุธที่ 15 พฤษภาคม เวลา 17.30 น. ราชินีดอกหญ้า

วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม เวลา 17.30 น. สิ้นเมษาฝนตกมาปรอยปรอย

วันพุธที่ 29 พฤษภาคม เวลา 17.30 น. ฮักนะสารคาม

วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม เวลา 17.30 น. ฮักมั่น In My Hometown

วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน เวลา 13.00 น. มนต์รักแม่น้ำมูล DCP

วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน เวลา 15.00 น. ครูบ้านนอก

วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน เวลา 17.30 น. เกิดมาลุย

วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน เวลา 13.00 น. ทุ่งกุลาร้องไห้

วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน เวลา 15.00 น. แหยมยโสธร

วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน เวลา 13.00 น. ผู้บ่าวไทบ้าน E-SAN INDY

วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน เวลา 15.00 น. ไทบ้านเดอะซีรีส์

วันอังคารที่ 18 มิถุนายน เวลา 17.30 น. ฅนลูกทุ่ง

วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน เวลา 17.30 น. ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่


---


อ่าน อีสานเฮ็ดหนัง #1 หนังอีสานมายังไง #2 หนังอีสานบูมยุคแรก และ #3 พันนา พาอีสานสู้ ได้ที่ The Isaander


---


เป็นเวลากว่า 70 ปี ที่หนังอีสานเกิดและเติบโต ผ่านยุค เลียง ไชยกาล ดวงกมล มหรสพ และพันนา ฤทธิไกร ปัจจุบัน หนังอีสานเข้าสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง


"ประมาณหลังปี 2000 (หรือ พ.ศ. 2543) ถือว่า เข้าสู่ยุคที่วงการหนังต่างจังหวัด หนังค่ายเล็ก ค่ายน้อย เริ่มล้มหายตายจาก เหลือแต่สตูดิโอใหญ่ เช่น ไฟว์สตาร์ สหมงคลฯ และ จีทีเอช(จีดีเอช)" พุทธพงษ์ กล่าว


แม้ค่ายหนังอิสระจะหายไปในช่วงนั้น แต่มีคนอีสานอีกคนที่ได้มาทำหนังกับสตูดิโอใหญ่ หม่ำ จ๊กมก-เพ็ชรทาย วงศ์คำเหลา คนยโสธร ก่อตั้ง "บั้งไฟ ฟิล์ม" ขึ้นหลังจากมีชื่อเสียงจากการเป็นนักแสดงตลก


เขาเริ่มต้นทำหนังเรื่องแรกชื่อ "บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม" ปี 2547 เป็นการนั่งตำแหน่งผู้กำกับพ่วงด้วยแสดงนำ แต่เนื้อหาของบอดี้การ์ดฯ ไม่ได้นำเสนอความเป็นอีสานโดยตรง


อย่างไรก็ตาม 1 ปีให้หลัง หม่ำสร้าง "แหยม ยโสธร" (หอภาพยนตร์จะนำมาฉายในเวลา 15.00 น. วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน 2562)


หนังที่เขาทั้งกำกับและแสดงเองเรื่องนี้ มีตัวละครหลักเป็นคนอีสาน เนื้อเรื่องเกิดขึ้นในอีสาน และถ่ายทำในอีสาน หม่ำ เลือกใช้สีฉูดฉาดนำเสนอความเป็นอีสานในแบบของตน และชูความสนุกสนาน เป็นแกนหลักของเรื่อง ความสนุกสนานที่เหมือนเป็นอัตลักษณ์ของคนอีสานนั่นเอง


แหยม ยโสธร ทั้ง 3 ภาค ประสบความสำเร็จเรื่องรายได้พอสมควร โดยทำรายได้รวมกันกว่า สองร้อยล้านบาท


---


"ประมาณหลังปี 2550 เริ่มมีหนังอินดี้เกิดขึ้น (อินดี้จริงๆแปลว่า อิสระ สมัยก่อนหน้านั้นก็นับว่า มีค่ายหนังอิสระแล้ว แต่ไม่ถูกเรียกว่าอินดี้-พี่วิวเสริม) อินดี้ของไทย คนที่เด่นคือ อภิชาติพงษ์" พี่วิว เว้า


เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล คนขอนแก่น คือ ผู้กำกับชาวไทยหนึ่งเดียวที่สามารถคว้ารางวัล "ปาล์มทองคำ" จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ได้


ลุงบุญมีระลึกชาติ‎, แสงศตวรรษ, สัตว์ประหลาด!, สุดเสน่หา, ดอกฟ้าในมือมาร และ รักที่ขอนแก่น คือ รายชื่อหนังของ เจ้ย ที่ไปประสบความสำเร็จในเวทีระดับสากล


แม้หนังหลายๆเรื่องของเจ้ยจะไม่ได้เน้นการนำเสนอความเป็นอีสานอย่างตรงไปตรงมา แต่ก็มีอยู่หลายครั้งเช่นกันที่ ภาษาอีสาน วัฒนธรรมอีสาน สถานที่ในอีสาน ถูกแทรกสอดเอาไว้ในรูป รส กลิ่น เสียง ของภาพยนตร์ที่กำกับโดยผู้กำกับรายนี้


"บ้าน วีระเศรษฐกุล ที่ขอนแก่นอยู่ห่างจากบ้านผมไป สอง-สามซอยเองนะ ขี่รถผ่านตอนไปกินลาบทุกครั้งเลย" ผู้เขียนเสริมข้อมูลที่ไม่เป็นประโยชน์ลงในบทสนทนา


(หอภาพยนตร์ไม่ได้นำหนังของเจ้ยมาฉายในโปรแกรม "เมื่ออีสานเฮ็ดหนังฯ” เพราะว่า เพิ่งมีโปรแกรมฉายของเจ้ย โดยเฉพาะไปเมื่อต้นปี)


---


กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ คนโคราช บ้านเอ๋ง เป็นอีกคนที่พุทธพงษ์ ชี้ชวนให้เราสนใจ ชื่อของกอล์ฟ เป็นที่รู้จักในสื่อ หลังจากที่ Insects in the Backyard (แมลงรักในสวนหลังบ้าน) หนังของเธอ ถูกห้ามฉายในปี 2553 และหลังจากต่อสู้กันในชั้นศาลอย่างยาวนาน มันได้ฉายจริงในปี 2560


ก่อนที่จะกลายเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ กอล์ฟ ใช้ชีวิตในวงการภาพยนตร์ไทยอย่างโชกโชน ทั้งการเป็นผู้เขียนบท สอนการแสดง และโปรดิวเซอร์ อย่างไรก็ตาม "ฮักนะ 'สารคาม" ปี 2554 (หอภาพยนตร์จะนำมาฉายในเวลา 17.30 น. วันพุธที่ 29 พฤษภาคม 2562) น่าจะเป็นหนังอีสานเรื่องยาวเรื่องเดียวที่เธอกำกับ


---


"ปัจจุบัน คนอีสานไม่ได้มีแต่คนชนชั้นล่างอย่างเดียวแล้ว ในอดีตภาพลักษณ์อีสานมักถูกนำเสนอในหนังผ่านคนชนชั้นล่าง เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ก็มีผู้กำกับจากอีสานที่เป็นสากล ไปเรียนต่างประเทศ เลยนำเสนอหนังอีสานในมุมมองที่เปลี่ยนไป" พุทธพงษ์ ระบุ


และจากสภาพที่ว่า วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์ นำเสนอภาพคนอีสานที่ต่างออกไปใน "สิ้นเมษาฝนตกมาปรอยปรอย" ปี 2555 (หอภาพยนตร์จะนำมาฉายในเวลา 17.30 น.วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2562)


"สิ้นเมษาฝนตกมาปรอยปรอย พูดถึงคนอีสานที่ไปทำงานในเมืองแล้วกลับไปที่บ้านเกิด เป็นมุมมองอีสานอีกแบบหนึ่ง เป็นมุมมองของชนชั้นกลาง ไม่ได้เสนอภาพเหมือนเมื่อก่อน ไม่ได้พูดถึงแต่ความอดอยาก หรือความสนุกสาน" พุทธพงษ์ กล่าว


สิ้นเมษาฯ เล่าเรื่องในรูปแบบของหนังอินดี้ ซ้อนทับเรื่องจริง และเรื่องแต่ง มีตัวละครเป็นคนชนชั้นกลางอีสาน อยู่ทาวน์เฮ้าส์ เกิดในครอบครัวข้าราชการ พูดภาษาไทยกลางที่บ้าน แต่เว้าอีสานกันหมู่พวก ทั้งยัง แทรกความรู้สึกของผู้กำกับที่มีต่อการสลายการชุมนุมแยกราชประสงค์ ปี 2553 เอาไว้ด้วย


---


ต่อมา หลังรัฐประหารโดย คสช. ไม่นาน "ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้" 2557 โดย อุเทน ศรีริวิ เข้าฉายและสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ รวมทั้งสร้างกระแสให้คนพูดถึงไม่น้อยด้วย กระทั่งเกิด ผู้บ่าวไทบ้าน 2 ในอีก 2 ปีถัดมา


"ไทบ้าน เดอะซีรีส์" 2560 โดย สุรศักดิ์ ป้องศร หนังชื่อคล้ายกัน ตามมาติดๆ และประสบความสำเร็จอย่างมาก มีภาคต่อหลายภาค ความนิยมของหนังตระกูลนี้ การันตีด้วย 2 ล้านไลค์ ที่มีให้แฟนเพจ "Thibaan Channel"


(หอภาพยนตร์จะนำทั้งสองเรื่อง(ภาคแรก) มาฉาย ในวันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน เวลา 13.00 น. และ 15.00 น.)


"สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ คล้ายกับที่ ดวงกมล มหรสพเคยสร้างไว้" พุทธพงษ์กล่าว


หลังจาก ไทบ้านฯ ทั้งสอง เปิดทางได้ มีหนังอีสานตามมาอีกหลายเรื่อง ถึงยุคนี้สามารถพูดได้เต็มปากว่า ความเป็นอีสานถูกนำเสนอ แบบที่ภูมิภาคอื่นของประเทศไทยไม่เคยทำได้


ฮักมั่น In My Hometown, หน่าฮ่าน และออนซอนเด อาจเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วน ของกระแสหนังอีสานปัจจุบัน และรายชื่อที่ได้กล่าวมาข้างต้นอาจจะเป็นแค่จุดเริ่มต้นของยุคแห่งหนังไทย-อีสานก็เป็นได้


---


#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #หนัง #ภาพยนตร#หนังอีสาน #หอภาพยนตร#เจ้ย #หนังฟรี #ไทบ้าน #ต้องดู

67 views0 comments
bottom of page