หากคุ้นเคยกับวรรณกรรมท้องทุ่ง'ลูกอีสาน' คงไม่ยากที่จะรู้จักนาม คำพูน บุญทวี นักเขียนซีไรต์คนแรกเมืองไทยจากตำบลทรายมูล อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี ก่อนหน้าคำพูนจะคว้ารางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนในปี 2522 จังหวัดยโสธรเริ่มถูกปักหมุดในแผนที่ประเทศไทย เมื่อปี 2515 หลังพยายามอยู่นาน 21 ปี โดยแยกจากอุบลราชธานี เมืองที่ได้ชื่อว่ามีปราชญ์และศิลปินพื้นถิ่นอยู่เหลือคนานับ
ถึงอย่างนั้น- นอกจากฟากวรรณกรรมที่มีคำพูน บุญทวี ,ยงค์ ยโสธร ,จินตรัย
เฉกเช่นนาม ดาว บ้านดอน , ทองมี มาลัย ,บุญช่วง เด่นดวง, น้าซู วงซูซู,สมจิตร บ่อทอง,สนุ๊ก สิงห์มาตร,ยาว ลูกหยี
มนต์แคน แก่นคูณ ,ไผ่ พงศธร
รายชื่อเหล่านี้ต่างปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ยโสธร’เป็นเมืองที่ประชากรไม่เคยหลุดจากแสงที่สาดส่องมายังคนทำงานสร้างสรรค์
เช่นเดียวกับบุรุษที่ชื่อเพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา ตลกอาชีพที่เอาจริงเอาจังกับการดูหนัง ทำหนัง เป็นอีกคนอีสานเฮ็ดหนัง ที่ใช้บ้านเกิดเล่นล้อกับชื่อหนังในจักรวาล แหยม ยโสธร ที่ประสบความสำเร็จในแง่รายได้อย่างมหาศาล หรือแม้แต่ล่าสุดใน 'ส้มปลาน้อย' หนังรักสามเส้าที่เหมือนเรื่องราวจะต่อจาก 'ส้มภัคเสี่ยน' ที่หม่ำ จ๊กมก ตัดสินใจกำกับเอง นอกจากความตลกของบทและไดอะล็อกแบบอีสานอันเป็นจุดเด่นของหนังหม่ำในหลายๆเรื่อง กับส้มปลาน้อยเขาตั้งใจใช้ภูมิทัศน์เมืองยโสธรเป็นจุดขาย อย่างที่ไม่เคยเห็นในภาพยนตร์ไทยเรื่องไหนมาก่อน และนี่คือเรื่องราวที่อยากมาบอกกล่าวถึงเหตุแห่งแห่งการแนะนำภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ว่าคุณจะเป็นยโส คนถ่อมตน คนอีสาน หรือคนภูมิภาคอื่นที่ใช้ภาษาไทย
มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์
เมื่อฟิล์มชุบชีวิต เมืองเก่าสิงห์ท่า
น้อย (โตโน่ ภาคิน) หลงรัก ส้ม (อุ้ม อิษยา) ตั้งแต่แรกยลในวัยเยาว์ สิ่งที่ขับเน้นความสัมพันธ์ยาวนานของสองตัวละคร คือการปรากฎของทั้งคู่ในฉากเมืองเก่าสิงห์ท่าย่านการค้าอันรุ่งเรืองของยโสธรในอดีต ร่องรอยความงดงามยังปรากฎในสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส และอิทธิพลของชาวไทยเชื้อสายจีน หากมีโอกาสไปเยือนยโสธรการได้ไปเดินสำรวจอาคารเก่าแก่ แวะชิมอาหารจากคนท้องถิ่นก็เป็นอีกทางเลือกที่ไม่ควรพลาด ด้วยอยู่ใจกลางเมือง ถนนรอบบริเวณย่านสิงห์ท่า ยังเชื่อมต่อถึงกันระหว่างชุมชน ตลาด โรงเรียน วัด และศาลเจ้าพ่อหลักเมือง อันบ่งชี้ความเป็นศูนย์กลางของที่แห่งนี้ พญาคันคาก เป็นอีกแลนด์มาร์คปรากฎโฉมในส้มปลาน้อย มากบ้างน้อยมากหลังภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกฉายออกไปเราเชื่อเหลือเกินว่าชุมชนสิงห์ท่าจะมีผู้คนไปเยือนไปตามรอยหนังให้ชุมชนมีชีวิตชีวามากขึ้น หรือแท้จริงในส่วนลึกเขาอาจจะไปอยู่แล้วไม่เกี่ยวกับหนังก็ได้
ยโสธรเอฟซี: ไคกั่วเตะพระ เตะเณรอยู่
ตั้งแต่ฉากแรกที่ มหาชัย (หม่ำ จ๊กมก) เดินไปบิณฑบาทเห็นบุคคลใส่เสื้อยโสธร เอฟซี แล้วหล่นคำถามความเป็นไปของสโมสรที่เคยมีประธานชื่อเพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา ก่อนจะได้คำตอบว่า ไคกั่วเตะพระ เตะเณรอยู่ ไดอะล็อคนี้คนไม่ได้ติดตามฟุตบอลอาจคิดว่าเป็นมุกตลกทั่วไป แต่ในชั้นที่สองของมุกนี้คือการบอกถึงสถานการณ์ไม่กี่เดือนที่ผ่านมาของผลงานทีมที่กระท่อนกระแท่น นั่นจึงเป็นที่มาของประโยคโต้กลับมหาชัยที่ว่ายังดีกว่าเตะพระเตะเณรอยู่ นอกจากนี้ฉากที่ ‘น้อย’ อกหัก วิ่งร้องไห้ยังไปเตะฟุตบอลที่สโมสรขณะที่มีการซ้อมฟุตบอลอยู่ ในแบบฉบับนักเตะในสนามยังน่าจะฉงนว่า “มึงเฮ็ดอีหยังวะ”
ปัจจุบัน "สิงห์บั้งไฟโก้" ยังเล่นในในไทยลีก 3 มังกรฟ้าลีก โซนอีสาน โดยเปลี่ยนตัวประธานสโมสรไปแล้ว แต่ยังมี พงศธร ศรีจันทร์ (ไผ่ พงศธร) นักเตะสังกัดทีมแบบกิตติมศักดิ์ยังเป็นสมาชิกสังกัด
การแสดงครั้งสุดท้าย จากไอ้หนุ่มแขนซ้ายลายมังกร
นี่คือสิ่งที่ใครหลายคนตัดสินใจซื้อตั๋วไปดูภาพยนต์เรื่องนี้แบบไม่ลังเล เพราะคอเพลงชาวอีสานหรือชาวไทย ตั้งแต่ทราบข่าวการสูญเสียหมอลำบันลือโลกอย่าง พรศักดิ์ ส่องแสง
(บุญเสาร์ ประจันตะเสน) ต่างแสดงความเสียใจและยังอยากเห็นผลงานครั้งสุดท้ายของไอ้หนุ่มแขนซ้ายลายมังกร เช่นเดียวกับที่ปรากฎในส้มปลาน้อย 'พ่อศร' พ่อของส้ม พ่อค้าไก่ย่างที่ชอบเป๊กเช้าเป๊กเย็นเป็นชีวิตจิตใจ ราวกับล่วงรู้ถึงกาลข้างหน้าว่าจะเป็นการแสดงครั้งสุดท้าย พรศักดิ์ ส่องแสงรับบทบาทนั้นได้เป็นธรรมชาติ สมกับเป็นศิลปินรุ่นใหญ่ และมีความปรับตัวเวลาอยู่ในโลกของหนังรุ่นน้อง โดยเฉพาะการเอามุกเพลง สาวจันทร์กั้งโกบ บทเพลงอมตะข้ามกาลเวลามาเล่นล้อในหนัง อันทำให้งานศิลปะที่พรศักดิ์สร้างมานั้นเข้าถึงทุกผู้คนและทุกสถานการณ์ และตอกย้ำว่างานที่ดีนั้นย่อมไม่ทำให้ผู้สร้างสรรค์ตายไปจากใจผู้คนได้
พ่อศร: มักฟังเพลงพรศักดิ์ซั่นเบาะ?
สิน: โอ๊ย กะฟังไปจั่งซั่นละอ้าย เอ้ย เสียงคือหมาหอนนี่
แหยม ยโสธร และนักแสดงหนังหม่ำโอลด์สคูล
หากสังเกตในหนังที่ หม่ำ จ๊กมก กำกับ เรามักจะเห็นนักแสดงคู่บุญที่ตามติดไปเหมือนดั่งเงาแทบทุกเรื่อง ตั้งแต่ แจ้ง อนุวัฒน์ ทาระพันธ์ ที่เคยแจ้งเกิดในบทยอดชาย จากแหยม ยโสธร ตั้งแต่ภาคแรก สายสิน วงษ์คําเหลา ,ฝ้าย เขมะ, หรือแม้แต่ยาว ลูกหยี พ่อหมอทำขวัญชาวยโสธร ที่ต่างออกมาสร้างสีสันในบรรยากาศอันคุ้นเคย เรียกได้ว่าต่อให้บทบาทพวกเขาจะเปลี่ยนเป็นสถานะอะไร แต่ความฮาสุดบรรลัยหรือที่กล่าวไปว่าฮาในรูปแบบไดอะล็อคของผู้กำกับยโสธรผู้นี้ยังไม่ลดดีกรีลง พ่วงกับศิลปินอีสานที่เป็นที่รู้จักอย่าง อิ๊ด โปงลางสะออน,ฝน ธนสุนทร ฯลฯ
เต้ย อภิวัฒน์ รับบท 'อ้ายหน้าใหม่' ตัวสอดแทรก
ปลา (เต้ย อภิวัฒน์) นักธุรกิจหนุ่มเชื้อสายยโส-กรุงเทพฯ เดินทางกลับบ้านเกิดแม่ เผื่อสานต่อโรงงานของครอบครัว ก่อนจะพบรักกับแม่ค้าส้มตำ ที่ทำให้เขาใหลหลงตามติดเธอไปทุกหนแห่ง โดยที่สาวเจ้ามีหนุ่มอีกคนพะเน้าพะน้ออยู่เคียงกาย พล็อตเรื่องบีบให้ปลาเป็น 'อ้ายหน้าใหม่' ที่เข้ามารบกวนความรักของส้มกับน้อย ในที่สุดเรื่องราวจะลงเอยอย่างไร ใครที่ไปติดตามดูภาพยนตร์คงเห็นผลลัพธ์ดังกล่าวแล้ว แต่มากกว่าพื้นผิวการแสดงของอดีตครูหนุ่มชาวอำเภอเขมราฐขี้เขินผู้นี้ที่ เราดูแล้วรู้สึกฝืนๆ นิดๆ เพราะเข้าใจบริบทคนขี้อายจัดวางแสดงตัวเองไม่เก่งว่าต้องทำยังไง เพราะยิ่งต้องร่วมงานกับผู้กำกับที่มีเลเยอร์ ของมุกหลายชั้นและมีเชิงทางวาทะวิทยาสูง เขายิ่งต้องพยายามทำตัวให้กลืนไปกับทีมหนังมากขึ้น แน่นอนว่าเราอดไม่ได้ที่จะชื่นชม และคิดว่าคนหนุ่มอีสานคนนี้น่าจะมีผลงานในแวดวงนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยๆก็ในแง่บทบาทศิลปินนักเพลง
ส้มภัคเสี่ยนฮอดส้มปลาน้อย: จักรวาลแห่งความวาดหวังหนังอีสาน
จากส้มภัคเสี่ยนใช้ฉากนครพนม อันเสมือนภาคแรกที่กวาดรายได้ไปกว่า 200 ล้านบาท ในภาคที่ตามมาผู้กำกับเปลี่ยนจากลูกเป็นพ่อ ใช้ถิ่นฐานเก่าและความเป็นเจ้าบ้านยโสธรซึ่งหากเป็นเกมส์ฟุตบอลก็นับว่าทั้งฉาก และความเคลื่อนไหวที่ปรากฎในหนังช่างสอดรับกับบรรยากาศที่ทางที่ควรจะเป็น แม้จะมีมุกตลกที่ล้นๆเกินความจำเป็นไปบ้าง
ใดๆก็ตาม ‘ส้มปลาน้อย’ มีการเปรยถึงภาคต่อของจักรวาลนี้ว่าจะเป็น ‘ส้ม’ อะไรต่อ เข้าใจว่าน่าจะเกิดขึ้นแน่ๆ ยิ่งกับตอนจบของหนังมีนักแสดงจากกลุ่มไทบ้านเดอะซีรี่ส์ มาปรากฎตัวพร้อมถามถึงโอกาสในการครอสกันระหว่างตัวละคร ‘มหาชัย’ และ ‘ไทบ้าน’ แต่เป็นเรื่องที่คาดการณ์กันไปตามที่เห็นด้วยสายตา ในอีกมุมหนึ่งหากโปรเจคนี้เกิดขึ้นจริง ย่อมเป็นที่วาดหวังว่าอุตสาหกรรมข้องเกี่ยวหนังในจังหวัดอีสานแบบทั้งยโสธร และศรีสะเกษ จะสร้างมูลค่าทางการตลาดและทางวัฒนธรรมไปอีกสักกี่มากน้อย ทุกวันนี้มีกีฬาเยอะละ อยากเห็นหนังจากบุรีรัมย์บ้าง ใครจะเป็นคนลงทุนนะ ?
ลูกบั้งไฟที่พุ่งทะยานลักษณาการจ๊วดแบบความรักหนุ่มสาว
งานแห่ดาวที่สุดแห่งศรัทธาต่อพระเจ้าในโบสถ์ไม้ซ่งแย้
ไก่ย่างที่อร่อยที่สุดในดงเก่าของบ้านแคนคำเขื่อนแก้ว
อย่างที่กล่าวไปในโอกาสฉลองครบครึ่งศตวรรษของจังหวัดยโสธร กับกาลเวลาที่เวียนมาถึง มีเรื่องเล่าจากทั้งเหตุการณ์ วัตถุสิ่งของ บุคคลสำคัญ ในจังหวัดมากมาย ที่ทางจังหวัดอาจหยิบเอามาบอกเล่าเป็นหมายเหตุในที่แห่งนี้
ในมุมมอง The Isaander เราชื่นชมวัฒนธรรมและที่ทางทั้งดั้งเดิมและแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอีสานหรือในประเทศไทยเสมอ ๆ หรือแม้แต่ยโสธรมีตระกูลหนัง ‘แหยม’ จนมาสู่ ‘ส้มปลาน้อย’ ก็เป็นเรื่องยินดีที่จะเขียนบอกเล่าถึงและเชิญชวนไปเชียร์
เพียงวาบสงสัย ทุกวันนี้คนยโสธรหากอยากดูหนังเล่าเรื่องบ้านตัวเองต้องไปดูที่โรงภาพยนตร์ไหน ?
ผู้สนใจภาพยนตร์ขณะนี้สามารถเช็ครอบได้ทุกโรงหนังทั่วประเทศ (เฉพาะจังหวัดที่มีโรงหนังเปิด)
ฝากติดตาม ดิ อีสานเด้อ ในช่องทางต่างๆ เว็บไซต์ www.theisaander.com เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/theisaander อินสตาแกรม www.instagram.com/theisaander ทวิตเตอร์ twitter.com/TIsaander และกลุ่ม หมู่เฮาอีสานเด้อ www.facebook.com/groups/226598875311155
ปี 2565 นี้ ดิ อีสานเด้อ สัญญาว่า จะผลิตผลงานให้ทุกท่านได้อ่านอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ชิ้นไม่ขาดหายไปแน่
Comments