*คำเตือน ข้อเขียนชิ้นนี้ตั้งใจเขียนให้เสร็จก่อนสิ้นเดือนตุลาคม
**คำเตือนที่ 2 ข้อเขียนชิ้นนี้กองบรรณาธิการก็เพิ่งมีเวลาอ่านก่อนที่เดือนตุลาปีนี้จะเลยผ่าน
โดย Smanachan Buddhajak
ไม่ต้องรอให้ถึงฝนเดือนพฤศจิกายน ฝนเดือนตุลาก็หนาวเข้ากระดูก พวกมันตกลงมาแนวดิ่ง แตกตัวเป็นฝอย ๆ ถูกลมหนาวระลอกแรกของปีพัดคลื่อนที่ด้วยแนวราบ โผเข้าปะทะใบหน้าและเนื้อตัวผู้เขียน ขณะติดอยู่กลางถนนเว้นว่างการสัญจร ในพื้นที่หุบของเทือกเขาภูเขียว ในใจสาปแช่งระบบขนส่งมวลชนต่างจังหวัด ที่แสนจะลำบากแบบตามมีตามเกิด ไม่แปลกที่คนต่างจังหวัดเขาจะกู้กองทุนหมู่บ้านมาซื้อมอเตอร์ไซด์กัน แต่ก็ถูกโจมตีว่าฟุ่มเฟือยอยู่วันยังค่ำ
สำหรับนักข่าวต่างจังหวัดจบใหม่ที่ไม่มีรถยนต์ ต้องพบสถานการณ์ติดค้างอยู่ตามเส้นทางในชนบทอยู่บ่อยครั้ง ในครั้งนี้ต้องมาเขียนบทความเกี่ยวกับ “เหตุการณ์ 6 ตุลา ในต่างจังหวัด” อันเป็นประเด็นไม่กี่เรื่องที่ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับทางสำนักงานว่าต้องทำ เพราะในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 การล้อมปราบไม่ได้เกิดขึ้นในธรรมศาสตร์หรือแค่กรุงเทพ แต่มีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นตามต่างจังหวัดมากมาย ที่ไม่ค่อยถูกบันทึก ในฐานะคนทำสื่อภูมิภาคจึงควรจะใส่ใจบันทึกเรื่องราวพวกนี้
ออกเดินทางช่วงบ่าย ๆจากขอนแก่น ไปยังอำเภอภูเขียวจังหวัดชัยภูมิ เพื่อสัมภาษณ์แหล่งข่าวคนแรก กว่าจะสัมภาษณ์เสร็จก็ตะวันใกล้ตกดิน จะไปสัมภาษณ์แหล่งข่าวคนต่อไปก็ไม่ได้ เลยแวะไปนอนพักที่อำเภอชุมแพ พบปะมิตรสหายสมัยมหาวิทยาลัยที่ทำงานไฟแนนซ์ ดื่มกันเล็กน้อย ตื่นเช้านั่งรถประจำทางกระป๋องกระแป๋งไปอำเภอหนองบัวแดง เพื่อต่อรถไปอำเภอที่ชื่อว่า “ภักดีชุมพล”
เดินวนอยู่ท่ารถหนองบัวแดงพักใหญ่ กว่าจะหารถไปภักดีชุมพลได้ เห็นว่ากว่าจะออกก็บ่าย 3-4 โมง มีรถไปกลับแค่วันละรอบ เช้า-เย็น ชื่ออำเภอภักดีชุมมพล ก็ดูดีไม่ใช่ “โคก” “ดอน” “อี” อะไรเทือกนั้น ที่มักจะเป็นชื่อของอำเภอกันดารอันห่างไกล อดสงสัยไม่ได้ว่าทำใมรถเข้าไปอำเภอถึงได้มีน้อยรอบแบบนี้
บรรยากาศบนรถโดยสารจากอำเภอชุมแพ ไปอำเภอหนองบัวแดง
รถสองแถวค่อย ๆเลื้อยไปตามส่วนโค้งเว้าของถนน ผู้โดยสารค่อยๆหล่นตัวเองลงตามหมู่บ้านต่าง ๆรายทาง จนเหลือข้าพเจ้าเพียงคนเดียว “น้อง ๆลงไหน” โชฟอร์โผล่ศีรษะผ่านช่องกระจกมาถาม ช่วงระยะทางก่อนจะถึงภักดีชุมพล “ลงข้างหน้าก็ได้พี่” ผมตอบสวนไป ทั้ง ๆที่ยังไม่รู้พิกัดที่นัดหมาย จำคร่าว ๆได้ว่าเป็นวัดป่าอะไรสักอย่างที่อยู่ระหว่างทางไปอำเภอภักดีชุมพล เพราะกว่าแหล่งข่าวท่านนี้จะมีสัญญาณโทรศัพท์ช่างอยากเย็นเหลือเกิน
หลังจากปล่อยข้าพเจ้าลงกลางทาง รถโดยสารก็ม้วนย้อนรถกลับ แล่นฉิวตัวเบากลับไปทางเดิม อย่างไม่แยแสจุดหมายที่เขียนกำกับไว้ว่า “ภักดีชุมพล” พลันคิดในใจว่า “อำเภออะไรวะรถประจำทางยังไม่อยากเข้า” ปล่อยให้ผมต้องติดอยู่ระหว่างทางกลางสายฝนแบบนี้ กว่าจะหาทางไปสถานที่นัดหมายได้ต้องเดินไกลกว่า 5-6 กิโล งม ๆ คลำ ๆถามหา “วัดป่าอะไรสักอย่าง” ที่ฟังจากโทรศัพท์ไม่ค่อยรู้เรื่อง จนได้สิงห์ซาเล้งพ่วงข้าง เกิดสงสารเห็นเดินเปียกฝนอยู่นาน จึงอาสาพาไปส่ง
ชายวัยเกษียณ
แหล่งข่าวเดินออกมารับผู้เขียนหน้าศาลาวัด ออกปากขอโทษขอโพยที่ให้ลำบากเดินทางมาเอง ไม่ได้รับโทรศัพท์เพราะสัญญาณคลื่น มีๆ หายๆ พาข้าพเจ้าไปนั่งรออยู่ที่ม้าหินอ่อนหน้าศาลาวัด หาน้ำดื่ม ผ้าเช็ดตัวมาให้ เมื่อคราวนั่งประจันหน้ากันถึงได้มีโอกาสพินิจแหล่งข่าวผู้นี้ดีดี ชายผู้คืบเข้าห้วงชราภาพน่าจะสักระยะใหญ่ นุ่งห่มด้วยเสื้อผ้าสีขาวล้วนบริสุทธิ์ พร้อมจะรับศีลรับพร หากไม่นับร่างกายอันสูงใหญ่ ก็ดูไม่เห็นแววว่าครั้งหนึ่งจะเคยสวมหมวกดาวแดง เป็นนักรบมือดีในแนวหน้าการปฏิวัติ
“เขตงาน 196” เป็นหัวข้อที่ผมลงมาทำข่าวครั้งนี้ คำว่า “เขตงาน” คือพื้นที่การทำงานของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ใช้สู้รบปรบมือกับรัฐไทย อย่างเขต 111 คือพื้นที่แถบภูพาน รอยต่อ สกลนคร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร โดยจะมีเขตงานกระจายอยู่ทั่วประเทศ ส่วนเขตงาน 196 อยู่ในพื้นที่เทือกเขาภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ติดต่อไปถึงบางส่วนของจังหวัดเลย
196 แตกต่างไปจากเขตงานอื่น ๆ เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งไม่เคยมีความเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์มาก่อนหน้า มีเพียงการเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่เข้ามาต่อสู้เรื่องปากท้อง จากการที่รัฐต้องการจะสร้างเขื่อนที่ต้องย้ายคนทั้งหมดมากกว่า 40 หมู่บ้านในแถบภูเขียว ทำให้มีนักศึกษาเคลื่อนไหวต่อสู้ร่วมกับไทบ้านในพื้นที่อยู่แล้ว เป็นฐานมวลชนให้สร้างเขตงานขึ้นมา
พี่อินทร์ แหล่งข่าวของเราผู้นี้ไม่ได้เป็นนักศึกษา แต่เป็นไทบ้านหนึ่งในหมู่บ้านที่จะต้องย้ายอพยพ ออกหากมีการสร้างเขื่อนสำเร็จ ในวัยหนุ่มได้พบเพื่อนใหม่เป็นนักศึกษาสถาบันต่าง ๆที่เข้ามาทำกิจกรรมออกค่าย ให้ความรู้ไทบ้านนอกจากปัญหาเขื่อนแล้ว ยังเชื่อมไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทางการเมือง ถึงไทบ้านด้วยกันบางคนจะมองว่านักศึกษาเป็นภัยของชุมชน จากเรื่องเล่าของฝ่ายรัฐ แต่อินทร์พยายามอธิบายให้ไทบ้านด้วยกันเข้าใจว่าเพื่อนนักศึกษาของเขาไม่ได้มาร้าย เขาสนิทสนมกับนักศึกษาเอามาก ๆ ด้วยความเป็นวัยเดียวกันพูดคุยรู้เรื่อง ยังนำพาเอาความรู้ในโลกกว้างมาให้ จนถึงกับเคยได้เข้าไปทำกิจกรรมทางการเมืองต่าง ๆในกรุงเทพอยู่หลายครั้ง จากการชักชวนของนักศึกษา
จนในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา ในบรรยากาศขวาพิฆาตรซ้ายกระจายไปทั่วประเทศ นักศึกษาที่ยังทำกิจกรรมอยู่แถบภูเขียวถูกทางการหมายหัวมากขึ้นเรื่อย ๆ มีการค้นบ้านไทบ้านที่มีนักศึกษามาอาศัย จนต้องรีบเอาหนังสือเกี่ยวกับการเมืองไปแอบซ่อน เมื่อข่าวการล้อมปราบในธรรมศาสตร์มาถึง นักศึกษาจึงตัดสินใจหนีขึ้นไปบนทุ่งกระมัง ร่วมการปฏิวัติประชาชนสร้างเขตงานของตัวเองขึ้น และหลังเหตุการณ์ในกรุงเทพเริ่มสงบลง ก็มีนักศึกษาทยอยหนีการกวาดล้างมาเข้าร่วมเขตงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เลขรหัสเขตงาน 196 เองก็ถูกตั้งเพื่อรำลึกถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519
ค่ำคืนในอำเภอที่มองไม่เห็น
หลังพูดคุยสัมภาษณ์กันเสร็จพี่อินทร์ออกปากชวนให้นอนด้วยกันที่วัด ข้าพเจ้าต้องออกตัวปฏิเสธขอเข้าไปนอนในอำเภอดีกว่า เพราะความวังเวงของวัดป่าแสนเงียบเหงาห่างไกลนี้ ที่ถึงแม้ปกติจะเปิดรายการ the shock กล่อมนอนทุกคืน แต่ก็หวั่น ๆถ้าจะนอนในบรรยากาศแบบนี้ ทั้งเป็นเหมือนธรรมเนียมส่วนตัว ที่เวลามาทำงานต่างจังหวัดต่างอำเภอต้องหาร้านดื่มเบียร์แก้เหนื่อย แต่ละท้องที่จะมีบรรยากาศและผู้คนที่ต่างกันออกไปเป็นกับแกล้ม
พี่อินทร์อาสาขับรถเข้าไปส่งที่ตัวอำเภอ พามาจอดในรีสอร์ทเล็ก ๆริมทาง ที่แบ่งห้องเป็นหลัง ๆ “ไปในอำเภอได้มั้ยครับ” ข้าพเจ้าทัก “นี่แหละตัวอำเภอ ที่ขับผ่านมาทั้งหมด” พี่อินทร์อธิบาย ผมแทบไม่รู้ว่าเราเพิ่งขับผ่านอำเภอมา เมื่อลงเดินสำรวจดูก็เป็นอย่างนั้นจริง หย่อมความหนาแน่นสองข้างทาง ที่มีร้านค้าไม่กี่ร้าน กับตลาดกระจุกเล็ก ๆที่ผ่านมาเมื่อครู่นั้น คือตัวอำเภอจริง ๆ ที่ดูเหมือนหมู่บ้านหรือตำบลอะไรเทือกนั้นมากกว่า ถ้าขับรถด้วยความเร็วสัก 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อาจจะไม่สังเกตเห็นเลยด้วยซ้ำ
ข้าพเจ้าอาจจะไม่ได้เดินทางไปครบทุกอำเภอในประเทศไทย แต่พอจะเคยไปมาหลายอำเภอ อย่างอำเภอในพื้นที่สูงภาคเหนือ หรือตามแนวชายแดน ไม่เคยเห็นอำเภอไหนที่เล็กขนาดนี้มาก่อน ภายหลังไปสืบค้นมาได้ว่าภักดีชุมพลเป็นอำเภอ ที่แพทย์จะได้เบี้ยกันดารมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ
เย็นวันนั้นข้าพเจ้าเข้าห้องพัก ตั้งใจว่านอนพักสักหน่อย ตื่นมาค่อยหาข้าวกินต่อด้วยหาเบียร์ดื่ม ร้านบาร์อะไรไม่น่าจะมี แต่ร้านชำเล็ก ๆคิดว่าน่าจะพอหาได้ ตื่นมา 2 ทุ่มนิด ๆเดินออกมาหน้ารีสอร์ท นอกจากแสงจากเสาไฟริมทางแล้ว ทั้งอำเภอก็ตกอยู่ในความมืด บ้านทุกหลัง ร้านรวงต่าง ๆปิดเงียบ เมืองทุกส่วนพร้อมใจหลับใหลไปพร้อม ๆกัน พอจะได้ยินเสียงละครทีวี รายการเกมส์โชว์ดังลอดออกมาอยู่บ้าง พอให้ได้รู้ว่าอยู่ในภาวะปกติ ร้านค้าปลีกแฟรนไชส์เจ้าดัง ก็ยังไม่กรายมาเปิดสาขาขยายกิ่งก้านในถิ่นแดนนี้
เบียร์คงจะหมดหวังหาข้าวลงท้องให้ได้ก่อน พอดีขากลับจากการสำรวจเมือง เจ้าของรีสอร์ทยืนรออยู่พอดี แกบอกว่าหาอะไรกินตอนนี้ไม่ได้หรอก เลยทำข้าวต้มให้กิน พร้อมแถมมาม่ามาไว้ให้เผื่อหิว แล้วฝนก็ตกลงมาห่าใหญ่ ฟ้าร้องรุนแรง ทั้งรีสอร์ทมีประมาณ 10 หลัง มีข้าพเจ้าพักอาศัยอยู่แต่เพียงผู้เดียว ไฟฟ้าก็มาติดติดดับดับอยู่หลายครั้ง ได้แต่นอนเปิดเพลงจากมือถือฟัง
กึกกึกกึก!! จังหวะที่ไฟดับ เสียงก็ดังมาจากประตู ลูกบิดขยับสั่น ข้าพเจ้าชันตัวลุกขึ้นกึ่งนั่ง แล้วประตูก็เปิดออก “เฮ้ยยยย” ข้าพเจ้าร้องลั่น เมื่อเห็นชายแปลกหน้าวัยกลางคนเปิดประตูเข้ามา เขาขอโทษขอโพยยกใหญ่เพราะเปิดเข้ามาผิดหลัง ข้าพเจ้าได้ยืนคุยกับผู้มาเยือนด้านนอกห้องแถมขอบุหรี่สูบมวนหนึ่ง เขาเล่าว่ามางานศพคนรู้จัก ขับรถเลยอำเภอ 2-3 รอบ เพราะมองไม่เห็นตัวอำเภอ เลยมาถึงดึกเอาป่านนี้ แกบอกว่าไฟดับมืดจนมองไม่เห็นเลขเลยเปิดห้องเข้ามาผิด แล้วกุญแจก็เปิดเข้าไปได้เสียด้วย
เช้าหลังคืนปฏิวัติ
เอาตัวรอดในค่ำคืนเปลี่ยววาบใจมาได้ พี่อินทร์ขับรถมารับถึงหน้ารีสอร์ท ในตอนเช้าที่ฝนยังรินริน พาข้าพเจ้าไปเยี่ยมเยียนหมู่บ้านของเขา ที่ครั้งหนึ่งถูกหน่วยความมั่นคงทาสีให้เป็นพื้นที่สีแดง “เคยเจอกันครั้งนึง เขาจำพี่ไม่ได้” ระหว่างอยู่บนรถพี่อินทร์เล่าให้ฟังแบบไม่ได้น้อยใจหรืออื่นใดเลย ว่าหลังจากออกจากป่าหลายปี พี่อินทร์มีโอกาสเจออดีตสหายนักศึกษาที่สนิทกันในป่าอีกครั้งที่กรุงเทพ ซึ่งตอนที่เจอกันอดีตสหายท่านนั้นมีตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลไปแล้ว
ช่วงที่อยู่ในป่าพี่อินทร์ทำหน้าที่ เป็นแนวหน้าเข้าปะทะในหลายสมรภูมิ คอยคุ้มกันผู้นำหน่วยที่ส่วนมากจะเป็นสหายนักศึกษา โดยผู้ที่พี่อินทร์คอยประกบคุ้มกันอยู่เป็นนักศึกษาแพทย์ที่เข้ามาเป็นแกนหลักในการตั้งเขต 196 ที่ต่อมาได้ตำแหน่งระดับสูงในรัฐบาลอย่างที่ว่าไป มีหลายชีวิตที่พี่อินทร์จำได้ว่าตัวเองพรากไปในช่วงสงครามประชาชน จากการเข้าโจมตีหลายครั้ง ทำให้ช่วงบั้นปลายชีวิตของเขาเลือกจะใช้ไปกับการเข้าวัดปฏิบัติธรรม
รถของพี่อินทร์ชอนไชไต่ลาดเข้าเขตป่าสลับไร่สวน ภูเขาหลายลูกเรียงชิดเบียดติดกัน พี่อินทร์พาวนรถให้ดูพื้นที่ส่วนนี้ที่เคยจะถูกไปเอาสร้างเขื่อน ก่อนจะแวะเข้าไปที่บ้าน ภรรยาของพี่อินทร์หาน้ำดื่มมาต้อนรับ พร้อมชี้บอกหลานตัวเล็ก 2 คนให้ทำการสวัสดีข้าพเจ้า
พี่อินทร์บอกอีกว่าได้เห็นข่าวอดีตสหายนักศึกษา ปัจจุบันก้าวหน้าในชีวิตก็รู้สึกยินดีด้วย หลายคนกลับออกไปเป็นอาจารย์มหาลัย เป็นนักคิดนักเขียนปัญญาชน มีบทบาทในรัฐบาลก็ไม่น้อย เมื่อกระแสไฟแห่งการปฏิวัติเริ่มอ่อนเบาลง และเกิดความขัดแย้งกันภายในพรรค ทำให้หลายคนเริ่มถอยออกจากเขตงาน 196 มากขึ้นเรื่อย ๆ จนการประกาศ 66/23 นิรโทษกรรมให้นักปฎิวัติกลับมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย กลายเป็นหมุดหมายหลักในการล่มสลายของเขตงาน
หลังสิ้นสุดคืนวันของการ(พยายามจะ)ปฏิวัติ เพื่อน ๆนักศึกษากลับเข้าไปเรียนตามมหาลัย พี่อินทร์ก็กลับลงมาใช้ชีวิตที่บ้าน ทำการเกษตรเหมือนก่อนหน้านั้น แต่งงานมีลูกเป็นไปตามวิถี เคยได้ตำแหน่งสมาชิกสภา อบต.อยู่หนึ่งสมัย ขึ้นขึ้นลงลงตามปกติของชีวิตไม่ได้ลำเค็ญหรือสุขสบายมากมายต่างกันนัก
สุดท้ายระหว่างทางที่ไปส่งข้าพเจ้าเดินทางกลับ พี่อินทร์พาแวะจอดที่อนุสรณ์สถานเขต 196 ไม่ไกลจากหมู่บ้าน เป็นอนุสรณ์สถานเขตงานที่ผมชอบที่สุดเท่าที่เห็นมา ดูสวยแตกต่างจากที่เขตงานอื่น ๆ อาจจะเป็นเพราะตามที่บอกเล่ามาว่าผู้ออกแบบเป็นอดีตสหายนักศึกษา ที่กลับออกไปเป็นสถาปนิกมีชื่อเสียง
ขณะที่รอข้าพเจ้าเก็บภาพและสำรวจรอบ ๆ พี่อินทร์ก็กวาดทำความสะอาด ดึงเถาวัลย์พันธุ์ไม้ที่เริ่มกลับมารุกคืบเข้าก่อกวนอนุสรณ์สถานอีกครั้ง เพราะงานรำลึกอดีตสหายเขตงานนี้ไม่ค่อยได้จัดสม่ำเสมอทุกปีเหมือนเขตงานอื่น ด้วยสหายส่วนใหญ่เป็นอดีตนักศึกษาจากในเมือง ทำให้ติดภารกิจหน้าที่การงานอยู่แดนไกลกันเยอะ
พี่อินทร์ขับมาส่งข้าพเจ้าที่ถนนระหว่างอำเภอเส้นเดิมที่เข้ามา รบเร้าจะไปส่งในตัวอำเภอหนองบัวแดง แต่ข้าพเจ้าเกรงใจเอามาก ๆแค่พาทัวร์มาทั้งวันก็ไม่รู้จะขอบคุณยังไงแล้ว ร่ำลากันเล็กน้อยแล้วปล่อยให้ข้าพเจ้ายืนอยู่ริมถนนคนเดียว ในช่วงบ่ายคล้อยเข้ายามเย็น แสงแดดยังคงส่องลงมาอยู่ แต่เมฆดำเริ่มจับกลุ่มมาแต่ไกล รถประจำทางลืมไปได้เลย ต้องโบกรถสถานเดียวเท่านั้น
コメント