(ภาพจากงานประกาศรางวัลคนละปี 2557 คนละปีกับที่มีการฟ้องร้อง)
เพราะ ม. 112 คือ กฎหมายที่ใครเป็นโจทก์ฟ้องก็ได้ ทำให้แม้แต่ฝ่ายเทอดทูนสถาบันฯ ก็ถูกดำเนินคดีได้ เช่นกัน
ขอย้อนความกันสักนิดนะคะ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ขณะที่คนเสื้อแดงกำลังชุมนุมกันที่แยกราชประสงค์ ให้หลังจากที่ เสธแดง-พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล ถูกลอบยิงเสียชีวิต และรัฐบาลอภิสิทธิ์ประกาศใช้กระสุนจริงจัดการกับคนในพื้นที่ชุมนุม
บนเวทีการประกาศผลรางวัลนาฏราช อ๊อฟ-พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ซึ่งได้รับรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ได้ขอกล่าวข้อความ ที่ภายหลังกลายเป็นภาพจำของเขาที่มีต่อใครหลายๆคน
“ถ้าเกลียดพ่อ ไม่รักพ่อแล้ว จงออกไปจากที่นี่ซะ นี่คือบ้านของพ่อ เพราะที่นี่คือแผ่นดินของพ่อ ผมรักในหลวงครับ และเชื่อว่าทุกคนที่อยู่ในที่นี้รักในหลวงเหมือนกัน พวกเราสีเดียวกันครับ ศีรษะนี้มอบให้พระเจ้าแผ่นดิน”
ความจริงข้อความที่ พงษ์พัฒน์ได้กล่าวนั้น ยาวกว่าที่เราได้คัดลอกมา แต่ด้วยเห็นว่า มันไม่มีประโยชน์มากมายนักในบริบทปัจจุบัน ฉันจึงตัดแค่ช่วงท้ายซึ่งทุกคนน่าจะคุ้นเคยดีมาให้อ่านพอคล่องคอ
แน่นอนค่ะ สำหรับฝ่ายอนุรักษ์นิยม คำพูดของอ๊อฟในค่ำคืนนั้นช่างโดนใจ จนพร้อมถึงกับต้องยกนิ้วโป้งให้ทั้ง 4 นิ้ว แต่ให้หลังได้เดือนกว่าๆ เท่านั้น อ๊อฟดันถูกฟ้องด้วยข้อหา ม. 112
อ่านไม่ผิดค่ะ เขาถูกฟ้อง ม. 112 โดย ภูมิพัฒน์ วงศ์ยาชวลิต นักร้องเพลงลูกทุ่งที่ออกผลงานในนาม “แน๊ต พีรกร” ได้เดินทางไปหาเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.คันนายาว พร้อมเอกสารการถอดเทปคำพูดของพงษ์พัฒน์บนเวทีนาฏราช และเขาได้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินคดีกับนักแสดงรุ่นใหญ่ด้วยข้อหาที่ฝ่ายประชาธิปไตยได้แต่อุทานว่า อีหยังวะ
“หลังจากได้ปรึกษาผู้ใหญ่ และทนายความแล้ว ก็ได้รับคำแนะนำว่าสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้ อีกทั้งเพื่อนศิลปินเพื่อชีวิตหลายคนก็มีความเห็นว่าคำพูดของคุณพงษ์พัฒน์ นั้นจาบจ้วงเบื้องสูง เป็นการฉวยโอกาส อาศัยจังหวะทำให้ตัวเองกลายเป็นฮีโร่ ผมในฐานะคนไทยคนหนึ่ง รู้สึกรับไม่ได้กับคำพูดเหล่านี้ จึงรวบรวมหลักฐานมาแจ้งความ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจพิจารณาต่อไปว่าจะดำเนินคดีได้อย่างไรบ้าง” นั่นคือ การให้สัมภาษณ์ของ แน๊ต พีรกร หลังพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ
หลังจากการแจ้งความราว 1 เดือน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในเวลานั้น ได้เปิดเผยกับสื่อว่า ยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อดาราชายรายดังกล่าว แต่จะมีการออกหมายเรียกอ๊อฟมาให้ปากคำ ด้านพงษ์พัฒน์ มีข่าวว่าทำการฟ้องกลับ ผู้ที่ฟ้องตนเองด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า ข้อพิพาทระหว่างคนทั้งสอง ซึ่งมี ม.112 อยู่ตรงกลาง ได้บทสรุปเช่นใด
แต่สำหรับคนที่สงสัยว่า แน๊ต พีรกร คือใคร ฉันได้สืบประวัติมาให้แล้วพบว่า เขาคือผู้ที่เป็นเจ้าของยูทูปซึ่งผู้ติดตามร่วม 40 คน ยอดวิวแต่ละคลิปอยู่ในระดับร้อยครั้ง และคงเป็นหนึ่งในผู้ที่มีความหมั่นไส้พงษ์พัฒน์ระดับมหาศาล เพราะ การฟ้องร้องครั้งนี้ ไม่ใช่การมุ่งโจมตีอ๊อฟเป็นครั้งแรก แต่ถ้าใครอยากรู้ว่าก่อนหน้านี้เขาทำอะไรมาแล้วบ้าง แนะนำให้เอาชื่อเขาไปค้นในอินเตอร์เน็ตได้เลยค่ะ
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
น่ายินดีเหมือนกันนะคะที่ทุกวันนี้ การเรียกร้องให้ยกเลิก ม. 112 กลายเป็นถนนสุขุมวิทของเส้นทางประชาธิปไตยไทย เพราะไม่กี่ปีก่อนหน้า ม. 112 พูดได้ว่า แย่กว่าทางหลวงชนบทก็ไม่ผิด ออกแนวถนนหมู่บ้านที่ อบต. สร้างไม่เสร็จซะด้วยซ้ำ การพูดเรื่อง ม. 112 ในที่สาธารณะ ต้องลดโวลุ่มจนแทบจะเป็นการสื่อสารด้วยโทรจิต คนที่เคลื่อนไหวเรื่อง ม. 112 อย่างจริงจัง มักกลายเป็นเป้าซะยิ่งกว่าสายัณห์ สัญญา สำหรับฝ่ายความมั่นคง
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เคยถูกต่อย เพราะแค่เสนอให้แก้ไข ม. 112, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เจ้าของประโยค “ยกเลิก 112 สิ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง” เคยถูกบุกยิงถึงบ้านพักมาแล้ว นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ แต่ชัดเจนที่ชี้ให้เห็นว่า การเอ่ยถึง ม. 112 อันตรายแค่ไหนในอดีต
เมื่อ ม. 112 กลายเป็นกระแสหลัก
ฉันในฐานะ นักข่าวสาววัยรุ่นตอนปลาย-วัยกลางคนตอนต้น ผู้ติดตามปรากฎการณ์เกี่ยวกับกฎหมายมาตรานี้มาอย่างใกล้ชิดบ้าง ไม่ใกล้ชิดบ้าง จึงอยากจะขอเกาะเกี่ยวกระแสของมัน ด้วยการเล่าเพื่อให้ผู้อ่านได้ระลึกถึงความ “อิหยังวะ” และ “ไปทั่วไปทีป” ของ ม. 112 และเป็นการชี้ให้ผู้สนับสนุนอำนาจนิยมได้เข้าใจว่า กฎหมายที่ ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยกำลังเรียกร้องให้แก้ไข หรือยกเลิก มาตรานี้ มันย่ำแย่ยังไง
ขอบอกไว้ก่อนว่า สิ่งที่ฉันจะเล่านั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อน ปรากฎการณ์ตื่นรู้ครั้งใหญ่ของสังคมในช่วงปี 2563-2564 นะคะ เพราะฉันเชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเร็วๆนี้ ทุกคนน่าจะผ่านหีผ่านตากันมาบ้างแล้ว ไม่จำเป็นต้องเล่าซ้ำ
ความเข้าใจเบื้องต้น สำหรับ ม. 112
1. “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี” คือ ข้อความทั้งหมดของกฎหมายข้อนี้
2. ม. 112 มีโทษจำคุก 3 ถึง 15 ปี แต่ถ้าหากนับความผิดเป็นกรรมๆ อาจรวมๆกันได้หลายสิบปี เช่น คดีของ อัญชัญ ปรีเลิศ ที่ถูกตัดสินให้จำคุก 87 ปี แล้วลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 29 ปี 174 เดือน หรือประมาณ 43 ปี 6 เดือน ซึ่งแม้จะลดโทษแล้วก็ยังมีระยะเวลายาวนานกว่าคดีฆ่าคนตายหลายคดี
3. ม. 112 เป็นคดีอาญาที่ใครฟ้องก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือสำนักพระราชวัง บางครั้งเราจึงเห็นการกลั่นแกล้งด้วยการฟ้องคดีที่ต่างจังหวัด เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องต้องเดินทางไกล และเสียเวลา เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ถูกฟ้อง ม. 112 ที่ขอนแก่น ทั้งที่ตัวเขาเองอยู่ กทม. รวมถึงพฤติการณ์แห่งคดีเกิดขึ้นที่ กทม.
4. ม. 112 มักถูกพิจารณาในชั้นศาลแบบปิดลับ ทำให้สื่อมวลชน หรือผู้สังเกตการณ์ไม่อาจทราบได้ว่า ข้อความที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย หรือการพิจารณาดำเนินการไปแบบใด เช่น คดีแชร์ข่าวบีบีซีไทย ของไผ่ ดาวดิน ซึ่งพิจารณาแบบปิดลับ อนุญาตให้เพียงไผ่ และทนายความอยู่ในห้องพิจารณา
5. ด้วยกระบวนการพิจารณาคดีที่ยาวนานเกินปกติ และบ่อยครั้งที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ผู้ต้องหา ม. 112 จำนวนหนึ่ง จึงเลือกที่จะรับสารภาพ แทนที่จะต่อสู้คดี ด้วยฐานคิดที่ว่า "สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน สารภาพติดพอประมาณ" ตัวอย่างของคนที่เลือกสารภาพ คือ ไผ่ ดาวดิน เขาถูกตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือน ขณะที่ ธเนตร อนันตวงษ์ เลือกที่จะสู้ ซึ่งแม้สุดท้ายศาลจะยกฟ้อง แต่เขาก็ต้องอยู่ในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดีไปแล้วกว่า 4 ปี เพราะไม่ได้รับการประกันตัว
บทความ : บุปผา ศรีจันทร์ /คอลัมนิสต์ชะนี ผู้มี #คำผกา เป็นไอดอลด้านการด่า มี #โบว์ณัฏฐา เป็นปรารถนาด้านการหาสามี
ขอบคุณภาพจาก ช่อง 3
#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #112 #ม112 #กฎหมายหมิ่น #กฎหมายอาญา #อีหยังวะ #ยกเลิก #แก้ไข #ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ #28กรกฎา
ติดตาม The Isaander ได้ในหลายช่องทางดังนี้
เว็บไซต์ www.theisaander.com
เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/theisaander
อินสตาแกรม www.instagram.com/theisaander
ทวิตเตอร์ twitter.com/TIsaander
コメント