top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

ขวัญข้าว: ดอกผลแห่งกาลเวลาค้นหาประชาธิปไตย

Updated: Mar 8, 2021

กองบรรณาธิการ TheIsander และ กุลระวี สุขีโมกข์ เรื่อง


หากพูดถึงการออกมาชุมนุมประท้วงของคนเสื้อแดงในปี 2553 หลายคนคงจดจำภาพและเรื่องราวที่ถูกนำเสนอผ่านรายการโทรทัศน์ ต่างจาก “ขวัญข้าว ตั้งประเสริฐ” ผู้ใช้ชีวิตอยู่กินอยู่ม็อบในฐานะสมาชิกกลุ่มประกายไฟการละครรุ่นเยาว์


แม้การชุมนุมครั้งนั้นจะผ่านพ้นไป แต่ความสัมพันธ์ของเขากับสมาชิกกลุ่มฯ รวมถึงนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกหลายคนยังคงดำเนินต่อ


เวลาล่วงผ่านมากว่าสิบปี ขวัญข้าวมองเห็นความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับคนรอบตัวคนแล้วคนเล่า เช่นเดียวกับใครอีกหลายคน กระทั่งในวันนี้ เขาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองไปพร้อมกับผู้คนตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศอีกมหาศาล ด้วยเพราะพวกเขาอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องทนทุกข์ยากอย่างที่เป็น


นับแต่กลุ่มเยาวชนปลดแอกออกประกาศ 3 ข้อเรียกร้องในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ปลุกให้คนไทยที่หลับไหลอยู่นานหลายทศวรรษ ลุกตื่นขึ้นมาด้วยสามัญสำนึกที่ว่า “ตื่นแล้ว ตื่นเลย”

อัดอั้นในอดีต : เมื่อความอยุติธรรม เฆี่ยนตีคนรอบตัวผม


“พี่กอล์ฟให้ผมเป็น 1 ใน 10 รายชื่อ[1]ที่อยากให้เข้าเยี่ยมตอนอยู่ในคุก ผมรู้สึกแปลกๆ ตอนที่ผมกับพี่กอล์ฟพูดต่อหน้ากันไม่ได้ ต้องพูดผ่านลูกกรงกระจกที่คั่นอยู่ตรงกลาง เราไม่สามารถแตะมือหรือกอดกันได้ ทั้งที่การละครคือการแตะสัมผัสเพื่อส่งพลัง ผมรู้สึกใจสลายในฐานะเด็กสิบขวบ”

ขวัญข้าว ตั้งประเสริฐ นักเรียนมัธยมปลายวัย 17 ปี บอกเล่าความรู้สึกในวันวานของเขาที่มีต่อภรณ์ทิพย์ มั่นคง (กอล์ฟ) นักเคลื่อนไหวทางสังคม อดีตผู้ประสานงานกลุ่มประกายไฟการละคร เธอถูกศาลอาญาตัดสินจำคุก 5 ปี ตามมาตรา 112[1] ในปี 2557 จากการแสดงละครเวทีเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลาฯ 2556 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศาลวินิจฉัยว่า บทละครที่กอล์ฟร่วมแสดงมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ ทั้งนี้กอล์ฟให้การรับสารภาพ จึงได้รับการลดโทษลงกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี 6 เดือน

[1] กฎหมายมาตรา 112 เป็นมาตราหนึ่งในประมวลกฎหมายอาญาซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี”


ระหว่างที่เธอต้องใช้ชีวิตอยู่ในคุก กอล์ฟเขียนบอกเล่าเรื่องราวที่เธอและคนรอบตัวต้องเผชิญขณะอยู่ในคุก คุกที่เต็มไปด้วยการทำร้ายกดขี่ของรัฐต่อนักโทษการเมืองและนักโทษจากคดีความอื่น ๆ กระทั่งออกมาเป็นหนังสือเล่มหน้าหลายร้อยหน้าที่มีชื่อว่า “มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ” เพื่อสื่อสารกับคนอ่านว่า เราทุกคนต่างก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ยิ่งใหญ่และงดงาม แม้อยู่ท่ามกลางความมืด


เนื่องจากพ่อเป็นนักข่าวและแม่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ได้รับมอบหมายให้ไปติดตามสถานการณ์ของกลุ่มชุมนุมประท้วงรัฐบาลในขณะนั้น จึงฝากขวัญข้าวไว้กับกอล์ฟและสมาชิกกลุ่มประกายไฟการละครตั้งแต่ปี 2553 “ตอนอายุประมาณ 7 ขวบ พ่อแม่พาเราไปฝากไว้กับคนกลุ่มหนึ่ง เราก็เล่นกับเขา ไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร เขาพาไปไหนก็ไป ตั้งแต่อยู่ที่อนุสรณ์ 14 ตุลาฯ จนถึงราชประสงค์ จนมีข่าวว่าจะใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมช่วงก่อน 10 เมษาฯ ถึงได้กลับบ้าน”


ระหว่างที่อยู่กับกลุ่มประกายไฟการละคร ขวัญข้าวร่วมเล่นละครเสียดสีการเมืองไทยไปกับสมาชิกกลุ่มด้วย “ตอนเล่นละคร เขาพาเล่นละคร มีบทให้อ่าน ให้แสดงเป็นเมล็ดถั่วแดง เมล็ดถั่วเขียว ซ้อมอยู่ไม่นานก็ได้ออกเล่นเลย จากมุกดาหารก็กินนอนตามม็อบ” ในช่วงเดียวกันนี้ ขวัญข้าวก็รู้จักมักคุ้นกับทนายอานนท์


 ขวัญข้าวร่วมละครกับกลุ่มประกายไฟการละครในปี 2553
ขวัญข้าวร่วมละครกับกลุ่มประกายไฟการละครในปี 2553

นับตั้งแต่รู้จักกัน ขวัญข้าวเข้าร่วมทำกิจกรรมทางสังคม เช่น ช่วยคนไร้บ้าน จัดค่ายศิลปะ และพัฒนาความคิดเด็ก รวมถึงเรียนรู้การแสดงละครจากกอล์ฟและสมาชิกกลุ่ม ส่วนใหญ่กอล์ฟจะเป็นคนเขียนบทละคร และช่วยฝึกซ้อมวิธีการเล่นละครให้ เช่น การออกเสียง การยืดร่างกาย ท่าทางที่ควรจะแสดงออกก่อนเข้าบท บางทีก็รับบทเป็นหุ่นเชิด เมล็ดถั่ว คนโปรยดอกไม้ ขึ้นอยู่กับเนื้อหาในบทละคร “เรื่องเจ้าสาวหมาป่าผมก็มีส่วนร่วมด้วยเป็นคนโปรยดอกไม้ เพราะตอนนั้นเขาอยากพาเด็กไปเล่นกิจกรรมด้วยกัน ให้ได้ซึมซับวิธีการทำงาน ผมได้ยินมาว่าตอนที่มีการเปิดแฟ้มประกอบคดี ตำรวจเอาหน้าเด็กขึ้นมาซึ่งก็คือผม” หลังกอล์ฟได้รับการปล่อยตัว เธอย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ ขวัญข้าวเล่าว่า “เราก็ติดต่อกันอยู่บ้าง เวลาผมอยากทำละครเวทีก็ให้พี่กอล์ฟช่วยแนะนำ อย่างบทละครเรื่อง ‘จันทร์เอ๋ย จันทร์เจ้า’ ที่นำบทอาขยานของกระทรวงศึกษาธิการ มาดัดแปลงเป็นเรื่องรัฐสวัสดิการและข้อเรียกร้องทางการเมืองก็มาจากพี่กอล์ฟ” ขณะเป็นสมาชิกอยู่ในกลุ่มประกายไฟ ขวัญข้าวรู้จักกับหมอลำแบงค์ (ปฏิวัติ สาหร่ายแย้ม) และไอซ์ (สยาม ธีรวุฒิ) แบงค์ถูกจับกุมตัวจากการเข้าร่วมแสดงละครเรื่องเจ้าสาวหมาป่าเช่นเดียวกับกอล์ฟ ส่วนไอซ์ ต้องลี้ภัยออกไปจากประเทศหลังรัฐประหารปี 2557 จนเดือนพฤษภาคม 2562 ไอซ์หายตัวไปพร้อมกับผู้ลี้ภัยทางการเมืองอีก 2 คน คาดกันว่าทั้งสามเป็นเหยื่อซ้อมทรมานและถูกอุ้มหาย “ผมรู้สึกใจหายมาก กระทบใจที่สุดที่คนใกล้ตัวอย่างพี่ไอซ์หายตัวไปจากการอุ้มหาย ไม่รู้เป็นตายร้ายดียังไง ยิ่งก่อนหน้ามีข่าวการฆ่าเอาเครื่องในออก ยัดปูนใส่ท้อง โยนลงแม่น้ำโขง ก็ยิ่งหดหู่และโกรธกว่าเดิมว่าถึงขั้นเอาชีวิตกันเลยเหรอ ส่วนสมาชิกในกลุ่มฯ เกือบ 20 คนก็กระจัดกระจาย มีชีวิตที่ไม่ปกติสุข ถ้าไม่โดนคดีก็ต้องอยู่อย่างหวาดระแวงเพราะมีทหารตามไปที่บ้าน” ความที่พ่อและแม่ทำงานที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ทำให้เขาได้พบปะผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีการเมืองหลายคน ขวัญข้าวเล่าว่าพ่อแม่เดินทางไปทำข่าวคดีคนเสื้อแดงเผาศาลากลางจังหวัดมุกดาหารในปี 2553 จึงได้พบกับทนายอานนท์ และได้พบปะมักคุ้นกันนับแต่นั้นมา ในปีเดียวกัน ขวัญข้าวก็ได้พบกับอากง (อำพล ตั้งนพกุล) “ตอนนั้นตามพ่อแม่ไป ก็ได้เห็นเขาอยู่ไกล ๆ อากงเป็นลุงอายุมาก ผมไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องมาตายและโดนมาตรา 112” กับไผ่ ดาวดิน ขวัญข้าวรู้จักครั้งแรกจากการที่พ่อแม่ไปทำข่าว และรู้จักมากขึ้นหลังจากไผ่ และสมาชิกกลุ่มดาวดินถูกจับกุมตัวจากการชูป้ายคัดค้านรัฐประหารในปี 2558 ในปีถัดมา ไผ่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และต้องจำคุกเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน จากการแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ของสำนักข่าวบีบีซี ไทย “คดีนี้แค่แชร์ข่าว ไม่คิดว่าจะโดนได้ คนแชร์ก็ตั้งเยอะ ทำไมโดนอยู่คนเดียว ทำให้รู้ว่าเขาจะเอาใครก็เอา ไม่ว่าจะเป็นยังไงก็ตาม ตอนนั้นก็ดูเวลาว่าเมื่อไหร่เขาจะออกมา ได้ไปเยี่ยมบ้าง ตอนพี่ไผ่ได้ออกมา เราก็ดีใจที่พี่เขาได้หลุดจากพันธนาการในคุกแล้ว” สำหรับแม่และพี่มะฟาง (ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ เพื่อนร่วมงานของแม่) ทั้งสองถูกดำเนินคดีจากการเข้าสังเกตการณ์ชุมนุมเรื่อง “พูดเพื่อเสรีภาพ ร่างรัฐธรรมนูญกับคนอีสาน” ในช่วงการทำประชามติ ปี 2559 “มาวันหนึ่งแม่กับพี่มะฟางก็ถูกตำรวจจับ เพราะเข้าไปสังเกตการณ์ชุมนุม ผมกังวลว่าแม่จะติดคุกไหม แต่แม่บอกว่าไม่ได้ทำผิด เลยไม่ยอมรับการประกันตัว หากประกันตัวก็จะทำให้คนที่ติดคุกก่อนหน้าผิดไปด้วย ทำให้ผมรู้สึกว่าการทำในสิ่งที่ถูกต้อง บางครั้งต้องมาพร้อมกับการเสียสละความสะดวกสบายส่วนตัว” ส่วนพ่อที่ทำงานเป็นนักข่าวก็มักจะมีทหารมาวนเวียนที่บ้านที่มุกดาหาร “เขาพยายามไปข่มขู่ให้พ่อกลัวว่าเขารู้ที่อยู่บ้าน เหมือนพยายามข่มขู่ให้พ่อไม่ออกมาทำข่าว ก็รู้สึกว่าเป็นการคุกคามที่เขาตั้งใจทำให้เรากลัว แต่เราก็ต้องทำตามหน้าที่ต่อไป” จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนใกล้ชิดทั้งหมด ขวัญข้าวมองว่าทุกคนเพียงแค่ออกมาแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิทธิความเป็นคนขั้นพื้นฐานที่สามารถทำได้ เพียงแค่คนเหล่านี้เห็นต่างและออกมาเรียกร้องเพราะอยากมีชีวิตที่ดีกว่าที่เป็น นับตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน เวลาล่วงผ่านมาแล้ว 10 ปี ขวัญข้าวยังจำภาพเหตุการณ์นับตั้งแต่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มประกายไฟ ได้รู้จักกับกอล์ฟ แบงค์ และไอซ์ สยาม กระทั่งได้ติดสอยห้อยตามพ่อแม่ที่เป็นนักข่าวไปทำข่าวในพื้นที่ต่าง ๆ จนได้พบกับบุคคลที่ต้องคดีทางการเมืองเพียงเพราะความเห็นต่างหลายต่อหลายคน ไม่ว่าจะเป็นอากง ไผ่ดาวดิน พี่มะฟาง รวมถึงบุคคลที่ตนใกล้ชิดมากที่สุดนั้นก็คือ “แม่” เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนรอบข้าง เป็นแรงผลักดันประการสำคัญที่ทำให้เด็กหนุ่มวัย 17 ปีคนนี้ออกมาแสดงความรู้สึกนึกคิดต่อสังคมที่เต็มไปความแปลกประหลาดและความอยุติธรรมในวันนี้ วันที่เขาและใครหลายคนมองว่า “สมควรแก่เวลา” ออกมาในปัจจุบัน:เรียกร้องในสิ่งที่ทุกคนควรจะได้รับ จันทร์เจ้า ขอข้าวราดแกง ขอขึ้นค่าแรง ให้กับพ่อข้า (ไม่รู้จักพอเพียง!) ขอเสื้อผ้าให้น้องสักชุด (อยากสวย หาผัว!) ขอสมุดให้น้องได้เขียน (ให้เรียนฟรีก็ดีแค่ไหนแล้ว!) ขอหนังสือเรียนให้น้องได้อ่าน (หนังสือกระทรวงดีที่สุดแล้ว จะเอาอะไรอีก!) ขอมีงานให้ทำเลี้ยงชีพ (มีหน้าที่เรียนก็เรียนไป!) ขอเร่งรีบแก้ไขด้วยเถิด (พวกหัวรุนแรง ล้มเจ้า!) “จันทร์เอ๋ย จันทร์เจ้า” บทอาขยานที่ปรากฏในแบบเรียนกระทรวงศึกษาธิการ ขวัญข้าวดัดแปลงเนื้อความเป็นบทละครเรียกร้องด้านการศึกษาและด้านแรงงาน แสดงครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2563 ในงานชุมนุมอีสานปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น เป็นการแสดงต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งแรกของขวัญข้าวในรอบ 8 ปี หลังจากเข้าร่วมแสดงละครครั้งสุดท้ายเรื่องเจ้าสาวหมาป่าในปี 2556 ขวัญข้าวเล่าว่าการแสดงในครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อนๆ ที่เคยร่วมแสดงกับกลุ่มประกายไฟ เพราะครั้งนี้ “ผมตัดสินใจออกมาแสดงด้วยตัวเอง” “เห็นคนใกล้ตัวเราสูญหายไปหรือโดนจับ เพียงเพราะเห็นต่าง สังคมเดินมาถึงจุดที่ไม่มีความยุติธรรม ศาลไม่มีความน่าเชื่อถือ ผมไม่อยากให้เกิดอะไรแบบนี้ ไม่อยากเห็นอะไรแบบนี้อีก” สาเหตุประการหนึ่งที่เลือกออกมาแสดงละครก็เพราะขณะนั้นเห็นว่าคนส่วนใหญ่ออกมาปราศรัย ต่างจากการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ที่มีกิจกรรมหลากหลาย เช่น แร็ปเปอร์ สเกตบอร์ด นิทรรศการศิลปะ คอสเพลย์ ขวัญข้าวจึงอยากทำกิจกรรมอย่างอื่นคู่ขนานกันไปด้วยนั้นก็คือ “การแสดงละคร” เขาบอกว่า หากมีโอกาสและมีเวลา รวมถึงมีเพื่อนมาร่วมทีม ก็อยากทำละครให้สัมผัสใจผู้ชมมากกว่านี้ เพราะเชื่อว่า “ละครสามารถส่องแสงไปถึงคนในที่ชุมนุมได้ ชวนผู้ชุมนุมให้เข้ามามีส่วนร่วมมากกว่านั่งดูอยู่เฉยๆ ได้” ซึ่งก็ได้รับความสนใจ และมีคนนำบทอาขยานจันทร์เอ๋ย จันทร์เจ้า ฉบับขวัญข้าวไปเผยแพร่ต่อในการชุมนุมที่จังหวัดร้อยเอ็ด “ละครที่อยากทำมากคือเรื่องคนโดนอุ้มหาย, คนที่อยู่รอบตัวเราเป็นฆาตกร หรือคนที่ยืนมองเฉยๆ อยากจำลองสถานการณ์จริงขึ้นมาเพื่อกระตุ้นคนดูให้เห็นภาพและรู้สึกตาม ที่อยากทำเรื่องนี้ เพราะผมมีคนรู้จักใกล้ตัวที่ถูกอุ้มหาย ผมก็อยากส่งเสียงช่วยเขา” ก่อนหน้าการแสดงละคร เขาเคยขึ้นปราศรัยในประเด็นการศึกษา เพราะที่ผ่านมา “เราไม่มีพื้นที่ในการระบายหรือแสดงออก และไม่รู้จะไปพูดที่ไหน เห็นมีเวทีเลยขึ้นไปปราศรัยดู อาจจะไม่ได้เป็นปราศรัยที่มีเนื้อหาที่ดี แต่เราก็พูดในความรู้สึก พยายามพูดในสิ่งที่นักเรียนคนหนึ่งประสบมา” ขวัญข้าวเข้าเรียนชั้นประถมในโรงเรียนขยายโอกาสในพื้นที่ห่างไกล เป็นโรงเรียนขนาดเล็กไม่ค่อยมีคนเข้าเรียน มีนักเรียนไม่ถึง 50 คน และมีแนวโน้มลดน้อยลงเรื่อย ๆ เขาเองก็ไม่ค่อยได้ไปเรียนเพราะต้องตามพ่อแม่ไปทำงานต่างจังหวัดบ่อยครั้ง หลังจบประถม 6 ก็ได้ย้ายไปเรียนโรงเรียนประจำอำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ “สมัยมัธยมต้นเรียนดีลำดับต้นของอำเภอ สอบคณิตศาสตร์ได้อันดับสองของจังหวัด แต่พอไปเทียบกับจังหวัดอื่นแล้วถือว่าตกรอบ ทำให้ผมเห็นว่าการศึกษาแต่ละจังหวัดไม่เท่าเทียมกัน” จากนั้นก็สอบเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมปลายสายวิทย์ฯ ในตัวเมืองจังหวัดขอนแก่น “ผมเข้าเรียนในโรงเรียนหลายรูปแบบ ตั้งแต่โรงเรียนขนาดเล็ก 50 คน พันคน จนถึงสี่พันคน เห็นความเหลื่อมล้ำชัดเจนขึ้น เด็กต่างจังหวัดอาจจะได้รับน้อยกว่าเด็กในเมือง ยิ่งมาอยู่โรงเรียนชั้นนำยิ่งชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ” ไม่ว่าโรงเรียนที่ใดก็มักจะมีลักษณะร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งคือ นักเรียนต้องทำตามคำสั่งหรือข้อบังคับที่ครูสร้างหรือส่งต่อกันมาโดยไม่คำนึงถึงบริบทความเป็นไปในปัจจุบัน ทั้งที่ “นักเรียนก็ทำหน้าที่ของตนเอง ครูก็ทำหน้าที่ของครู พอเป็นแบบนี้ก็หมายความว่าไม่มีใครควรมีสิทธิเหนือใคร การกราบไหว้จึงไม่จำเป็นเสมอไป แต่ในฐานะนักเรียนก็ต้องมีความเคารพครู และครูก็ต้องมีความเคารพนักเรียนเหมือนกัน เคารพในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน” ขวัญข้าวกล่าว หลายคนอาจสงสัยว่า การที่นักเรียนมัธยมออกมาพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาบ่อยครั้ง เชื่อมโยงกับข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อของคณะประชาชนปลดแอก ได้แก่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาลาออก ประกาศยุบสภาและคืนอำนาจให้กับประชาชน และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หรือไม่?ขวัญข้าวกล่าวว่า หากข้อเรียกร้องทั้งสามเกิดขึ้นจริง

“การเปลี่ยนแปลงในพื้นที่โรงเรียนก็จะตามมาตามครรลองประชาธิปไตย นักเรียนกล้าเสนอความเห็นในสิ่งที่คิดต่าง”

ขวัญข้าวเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มนักเรียน KKC ในปี 2563 (จาก The Isaan Record)
ขวัญข้าวเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มนักเรียน KKC ในปี 2563 (จาก The Isaan Record)

ขวัญข้าวเข้าร่วมเป็นภาคีกลุ่มนักเรียน KKC (Khon Khaen City) จัดกิจกรรมทางการเมืองร่วมกับเพื่อนต่างโรงเรียนในจังหวัดขอนแก่น เช่น จัดกิจกรรมใส่ Lie ป้ายสี ด้วยการไปยืนให้คนเอาพู่กันมาป้ายสีใส่เสื้อนักเรียน งานเสวนาเรื่อง 6 ตุลาฯ หน้าประวัติศาสตร์ที่หายไป และออกแถลงการณ์ประณามการสลายการชุมนุม ทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องเสรีภาพแก่นักเรียน ในการแสดงออกทางประชาธิปไตย ยับยั้งการใช้อำนาจนิยมในโรงเรียน และสนับสนุนข้อเรียกร้องของกลุ่มประชาชนปลดแอก “นับตั้งแต่ที่ผมออกมาทำกิจกรรมทางสังคมการเมืองร่วมกับเพื่อน ๆ มากขึ้น ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับคนรอบตัว เห็นนักเรียนมัธยม 4 อ่านความคิดของคาร์ล มาร์กซ บางคนก็ดูหนังต่างประเทศที่เราไม่รู้จักมาก่อน ทำให้เราได้เห็นโลกที่กว้างขึ้น” ในช่วง 3-4 เดือนมานี้ เริ่มมีนักเรียนในโรงเรียนออกมาจัดกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น เช่น กลุ่มนักเรียนเลวจัดเวทีปราศรัยบริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา นักเรียนชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลายทั่วประเทศทยอยกันออกมาแสดงจุดยืนว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับอำนาจเผด็จการ ผ่านการชูสามนิ้วขณะยืนเคารพธงชาติ และการเข้าร่วมปราศรัยในประเด็นด้านการศึกษาตามเวทีการชุมนุมประท้วงที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ขวัญข้าวรู้สึกว่า “นับจากนี้ คนที่ออกมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย จะไม่เดียวดายอีกต่อไป และเป็นเครื่องยืนยันว่าสิ่งที่คนก่อนหน้าสู้มา ไม่สูญเปล่า” อยากเห็นในอนาคต : ทุกคนต้องช่วยกัน อย่าฝากความหวังไว้แต่คนรุ่นใหม่ “กังวลว่าอนาคตจะมืดบอด สิ่งที่เสียไปและเอาคืนมาไม่ได้คือเวลา ผมไม่อยากให้เสียเวลาไปมากกว่านี้แล้ว การสร้างความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องใหญ่ ประเทศเราเสียหายอยู่นาน ถ้าจะต้องการลุกมาแก้ไขหรือสร้างความเปลี่ยนแปลง ทุกคนจะต้องช่วยกัน ฝากความหวังไว้แต่คนรุ่นใหม่ไม่ได้” จากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยสูญเสียเวลาและทรัพยากรในการพัฒนาประเทศไปมาก สิ่งหนึ่งที่ขวัญข้าวและใครอีกหลาย ๆ คนเห็นตรงกัน “ต้องไม่ลดเพดานข้อเรียกร้อง เพราะไม่อย่างนั้นต้องใช้เวลานานมากว่าจะฟื้นอีกรอบในการต่อสู้ครั้งต่อไป ถ้าถอยครั้งนี้เราจะเจ็บหนักเหมือนเสื้อแดงในสิบปีที่แล้ว คนจะถูกจับและเจ็บหนักมากกว่าเดิม ทั้งอาจถูกคุกคามถูกอุ้มหาย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่แย่ที่สุด” สำหรับขวัญข้าว ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นในสังคมไทยแทบจะแก้ไขอะไรไม่ได้ โดยเฉพาะระบบการศึกษา “พอเริ่มมีม็อบนักเรียนก็รู้สึกว่าเป็นทางเปิด เป็นกุญแจที่สามารถเข้าไปไขระบบการศึกษาในตอนนี้ได้บ้าง อยากให้นักเรียนจัดกิจกรรมชุมนุมในโรงเรียนได้ ช่วยกันการสร้างค่านิยมในโรงเรียนใหม่ว่าการออกมาชุมนุมไม่ได้ผิด เราอยากปฏิรูปการศึกษาให้เปิดมากกว่านี้” นอกจากนี้ ขวัญข้าวยังเห็นว่าครูก็ควรออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับนักเรียนเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน และไม่อยากให้ครูมองว่าหากออกมาร่วมกับนักเรียนแล้วจะต้องรับภาระความเสี่ยงที่ตามมาในอนาคต เพราะที่ผ่านมา นักเรียนที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อหวังไปสู่สังคมที่ดีกว่านั้น ต่างก็ต้องตั้งรับกับความเสี่ยงที่อาจตามมาในอนาคตด้วยเช่นกัน เช่น ถูกข่มขู่จากทหาร หรือถูกไล่อออกจากโรงเรียน ครูก็ควรเป็นกลางในเวลาทำงาน ไม่ควรนำความคิดอันใดอันหนึ่งมายัดเยียดให้กับนักเรียน แต่นอกเวลาการทำงาน ครูสามารถแสดงความคิดเห็นของตนเองได้ เพราะครูก็เป็นคนคนหนึ่งเหมือนกัน “พวกเราก็เห็นใจครูที่ต้องกลับบ้านค่ำมืดเพราะต้องทำงานเอกสาร ครูควรได้สอนตามเวลาราชการ มีเวลาพักผ่อน และมีเวลาสอนหนังสือเต็มที่” ขวัญข้าวกล่าว ทุกคนมีความหวังร่วมกันว่าต้องการผลักดันให้ 3 ข้อเรียกร้องของประชาชนปลดแอกประสบความสำเร็จก่อน ขณะเดียวกันก็ต้องประเมินสถานการณ์อีกแง่มุมไปด้วยว่า หากมีการรัฐประหารเราจะต้องรับมืออย่างไร ซึ่งขณะนี้ ขวัญข้าวและเพื่อน ๆ กำลังสนใจเรื่องการต่อต้านรัฐประหารว่า หากเกิดขึ้นจริงจะสามารถปฏิเสธด้วยวิธีการใดได้บ้าง อย่างไรก็ตาม การจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่สามารถขับเคลื่อนประเด็นใดประเด็นหนึ่งได้ แต่ต้องค่อยๆ ผลักดันประเด็นอื่นไปพร้อมกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ขวัญข้าวเล่าว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่านักเรียนจำนวนมากที่มาเข้าร่วมการชุมนุมต่างก็กังวลเรื่องที่พ่อแม่ไม่ต้องการให้ออกมาเคลื่อนไหว และอีกบางส่วนที่ออกมาก็เพราะเป็นไปตามกระแสที่คนออกมาเข้าร่วมเยอะ เช่น กระแสออกมาชูสามนิ้วในโรงเรียน ดูเป็นการเคลื่อนไหวที่มีพลังในระยะแรกเริ่ม พอเวลาผ่านไปคนที่ออกมาชูสามนิ้วก็ลดจำนวนลง เมื่อคนเข้าร่วมแสดงออกน้อย คนที่แสดงออกอย่างต่อเนื่องก็ถูกเพ่งเล็งจากครูในโรงเรียนกระทั่งไม่อยากออกมาแสดงออกต่อ

ขวัญข้าว ตั้งประเสริฐ นักเรียนชั้นม.5 (สายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์)
ขวัญข้าว ตั้งประเสริฐ นักเรียนชั้นม.5 (สายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์)

ขณะนี้ทางขวัญข้าวและเพื่อน ๆ มีความเห็นว่าควรจัดกิจกรรมให้คนออกมาร่วมกันเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง แต่ความที่นักเรียนกลุ่ม KKC ทุกคนต่างก็ต้องรับผิดชอบเรื่องการเรียนของตนเองไปด้วย จึงไม่อาจออกมาทำกิจกรรมเคลื่อนไหวได้อย่างเต็มตัว จำต้องแบ่งเวลาบางส่วนมาใช้ในการประชุมกับภาคีเพื่อจัดทำม็อบ “ถึงจะเรียนเยอะเป็น 10 คาบก็แบ่งเลยว่าจะทำการบ้านให้เสร็จแล้วค่อยไปทำกิจกรรม ต้องพยายามเรียนให้พ้นข้อครหาว่าทำกิจกรรมจนเสียการเรียน อยากมีเวลาเตรียมม็อบมากขึ้น อยากให้มีการแบ่งกันทำ เพราะบางทีเสร็จจากม็อบหนึ่งสี่ทุ่มก็ต้องเตรียมม็อบวันถัดไป ทำให้เหนื่อยล้าและยิ่งคนมาน้อยยิ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจที่ไม่มีแรงจะทำต่อไป” “อยากให้คนรุ่นใหม่ยอมรับว่า การต่อสู้ต้องอาศัยคนรุ่นก่อนมาร่วมด้วย และคนรุ่นก่อนก็อย่าฝากความหวังไว้แต่เฉพาะคนรุ่นใหม่ อยากให้ออกมาช่วยกัน เพราะคนแต่ละกลุ่มต่างก็มีปัญหาที่พบเจอมาไม่เหมือนกัน วัยทำงานก็มีปัญหาของวัยทำงาน นักเรียนก็มีปัญหาของนักเรียน อยากให้ทุกคนมาถ่ายทอดปัญหาและหาทางออกด้วยกัน”


หมายเหตุ : Thailand in Motion หลายทศวรรษที่หลับใหล วันนี้คนไทยตื่นแล้ว' เป็นงานจากกองบรรณาธิการ The Isaander นี่คือตอนแรกที่มีชื่อย่อยต่างหากว่า เรื่องขวัญข้าว : ดอกผลแห่งกาลเวลาค้นหาประชาธิปไตย ________________________ [1] เป็นข้อบังคับกรมราชทัณฑ์ปี 2555 ที่กำหนดให้ผู้ต้องขังแจ้งรายชื่อบุคคลภายนอกที่จะให้เข้าพบหรือติดต่อไม่เกิน 10 คน กฎนี้ถูกใช้อย่างเคร่งครัดสำหรับนักโทษคดีการเมืองหลังรัฐประหารปี 2557


[2] กฎหมายมาตรา 112 เป็นมาตราหนึ่งในประมวลกฎหมายอาญาซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี” ________________________ #Theisaander #isaan #ขวัญข้าว




1,008 views0 comments
bottom of page