เรื่องและภาพ : ศิรินญา สุวรรณโค
หากจะกล่าวถึงวรรณกรรมอีสานที่เสนอภาพการประสบปัญหาภัยแล้งของหมู่บ้านอีสานเก่า คงจะต้องเอิ้นหาวรรณกรรมเรื่อง ลูกอีสาน ของพ่อใหญ่คำพูน บุญทวี ที่ฉายภาพภัยแล้งของหมู่บ้านอีสานในอดีตไว้อย่างชัดเจน
“รอบ ๆ หมู่บ้านก็เป็นทุ่งนาและหนองน้ำ ซึ่งจะแห้งขอดบ่อย ๆ เลยหนองน้ำไปอีกหน่อยก็จะเป็นป่าโปร่งที่ชาวบ้านเรียกว่า โคกอีแหลว วันไหนแดดร้อนจัดจะไม่มีเด็ก ๆ วิ่งในถนนเพราะพื้นดินส่วนมากเป็นทราย” (ลูกอีสาน : 10)
ความแห้งแล้งที่ชาวบ้านใน ลูกอีสาน ประสบ นำไปสู่การ “รอคอย” บางสิ่งบางอย่างของตัวละครในเรื่อง นั่นก็คือ “ฝน” ที่จะตกลงมาให้ความชุ่มฉ่ำแก่สรรพชีวิต ตลอดทั้งเรื่อง จึงมีการกล่าวถึงฝนในฐานะปรากฎการณ์แห่ง “ความหวัง” ของคนใต้ผืนฟ้าในหมู่บ้านแห่งนี้ดังนั้นการมาของฝน หรือแม้แต่วี่แววว่าอาจจะมีฝนตกลงมาจึงโปรยความชุ่มฉ่ำให้หัวใจคนเล็กๆ ในหมู่บ้านมีหวังในการด้นดำเนินชีวิตต่อไป อย่างตอนที่คูนและจันดีดีใจหล๊ายหลาย เมื่อได้ยินเสียงฟ้าร้องเพราะคิดว่าฝนจะตก แต่สุดท้ายก็ได้แต่ “แหงนมอง” อย่างสิ้นหวังเมื่อฝนไม่ตก
ลมเบาจากตีนบ้านเอื่อยมาครั้งหนึ่งแล้วผ่านไป ก้อนเมฆดําทะมึนก้อนใหญ่ลอยมาจากไหนคนก็ไม่ทันสังเกต มันบดบังแสงตะวันไปหมดแล้วก็ลอยไปเรื่อยๆ ต่อจากนั้นก็มีเสียงถอนใจของคูนกับจันดีอยู่ใกล้ๆ กัน อนิจจา…เมฆใหญ่ก้อนนั้นลอยจากไปเสียแล้ว มันลอยไปอย่างเชื่องช้า ลมเบาที่เคยพัดมาก็ไม่มีสักกระดิก คูนแหงนหน้าดูก้อนเมฆแล้วก้าวขาตามมันไปตามมันไป… (คำพูน บุญทวี, 2558: 46–47)
ฝน เป็นหนึ่งในความหวังที่ผู้คนในเรื่อง ลูกอีสาน รอคอย ทว่า วรรณกรรมอีสานใหม่อย่าง เนรเทศ ของ ภู กระดาษ กลับเปิดแง้มบางมุมมองเกี่ยวกับฝนในแง่มุมใหม่ที่น่าสนใจผ่านการเปิดเรื่องของเนรเทศ ภู กระดาษโต้แย้งภาพความแห้งแล้งของอีสานด้วยตำนานครั้งพระเจ้าสามหำของครอบครัวหนึ่งในหมู่บ้านที่ฝนตกต้องตามฤดูกาลแต่ผู้คนในหมู่บ้านก็ยังไม่ได้เติบโต ยังลำบากยากจน ด้นดั้นใช้ชีวิตเช่นเดิม
…ครอบครัวนั้นได้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่ฝนตกต้องตามฤดูกาล ฟ้าร้องประเปรี้ยง ฟ้าแล่บเมียบมาบ อาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่ลมก็พานพัดมาส่วยส่ายตามฤดูกาล แดดก็ออกส่องแจ้งจ้าก้าแกว่งตามวันเวลาตรงเป๊ะ และได้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่ข้าว กล้างามเขียวฮีฮวย ลําต้นเท่าท่อนแขนท่อนขา เมล็ดเท่าผล…แต่ทว่าครอบครัวนั้นและครอบครัวของพี่น้องป้องปาย ไทร่วมหมู่บ้านได้เป็นเจ้าของครอบครองสิ่งต่างๆ เหล่านั้นแต่ เพียงน้อยนิด พออยู่พอกิน พอได้ให้เก็บเกี่ยวบำรุงเมืองบ้านเท่านั้น โดยมีเจ้าที่ดินรายใหญ่ของหมู่บ้าน เจ้าของการประมง ปศุสัตว์รายใหญ่ของหมู่บ้านก็เป็นแต่กวนบ้านที่ได้รับการแต่งตั้งโดยเจ้าเมือง มอบภาระหน้าที่ชีวิตรับผิดชอบให้มาดูแลหมู่บ้านแทนต่างหูต่างตา เก็บเกี่ยวหมากผล ข้าวน้ำท่ามปลา ปศุสัตว์จากหมู่บ้าน… (ภู กระดาษ, 2557: 11–12)
ตัวบทข้างต้นเป็นหนึ่งในตอนเปิดเรื่องของ เนรเทศ เป็นการเปิดเรื่องพร้อมกับเปิดประตูสู่มุมมองใหม่ให้กับหมู่บ้านที่ไม่ได้รอคอยฝนมาช่วยมอบความชุ่มฉ่ำแก่ชีวิตอีกต่อไป เพราะแม้ฝนจะตกดีแค่ไหน ท้ายที่สุดชีวิตของคนที่นั่นก็ไม่อาจมั่งมีศรีสุขได้เหมือนกับจำนวนเมล็ดฝนและผลผลิต นั่นเพราะพวกเขาถูกควบคุมชีวิตในระดับโครงสร้างสังคม ถูกกดขี่ด้วยความเบี้ยวบิดผิดแผกของระบบ ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้มีอำนาจ
วรรณกรรมเรื่องเปิดแง้มไว้ตั้งแต่ต้นว่าสิ่งที่รอคอยของผู้คนในชุมชนนั้นหาใช่ “ฝน” ทว่าได้กล่าวถึงการรอคอยอย่างเข้มข้นเช่นเดียวกัน หากแต่เป็นการรอบางสิ่งบางอย่างโดยเล่าผ่านการ “รอรถ” เพื่อเดินทางกลับบ้านของตัวละครสายชน ไซยปัญญา และครอบครัว
เนรเทศ เล่าถึงการรอรถ ทว่า สิ่งที่รอ มิใช่รถ
เนรเทศ พูดถึงเรื่องราวการเดินทางกลับบ้านของครอบครัว “สายชน” จากชลบุรีไปยังกรุงเทพ เพื่อต่อรถกลับบ้านเกิดไปส่งแม่และลูกสาวที่ต่างจังหวัด แต่การเดินทางกลับบ้านครั้งนี้ไม่ง่ายดาย เพราะท่ามกลางเมืองใหญ่ที่ความเจริญและผู้คนหลั่งใหลล้นทะลักท่วมเมืองจนคนเหยียบคน สายชนและครอบครัว ต้องเสียเวลา เฝ้ารอ เมื่อยล้า อดทนกับการขนส่งมวลชนของประเทศนี้ที่ถึงขั้น “หมดอาลัยตายอยาก” ดังตัวบทว่า
ทุกคนเดินขึ้นรถ หอบหิ้วกระเป๋า ส่วนตุ๊กตาโดราเอมอนนั้น อาวของอุ่นเป็นคนหอบขึ้นไปส่งถึงบนรถ ล. ไซยปัญญา เดินตามทุกคนขึ้นไปบนรถเช่นเดียวกัน แต่เธอไม่มีที่นั่ง เธอยืน สงบอยู่ระหว่างม้านั่งของสายชนกับของแม่ของเขาตรงทางเดินร่องกลางรถ เขานั่งกับโจ้บนที่นั่งติดทางเดิน อุ่นนั่งกับย่าของแกโดยที่แกนั้นนั่งติดริมหน้าต่าง ผู้โดยสารคนอื่นๆ ร่วมคันรถก็กรูตามกันขึ้นหาที่นั่ง บางคนบ่นอุบอิบแผ่วเบา บางคนส่ายหน้าเดินหงอย ๆ หาจับจองที่นั่งตามที่ระบุไว้ตามตั๋วโดยสาร ทรุดกายลงนั่งอย่างสร้อยระโหย หมดอาลัยตายอยาก (ภู กระดาษ, 2557: 225–226)
ในการเดินทางแต่ละครั้งย่อมมีระหว่างทาง การเดินทางของครอบครัวสายชนเช่นกัน นอกจาก ระหว่างทางที่เต็มไปด้วยบรรยากาศความแอดอัด วุ่นวายดังที่กล่าวมาแล้ว สิ่งที่ถูกแทรกเข้ามาเสมอ ระหว่างเนื้อเรื่องการเดินทางกลับบ้านของครอบครัวนี้ คือผู้เขียนได้นำประวัติศาสตร์การรัฐประหาร ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาแทรกอยู่ในเนื้อเรื่องอยู่เสมอ แทรกเข้ามาเป็นช่วง ๆ ตลอดทั้งเรื่อง แทรกเข้ามาอย่างตรงไปตรงมา ไม่ได้พูดอ้อมค้อมแต่อย่างใด อาทิ การรัฐประหารในปี 1947 การรัฐประหารปี 1951 หรือการรัฐประหารในปี 2006 เป็นต้น (ภู กระดาษ, 2557: 109–118)
อย่างไรก็ตาม กลวิธีการเล่าเรื่องของภู กระดาษ ทำให้ข้าพเจ้า- ผู้อ่านพบการเขียนถึงการรัฐประหารและอำนาจนอกระบบอยู่ตลอดเล่ม เกิดเป็นคำถามว่าเหตุใด ผู้เขียน จึงนำเหตุการณ์เหล่านั้นเข้ามาแทรกอย่างตรงไปตรงมาในหลายครั้ง ซึ่งไม่ใช่แนวทางโดยทั่วไปของบันเทิงคดี ทำให้ระหว่างการอ่านข้าพเจ้าเกิดความอึดอัดเป็นระยะ
แต่ก็มาเข้าใจว่าเหตุที่ ภู กระดาษ ทำเช่นนี้ก็เนื่องด้วยกำลังจะบอกว่า ระหว่างทางการรอคอยรถที่แสนยาวนานของสายชนและครอบครัวนั้นเต็มไปด้วย “ความอึดอัด” เช่นเดียวกับที่ผู้อ่านอย่างข้าพเจ้าประสบอยู่ พลันให้เข้าใจความอึดอัดของตัวละครไปในที และเช่นเดียวกับการเดินทางของสังคมไทยที่เต็มไปด้วยการรัฐประหาร การใช้อำนาจนอกระบบที่ทำให้ประชาชนอยู่อย่างอึดอัดใจ ในประเทศที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดต่างๆ มากมายจนพื้นที่หายใจเหลือเพียงน้อยนิด เหมือนพื้นที่บนรถโดยสารที่สายชนนั่ง เช่นกันกับความรู้สึกเมื่อข้าพเจ้าได้อ่านวรรณกรรมเรื่องนี้…อึดอัด รอคอย เจ็บปวด ขรุขระ ร้อนรน เหนื่อยยาก งุนงง หลงทาง…
เนรเทศ ก็ยังทำให้รู้สึกได้ถึง “ความหยุดนิ่ง” ที่ถูกนำเสนอผ่านการรอคอยรถโดยสารที่แสนยาวนาน เข็มเวลาผ่านไปจนหมุนวนกลับมาที่เดิม รถที่สายชนและครอบครัวรอก็ยังไม่มา การรอคอยรถที่ไม่มีวี่แววจะมาถึงของครอบครัวสายชน และการเดินทางกลับบ้านที่ไม่มีวี่แววว่าจะถึงบ้านสักที แสดงภาวะหยุดนิ่งอันอึดอัดได้ไม่แพ้การแทรกตัวบทรัฐประหาร และนั่นก็ไม่ต่างกับ “ความหยุดนิ่ง” ของการเมืองไทยที่เกิดการรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า กลับไปกลับมา เหมือนบรรยากาศการรอรถและระบบขนส่งมวลชนที่ไม่ว่าปีนี้หรือปีไหน สายชนก็พบกับสภาพที่ย่ำแย่และย่ำอยู่กับที่ ดังที่ว่า
“ทุกอย่างละม้ายคล้ายคลึงกับครั้งล่าสุดที่เขาได้เคยใช้บริการเมื่อหลายปีที่แล้วราวกับเวลานั้นเดินย่ำอยู่กับที่” (ภู กระดาษ, 2557: 173)
ไม่เพียงเท่านี้ ภาวะความอึดอัดจากการไร้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องสิทธิในประเทศที่ควบคุมด้วยผู้มีอำนาจยังได้ถูกพูดถึงอย่างน่าสนใจในวรรณกรรมเรื่องนี้ โดยนำเสนออย่างอ้อมผ่านสถานการณ์ในบริษัทที่ผู้บริหารกดขี่คนตัวเล็กตัวน้อย และปิดกั้นการรวมกลุ่มแสดงข้อเรียกร้อง ซึ่งไม่ต่างจากบรรยากาศของประเทศที่ตกอยู่ภายใต้การรัฐประหาร ดังในตอนที่ตัวละครสายชนเมื่อครั้งเป็นพนักงานในบริษัทหนึ่ง เคยตั้งใจรวมตัวกับเพื่อนแรงงานเพื่อไปเรียกร้องให้บริษัทขึ้นค่าแรง เนื่องจากค่าแรงเท่าที่ได้น้อยนิด ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และการลุกขึ้นไปต่อรองเรียกร้องกับบริษัทครั้งนี้นั้นก็ไม่สำเร็จ
ถ้าหากไม่มีความจำเป็นจริงๆ การปรับขึ้นเงินเดือนในแต่ละปีและค่าจ้างจากบริษัทนั้นอยู่ในขั้นเศษ เงินของธุรกิจโดยแท้ แม้เขากับเพื่อนร่วมงานเคยคิดที่จะเรียกร้องต่อคณะผู้บริหารในคราวหนึ่งเมื่อหลายปีก่อนคราวหลังจาก ล.ไซยปัญญาตายไปราวปีสองปีประมาณนั้น ทว่ามันก็ไม่ประสบความสำเร็จอันใด ไม่มีใครเกินห้าคนที่จะร่วมด้วยในการเรียกร้องครั้งนั้น (ภู กระดาษ, 2557: 43)
ตัวบทข้างต้นเห็นได้ชัดว่า เนรเทศ กำลังเล่าถึงสถานการณ์การถูกกีดกั้นความคิดเห็นของประชาชนภายใต้บรรยากาศแบบรัฐประหาร ผ่านสถานการณ์ในบริษัทหนึ่งๆ เห็นได้จากการพูดถึงการรวมกลุ่มที่ไม่ถึงห้าคนที่ว่า “ไม่มีใครเกินห้าคนที่จะร่วมด้วยในการเรียกร้องครั้งนั้น” ซึ่งตรงกับการประกาศห้ามชุมชนเกินห้าคนที่มักจะถูกประกาศออกมาเสมอหลังจากการรัฐประหารในแต่ละครั้งเพื่อควบคุมการต่อต้านและเรียกร้องของประชาชน
ตัวบทยังพูดต่อถึงผลของการคิดที่จะออกมาแสดงความประสงค์ของสายชนและเพื่อนในครั้งนั้น คือการถูกเรียกไปตักเตือนและกล่าวโทษ ดังตัวบทที่ว่า
“การตักเตือนและคาดโทษอุกฉกรรจ์จนเขาและคณะถึงกับแทบเยี่ยวเล็ด เป็นความกรุณาอย่างหาที่สิ้นสุดมิได้ที่ไม่ถูกเลิกจ้าง ประธานบริษัทและคณะผู้บริหารยังให้โอกาสเขาและคณะให้ตรึกตรองให้ถี่ถ้วน จดจําใส่กะโหลกไว้ว่า อันใดควรไม่ควรอย่างไร” (ภู กระดาษ, 2557: 43)
เนรเทศ ยังแสดงให้เห็นอีกว่า แม้การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างหลากหลายอย่างไร แต่ในท้ายที่สุดการแสดงความคิดเห็นของประชาชนก็ถูกทำให้อยู่ภายใต้อำนาจของทหารตำรวจและอำนาจนอกระบบอยู่ดี ดังตัวบทตอนที่มีการพูดคุยเรื่องการเมืองในร้านอาแปะที่ว่า
กลุ่มสีเสื้อทั้งเสื้อแดงเสือเหลืองและเสื้อหลากสี ต่างคนต่าง กลุ่มต่างคํารามใส่กันเสมอๆ เมื่อมีโอกาสหรือหาโอกาสได้ข่มขู่ คุกคามกันและกันยังฝ่ายตรงข้ามกันเสมอ ซึ่งล้วนอยู่ภายใต้ สายตา รอยยิ้มเยาะของตํารวจและทหารหาญที่คอยลาดตระเวน ดูแลความสงบมั่นคงอยู่ในละแวกนี้ทั้งสิ้น (ภู กระดาษ, 2557: 36)
แม้มีการพูดถึงผู้คนที่กำลังถกเถียงกัน แต่กระนั้นแล้วทุกความคิดเห็นก็ยังอยู่ภายใต้ “สายตา” และ “รอยยิ้มเยาะ” ของตำรวจทหาร แสดงให้เห็นว่า “การเมืองไทย” ยังอยู่ภายใต้อำนาจของกองทัพหรืออำนาจนอกระบบอย่างแนบเนียนแบบที่หลายคนก็อาจไม่รู้ตัว เหมือน ๆ กับคนที่เถียงกันในตัวบทที่ยกมาข้างต้น
การแทรกตัวบทประวัติศาสตร์การเมืองและบรรยากาศแห่งความอึดอัดในการถูกกดทับของตัวละครที่ซ่อนนัยยะถึงสถานการณ์ทางการเมืองของไทยในวรรณกรรมเรื่อง เนรเทศ บอกชัดเจนว่าวรรณกรรมเรื่องนี้ไม่ได้พูดถึงการรอรถเพียงอย่างเดียว หากแต่กำลังพูดถึงการรอบางอย่างที่จะปลดปล่อยความอึดอัดของผู้คนซึ่งถูกควบคุมเอาไว้ในประเทศที่อยู่ภายใต้การเมืองอันมีปัญหา ไม่ศรัทธาในเสียงของประชาชน มีอำนาจนอกระบบเข้ามาควบคุมไม่ห่าง และที่สำคัญมีการรัฐประหารเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งแบบที่ไม่ต้องรอแล้วรอเล่าเหมือนรอรถเมล์ หรือแม้แต่ปัจจุบันนี้ข้าพเจ้าก็ไม่แน่ใจว่าผ่านพ้นช่วงรัฐประหารไปแล้วหรือยัง?
ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเห็นว่า สิ่งที่ เนรเทศ กำลังพูดถึงไปพร้อม ๆ กับการรอรถ นั่นคือการรอ ประชาธิปไตย ที่เสียงของประชาชนมีความหมายและมีอำนาจ แม้ในวรรณกรรมไม่ได้กล่าวถึงคำนี้ชัดเจน แต่ได้บอกชัดเจนแล้วถึงความอึดอัดใจอย่างถึงที่สุดของประชาชนคนเดินดินผ่านความอึดอัดในการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนที่ย่ำอยู่กับที่เหมือนการเมืองไทย ผ่านความอึดอัดในการอ่านที่ต้องพบเจอกับตัวบทประวัติศาสตร์การรัฐประหารที่ผู้เขียนแทรกเข้ามาให้เห็นบ่อยครั้ง ผ่านความอึดอัดของตัวละครที่ไร้สิทธิ์ไร้เสียงในการเรียกร้องสิทธิของตน ผ่านความอึดอัดในกลวิธีเล่าเรื่องตัดสลับคำสลับฉากอย่างแยบยล เรียกได้ว่า เนรเทศ เล่าถึงการรอรถ เพื่อเล่าซ้อนเล่าถึงการรอวันที่สังคมไทยมีพื้นที่ให้กับประชาชนได้มีสิทธิ์มีเสียง มีเสรีภาพอย่างที่ควรจะเป็น เช่นกันกับพื้นที่บนรถขนส่งมวลชนสาธารณะที่จะต้องมีพื้นที่อย่างเพียงพอและสะดวกปลอดภัยสำหรับประชาชนผู้ใช้บริการ
“ประชาชน” เป็นสิ่งที่วรรณกรรมเรื่องนี้เน้นย้ำ เห็นได้ชัดเจนจากการตั้งชื่อตัวละครหลักว่า“สายชน” ที่สะกดคำว่า ชน ด้วย “น” ซึ่งแปลว่า คน นัยยะของตัวละครนี้จึงสื่อถึง “ประชาชน” เรื่องราวของสายชนจึงแนบนัยยะที่แสดงให้เห็นถึงความรู้สึก และสภาวะของ ประชาชน ที่ภายใต้ระบบโครงสร้างสังคมอันเบี้ยวบิดผิดแผก อยู่ในนิยามการเมืองที่ไม่มีประชาชนอยู่ในนั้น อยู่ในอำนาจที่ไม่เท่าเทียม อยู่ในพื้นที่ไร้สิทธิ์ไร้เสียง อยู่ในการรอคอยที่ไม่รู้จะถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างไร การเป็นประชาชนในสภาพสังคมเช่นนี้จึงไม่อาจคาดเดาความแน่นอนของการมีชีวิตและไร้ซึ่งความมั่นใจในการหายใจ ไม่อาจรู้เลยว่าจะปลอดภัยหรือไม่ในระหว่างการเดินทางของชีวิต ดังในตอนจบที่ครอบครัวสายชนจะต่อรถเพื่อกลับถึงบ้านเป็นต่อรถครั้งสุดท้ายที่ว่า
“แม้ระยะทางที่ยังเหลือนั้นอยู่อีกไม่ไกล แต่การไว้วางใจกับรถโดยสารสายนี้เป็นความมั่นใจที่ผิดๆ โดยสิ้นเชิง และสายชน ไซยปัญญาก็มิอาจวางใจอะไรได้ ทั้งยังมิอาจคาดการณ์หรือล่วงรู้อะไรได้เสียเลย” (ภู กระดาษ, 2557: 245)
สถานการณ์เช่นนี้ก็ไม่ต่างกับประเทศไทยที่ไม่รู้จะเดินทางถึงวันที่ประชาชนมีสิทธิ์ส่งเสียงของตนอย่างเสรีได้ตอนไหน และไม่รู้ว่าประชาชนและนักเดินทางบนถนนสายนี้จะต้องเหน็ดเหนื่อยและเสี่ยงอันตรายเพียงใด
กล่าวได้ว่า เนรเทศ มิได้เล่าเรื่องการรอกลับบ้านของคนต่างจังหวัดเท่านั้น หากแต่ยังทำให้ “การรอ” ในเรื่องมีความหมายมากกว่าการรอรถ โดยเปิดแง้มให้เห็นระหว่างการรอรถกลับบ้านของเหล่าตัวละครด้วยการรอซ้อนรอ ในขณะที่ ลูกอีสาน กล่าวถึงการรอคอย “ฝน” ที่จะทำให้ความแห้งแล้งทุเลาลง เล่าเรื่องราววิถีชีวิตอันสัมพันธ์กับฟ้าฝน ทำให้ผู้อ่านตั้งคำถามตลอดทั้งเรื่องว่า ตอนไหนฝนจะตกลงมาเสียที ? และฝนสัมพันธ์กับชีวิตผู้คนอีสานในอดีตอย่างไร ขณะที่ เนรเทศ ก็ทำให้ผู้อ่านตั้งคำถามตลอดทั้งเรื่องเช่นกันว่า ตอนไหนสายชนและครอบครัวจะถึงบ้านเสียที? และ เนรเทศ ยังชวนตั้งคำถามต่อไปอีกว่า เมื่อไหร่ เมล็ดฝนแห่งเสรีจะโปรยลงสู่ประเทศแห้งแล้งแห่งนี้ ให้ประชาชนเดินดินได้ร้อง“ชัยชโย” โดยไม่ต้องร้องคำนี้ผ่านเพลงชาติเสียที?
เมื่อใดหนอเมล็ดฝน ที่เป็นของประชาชนจะให้ความชุ่มฉ่ำแก่แผ่นดิน เหมือนกับ “ฝน” ที่ตกลงมาให้ความชุ่มฉ่ำแก่หมู่บ้านของคูนในตอบจบของวรรณกรรมเรื่อง 'ลูกอีสาน'
: เหมือนฟ้าจะครึ้มในบางครั้งแต่ฝนก็ยังไม่ตกลงมาเสียที ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะพญาแถนหรือเทวดาสองมือสองขาผู้ถืออำนาจตนใด
.
.
Comments