เคล็ดลับการปลูกข้าวในปีที่แล้งคืออะไร ?
“ไม่มีเคล็ดลับหรอก ผมจำได้ว่าปีที่ผมชนะ นั่นมันก็แล้งนะ ที่ผมทำคือ พยายามเตรียมดินให้ดี เลือกเมล็ดพันธุ์ให้ดี ผมทำแปลงเมล็ดพันธุ์เอง คัดพันธุ์เอง ผมใช้วิธีหยอดแห้ง ชาวนาส่วนมากเขาหว่าน แต่ผมหยอด ใช้เมล็ดพันธุ์แค่ 8-9 กิโลต่อไร่ เพราะนาหยอดจะได้ข้าวต้นใหญ่กว่า แข็งแรงกว่า ทนแล้งมากกว่า ปีนั้นก็แล้ง ช่วงข้าวออกรวงประมาณ 2 อาทิตย์ไม่มีฝน ข้าวกำลังจะเฉาแล้ว แต่พอฝนมาข้าวก็ฟื้น” นิยม เล่าย้อนปีแห่งชัยชนะ
ทั้งนี้ ในการทำนาสมัยใหม่ มีรูปแบบการทำให้เลือกหลายแบบ ทั้งแบบดั้งเดิมคือ ‘การปักดำกล้า’ ใหม่กว่าคือ ‘การหว่านเมล็ด’ แบบที่อยู่กึ่งกลางระหว่างการหว่านกับการปักดำ คือ ‘การโยนกล้า’ แต่ที่นิยมเชื่อว่ามีประสิทธิภาพและประหยัดที่สุดคือ ‘การหยอดเมล็ด’ หรือที่ชาวนาในทุ่งกุลาร้องไห้เรียกติดปากว่า ‘นาหยอด’
นิยมชี้ว่า การทำนาแบบหยอดซึ่งเป็นการวางเมล็ดลงในรูเรียงเป็นแถวในนา มีความเป็นระเบียบกว่านาหว่าน ทำให้ต้นข้าวมีพื้นที่ว่างระหว่างกัน เป็นการป้องกันโรคเชื้อราโคนต้นที่มีสาเหตุมาจากการที่แสงแดดส่องไม่ถึงโคน เพราะต้นข้าวเบียดกันเกินไป ขณะเดียวกัน นาหว่านใช้เมล็ดพันธุ์น้ำหนัก 20-30 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่นาหยอดใช้เมล็ดพันธุ์เพียง 8-15 กิโลกรัมต่อไร่ และเมื่อข้าวในนาหว่านเติบโต ยังยากแก่การถอนหรือทำลายวัชพืช ด้วยต้นข้าวเกิดชิดกันเกินไป แต่เมื่อเทียบผลผลิตที่ได้จากนาหยอดกับนาหว่านกลับพบว่า ไม่ต่างกัน
ข้อเสียของนาหยอดในความคิดของนิยมคือ นาหยอดใช้เวลาในการหยอดมากกว่าหลายเท่าตัว เพราะต้องใช้ความพิถีพิถันมากกว่า ค่อยๆ หยอดเมล็ดตามแนว ขณะที่นาหว่านหลายสิบไร่ สามารถหว่านเสร็จภายในวันเดียวอย่างไม่ต้องบรรจง
“วิธีเตรียมดินคือ เมื่อเราเกี่ยวข้าวเสร็จ ให้ขุดตอซังออก ใช้ปุ๋ยปอเทือง ปุ๋ยพืชสด แล้วไถกลบ ถ้าฝนมาในช่วงเดือนเมษายน เราจะต้องเตรียมดินในเดือนพฤษภาคม เราหยอดบนดินที่ค่อนข้างแห้ง แต่ยังมีความชุ่มชื้น แต่ไม่หยอดแบบน้ำขัง เมื่อข้าวขึ้น เราพยายามกักน้ำให้ได้ 20-30 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ย 16-16-8 ใส่ไม่ต้องเยอะมาก พอข้าวออกรวง ต้องเอาน้ำออกจากนาประมาณ 2 อาทิตย์ก่อนเกี่ยว ถ้าอายุข้าวถึง กลางเดือนพฤศจิกายนก็จะเริ่มเกี่ยว ถ้าฝนมาช้าอาจจะเกี่ยวปลายเดือนพฤศจิกายน พยายามไม่ใช้ยา เจอวัชพืชให้ถอนออกให้หมด แล้วผมก็ขายเป็นเมล็ดพันธุ์ส่งให้รัฐ และขายเพื่อนๆ ก็ได้ราคาแพงกว่าส่งไปสี หรือขายข้าวสด” ชาวนาวัย 62 ปี จากวาปีปทุม กล่าว
แม้จะเหมือนนอกเรื่อง แต่เราอดถามไม่ได้ว่า ชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหลังจากได้แชมป์ข้าวหอมมะลิ นิยมบอกว่า ชีวิตแทบไม่ต่างจากเดิม
“ไม่ต่างนะ แต่ถือว่าเป็นขวัญกำลังใจให้เกษตรกร เป็นหน้าเป็นตาให้หมู่บ้าน อำเภอ และจังหวัด แต่ของรางวัลอาจจะไม่ตรงจุดเท่าไหร่ เขาให้รถไถเดินตาม ให้แต่ตัวรถ อุปกรณ์เสริมอื่นๆ ต้องซื้อเอง ทุกวันนี้เขาก็ใช้รถไถคันใหญ่กันหมดแล้ว คิดว่าถ้าเปลี่ยนจากรถไถเดินตามเป็นเครื่องตัดหญ้า เครื่องปั่นดิน หรือเครื่องมือเกษตรอื่นน่าจะดีกว่า พวกเครื่องอบข้าว หรือทำลานตากให้ เพราะลานตากก็สำคัญ ถึงห้ามตากบนถนนเขาก็ตากกันอยู่ดี เพราะตากกับนามันมีความชื้น ไม่ดีเท่ากับตากบนลานปูน” แชมป์ข้าวหอมมะลิปี 59 บ่นเล็กๆ
สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องสำหรับการจัดงานประกวดข้าวหอมมะลิระดับประเทศ คือ รางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศ และชมเชยต่างๆ 16 รางวัล รวมเป็นเงิน 140,000 บาท ค่าตอบแทนกรรมการตัดสินชี้ขาดไม่เกิน 59,100 บาท แต่งบประมาณในการจัดงานมีมูลค่า 2,810,000 บาท ดูฟอร์มแล้ว งานนี้น่าจะไม่ใช่ “ชาวนาชนะ” “ข้าวชนะ” แต่เป็น “ผู้รับเหมาชนะ” ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวเป็นของ ฤดูกาล 62/63
หลังจากรวบรวมปัญหาและความต้องการของประชาชนทั้งหมด ดิ อีสานเด้อ พยายามติดต่อ อธิบดีกรมพัฒนาการเกษตร หรืออธิบดีกรมการข้าวแต่ไม่เป็นผล และหลังจากพยายามถามคำถามใกล้เคียงกันไปในอีเมลของประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ เราลองยกหูโทรศัพท์ไปหา ดร.รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์อีสาน ในฐานะหนึ่งในกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา และอดีตชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้ เพื่อขอคำตอบว่า ที่ผ่านมารัฐได้พยายามแก้ไขทุกข์ร้อนของชาวนาอย่างไร โชคยังพอเข้าข้างเราอยู่บ้าง เพราะ ดร.รณวริทธิ์ ยอมพูดคุยกับเรา
รัฐมีแผนอย่างไรบ้างในการช่วยเหลือชาวนา ? เรารวบรัดคำถามในเวลาอันสั้น
“มี 2 โครงการที่รัฐบาลทำไปแล้ว และจะประเมินผล ถ้าประสบความสำเร็จก็จะทำต่อคือ 1. สนับสนุนโครงการนาแปลงใหญ่ โดยเอาคนที่ทำนาแบบเดียวกันมารวมกันขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 30 คน และจัดสรรงบประมาณให้แปลงใหญ่แปลงนั้นไม่เกิน 3 ล้านบาท ให้นาแปลงนั้นเขียนโครงการเข้ามาขอว่า เขาต้องการอะไร ที่เก็บข้าวเปลือก ลานตากข้าว จะซื้อเครื่องอบลดความชื้นในข้าว หรืออะไรก็ขอมา ที่ผ่านมามีการขอเข้ามาแล้ว 3.9 พันแปลง เป็นเงินประมาณ 9 พันล้านบาท ซึ่งวิธีนี้จะอนุมัติวงเงินได้ตรงกับความต้องการของเกษตรกรมากที่สุด โครงการจะเริ่มในเดือนมีนาคม แล้วก็จะโอนเงินให้เกษตรกรได้ใช้ จัดการ จัดซื้อ ซึ่งรัฐจะติดตามแผนที่เสนอและเร่งรัด ถ้าหากผลออกมาดีมีประสิทธิภาพ ชาวนาใช้เงินตามแผน ก็อาจจะมีโครงการเพิ่มเติมในอนาคต” ดร.รณวริทธิ์ กล่าว
“2. โครงการศูนย์ข้าวชุมชน รับผิดชอบโดยกรมการข้าว จะใช้งบประมาณ 1.2 พันล้านบาท โดยจะเป็นการส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ และผลิตข้าวคุณภาพสูงเพื่อบริโภคในชุมชุนและจำหน่าย ซึ่งจะเป็นโครงการที่ให้เกษตรกรเสนอเช่นกันว่า ต้องการอะไร รถเกี่ยวข้าว งบประมาณปรับพื้นที่ รถหยอดเมล็ดพันธุ์ หรือใช้สำหรับเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว หรือแก้ปัญหาการตากข้าว โดยเกษตรกรจะเป็นคนเสนอความต้องการของตัวเองเข้ามา แล้วรัฐจะมีหน้าที่จัดสรรงบประมาณ และจัดซื้อจัดจ้างให้” ดร.รณวริทธิ์ ระบุ
เราถาม ดร.รณวริทธิ์ว่า ปัญหาความแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ปัญหาสุดคลาสสิครัฐจะแก้ไขอย่างไรบ้าง อดีตชาวนาจากจังหวัดร้อยเอ็ดชี้ว่า กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สร้างระบบชลประทานเพิ่มแล้ว แต่ยังไม่สามารถระบุตัวเลขหรือกำหนดการได้
“ปัญหาความแล้ง เรารู้ดีว่า ต้องขยายระบบชลประทานให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างทั่วถึง บ้านเราน้ำมันเพียงพอ แต่ขาดการบริหารจัดการน้ำ หน้าที่ ส.ว. มีอยู่ 3 อย่างตรวจสอบ เสนอแนะ แล้วก็เร่งรัด เราจะไปตั้งงบไม่ได้เพราะงบมันอยู่ฝั่ง ส.ส. แต่เราได้เสนอแนะ สนทช.-สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เสนอไปที่รัฐบาลแล้ว ทางโน้นจะเป็นคนทำตัวเลข ออกแบบแผนงานและใส่งบประมาณมา เรื่องระบบเติมน้ำลงใต้ดินก็จะมีการดำเนินโดยกรมทรัพยากรน้ำ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ จะมีแผนผังน้ำใต้ดิน เพื่อวางแผนการเอาน้ำจากใต้ดินขึ้นมา แต่ไม่ให้เอาน้ำขึ้นมามากจนดินทรุด” ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์อีสาน กล่าว
ท้ายที่สุด ‘ทุ่งกุลาร้องไห้ และข้าวหอมมะลิ - ความแล้ง และชีวิตชาวนา’ ไม่ใช่ทั้งหมดของปัญหาเกี่ยวกับข้าวหอมมะลิที่กระทบต่อชีวิตชาวนาในทุ่งกุลาร้องไห้ แต่เชื่อว่า มันจะเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกประวัติศาสตร์ความเป็นมาเป็นไปของผืนดินอายุกว่าล้านปีแห่งนี้ และสุดท้ายเรายังเชื่อว่า แม้จะต้องเจอปัญหาความแล้งไปอีกหลายปี ก็คงไม่มีชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้คนไหน เที่ยวถามใครต่อใครว่า “How dare you”
สามารถติดตามตอนต่อไปได้ที่ The Isaander
รายงานข่าวเชิงลึกชิ้นนี้ ได้รับการสนับสนุนโดย Internews' Earth Journalism Network ซึ่ง The Isaander ทำงานร่วมกับ ประชาไท เผยแพร่ครั้งแรกที่ https://prachatai.com/journal/2021/02/91849
ภาพถ่าย : Eduardo Prim/Unsplash
ผู้เขียน : วีรวรรธน์ สมนึก, สมานฉันท์ พุทธจักร, ดลวรรฒ สุนสุข และสมชาย แซ่ฟาด
#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #ข้าว #ข้ามหอมมะลิ #ทุ่งกุลาร้องไห้ #ประเทศไทย #อเมริกา #พญาอินทรี
ติดตาม The Isaander ได้ในหลายช่องทางดังนี้
เว็บไซต์ www.theisaander.com
เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/theisaander
อินสตาแกรม www.instagram.com/theisaander
ทวิตเตอร์ twitter.com/TIsaander
Comments