top of page
Writer's pictureThe Isaander

6 ปี คดีระเบิดราชประสงค์ ความเชื่องช้าที่เจ็บปวด

Updated: Jan 23, 2022



“เป็นการจับแพะหรือเปล่าครับท่าน”


ในวันที่ 29 สิงหาคม 2558 ตอนที่ พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ในขณะนั้น) กำลังแถลงข่าวการจับกุมชาวต่างชาติที่อาจเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ระเบิดศาลท้าวมหาพรหม สี่แยกราชประสงค์ คำถามข้างบนถูกโยนเข้ากระแทกกระบาลของ สมยศ อย่างจัง


“นี่น้องไปตรงอื่นเลยไป ฉบับไหน ไป ออกไปเลยครับ คุณไม่สร้างสรรค์ คุณเป็นคนไทยหรือเปล่า ผมไม่แคร์คุณหรอกนะจะบอกให้ เขากำลังอยู่ในบรรยากาศของความรู้สึกดีๆ มาถามจับแพะหรือเปล่า” สมยศหันขวับ และตอบสีหน้าไม่สบอารมณ์


อาเด็ม คาราดัก คือ ชาวต่างชาติคนนั้นที่สมยศบอกว่า ตำรวจจับได้ และยังอ้างว่า เขาครอบครองวัตถุระเบิดมากมาย เดือนถัดมา ไมไรลี ยูซุฟู ถูกคุมตัวที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ฝ่ายรัฐให้ข้อมูลกับสื่อว่า เขากำลังจะหนีข้ามประเทศ ทั้งคู่ถูกสอบสวนจากทั้งทหารและตำรวจ ด้วยประเทศใน พ.ศ. นั้นปกครองด้วยรัฐบาลทหาร


ด้วยรัฐบาลขณะนั้นคือ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” เหตุระเบิดกลางเมืองที่ทำให้มีคนตาย 20 และบาดเจ็บอีกกว่า 100 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 จึงทำให้ผู้นำทหาร และองคาพยพ เสียหน้าเป็นอย่างมาก


ไม่นานหลังการจับกุมตัว มีการเปิดเผยข้อมูลว่า “อาเด็มรับสารภาพแล้วว่าเป็นมือระเบิด”


คดีถูกส่งต่อให้กับอัยการทหาร เข้าสู่การพิจารณของศาลทหาร กรมพระธรรมนูญ ปกติคดีอาญาแบบนี้ต้องพิจารณาในศาลพลเรือน แต่ด้วยยุคนั้นสมัยนั้น ประเทศถูกปกครองจากรัฐบาลทหาร เรื่องอะไรที่ทหารมองว่าเป็นคดีความมั่นคงจึงถูกพิจารณาในศาลทหาร ศาลที่ผู้พิพากษาไม่จำเป็นต้องจบกฎหมายก็ได้


ไม่ใช่แค่คดีนี้หรอกที่ต้องขึ้นศาลทหาร ตอนนั้น คดี ม. 112 เองก็ถูกพิจารณาในศาลทหารเช่นกัน


16 กุมภาพันธ์ 2559 อาเด็ม และไมไรลี ผู้มีสถานะเป็นจำเลย ทีี่ไม่เคยได้รับการประกันตัว อยู่ในชุดนักโทษสีน้ำตาล ถูกพามายังศาลเพื่อตรวจพยานหลักฐาน ศาลต้องใช้ล่ามแปลภาษาอุยกูร์เป็นภาษาอังกฤษ และมีล่ามภาษาอังกฤษแปลเป็นภาษาไทยอีกที เพราะ จำเลยทั้งคู่ไม่ถนัดทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย


สื่อมวลชน และผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างชาติแน่นห้องพิจารณาคดี ทั้งหมดถูกห้ามไม่ให้ใช้โทรศัพท์มือถือ, เครื่องอัดเสียง และกล้องถ่ายรูป แม้กระทั่งกระดาษ กับปากกาก็ห้าม สมองของนักข่าวจึงถูกใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพในวันนั้น


นายอาเด็ม บอกกับศาลว่า เขาอายุ 31 ปี ก่อนเดินทางมาไทยมีอาชีพเป็นคนขับรถรับจ้าง ส่วนไมไรลี อายุ 27 ปี เขาเป็นนักศึกษา ทั้งคู่เป็นชาวอุยกูร์ อาศัยอยู่ในเมืองอุรุมชี เขตปกครองพิเศษซินเจียง ประเทศจีน


---


คนอุยกูร์ คือ ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ติดชายแดนคีร์กีซสถาน และคาซัคสถาน มีภาษาพูดคล้ายภาษาคาซัค, คีร์กีซ และเตอร์กิช มีรูปร่างหน้าต่างใกล้เคียงกับแขกขาวมากกว่าจีน ข้อมูลจากโลกตะวันตกมักระบุว่า คนอุยกูร์ถูกเลือกปฏิบัติจากรัฐบาลจีน ทั้งด้านศาสนา, การศึกษา และอื่นๆ สื่อมวลชนทั่วโลก เคยระบุว่า ในซินเจียงมีค่ายกักกันที่เอาไว้ปรับทัศนคติคนอุยกูร์ และมีคนอุยกูร์ถึง 1 ล้านคนที่ต้องเข้าค่านนั้น สหประชาชาติเองก็เคยยืนยันข่าวมีมูลความจริง


ในศาลวันนั้น อัยการแจ้งความผิดของอาเด็ม 10 ข้อหา ขณะที่ไมไรลี 8 ข้อหา จากสมมติฐานที่เชื่อว่า อาเด็มวางระเบิดที่ราชประสงค์ ในวันที่ 17 สิงหาคม และไมไรลี ทิ้งระเบิดลงแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้ท่าเรือสาทร ในวันที่ 18 สิงหาคม 2558


“อาเด็ม และไมไรลี ปฏิเสธทุกข้อหาที่เกี่ยวกับระเบิด โดยอาเด็มรับสารภาพเพียงแค่ข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย” ล่ามแปลความจากคำพูดของทั้งคู่


ชูชาติ กันภัย ทนายความของอาเด็มให้ข้อมูลว่า “อาเด็มถูกทำร้ายในช่วงวันที่ 20-26 กันยายน 2558 ระหว่างถูกควบคุมตัวเพื่อสอบสวน เขาถูกใช้น้ำกรอกเข้าปากและจมูก ใช้สุนัขมาเห่าใส่ในระยะใกล้ และถูกขู่ว่าจะส่งตัวกลับไปให้กับรัฐบาลจีน” กระบวนการทั้งหมดทำเพื่อกดดันให้ อาเด็มรับสารภาพว่า เขาคือมือระเบิด


“ผมไม่ใช่สัตว์ ผมเป็นคน ผมเป็นคน - พวกเราบริสุทธิ์ ช่วยเราด้วย สิทธิมนุษยชนอยู่ที่ไหน”


จำเลยทั้งสองคน ร้องตะโกนขณะถูกพาตัวมาขึ้นศาลในวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 พวกเขาถลกเสื้อเผยให้สื่อมวลชนที่หน้าศาลเห็น รอยฝกช้ำบนตัว ครั้งนั้น เป็นครั้งสุดท้ายที่ศาลอนุญาตให้สื่อมวลชนถ่ายรูปจำเลย


---


มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ คือ นักเคลื่อนไหว เขาเรียกร้องความเท่าเทียม และต่อต้านการเหยียดผิว เขาต่อสู้แบบสันติวิธี โดยใช้การปราศรัยเป็นอาวุธ เพื่อลบล้างการเลือกปฏิบัติในสหรัฐอเมริกา แม้มีคนหลายคนรักเขา แต่ก็มีอีกหลายคนที่ไม่เห็นด้วย ปี 1958 เขาถูกบุกแทงด้วยมีดแต่รอดมาได้ ต่อมาในปี 1964 เขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ แต่ให้หลังแค่ 4 ปีเขาถูกยิงด้วยปืน คราวนี้เขาไม่รอด


คิงเสียชีวิตด้วยวัย 39 ปี อีก 15 ปีต่อมา ประธานธิบดี โรนัลด์ แรแกน ได้กำหนดให้ทุกวันจันทร์ที่สามของเดือนมกราคมเป็นวันหยุดราชการ เพื่อเป็นเกียรติให้แก่การกระทำอันยิ่งใหญ่ของเขา ด้วยมันใกล้กับวันที่ 15 มกราคม 1929 ซึ่งเป็นวันเกิดของคิง


ในวันมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ 17 มกราคม 2565 ปีที่ 6 ของการพิจารณาคดี และปีที่ 7 ในเรือนจำ ของอาเด็ม และไมไรลี


ไมไรลี และอาเด็ม อยู่ในชุดนักโทษสีน้ำตาล ถูกพาตัวมายังศาลอาญากรุงเทพใต้ในช่วงบ่าย เขาทั้งคู่ดูแก่ขึ้นเล็กน้อย ข้อมือขวาของอาเด็มอยู่ในกุญแจมือซึ่งอีกข้างถูกผูกกับข้อมือซ้ายของไมไรลี ข้อเท้าของทั้งคู่ถูกคล้องด้วยกุญแจเท้า ที่ราชทัณฑ์พยายามจะบอกใครต่อใครว่ามันไม่ใช่ตรวน


หลายปีที่ผ่านมา อาเด็ม และไมไรลีต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ คดีความของเขาถูกพิจารณาในศาลทหารอย่างเชื่องช้าด้วยปัญหาต่างๆ พยานไม่มาตามนัดบ้าง หาล่ามภาษาอุยกูร์ไม่ได้บ้าง เรื่องล่ามดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคดีนี้ ล่ามคนแรกถูกจับด้วยคดียาเสพติดหลังจากทำงานได้ไม่กี่วัน, ล่ามคนถัดๆ มาไม่ใช่คนอุยกูร์สื่อสารกับจำเลยไม่รู้เรื่อง แค่การหาล่ามที่เหมาะสมก็กินเวลาหลายเดือน


ในศาลทหาร อัยการยื่นขอสืบพยาน 447 ปาก แม้ผ่านเวลาจากเดือนเป็นปีจากปีเป็นหลายปี แต่จนแล้วจนรอด สามารถสืบพยานด้จริงๆแค่ 23 ปาก หนทางข้างหน้าเหมือนจะยังอีกยาวไกล ถ้ากลั้นใจสารภาพ การพิจารณาอาจจะจบไปนานแล้ว แต่คนทั้งคู่ยังยืนยันว่า ตัวเองบริสุทธิ์ และปฏิเสธที่จะสารภาพ


---


หลังจากใช้เวลาในศาลมา 3 ปี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้โอนย้ายคดีของพลเรือนจากศาลทหารมายังศาลปกติ คดีของอาเด็ม และไมไรลี จึงถูกย้ายมาอยู่ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มกราคม 2563 กระบวนการพิจารณาเริ่มขึ้นอีกครั้งในศาลใหม่ ในช่วงเวลาเดียวกันไทยกลายเป็นประเทศแรกนอกจีนที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สองเดือนต่อมาประเทศเข้าสู่ภาวะฉุกเฉิน การพิจาณาคดีที่ช้าอยู่แล้วจึงถูก เลื่อนออกไป


ปี 2563-2564 ประเทศไทยเกิดปรากฎการณ์ทะลุเพดาน คนรุ่นใหม่ได้แสดงความกล้าซึ่งสั่นคลอนความเชื่อของคนรุ่นก่อนหน้าอย่างรุนแรง


จากปี 2563 สู่ปี 2564 นัดแล้วเลื่อน เลื่อนแล้วนัด จนปี 2565 ณ ช่วงเช้า อานนท์ นำภา และเพื่อนจำเลย มีนัดพิจารณาในห้อง 403 จากคดีที่เกี่ยวข้องกับการทะลุเพดาน ใกล้ๆกัน ห้อง 405 พรรคก้าวไกลมาเป็นจำเลยในคดีหมิ่นประมาทบริษัทพลังงาน บ่ายวันนั้น อาเด็ม และไมไรลี อยู่ในห้อง 403


ที่ทางเดินหน้าห้อง คนจีนกลุ่มหนึ่งยืนๆ นั่งๆกันอยู่ ใครบางคนในกลุ่มถือกระเป๋าที่เขียนว่า “China Police”


ในห้อง 403 ผู้พิพากษามาถึงห้องช้ากว่าเวลานัดไปหลายนาที ทนายจำเลยทั้ง 2 คนนั่งประจำที่ ไมไรลี และอาเด็ม นั่งอยู่บนเก้าอี้ยาวนอกเขตบัลลังก์ ถัดจากเขาคือล่ามภาษาอุยกูร์ นักข่าวนั่งข้างล่าม ถัดออกไปเป็นนักสิทธิมนุษยชนที่ตามคดีนี้มาแต่ต้น เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ประกบใกล้ชิดจำเลยทั้งสอง เสมียนทนายนั่งสงบนิ่งอยู่บนเก้าอี้แถวหลังสุด มีคนที่นักข่าวไม่รู้จักอีก 3-4 คนไม่ห่างจากนั้น


บรรยากาศโดยรวมเงียบสงบ ชวนหลับฝัน อัยการ ทนายความ เสมียนศาล และผู้พิพากษาปรึกษากันเบาๆ นักข่าวพอจะจับใจความได้ว่า อัยการแจ้งต่อผู้พิพากษาว่าจะสืบพยานอีก 423 ปาก ขณะที่ ทนายจำเลยบอกนักข่าวว่า เขาน่าจะสืบพยานฝ่ายเขาแค่ 5-6 ปากเท่านั้น ศาลวันนั้นไม่มีการยื่นแถลงใดๆจากฝ่ายจำเลย เป็นเพียงการพูดคุยทางธุรการ ทนายจำเลยบอกกับผู้พิพากษาว่า มีข้อมูลบางอย่างที่คลาดเคลื่อนจากชั้นศาลทหาร จึงจะขอสืบพยานใหม่


ระหว่างที่คนในเขตบัลลังก์กำลังพูดคุยนัดแนะ ที่เก้าอี้ยาวหน้าบัลลังก์ ล่ามภาษาอุยกูร์กำลังคุยกับจำเลยทั้ง 2 คนอย่างจริงจัง ประหนึ่งกำลังสัมภาษณ์เพื่อทำประวัติศาสตร์ชีวิตของคนทั้งคู่ พวกเขาทั้ง 3 คนได้พบกันเป็นครั้งแรก บทสนทนาระหว่างกันจึงต่อเนื่องและยาวนาน บางคราวมีรอยยิ้มบนหน้า นี่อาจจะเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ ไมไรลี และอาเด็มได้คุยกับคนที่ใช้ภาษาเดียวกัน


เมื่อการสนทนาระหว่างล่าม และจำเลยมีช่องว่าง นักข่าวกระซิบบอกล่ามขอให้ช่วยถามสภาพความเป็นอยู่ในคุกของคนทั้งคู่แล้วแปลให้ฟังล่ามร่างผอมหันไปคุยกับอาเด็ม และไมไรลีด้วยภาษาที่เขาถนัด ครู่หนึ่งเขาจึงหันกลับมาคุยกับนักข่าว


“ทั้งคุกมีพวกเขาอยู่แค่ 2 คน เขาบอกว่า มันไม่อึดอัด จะบอกว่าสะดวกสบายก็ได้ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ให้เขาออกไปนอกตัวอาคาร พวกเขาอยากไปออกกำลังกายบ้าง เพราะ อยู่แต่ในอาคารมันปวดเมื่อย ไม่เจอแดด ไม่ได้เห็นพระอาทิตย์ อีกเรื่องที่สำคัญคือ คุกไม่เคยใส่ใจเรื่องอาหาร ไม่สนใจว่าพวกเขาเป็นมุสลิม อาหารบางมื้อก็มีหมูมาด้วย”


ในการตอบคำถาม ไมไรลีมักเป็นคนพูด ขณะที่ อาเด็มถนัดที่จะเงียบฟัง บางจังหวะจึงพูดเสริมสั้นๆ ท่าทีของไมไรลี ในปี 2565 คล้ายกับปี 2559 ต่างเพียงแววตาของเขาสะสมความเศร้าไว้มากกว่าเดิม เมื่อ 6 ปีก่อน นักข่าวจำได้ว่า ดวงตาของไมไรลีเป็นประกาย ในวันที่ต้องขึ้นศาลเขายังสามารถหยอกล้อกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่คุกตัวเขามาได้ ใบหน้าเขามีรอยยิ้มมากกว่าทุกวันนี้ ส่วนอาเด็ม มีบุคลิกอมทุกข์เล็กๆไม่ต่างจากเดิมแม้ผ่านเวลาหลายปี


“ในเรือนจำไม่มีความบันเทิง ไม่มีทีวี ไม่มีหนังสือ ไม่มีสมุด ไม่มีปากกา ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์ ตั้งแต่ถูกจับ พวกเขาเลยไม่มีโอกาสได้ติดต่อครอบครัว พวกเขาไม่รู้ว่าครอบครัวเป็นยังไง ครอบครัวเองก็ไม่รู้ว่าพวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่แบบไหน อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าถูกจับ” ล่ามบอกกับนักข่าว


เวลาเคลื่อนผ่านจากนาทีเป็นชั่วโมง ศาลกลับขึ้นนั่งบัลลังก์อีกครั้ง คนจีนที่อยู่หน้าห้องเปิดประตูเข้ามาในห้อง พวกเขานั่งที่ฝั่งซ้ายของม้านั่งยาว บางคนใส่เสื้อโปโล บางคนใส่ชุดสูท บางคนสวมถุงมือยางคล้ายกับหมอผ่าตัด สองคนในพวกเขาพูดภาษาไทยได้ หนึ่งในสองถือกระเป๋า “China Police” เสมียนศาลแจ้งต่อคนที่เหลือในห้องว่า คนเหล่านี้เป็นทีมล่ามภาษาอุยกูร์ที่สถานเอกอัครราชทูตจีนจัดหาให้


---


9 กรกฎาคม 2558 รัฐบาลไทยได้ส่งชาวอุยกูร์ 109 คนกลับไปยังประเทศจีน หลังจากรัฐบาลจีนได้ส่งหลักฐานการกระทำผิดและหลักฐานการพิสูจน์สัญชาติให้กับรัฐบาลไทย กระทรวงการต่างประเทศของไทยระบุว่า 60 คนจากทั้งหมดที่ถูกส่งกลับ ไม่ได้ทำผิดกฎหมายใดๆของไทย


การดำเนินการครั้งนี้ของไทย ถูก UNHCR และรัฐบาลสหรัฐอเมริกาประณามอย่างรุนแรง เพราะเชื่อว่า คนอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับกลุ่มนั้นอาจได้รับอันตราย และเป็นการขัดต่อหลักการสากลของการไม่ส่งกลับ (non-refoulement) ผู้ลี้ภัยไปยังประเทศต้นทาง หากทำให้เขาเสี่ยงที่จะได้รับอันตราย


หลังจากนั้นไม่นาน ภาพถ่ายบนเครื่องบินส่งตัวถูกเผยแพร่ผ่านสื่อ คนอุยกูร์บนเครื่องถูกคลุมหัวด้วยถุงสีดำ ถูกสวมกุญแจมือ และถูกนั่งประกบข้างด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ รัฐบาลจีนให้ข่าวตามหลังมาว่า คนอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับจีนเป็นกลุ่มคนที่มีแผนจะเป็นนักรบญิฮัดในตุรกี ซีเรีย หรืออิรัก 13 คนจากทั้งหมดเคยก่อการร้าย และมี 2 คนที่เป็นนักโทษแหกคุก


หลังจากรู้ว่า ศาลจะใช้ล่ามจากรัฐบาลจีน ทนายความของไมไรลี และอาเด็ม ลุกจากที่นั่งไปพูดคุยกับผู้พิพากษา พวกเขาพยายามเจรจาขอให้ศาลใช้ล่ามภาษาอุยกูร์ที่ฝ่ายจำเลยหามา เพราะไม่ไว้ใจการทำงานของล่ามจากรัฐบาลจีน ผู้พิพากษาพยายามอธิบายว่า คนที่จะทำหน้าที่ล่ามในศาลจำเป็นต้องมีสถาบันรับรอง ล่ามคนจีนกลุ่มนั้นมีรัฐบาลจีนรับรอง


“ไทยเคยส่งอุยกูร์ 109 คนกลับประเทศแล้วเขาได้รับอันตรายนะครับ” จำเริญ พนมภคากร ทนายของนายไมไรลี พยายามอธิบายเหตุแห่งความไม่ไว้ใจกับผู้พิพากษา ผู้พิพากษาบอกกับจำเริญว่า “ถือว่าผมรับรู้แล้วกัน” ผู้พิพากษาพยายามเสนอทางออก โดยให้ล่ามอุยกูร์ที่จำเลยหามาเข้าสังเกตการณ์ในทุกครั้งที่มีการพิจารณา และหากล่ามของรัฐบาลจีนแปลผิดพลาด หรือเป็นโทษกับจำเลย ล่ามจำเลยสามารถโต้แย้งได้


วันนี้ ล่ามแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ซึ่งเคยทำหน้าที่และคุ้นเคยดีกับทนายจำเลยไม่ได้มาตามนัดของศาล ผู้หญิงคนหนึ่งจากม้านั่งยาวหลังจำเลย แสดงตัวว่าเป็น ล่ามที่ศาลทหารส่งให้มาดูแลคดี ในความชุลมุนของการหาล่าม เธอแจ้งต่อศาลว่า เธอคือล่ามที่สำนักงานศาลยุติธรรมรับรอง เธอลุกเดินไปพูดคุยกับผู้พิพากษา เสมียนศาล และฝ่ายคนจีน ไม่นานนักเธอเดินมาขอความยินยอมจากจำเลยในการทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาอังกฤษ-ไทย ในคดี


ทนายจำเลย ล่าม ไมไรลี อาเด็ม และนักสิทธิมนุษยชน ปรึกษากันหลายนาที ก่อนสรุปว่า ยินยอมใช้ล่ามจากจีน และล่ามจากศาลทหาร เพราะหากขัดขืนดิ้นรนต่อไป คนที่ลำบากกว่าเพื่อนคือ คนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ และคนที่รอคอยวันพิพากษา


7 ปี แล้วที่ญาติผู้เสียชีวิตทั้ง 20 คน และผู้ได้รับบาดเจ็บอีกร่วมร้อย ต้องรอคอยความเป็นยุติธรรม และความจริง


แม้สังคมไทยอาจจะจดจำอาเด็ม และไมไรลี ในฐานะคนร้ายที่วางระเบิดจนทำให้มีคนตายและบาดเจ็บ แต่ตราบใดที่เขายังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง ในทางกฎหมาย อาเด็ม และไมไรลียังเป็นเพียงผู้บริสุทธิ์ การอยู่ในคุกยาวนานถึง 7 ปีเพื่อรอคอยความยุติธรรมอาจดูไม่สมเหตุสมผลนัก


แต่นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในศาลไทย


“ถ้าเขาทำผิดจริงพวกเขาก็ควรต้องรับโทษ แต่ถ้าเขาไม่ได้ทำผิด เขาก็ควรได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ ไม่ควรมีใครต้องเป็นแพะ” นั่นคือ เหตุผลที่ทนายอาสายอมว่าความให้กับคนทั้งคู่


---


ข้อเขียน : นนท์ รัฐ / นักข่าวน้อยประสบการณ์ ผู้ไม่เชี่ยวชาญด้านการเมือง เศรษฐกิจ กีฬาบันเทิง และศิลปวัฒนธรรม

ภาพ : Reuters


ฝากติดตาม ดิ อีสานเด้อ ในช่องทางต่างๆ เว็บไซต์ www.theisaander.com เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/theisaander อินสตาแกรม www.instagram.com/theisaander ทวิตเตอร์ twitter.com/TIsaander และกลุ่ม หมู่เฮาอีสานเด้อ www.facebook.com/groups/226598875311155


ปี 2565 นี้ ดิ อีสานเด้อ สัญญาว่า จะผลิตผลงานให้ทุกท่านได้อ่านอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ชิ้นไม่ขาดหายไปแน่





251 views0 comments

Comments


bottom of page