top of page
Writer's pictureThe Isaander

ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช : ปี 65 เลือกตั้งยังไม่มา ยุบสภายังไม่เกิด



ในวงการฟุตบอล มักมีคำพูดทำนองว่า “ลูกกลมๆ อะไรก็เกิดขึ้นได้” ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง วงการการเมืองก็คงไม่ต่างจากวงการฟุตบอล เพราะผู้สันทัดกรณีบางรายมักพูดว่า “การเมืองอะไรก็เกิดขึ้นได้” และต้องพ่วงว่า “ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร” นักการเมืองที่สามารถการันตีสองประโยคข้างต้นได้ชัดเจนและทันสมัยที่สุดน่าจะเป็น ชายผู้มีฉายาว่า “แรมโบ้ อีสาน”


แต่สิ่งที่ท่านกำลังจะได้อ่านไม่ได้เกี่ยวกับ แรมโบ้ อีสาน ดอกนะ สบายใจได้


แม้อะไรก็เกิดขึ้นได้ และไม่มีมิตรแท้กับศัตรูถาวร ซึ่งตีความง่ายๆว่า ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นเช่นไร แต่ผู้สนใจการเมืองไทยหลายหมื่นหลานแสนท่านก็ยังพยายามที่จะเอาอนาคตการเมืองมาขบเคี้ยวให้มันสมองเล่นอยู่เสมอ จากอดีตที่มักใช้ในการสนทนาเคล้าวงชา-กาแฟยามเช้า ถึงปัจจุบันที่วัฒนาการสู่การยั่วเย้าบนคลับเฮ้าส์ในมือถือ แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าสิ่งที่เถียงกันในวันนี้ อาจสามารถเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ ก็ตาม


ในวารดิถีขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2565 ดิ อีสานเด้อ ในฐานะสื่อหน้าใหม่ ที่ผู้ฝักใฝ่ล้อการเมือง จึงขอเป็นพ่อครัวปรุงกับแกล้มให้แก่ผู้มีการเมืองในเส้นเลือด โดยการต่อสายหา ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้ท่านช่วยคาดเดาสถานการณ์การเมืองในอีกขวบปีข้างหน้า เพื่อให้คอการเมืองได้ใช้อ่านลับสมองสั้นๆ


“ปี 2565 จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นหรือไม่ ?” นั่นคือคำถามแรก สิ่งที่เราถามไม่ได้หมายถึงการเลือกตั้งซ่อมแซมใดๆ หรือการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งอาจจะไกลตัวคนจังหวัดอื่นไปหน่อย และแน่นอน เราถามถึงการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบอบประชาธิปไตย.


และแม้ผู้เขียนและท่านผู้อ่านน่าจะรู้อยู่เต็มอกว่า รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถอยู่ในตำแหน่งของตัวเองได้ถึงปี 2566 ตามกติกาของกฎหมาย แต่เหตุผลที่ผู้เขียนยังจำเป็นต้องถามคำถามนี้เป็นเพราะว่า ในห้วงที่ผ่านมา มีผู้สันทัดกรณีหลายคนได้ฟันธงแล้วว่า รัฐบาลที่มาจาก ส.ว. 250 คนชุดนี้ จะอยู่ไม่ครบวาระ 4 ปีอย่างหวัง


ขนาดผู้เล่นหลักในฐานะแกนนำฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทยเอง ก็ยังประกาศผ่านสื่อบ่อยครั้งว่า ปี 2565 พวกเขาพร้อมที่จะลงต่อสู้ในสนามการเลือกตั้ง ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่า พวกเขาเองก็ยังเชื่อว่า รัฐบาลโดยการนำของทหารเกษียณชุดนี้ ทานทนต่อแรงปะทะทั้งภายในพรรค และภายนอกพรรคตลอดปี 2565 ไม่ไหว


และเพื่อตอกย้ำความเชื่อนั้นให้ดังขึ้น ปลายปี 2564 ที่ผ่าน เพื่อไทยจึงได้ปรับภาพลักษณ์ตัวเองใหม่ และปล่อยหมัดเด็ดจากแดนไกล ด้วยการดึงลูกสาวอดีตประธานสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทักษิณ “โทนี วู๊ดซัม” ชินวัตร มาเป็นที่ปรึกษา


เมื่อก้าวถอยออกมาหนึ่งก้าว เรายังเห็นว่า ก้าวไกลเองก็เริ่มอบอุ่นร่างกายด้วยการประกาศรายชื่อว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. บางคนแล้ว ซึ่งมันเป็นสัญญาณว่า พวกเขาเริ่มเตรียมตัวสำหรับสนามแข่งขันที่จะมาถึงในอีกไม่นานเหมือนกัน มองไปยัง พรรคร่วมรัฐบาล ประชาธิปัตย์ AKA แมลงสาบ ก็ขยับตัวในทิศทางเดียวกัน หลังประกาศว่า พร้อมจะฟาดฟันในสนามเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น เรียกได้ว่า ไม่เข็ด ไม่หลาบ จากสนามเลือกตั้งซ่อมกันเลยทีเดียว


แม้แต่ พลังประชารัฐในฐานะแกนนำรัฐบาล ร้อยเอกธรรมนัส “อดีตรัฐมนตรี” พรหมเผ่า ในฐานะเส้นเลือดใหญ่ ก็เคยกระซิบบอกสื่อมวลชนว่า พรรคการเมืองพรรคนี้ กำลังจัดตัวผู้เล่นที่จะใช้ลงสนามสำหรับปี 2565 ที่ “อะไรก็เกิดขึ้นได้” กับเขาด้วย


ทั้งหมด เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า การเลือกตั้งคอยอยู่ข้างหน้า อีกไม่นานเกินรอ


อย่างไรก็ดี สำหรับ อ.ฐิติพล ท่านกลับเห็นต่างจากพรรคการเมือง และผู้สันทันกรณีทั้งหลาย เพราะท่านเชื่อว่า “การยุบสภา คือทางเลือกสุดท้ายที่รัฐบาลชุดนี้จะใช้”


สารภาพตามตรงว่า ผู้เขียนขมวดคิ้ว และย่นหน้าผากพอเป็นพิธี เมื่อได้ฟังคำตอบ แต่สิ่งที่ได้ยินก็ไม่ได้เหนือกับความคาดหมายนัก เพราะจากที่เคยสนทนาการเมืองกับอาจารย์ท่านหลายคราว ท่านก็ได้ยืนยันแนวทางเช่นนี้มาโดยตลอดอายุงานของรัฐบาลประยุทธ์ II อยู่แล้ว


“รัฐบาลไม่น่าจะอยากเลือกตั้ง เพราะเขาไม่ได้มั่นใจในคะแนนเสียงของตัวเอง ไม่ได้มั่นใจว่าเลือกตั้งแล้วจะชนะ ดังนั้นเขาจึงอยากอยู่ให้นานที่สุด ถ้าดูจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ในมุมมองของรัฐบาลเองก็ถือว่า ไม่ได้แย่” อาจารย์ กล่าว


“ไม่ได้แย่หมายความว่า ด้วยรัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนมาเพื่อให้คุณประยุทธ์สามารถอยู่ได้ 2 สมัย ให้ ส.ว. มีอายุ 5 ปี ซึ่งทำให้สามารถเลือกนายกฯ ได้ 2 ครั้ง และพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์(และพรรคอื่นๆ)เองก็พร้อมจะร่วมด้วย เพราะมองเรื่องผลประโยชน์ของพรรคตัวเองมากกว่า ต้องการอำนาจทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากประชาธิปไตยมากกว่า ประชาธิปัตย์จึงน่าจะอยากเลือกที่จะร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ” ดร.ฐิติพล ระบุ


ถ้าให้ตัวผู้เขียนวิเคราะห์แล้ว สิ่งที่ อ.ฐิติพล มองยืนอยู่บนพื้นฐานที่ประเทศนี้ใช้รัฐธรรมนูญซึ่ง “ร่างโดย คสช. เพื่อ คสช. และคนของ คสช.” แต่ถึงอย่างไร อ.ฐิติพล ก็มิได้ละลายที่จะพิจารณาปัจจัยของการเคลื่อนไหวบนท้องถนนด้วยเช่นกัน


“สำหรับปัจจัยนอกสภาเชื่อว่า ปีนี้ จะยังไม่สามารถสร้างแรงกดดันให้กับรัฐบาลได้ เพราะการเคลื่อนไหวแผ่วลง รัฐบาลนี้โชคดีที่มีีสถานการณ์โควิดมาช่วย คนจำนวนหนึ่งน่าจะกลัวโควิด จึงไม่ได้ออกมาร่วมประท้วงมากนัก


“โควิดเป็นแค่หนึ่งปัจจัย แต่อีกปัจจัยคือ ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามใช้มาตรการกดดัน คนที่เป็นแกนนำ หรือคนที่สามารถกระตุ้นให้การเคลื่อนไหวคึกคัก ทั้งการดำเนินคดีทางกฎหมาย และการติดตาม คุกคาม ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพพอสมควรในการคุมสถานการณ์ ดังนั้น รัฐบาลจึงน่าจะเห็นว่า สถานการณ์ไม่แย่ และเขาน่าจะอยู่ได้ถึงปี 2566 ที่ต้องมีเลือกตั้ง” อาจารย์ระบุ


แม้สถานการณ์ของรัฐบาลจะไม่แย่ในสายตาของรัฐบาลเอง แต่สิ่งที่ พล.อ. ประยุทธ์ และพวก ต้องยอมรับคือ คะแนนนิยมของชาวคณะได้หล่นไปไม่น้อยในช่วงที่ประเทศต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งนิด้าโพล ได้ฉายภาพนั้นชัดเจน ด้วยผลสำรวจที่ ในเดือนมีนาคม 64 ลุงตู่ได้โหวตว่าเหมาะสมจะเป็นนายกฯถึง 28.79 % แต่ถึงเดือนธันวาคม 64 คะแนนของลุงกลับหดตามอวัยวะสำคัญในฤดูหนาว เหลือเพียง 16.93 % ขณะที่พรรคพลังประชารัฐเองจาก 16.65 % ที่ได้รับในเดือนมีนาคม พอสิ้นปีก็มีคะแนนเหลือแค่ 8.99 %


“การเคลื่อนไหว-ชุมนุมทางการเมืองในปีนี้ จะเป็นยังไง ?” นั่นคือ คำถามที่สองของผู้เขียน


“การเคลื่อนไหวทางการเมือง อาจจะเป็นไปในรูปแบบเดิม เหมือนที่ผ่านมา และไม่น่าจะนำไปสู่ความรุนแรงจนถึงขั้นนองเลือด แต่ไม่น่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงจริงๆจังๆ อย่างที่ผู้ชุมนมต้องการ เช่น การแก้รัฐธรรมนูญ หรือ ยกเลิกอำนาจ ส.ว. เพราะรัฐบาลยังคงคุมสถานการณ์อยู่ แม้พรรคก้าวไกลจะมีพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น ฝ่ายค้าน หรือเยาวชนจะทำกิจกรรมได้ แต่เชื่อว่าไม่น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญในระยะสั้น”


แม้คำตอบของ ดร.ฐิติพล จะสมเหตุสมผลเพียงใด แต่ก็ทำให้ผู้เขียนรู้สึกหมดกำลังใจไม่น้อย เพราะคำตอบนั้นแปลเป็นคำสั้นๆได้ว่า “สิ้นหวัง”​ แต่คล้ายว่า อาจารย์ท่านจะอ่านใจผู้เขียนออก จึงได้ให้คำอธิบายที่เป็นการปลอบใจ และจุดไฟความหวังมาด้วย


“ถึงจะไม่มีผลอะไรนักในระยะสั้น แต่สำหรับระยะยาว การเคลื่อนไหวที่ผ่านมา ทำให้คนได้รับข้อมูล ทำให้คนได้เริ่มตั้งคำถามต่อรัฐบาล ซึ่งเชื่อว่า จะมีผลกับการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพราะการเลือกตั้งในครั้งหน้าจะมีคนรุ่นใหม่ที่ได้เข้ามาสู่ระบบมากขึ้น ซึ่งคนเหล่านั้นไม่น่าจะเป็นฐานเสียงของรัฐบาล ถ้ามองการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น เราอาจจะไม่ได้เห็น แต่เชื่อว่ามีผลในระยะยาวแน่นอน”


หลังจากได้ฟังคำตอบ เราจึงข้ามไปสู่คำถามว่า “ผลการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นยังไง พลังประชารัฐจะยังได้อำนาจอยู่ไหม ?” สารภาพตามตรงว่า เราคาดหวังว่า คำตอบที่ได้รับจะเป็นบวกกับพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย


“เชื่อว่า พลังประชารัฐจะได้รับคะแนนระดับหนึ่ง เพราะทหารก็ยังสนับสนุนเขา พรรคร่วมก็น่าจะยังร่วมกับเขาเพราะอยากได้ผลประโยชน์ แต่ไม่น่าจะเป็นผลดีกับระบอบประชาธิปไตย


“ตอนนี้ เพื่อไทย พยายามปรับให้มีคนรุ่นใหม่มากขึ้น มีการให้อุ๊งอิ๊ง(แพทองธาร ชินวัตร-บุตรสาวทักษิณ) เข้ามา แต่เชื่อว่าเป็นแค่การหยั่งเสียง ไม่ได้รับประกันว่าเธอจะมาเป็นหัวหน้าพรรค อาจเป็นแค่การชิมลาง เพื่อดูว่าคนจะตอบสนองยังไง และอุ๊งอิ๊งไม่ใช่หลักประกันที่จะทำให้เพื่อไทยชนะแบบแลนด์สไลด์” อาจารย์ตอบ


(ขอแทรกสักเล็กน้อยว่า เพราะไหนๆ อาจารย์ก็ได้บอกเรื่องคนรุ่นใหม่ไปแล้ว จากข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานสถิติแห่งชาติ คาดการณ์ว่า ในปี 2566 จะมีคนที่อายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ และกลายเป็น New Voter หรือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่ถึง 8.11 แสนคน)


“ก้าวไกลน่าจะยังมีโอกาส คนรุ่นใหม่น่าจะสนับสนุน เพราะภาพของพวกเขาสะท้อนอุดมการณ์ เลือกตั้งครั้งก่อน การเกิดขึ้นของอนาคตใหม่(ก้าวไกล) ทำให้ภูมิทัศน์การเมืองเปลี่ยนแปลงๆไป กระตุ้นให้เพื่อไทยต้องปรับตัว ซึ่งเอาจริงๆ เลือกตั้งรอบก่อนเพื่อไทยก็ปรับภาพลักษณ์ เอาคนรุ่นใหม่-คนอายุน้อยๆ เข้ามามากขึ้น แต่คนคุมพรรคยังเป็นกลุ่มเดิม


“คนคุมเพื่อไทยยังเป็นกลุ่มเดิม ต่างจากก้าวไกลที่คนได้เห็นอะไรใหม่ๆ ภาพของเพื่อไทยยังคงเป็นทักษิณ การดึงคะแนนคนรุ่นใหม่ของเพื่อไทยไปจากก้าวไกลจึงไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ง่ายขนาดนั้น”


“ทักษิณจะได้กลับบ้านไหม ?” นั่นคือ คำถามสุดท้าย เพื่อให้สอดร้อยกับคำออดอ้อนขอกลับบ้านมารับใช้ประชาชน ของชายสูงวัยใบหน้าคมสันแห่งนครดูไบ ซึ่งสังคมสนใจในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา


“ตอบยาก เพราะเราไม่รู้ว่าเขามีดีลอะไรกันหรือเปล่า แต่ผมคิดว่าเหมือนเป็นการสร้างกระแส เชื่อว่า คุณทักษิณต้องการเรียกกระแสของเขาให้กลับมา แต่คิดว่าการกลับมาจริงๆ คงไม่ง่าย เพราะมีคนต่อต้านเขาอยู่เยอะ”


บทสัมภาษณ์และภาพถ่าย : นนท์ รัฐ / นักข่าวน้อยประสบการณ์ ผู้ไม่เชี่ยวชาญด้านการเมือง เศรษฐกิจ กีฬาบันเทิง และศิลปวัฒนธรรม


ฝากติดตาม ดิ อีสานเด้อ ในช่องทางต่างๆ เว็บไซต์ www.theisaander.com เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/theisaander อินสตาแกรม www.instagram.com/theisaander ทวิตเตอร์ twitter.com/TIsaander และกลุ่ม หมู่เฮาอีสานเด้อ www.facebook.com/groups/226598875311155


ปี 2565 นี้ ดิ อีสานเด้อ สัญญาว่า จะผลิตผลงานให้ทุกท่านได้อ่านอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ชิ้นไม่ขาดหายไปแน่

28 views0 comments

Comments


bottom of page