top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

ม. 112 กับคดีอีหยังวะ #5 : ใส่เสื้อผิดสี ดีไม่ดีติดคุก 112



เรียกได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ อาจจะเป็นการจำกัดเสรีภาพทางแฟชั่น ก็เป็นได้


ธันวาคม 2557 พรรคประชาธิปัตย์ (ใช่แล้ว พรรคประชาธิปัตย์ที่หัวหน้าพรรคเคยประกาศว่า ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แต่สุดท้ายลูกพรรคโชว์จุ๊กกุแร้ เลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ นั่นแหละค่ะ) เข้าฟ้องร้องให้ตำรวจดำเนินคดี ม. 112 กับ สุดา รังกุพันธ์ (อดีต)อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากการที่เธอโพสต์ข้อความว่า “ประชาชนผู้ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น นัดแต่งดำ ตลอดเดือนธันวา ไว้อาลัยคดี ปรส !!”


จริงๆ ประชาธิปัตย์ คงจะโกรธที่สุดา พาดพิงพรรคว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเสียหายในคดี ปรส. (ลองไปหาอ่านรายละเอียดดูค่ะ) นั่นแหละ จึงต้องการจะฟ้องหมิ่นประมาท แต่อาจจะกลัวว่า ฟ้องธรรมดาโลกไม่จำ เลยพ่วง ม. 112 เข้ามาให้คนด่าเล่นๆ โดยตีความกฎหมายแบบ สีข้างแถก บอกว่า สุดาทำเรื่องไม่สมควร คือ เรียกร้องให้คนแต่งชุดดำในเดือน “มหามงคล” ธันวาคม ซึ่งเป็นเดือนคล้ายวันพระราชสมภพของในหลวง ร. 9


อย่างไรก็ตาม ศาลไม่ได้บ้าจี้ตามประชาธิปัตย์ สุดท้าย มีคำสั่งไม่รับฟ้องข้อ ม. 112 ของสุดาในที่สุด (แต่คดีอื่นที่ฟ้องพร้อมๆกัน ศาลยังคงรับนะ)


ปัจจุบัน ศิริโชค โสภา ในฐานะตัวแทนพรรคที่ไปยื่นฟ้องครั้งนั้น ถูกพิพากษาให้ถูกจำคุก 2 ปี จากคดีหมิ่นประมาท (แต่รอลงอาญา) วิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรค เสียชีวิตจากโรคประจำตัว ขณะที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้มอบอำนาจฟ้อง มีหน้าที่เก็บขี้แมวอยู่บ้าน


ส่วน สุดา ผู้ถูกฟ้อง เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกเรียกปรับทัศนคติ หลัง คสช. ยึดอำนาจการปกครอง เธอย้ายจากประเทศไทยไปอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา และยังถูกปุ๊ ฟ้าเดียวกัน กล่าวถึงในฐานะ “สลิ่มกลับใจอยู่เป็นประจำ” จนเธอเริ่มเคือง


นี่ชีวิตจริงนะคะ ไม่ใช่ละครช่องมากสี ที่จะต้องมีการบังคับให้รัก ซ้ำร้ายกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในบางครั้ง ยังเหมือนบังคับให้เราต้องเศร้าอีกด้วย เรียกว่า การคลุมถุงชนในสังคมไทยยังคงอยู่ และลุกลามไปถึงการกำกับเครื่องแต่งกายอยู่บ่อย และกรณีข้างต้น เป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นว่า ในประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การไม่อินกับอะไร อาจเป็นความผิด



ถ้ายังอิหยังวะไม่พอ เรามาต่อกันอีกสักยกค่ะ


ตุลาคม 2559 ขณะที่ อมรโชติซิงห์ สวมเสื้อสีชมพู และกางเกงลายดอก เดินอยู่ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง เพื่อเลือกซื้อผ้าอ้อมให้กับลูกของเขาเอง อมรโชติซิงห์ถูกชายคนหนึ่งถามว่า


“พี่ใส่เสื้อสีชมพูมาทำไม พี่ไม่รู้เหรอว่า บ้านเมืองตอนนี้เกิดอะไรขึ้น ในหลวงของพวกผมเสด็จสวรรคตแล้ว พี่ไม่ให้เกียรติในหลวงของผมเลยเหรอ”


อมรโชติซิงห์ อ้างว่า เขาได้ถามกลับชายแแปลกหน้าคนนั้นไป “มึงเป็นใคร” แล้วพูดต่อในทำนองว่า การสวรรคตไม่เกี่ยวกับเขา(อมรโชติซิงห์)


แน่นอน เรื่องราวไม่ได้จบแค่นั้นค่ะ เหตุการณ์เริ่มบานปลาย กลายเป็นมีปากเสียง จนถึงขั้นท้าต่อยที่หน้าห้าง อมรโชติซิงห์ ขว้างตะกร้าสินค้าต่อหน้าตำรวจที่กำลังเข้าระงับเหตุ


เมื่อ ตำรวจควบคุมสถานการณ์ได้ เบื้องต้น อมรโชติซิงห์ ถูกแจ้งข้อหา “ทำให้เสียทรัพย์ และหมิ่นประมาท” และถูกควบคุมตัวไปยังห้องขังในคืนนั้น รุ่งขึ้น เขาถูกนำตัวไปค้นบ้าน ยึดเอกสาร คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โทรศัพท์มือถือ และไอแพด ทั้งที่ เป็นแค่คดี “ทำให้เสียทรัพย์ และหมิ่นประมาท”


แต่มันไม่ได้หยุดแค่นั้น อมรโชติซิงห์ ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ม. 112 เพิ่มเติม เขาถูกคุมตัวต่ออีกคืน เพราะไม่สามารถหาหลักทรัพย์มาค้ำประกันได้ทัน


250,000 บาท คือราคาที่ อมรโชติซิงห์ ต้องแลกกับอิสรภาพ หลังจากถูกควบคุมตัวมา 48 ชั่วโมง ต่อจากนั้น ตำรวจพยายามจะขออำนาจศาลฝากขังเขา แต่ยังดีที่ ศาลให้เขามีอิสรภาพภายนอกเรือนจำต่อไป


หลังจากนั้น คดีของอมรโชติซิงห์ เข้าสู่การพิจารณาในชั้นอัยการ ตอนช่วงต้นปี 2560 อัยการแจ้งเขาว่า จะส่งฟ้องในอนาคต แต่ถึงปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีในให้สาธารณชนได้รับรู้


จริงๆ ถ้าไตร่ตรองให้ดี ปัญหาที่เกิดขึ้น มีวิธีแก้ไขง่ายๆนะคะ แค่พี่อมรโชติซิงห์ ติดสติกเกอร์ “เสื้อตัวนี้สีดำ” ก็น่าจะได้กลับบ้านโดยสวัสดิภาพ ไม่ก็ลงทุนเพิ่มสักหน่อย หันไปใส่แบรนด์แฟชั่นแบรนด์นั้นที่มักได้รับทุนสนับสนุนจากภาครัฐก็ได้ค่ะ น่าจะปลอดภัยอย่างมีสไตล์ทีเดียวเชียว


อ่านข้อมูลเพิ่มเติม


https://freedom.ilaw.or.th/case/758#progress_of_case

https://mgronline.com/daily/detail/9570000147447



น่ายินดีเหมือนกันนะคะที่ทุกวันนี้ การเรียกร้องให้ยกเลิก ม. 112 กลายเป็นถนนสุขุมวิทของเส้นทางประชาธิปไตยไทย เพราะไม่กี่ปีก่อนหน้า ม. 112 พูดได้ว่า แย่กว่าทางหลวงชนบทก็ไม่ผิด ออกแนวถนนหมู่บ้านที่ อบต. สร้างไม่เสร็จซะด้วยซ้ำ การพูดเรื่อง ม. 112 ในที่สาธารณะ ต้องลดโวลุ่มจนแทบจะเป็นการสื่อสารด้วยโทรจิต คนที่เคลื่อนไหวเรื่อง ม. 112 อย่างจริงจัง มักกลายเป็นเป้าซะยิ่งกว่าสายัณห์ สัญญา สำหรับฝ่ายความมั่นคง



วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เคยถูกต่อย เพราะแค่เสนอให้แก้ไข ม. 112, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เจ้าของประโยค “ยกเลิก 112 สิ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง” เคยถูกบุกยิงถึงบ้านพักมาแล้ว นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ แต่ชัดเจนที่ชี้ให้เห็นว่า การเอ่ยถึง ม. 112 อันตรายแค่ไหนในอดีต



เมื่อ ม. 112 กลายเป็นกระแสหลัก



ฉันในฐานะ นักข่าวสาววัยรุ่นตอนปลาย-วัยกลางคนตอนต้น ผู้ติดตามปรากฎการณ์เกี่ยวกับกฎหมายมาตรานี้มาอย่างใกล้ชิดบ้าง ไม่ใกล้ชิดบ้าง จึงอยากจะขอเกาะเกี่ยวกระแสของมัน ด้วยการเล่าเพื่อให้ผู้อ่านได้ระลึกถึงความ “อิหยังวะ” และ “ไปทั่วไปทีป” ของ ม. 112 และเป็นการชี้ให้ผู้สนับสนุนอำนาจนิยมได้เข้าใจว่า กฎหมายที่ ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยกำลังเรียกร้องให้แก้ไข หรือยกเลิก มาตรานี้ มันย่ำแย่ยังไง



ขอบอกไว้ก่อนว่า สิ่งที่ฉันจะเล่านั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อน ปรากฎการณ์ตื่นรู้ครั้งใหญ่ของสังคมในช่วงปี 2563-2564 นะคะ เพราะฉันเชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเร็วๆนี้ ทุกคนน่าจะผ่านหีผ่านตากันมาบ้างแล้ว ไม่จำเป็นต้องเล่าซ้ำ



ความเข้าใจเบื้องต้น สำหรับ ม. 112



1. “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี” คือ ข้อความทั้งหมดของกฎหมายข้อนี้



2. ม. 112 มีโทษจำคุก 3 ถึง 15 ปี แต่ถ้าหากนับความผิดเป็นกรรมๆ อาจรวมๆกันได้หลายสิบปี เช่น คดีของ อัญชัญ ปรีเลิศ ที่ถูกตัดสินให้จำคุก 87 ปี แล้วลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 29 ปี 174 เดือน หรือประมาณ 43 ปี 6 เดือน ซึ่งแม้จะลดโทษแล้วก็ยังมีระยะเวลายาวนานกว่าคดีฆ่าคนตายหลายคดี



3. ม. 112 เป็นคดีอาญาที่ใครฟ้องก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือสำนักพระราชวัง บางครั้งเราจึงเห็นการกลั่นแกล้งด้วยการฟ้องคดีที่ต่างจังหวัด เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องต้องเดินทางไกล และเสียเวลา เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ถูกฟ้อง ม. 112 ที่ขอนแก่น ทั้งที่ตัวเขาเองอยู่ กทม. รวมถึงพฤติการณ์แห่งคดีเกิดขึ้นที่ กทม.



4. ม. 112 มักถูกพิจารณาในชั้นศาลแบบปิดลับ ทำให้สื่อมวลชน หรือผู้สังเกตการณ์ไม่อาจทราบได้ว่า ข้อความที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย หรือการพิจารณาดำเนินการไปแบบใด เช่น คดีแชร์ข่าวบีบีซีไทย ของไผ่ ดาวดิน ซึ่งพิจารณาแบบปิดลับ อนุญาตให้เพียงไผ่ และทนายความอยู่ในห้องพิจารณา



5. ด้วยกระบวนการพิจารณาคดีที่ยาวนานเกินปกติ และบ่อยครั้งที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ผู้ต้องหา ม. 112 จำนวนหนึ่ง จึงเลือกที่จะรับสารภาพ แทนที่จะต่อสู้คดี ด้วยฐานคิดที่ว่า "สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน สารภาพติดพอประมาณ" ตัวอย่างของคนที่เลือกสารภาพ คือ ไผ่ ดาวดิน เขาถูกตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือน ขณะที่ ธเนตร อนันตวงษ์ เลือกที่จะสู้ ซึ่งแม้สุดท้ายศาลจะยกฟ้อง แต่เขาก็ต้องอยู่ในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดีไปแล้วกว่า 4 ปี เพราะไม่ได้รับการประกันตัว



บทความ : บุปผา ศรีจันทร์ /คอลัมนิสต์ชะนี ผู้มี #คำผกา เป็นไอดอลด้านการด่า มี #โบว์ณัฏฐา เป็นปรารถนาด้านการหาสามี


ขอบคุณภาพจาก ThaiPBS



#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #112 #ม112 #กฎหมายหมิ่น #กฎหมายอาญา #อีหยังวะ #ยกเลิก #แก้ไข #ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ #28กรกฎา



ติดตาม The Isaander ได้ในหลายช่องทางดังนี้


เว็บไซต์ www.theisaander.com


เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/theisaander


อินสตาแกรม www.instagram.com/theisaander


ทวิตเตอร์ twitter.com/TIsaander



322 views0 comments
bottom of page