top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

ความจงรักภักดีที่เจ็บปวดของ จำเลยคดีสวรรคต ร.8



“ที่เศร้าที่สุด คือ พ่อเป็นคนที่รักในหลวงมากที่สุด จงรักภักดีมากที่สุด และมาถูกกล่าวหาในกรณีที่ตรงกันข้าม คนอย่างพ่อน่ะหรือจะทำได้ ท่านเสด็จฯ มาครั้งแรกก็รักพ่อ ให้พ่อเป็นม้า ให้ท่านขี่เล่น ตอนเสด็จฯ มาครั้งที่ 2 ท่านจะเสด็จฯไปไหน ก็จะให้พ่อตามเสด็จฯไปด้วย ท่านจะรับสั่งถามว่า “อ้าว! ชิตไม่ไปด้วยกันหรือ” ถึงแม้ไม่ใช่เวรพ่อ พ่อก็ต้องตามเสด็จฯ ด้วย อีก 2-3 ครั้ง พ่อไม่ได้แต่งตัว ท่านก็จะรับสั่งถามว่า “อ้าว! ไม่ไปด้วยกันหรือ” พ่อก็เลยต้องถือเป็นหน้าที่ ที่จะต้องตามเสด็จฯ ด้วยทุกครั้ง” ผ่องพรรณ สิงหเสนี(หมอด) ลูกคนที่ 2 ของชิต เล่า


17 กุมภาพันธ์ 2498 คือ วันที่ เฉลียว ปทุมรส, บุศย์ ปัทมศริน และ ชิต สิงหเสนี ถูกประหารชีวิต ที่เรือนจำบางขวาง หลังถูกตัดสินว่า เกี่ยวข้องกับการสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489


ย้อนกลับไปเมื่อ 67 ปีที่แล้ว เวลาประมาณ 5 โมงเย็น ของวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ขุนนิยม บรรณสาร ผู้บัญชาการเรือนจำ ได้แจ้งให้ ชิต บุศย์ และเฉลียว ทราบว่า พวกเขากำลังจะถูกประหาร ชิต และบุศย์ ตื่นตระหนก และซึมเศร้า แต่เฉลียวกลับบอกเพื่อนร่วมชะตากรรมของเขาว่า “กลัวอะไร เกิดมาตายหนเดียวเท่านั้น”


เจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมที่นอนให้กับนักโทษทั้ง 3 คน ในห้องพักชั่วคราวที่เตรียมไว้สำหรับรอประหาร แต่คนทั้งหมดไม่ยอมนอน ถึง 4 ทุ่มเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ให้คนทั้งสามเขียนจดหมายสั่งเสีย หรือพินิยกรรม ซึ่งไม่มีการเปิดเผยจดหมาย หรือพินัยกรรมดังกล่าว


เจ้าหน้าที่เรือนจำได้นิมนต์ พระเนตร ปัญญาดิโพธิ์ เจ้าอาวาสวัดบางขวาง ให้ไปเทศนาให้กับคนทั้งสามฟัง การเทศนาเริ่มขึ้นในเวลาประมาณตี 3 และใช้เวลาราวครึ่งชั่วโมง คนที่สงบที่สุดยังเป็นเฉลียว ส่วนบุศย์ ได้บอกกับหลวงพ่อเนตรว่า “เรื่องของผมไม่เป็นความจริง ไม่ควรเลย” ในขณะเดียวกันที่ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น เดินทางมาถึงเรือนจำในชุดสูท หูกระต่าย และหมวก Beret และได้พูดคุยกับนักโทษที่รอการประหาร


เกือบตี 4 ครึ่ง เฉลียว ถูกพาตัวไปที่หลักประหาร กระสุนปืนกลถูกลั่นใส่ร่างเฉลียวหนึ่งชุด 10 นัด 20 นาทีต่อมา ชิดถูกพาไปที่หลักประหาร เป็นคนที่สอง และ 20 นาทีต่อมา บุศย์ถูกยิงเป็นคนสุดท้าย บุศย์ถูกยิงถึงสามชุด เพราะเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่า เขายังมีลมหายใจอยู่ แม้ถูกยิงไปแล้ว 10 นัด แน่นอน สุดท้ายแล้ว คนทั้งหมดเสียชีวิต


เผ่า ดูการประหารจนเสร็จสิ้น หนังสือพิมพ์บางฉบับระบุว่า เผ่าพูดกับศพของนักโทษประหารว่า “ลาก่อนเพื่อนยาก”


สมาชิกครอบครัวของ ชิต, บุศย์ และเฉลียว ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่า ทั้ง 3 คนจะถูกประหารในวันนั้น จึงไม่ทันได้ร่ำลา หรือสั่งเสียต่อหน้า


“พวกเราอยู่กันด้วยความหวัง ด้วยความเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของพ่อว่า สักวันหนึ่งพ่อจะได้รับอิสรภาพ เราจะได้อยู่ร่วมกัน พร้อมหน้าพร้อมตา พ่อ แม่ ลูก ด้วยความอบอุ่นเหมือนเดิม และที่สำคัญพ่อจะได้อุ้ม เจ้าใหม่ ลูกคนเล็กที่แสนจะงอแงด้วย แต่แล้ว ความหวังของเราก็สูญสิ้น ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2498 มันกระทันหันจนพวกเราตั้งตัวไม่ติด เตรียมตัวเตรียมใจไม่ทัน ไม่มีใครรู้ว่าตื่นมาวันนั้น เราจะไม่ได้คุยกับพ่อแล้ว อาหารปิ่นโตวันนั้น พ่อไม่มีโอกาสได้เปิดทานแล้ว” ลูกของชิต ระบุ


มีข่าวลือว่า นักโทษเหล่านั้นได้พูดคุยกับเผ่า และบอกความลับบางอย่างเกี่ยวกับกรณีสวรรคต บางข้อมูลระบุว่า เผ่าได้อัดเสียงสุดท้ายของนักโทษเอาไว้ และมอบเทปเสียงนั้นให้กับ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ (อดีตนายกรัฐมนตรี) โดย ชาติชายได้เก็บเทปม้วนดังกล่าวไว้ในธนาคารที่ สวิสเซอร์แลนด์ และไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ลูกของชาติชายเคยบอกว่า เทปนั้นจะถูกเปิดเผยก็ต่อเมื่อ “หมดราชวงศ์นี้”


“ท่านให้สูบบุหรี่ต่อหน้าพระที่นั่งได้นะคะ ท่านจะรับสั่งว่า “เอ้า! ชิตสูบสิ” แล้วท่านก็จะทรงตีไฟแช็กจุดให้ นั่งตีจนกว่าจะติด คุณชิตยิ่งรักท่านใหญ่เลยตอนนี้”


ชูเชื้อ สิงหเสนี ภรรยาของชิต เล่าความสัมพันธ์ระหว่าง ชิต กับ รัชกาลที่ 8


“เลือดตระกูลสิงห์นี่แหละที่ เลือดทาแผ่นดิน รักษาแผ่นดินไว้ และที่พ่อต้องเป็นอะไรยังงี้ก็เพราะ รักษาแผ่นดิน ก็รักในหลวง เขาก็รักแผ่นดิน รักชาติ ไม่ต้องการให้แผ่นดินลุกเป็นไฟ พ่อก็ยอมเสียชีวิต แม้แต่ชีวิต แม้แต่ตระกูล พ่อเคยพูดกับหมอดว่า ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความจงรักภักดี ถึงชีวิตจะสิ้นไป ถึงชาติตระกูลจะสิ้นไป ก็ไม่สำคัญเท่าแผ่นดิน” ผ่องพรรณ ยืนยันในความจงรักภักดีของชิต


ชิต มีนามสกุลว่า สิงหเสนี มีต้นตระกูลคือ พระมหาราชครูพราหมณ์ ศิริวัฒนะ ซึ่งเป็นพราหมณ์ รับราชการตั้งแต่สมัยพระนารายน์ ในตำแหน่งปุโรหิต หลังจากนั้นคนในตระกูลรุ่นต่อๆมา ก็รับราชการเรื่อยมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ราชวงศ์จักรี


นามสกุลที่เป็นเชื้อสายของ พระมหาราชครูพราหมณ์ ศิริวัฒนะ นอกจาก สิงหเสนีแล้ว ยังประกอบด้วย นามสกุล ศิริวัฒนกุล, จันทโรจวงศ์, สุจริตกุล, ภูมิรัตน, บุรณศิริ, ชัชกุล, ทองอิน, อินทรพล และนรินทรกุล


ชิต เกิดในวันที่ 5 กรกฎาคม 2447 มีพ่อเป็นตำรวจยศพลตรี ในวัยเด็ก ชิต ถูกพ่อนำไปถวายตัวในรัชกาลที่ 6 ให้เป็นนักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แต่เมื่อ ร.6 สวรรคต โรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้ปรับให้นักเรียนต้องจ่ายค่าเรียน ชิตซึ่งไม่มีเงินจึงต้องลาออกระหว่างเรียนระดับชั้นมัธยมปีที่ 6 ในวัย 18 ปี ทำให้ชิตไม่ได้เรียนต่อหลังจากนั้น


เมื่ออกจากโรงเรียน ชิตย้ายไปอาศัยอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น แต่แล้วก็มีโทรเลขเรียกตัวชิตให้ไปเข้าเฝ้า ด้วย คุณหญิงสำลี ยมาภัย พี่สาวคนโตของชิต ได้กราบบังคมทูลฯ รัชกาลที่ 7 ว่า มีน้องชายยังไม่ได้รับราชการ ชิตจึงได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นมหาดเล็ก


ชิต เริ่มรับราชการในวันที่ 8 มิถุนายน 2472 ตำแหน่ง มหาดเล็กกองตั้งเครื่อง มีเงินเดือน 40 บาท เขาทำงานรับใช้ ร. 7 จนกระทั่ง พระองค์ทรงสละราชสมบัติ


“12 มกราคม 2476 เสด็จประพาสยุโรป และอเมริกาเพื่อรักษาพระเนตร เราไปส่งเสด็จจนถึงสีชัง ดูพระองค์เศร้ามากทั้งสองพระองค์ ตอนก้มลงกราบบาททูลลาก่อนเรือออก รู้สึกคล้ายกับหัวใจออกจากร่างซึ่งไม่เคยมีความรู้สึกเช่นนี้มาก่อนเลยในชีวิตเรา” ชิต บันทึกการส่งเสด็จครั้งสุดท้ายเอาไว้


ชิต แต่งงานกับ “วลี กฤษณามระ” ลูกสาวของพระยาพิทักษ์ทวยหาญ อดีตเจ้าเมืองปทุมธานี หลังจากได้แต่งงานกับชิต สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงพระราชทานชื่อใหม่ให้กับวลีว่า “ชูเชื้อ” ชิต และชูเชื้อมีบุตร 7 คน


หลังจาก ร. 7 ทรงสละราชสมบัติ ชิตถูกส่งไปเป็นมหาดเล็กรับใช้ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการแทน


ชิต ได้เข้าเฝ้า รัชกาลที่ 8 ครั้งแรก ในปี 2480 ที่เกาะสีชัง เมื่อทรงเสด็จฯ นิวัติสยามเป็นครั้งแรก ชิตได้ทำหน้าที่มหาดเล็กรับใช้ สมัยที่ ร. 8 ยังทรงพระเยาว์ 




“พระราชจริยาวัตรในขณะที่ยังทรงพระเยาว์ที่ประทับใจพ่อนักหนาคือ ทรงชอบขี่พ่อเล่นต่างม้า พ่อได้รับใช้ใกล้ชิตเบื้องพระยุคลบาท จนเสด็จฯ กลับไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์” ลูกของชิต เล่า


ปี 2488 เมื่อ ร. 8 นิวัติสยามอีกครั้ง ชิตถูกแต่งตั้งเป็นมหาดเล็กรับใช้ ประจำห้องบรรทม ดูแล ห้องพระบรรทม, ห้องทรงพระอักษร, ห้องพระ, ห้องแต่งพระองค์ และห้องสรงสำหรับส่วนพระองค์


9 มิถุนายน 2489 ร. 8 เสด็จสวรรคต หลังถูกยิงด้วย ปืน ยูเอส อาร์มี 11 มม. ให้หลังเกือบหนึ่งปี 15 พฤศจิกายน 2490 ชิตถูกควบคุมตัว เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการสวรรคตของ ร. 8


“ก่อนพ่อจะถูกจับมีคนมาบอกให้พ่อหนี แต่พ่อไม่หนี เพราะเชื่อมั่นในความภักดี เชื่อในความบริสุทธิ์ของตนเอง พ่อยึดมั่นในสัจธรรม ไม่หวั่นไหวต่อภยันตรายใดๆ ตลอดเวลา 8 ปี ที่พ่อถูกจับอยู่ในที่คุมขัง แม้ว่าพ่อจะเจ็บปวด ขมขื่น ทุกข์ ทรมานทั้งกายและใจเพียงใด แต่พ่อไม่เคยปริปากให้พวกเรารู้เลย” ลูกของชิตเขียนเอาไว้


12 ตุลาคม 2497 ชิต บุศย์ และเฉลียว ถูกศาลฎีกาตัดสินประหารชีวิต 5 พฤศจิกายน ระหว่างที่รอการประหาร ทั้ง 3 คนได้ทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ และ 8 ธันวาคม ฎีกาดังกล่าวถูกพิจารณาโดยคณะรัฐมนตรี(ครม.)


“เห็นชอบด้วยตามกระทรวงมหาดไทยให้นำความถวายบังคมทูลได้” นั่นคือ มติของ ครม.


ก่อนการประหารชีวิต หนังสือพิมพ์บางฉบับได้ลงข่าวว่า “ฎีกากรณีสวรรคต ซึ่งผ่านระยะเวลามากว่า 60 วันตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายที่จำเลยทั้งสามได้ทำเรื่องราวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา เพื่อขอให้ทรงวินิจฉัย ลดหย่อนผ่อนโทษ ตามที่ศาลฎีกาได้พิพากษาให้ประหารชีวิตนั้น บัดนี้ ฎีกาของจำเลยได้ถูกยกเสียแล้ว” ข่าวการยกฎีกา นำความตระหนก และโศกเศร้ามาสู่ครอบครัวของทั้ง 3 คน แต่ไม่มีใครรู้ว่า พวกเขาจะถูกประหารเมื่อใด


มีข่าวลือที่ว่า ฎีกาดังกล่าว มิได้ถูกทูลเกล้าฯ แต่ถูกเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของ จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น อย่างไรก็ตาม พล.ต. อนันต์ พิบูลสงคราม ลูกชายของ จอมพล ป. อ้างว่าเคยถามเรื่องดังกล่าวกับพ่อ ซึ่งได้รับคำตอบว่า “พ่อได้ขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นไปถึงสามครั้ง ได้พยายามทำหน้าที่ของพ่อจนถึงที่สุดแล้ว”


แต่บันทึกการประชุม ครม. ระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีความเห็นแนบวาระพิจารณา การถวายฎีกาว่า ไม่เห็นควรจะพระราชทานอภัยลดโทษให้ โดยอ้างว่า เรื่องนี้เป็นการประทุษร้ายแก่บุคคลสำคัญของประเทศ ตามหลักการของกระทรวงมหาดไทยซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยแล้วนั้น จะไม่ขอพระราชทานอภัยโทษให้ ควรยกฎีกาเสีย ซึ่ง รมว. กระทรวงมหาดไทยคนนั้นชื่อว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม


17 กุมภาพันธ์ 2498 ชิต บุศย์ และเฉลียว ถูกประหาร ซึ่งห่างจากวันสวรรคตของ ร. 8 เป็นเวลา 8 ปี 8 เดือน 8 วันพอดี


ภรรยาของชิต เดินทางไปรับศพสามีโดยลำพัง ศพของชิตถูกพาไปยังวัดจักรวรรดิราชาวาส(สามปลื้ม) ซึ่งใกล้กับบ้านพักของเขา ในโลงไม้สักชิตถูกญาติแต่งตัวให้ด้วยเครื่องแบบหมาดเล็ก รูกระสุนปืนถูกอุดด้วยสำลี ศพของเขาได้รับการสวดบำเพ็ญกุศล แต่ครอบครัวไม่ยอมเผาจัดงานเผา


“เราเก็บไว้ก่อน ด้วยมีความหวังว่า สักวันหนึ่งคดีจะกระจ่าง ว่าพ่อไม่มีความผิด เราก็อยากจะรอจนถึงวันที่พ่อเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ว่าตอนหลังนี้ใครๆ เขาก็เผากันหมดแล้ว เราก็เลยคิดว่าน่าจะจัดการให้พ่อให้เสร็จไป”


ศพของชิตถูกเผาจริง ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2521 หรือ 23 ปีหลังจากวันประหารชีวิต


ชูเชื้อ เล่าว่า ตนเองและลูก ได้ไปร่วมงานศพของผู้พิพากษาซึ่งตัดสินคดีสวรรคตบางคน ด้วยความแค้น “แหม เขาตื่นเต้นกันใหญ่ เมียนายชิตเอาพวงหรีดไป ก็เราอยากจะเยาะเย้ยเขาที่พิพากษาเรา เราไม่ผิดสักนิดเดียว”


“กรรมใดใครก่อ คันนั้นก็ต้องรับ ถือว่าเราบริสุทธิ์ ใครทำกรรมอะไรไว้กับเรา เราก็ไม่ต้องทำอะไร ผลสะท้อนกลับไปเอง อย่างพวกผู้พิพากษาทั้งหลาย ตายไม่ดีทั้งนั้น ยกเว้น คุณหลวงปริพนธ์ฯ ที่เป็นคนแย้ง” ผ่องพรรณ กล่าว


นเรศ นโรปกรณ์ อดีตนักข่าวของหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย, นเรศ-ไทรายวัน, กรุงเทพฯ และเสรีไทย ได้สัมภาษณ์ หลวงปริพนธ์จนพิสุทธิ์ ผู้พิพากษาซึ่งรับผิดชอบคดีสวรรคต ร.8 และเป็นคนเดียวที่เห็นว่า คนทั้งสามบริสุทธิ์


นเรศ : ที่ลือว่า นายปรีดาฆ่าในหลวงก็ไม่มีเค้า

หลวงปริพนธ์ : ไม่พบเค้าเลย

นเรศ : ที่ลือว่า อุบัติเหตุด้วยน้ำมือคนอื่นก็ไม่จริง

หลวงปริพนธ์ : ไม่พบเค้าเลย

นเรศ : ที่ลือว่าทรงยิงพระองค์เองก็ไม่เป็นความจริง

หลวงปริพนธ์ : ไม่พบเค้าเลยอีกเช่นกัน

นเรศ : ถ้ากระนั้นก็เหลือทางเดียว

หลวงปริพนธ์ : ทางเดียว

นเรศ : อุบัติเหตุใช่ไหมครับ

หลวงปริพนธ์ : ครับ ตามความเห็นแย้งที่ผมยืนยันไว้นั่นแหละ


นักเขียนที่ใช้นามปากกว่า “ข้ารวมสำนัก” ซึ่งระบุว่า เป็นเพื่อนร่วมสำนักราชการเดียวกันกับชิต แต่ไม่สนิทสนมมากนัก เขียนว่า “ผมไม่เชื่อมาก่อนแล้วว่า คุณชิตฯ จะมีส่วนร่วมในการเสด็จสู่สวรรคาลัยของล้นเกล้ารัชกาลที่ 8 เพราะนั่นเป็นคดีการเมืองดังที่ จอมพล ป. พิบูลสงครามได้ยืนยันไว้ และยังได้ให้ความอุปการะแก่ครอบครัวของคุณชิตอีกด้วยตลอดมาจนถึงรัฐบาลจอมพลคนที่ 5(สฤษดิ์ ธนะรัชต์) จึงได้สั่งระงับการจ่ายเงินอุปการะนั้นเสีย แสดงว่า คุณชิตฯ เป็นผู้บริสุทธิ์แต่ก็ต้องเป็นแพะรับบาปในผลกรรมของผู้อื่น


“ต้นตระกูลของคุณชิตฯ​เป็นผู้ช่วยปราบปรามการจลาจลในสมัยกรุงธนบุรี และสนับสนุนให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ปราบดาภิเศกเป็นปฐมบรมราชวงศ์จักรี”


ชูเชื้อ ระบุว่า ครอบครัวเคยเข้าเฝ้าฯ ในหลวง รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งตระกูลสิงหเสนี ถวายที่ดินเพื่อใช้สำหรับสร้างโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)


“ท่านย่อมต้องรู้แก่ใจดี คิดว่านะคะ คิดว่าท่านรู้ว่าพ่อไม่ผิด แต่เราก็รู้หน้าที่ของท่าน ฐานะของท่านอยู่ในขณะนั้นว่า ถ้งแม้ท่านจะรู้สึกอย่างไร รู้ยังไงท่านก็คงจะทำอะไรไม่ได้” ผ่องพรรณ กล่าว มื่อถูกถามถึง การกราบทูลเรื่องฎีกาอภัยโทษ


ลูกของชิตบอกว่า “แม่เฝ้ารอการประกาศจากทางการ เพื่อล้างมนทินให้กับพ่อผู้บริสุทธิ์ ตั้งแต่พ่อถูกจับ พ่อโดนประหารชีวิต เวลาผ่านไปจนพ่ออายุครบ 100 ปี จนวันที่แม่อยู่กับพวกเราเป็นวันสุดท้าย แม่ก็ยังเฝ้ารอการประกาศความบริสุทธิ์ของพ่อ วันนี้แม่ไปอยู่กับพ่อแล้ว” ลูกของชิต เขียน


ชูเชื้อ ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของชิต เสียชีวิตลงในวันที่ 2 มกราคม 2549 โดยยังไม่เคยได้ยินการประกาศความบริสุทธิ์ของสามี



ข้อมูลถูกเรียบเรียงจาก อนุสรณ์งานศพ ชิต สิงหเสนี ณ เมรุวัดจักรวรรดิ์ราชาวาส และ อนุสรณ์งานศพ นางชูเชื้อ (วลี) สิงหเสนี หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2498 , สยามนิกร ฉบับวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2498 และเช้า ฉบับวันที่ 15 และ18 กุมภาพันธ์ 2498 รวมถึงความทรงจำของ ส. ศิวรักษ์


---


ข้อเขียน : มหาสมุทร บุปผา / ไม่มีพระเจ้าบนแผ่นดิน ถ้าเชื่อว่าคนเท่ากับคน

ขอบคุณภาพ : อนุสรณ์งานศพ ชิต สงหเสนี ณ เมรุวัดจักรวรรดิ์ราชาวาส


ฝากติดตาม ดิ อีสานเด้อ ในช่องทางต่างๆ เว็บไซต์ www.theisaander.com เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/theisaander อินสตาแกรม www.instagram.com/theisaander ทวิตเตอร์ twitter.com/TIsaander และกลุ่ม หมู่เฮาอีสานเด้อ


#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #สวรรคต #ร8 #ชิต #บุศย์ #เฉลียว


3,379 views0 comments
bottom of page