top of page
Writer's pictureThe Isaander

GRAY ZONE : บันทึกกาลเวลา หยาดน้ำตา และหยดเลือด



แสงแดด, สายลม, หรือเสียงคลื่นที่ไม้แก่น ปัตตานี ไม่ได้ต่างนักหรอกกับแสงแดด, สายลม หรือเสียงคลื่นที่หัวหิน ขณะที่ใครบางคนกำลังขับรถไปหาที่นั่งเอนหลังจิบแดดบ่าย แกล้มไวน์องุ่นบนชายหาด ใครบางคนอาจกำลังถูกกระชากถูอยู่ในที่ลับตา หยดบนพื้นนั่นไม่ใช่ไวน์แดง แต่เป็นเลือด หยดบนพื้นนั่นไม่ใช่วอดก้า แต่เป็นน้ำตา


ในค่ำคืนที่กรุงเทพฯ หลังจากการทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย หลายชีวิตได้นอนเอนกายบนเตียงอุ่นนุ่ม ในอ้อมแขนของคนรัก แต่ที่นั่น ค่ำคืนของอีกหลายชีวิตต่างไป บ้างต้องหลับสลับตื่น บ้างต้องผวาสะดุ้ง บ้างต้องหวาดระแวงว่า ในรุ่งเช้า คนรักของพวกเขาจะถูกพรากไปจากเกลียวกอด


“จังหวัดชายแดนใต้”


ที่นั่น สิ่งที่พวกเขาปรารถนาเป็นอย่างแรกอาจไม่ใช่อาหารในจานสวย, สถานหย่อนใจราคาแพง หรือห้างสรรพสินค้ามหึมา แต่เป็นชีวิตธรรมดาที่สามารถใช้สอยได้อย่างมีเกียรติ เสมอกัน และการถูกปฏิบัติอย่างไม่เลือกปฏิบัติจากคนในเครื่องแบบ


เพราะตลอดหลายปี พวกเขาถูกจับวางในสถานะเป็นอื่นจากรัฐ ถูกยัดเยียดความเป็นศัตรู หรือกลายเป็นจำนวนนับที่ถูกรวมเป็นบันไดให้ใครบางคนปีนป่ายสู่ลาภยศ ความสำเร็จ


มองดูอีกด้านหนึ่ง พวกเขาเหล่านั้นก็ยังเป็นลูก หลาน พี่ น้อง ญาติ มิตร สามี หัวเรี่ยวหัวแรง กระปุกเงินของคนข้างหลัง คนที่รัก คนที่ผูกพันธ์ แต่หลายครั้ง เขาเหล่านั้นถูกมองจากสังคมอย่างไม่ใยดี ถูกตีตราโดยไม่เหลือโอกาสไว้ให้แก้ต่าง หรืออุทธรณ์


นั่นคือ ความจริงส่วนที่ถูกบันทึกด้วยภาพถ่ายใน Gray Zone


แม้มันจะมีตัวอักษรอยู่ไม่มากนัก แต่ Gray Zone แน่นล้นไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่ส่งผ่านแสง เงา และสีเทาบนกระดาษ ภาพที่ยศธรถ่ายได้อภิปรายสิ่งที่เขาพบตลอดระยะเวลาร่วม 4 ปี เขาเก็บเวลาช่วงหนึ่งเอาไว้ เก็บบางอริยบท เก็บบางอารมณ์ความรู้สึก เก็บแสงที่กระทบใบหน้า เก็บรอยเวลาบนร่องแก้ม และเก็บริ้วย่นที่หางตาโศก ได้อย่างน่าชม


ผลผลิตที่ยศธรเก็บมาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในดินแดนอันไกลตาแห่งนั้น และมันได้พูดแทนความจริงส่วนที่ผู้คนอาจไม่เคยเห็นในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ มันได้ป่าวประกาศความเจ็บปวดทั้งที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต และอาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต


อาจน่าเสียดายอยู่บ้างที่กว่า Gray Zone จะได้ตีพิมพ์ บางคนในภาพก็ชิงเดินทางไปพบพระเจ้าเสียแล้ว


"เราไม่รู้หรอกว่าเขาอยู่ในขบวนการรึเปล่า ทำจริงรึเปล่า ไม่เคยคิดจะถามด้วยซ้ำ เราแค่รู้สึกและปฏิบัติกับพวกเขาเหมือนเพื่อน ถ้าเป็นเพื่อนกัน มันก็ไม่ต้องกลัวกัน”​


นั่นคือคำพูดของยศธร ไตรยศ ผู้เป็นเจ้าของหนังสือ Gray Zone ร่วมกับคนในภาพของเขา


ยศธรอาจไม่สามารถยืนยันได้ว่า คนในภาพเป็นผู้บริสุทธิ์ หรือเรื่องทั้งหมดที่เขารู้ และได้ยินเป็น “ความจริง” แต่สิ่งที่เขามักยืนยันคือ “มิตรภาพ” ที่เขาได้รับจากคนเหล่านั้น และ “ความเป็นเหยื่อ” ที่คนเหล่านั้นถูกกระทำจากรัฐ คือ “ความจริง”



17 ปี คือ ระยะเวลาที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกบริหารจัดการภายใต้กฎหมายพิเศษ ที่มอบอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่ในการพรากใครก็ได้จากครอบครัวเพื่อไปซักถามด้วยกระบวนการที่เขามักอ้างว่าเป็นสากล แต่ตรวจสอบไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ อาจสามารถยืนยันเรื่องนี้ได้ ชีวิตของ คณากร เพียรชนะ ก็อาจตอกย้ำปัญหาที่นั่นได้ด้วยเช่นกัน


3 แสนกว่าล้านบาท คือ งบประมาณที่รัฐบาลใช้แก้ไขปัญหาที่นั่น 2 หมื่นกว่าครั้ง คือ จำนวนเหตุรุนแรงที่เกิด 7 พันกว่าคน คือ จำนวนชีวิตที่ต้องสูญเสีย 1.3 หมื่นคน คือ จำนวนคนที่ต้องบาดเจ็บ 7 พันคน คือ จำนวนลูกที่ต้องกำพร้า


“ทุกวันนี้ ไม่ต่างอะไรจากการติดคุก เพียงแต่มันเป็นคุกที่ไม่มีกำแพง” ใครบางคนที่นั่นบอกกับ ยศธร



ยศธร ไตรยศ คือ สมาชิกกลุ่มช่างภาพที่ชื่อว่า Realframe งานหลายชิ้นของ Realframe คือ บันทึกสำคัญของประวัติศาสตร์ Gray Zone คือ ส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์



ข้อเขียนและภาพ : มหาสมุทร บุปผา / ไม่มีพระเจ้าบนแผ่นดิน ถ้าเชื่อว่าคนเท่ากับคน


ฝากติดตาม ดิ อีสานเด้อ ในช่องทางต่างๆ เว็บไซต์ www.theisaander.com เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/theisaander อินสตาแกรม www.instagram.com/theisaander ทวิตเตอร์ twitter.com/TIsaander และกลุ่ม หมู่เฮาอีสานเด้อ www.facebook.com/groups/226598875311155



ปี 2565 นี้ ดิ อีสานเด้อ สัญญาว่า จะผลิตผลงานให้ทุกท่านได้อ่านอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ชิ้นไม่ขาดหายไปแน่

87 views0 comments

コメント


bottom of page