Climate change ทุ่งกุลาร้องไห้ก็ Change
สำหรับ พี่เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ฝนที่ตกลงมาจากฟ้า อาจเป็นเพียงความหนาวที่ทำให้เขาได้นึกถึงคนรักที่อยู่ห่างไกล “ฝนที่ตกทางโน้น หนาวถึงคนทางนี้ ยังอยากได้ยินทุกเรื่องราว ยังนอนดึกอยู่ใช่ไหม เธอผอมไปหรือเปล่า อย่าลืมเล่าสู่กันฟัง” แต่สำหรับชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้ ฝนที่ตกลงมาจากฟ้า หมายถึงปากท้องของเขาและเธอ ภรรยาและสามี เครื่องนุ่งห่มของลูกและหลาน บิดาและมารดา รวมถึงหยูกยาของ ปู่ ย่า อา อาว์
“ตอนนี้ฉันอายุ 48 ปี ทำนามา 25 ปีแล้ว รู้สึกเดี๋ยวนี้มันแล้งกว่าเมื่อก่อน ปกติ เมษา-พฤษภา เริ่มมีฝนลง ได้เริ่มลงนามิถุนา เดี๋ยวนี้บางทีมิถุนาฝนยังไม่มาเลย เรารอน้ำฝนอย่างเดียว ฝนไม่มาก็แย่ ปี 63 นี่แย่เลย เจอทั้งแล้ง ทั้งโรค” สำราญ ซุยคง ชาวนาจากสุวรรณภูมิ บอกกับเรา
เมื่อเทียบคำบอกเล่าของชาวนาจากทุ่งกุลาร้องไห้กับตัวเลขทางสถิติพบว่า มีความสอดคล้องกันอยู่ไม่น้อย โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรายงานว่า ค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนตลอด 30 ปี (ปี 2533-2563) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วงเดือนเมษายน คือ 86.3 มม. พฤษภาคม 187.1 มม. มิถุนายน 203.4 มม. กรกฎาคม 211.4 มม. สิงหาคม 266.2 มม. กันยายน 242.0 มม. ตุลาคม 117.1 มม. และ พฤศจิกายน 19.5 มม.
ขณะที่ปริมาณน้ำฝนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือปี 2563 เดือนเมษายน คือ 66.31 มม. พฤษภาคม 161.22 มม. มิถุนายน 153.46 มม. กรกฎาคม 192.48 มม. สิงหาคม 298.44 มม. กันยายน 256.71 มม. ตุลาคม 189.04 มม. พฤศจิกายน 2.82 มม.
ซึ่งสถิติดังกล่าวหมายความว่า เดือนที่ฝนควรจะตกเยอะเพื่อให้ชาวนาได้ทำนา เช่น ปลายเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม ฝนกลับตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต แต่เดือนที่ฝนควรจะน้อยเพื่อให้นาแห้ง บ่มให้ข้าวหอมมะลิเกิดความเครียดและสะสมความหอม เช่น เดือนกันยายนและตุลาคม ฝนกลับมากกว่าในอดีต ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่า ธรรมชาติเกิดความเปลี่ยนแแปลงบางอย่างขึ้นแล้ว
“ปกติข้าวมันทนแล้ง ทนเค็มอยู่แล้ว ถ้าเมล็ดพันธุ์สมบูรณ์ แล้งมาแต่ไม่เลยฤดูแตกกอ มีฝนตกลงมามันก็ฟื้นได้ แต่ถ้าแล้งเกินไป ถ้าทิ้งช่วงเกินไป ข้าวบางแปลงมันรอไม่ไหวก็ตาย เสียหายโดยเฉพาะตรงที่ดอน ปี 63 นี่แห้งเกินก็ตายเป็นหย่อมๆ ปี 62 นี่ได้ 500 กิโลต่อไร่ ปี 63 ได้น้อยกว่าเหลือ 460 กิโลต่อไร่ บางส่วนตาย” กิตติศักดิ์ สิงห์คำ เจ้าของนาข้าวหอมมะลิในอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ กล่าว
เมื่อดูสถิติค่าเฉลี่ยฝนตลอดช่วง 30 ปีของประเทศไทยจะพบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,561.12 มม. ขณะที่ปี 2562 ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปีที่ 1,282.32 มม. และปี 2563 แม้ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ถือว่ายังน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี คือ 1,497.32 มม. เมื่อศึกษาสถิติให้แคบลง ค่าเฉลี่ยปริมาณฝนตลอดช่วง 30 ปีของภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะน้อยกว่าทั่วประเทศที่ 1,402.58 ปี 2562 ก็น้อยกว่าค่าทั้งประเทศคือ 1,245.09 มม. และปี 2563 ก็เช่นกัน น้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศโดยมีฝนเพียง 1,381.79 มม.
มองมาที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ก็จะยิ่งเห็นว่า พื้นที่ตรงนี้อาภัพน้ำขนาดไหน เพราะนอกจากจะอยู่ในภาคอีสานซึ่งมีฝนตกน้อยแล้ว ลักษณะทางกายภาพของทุ่งกุลาร้องไห้ยังเอื้อให้ต้องเผชิญสภาวะแล้งมากกว่าพื้นที่อื่นๆ
“ทุ่งกลาร้องไห้ เป็นส่วนหนึ่งของแอ่งโคราช เป็นแอ่งกระทะกว้าง คือ รอบๆ ชายทุ่งเป็นที่สูงและลาดเทลงมาจดพื้นที่ ตอนกลางพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบและคลื่นลอนลาด ระดับพื้นที่จะลาดเอียงจากด้านตะวันตกไปด้านตะวันออก โดยมีระดับต่างกัน 12 เมตร… พื้นหินใต้ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นหินชุดมหาสารคาม ซึ่งเป็นชุดหินที่อยู่บนหินชุดโคราช ประกอบด้วย เกลือหินในบางแห่งหนากว่า 250 เมตร ยิปซั่มบางแห่งหนาถึง 50 เมตร… ทุ่งกุลาร้องไห้มีลำน้ำสำคัญ ได้แก่ ตอนใต้มีลำน้ำมูลไหลผ่านตลอดความยาวของพื้นที่ด้านตะวันตก มีลำพังซูเป็นแนวเขต ส่วนตอนกลางทุ่งมีลำพลับพลา ลำเสียวใหญ่ ลำเสียวเล็กและลำเตา นอกจากนั้นก็ยังมีหนองบึงตามธรรมชาติที่สามารถเก็บน้ำไว้ได้ระยะหนึ่งในฤดูฝน และส่วนใหญ่จะแห้งในฤดูแล้ง… ในตอนต้นฤดูเพาะปลูก เป็นระยะที่น้ำมูลยังขึ้นไม่ถึงฝั่ง น้ำในลำเตา ลำพลับพลา และลำเสียว จะไหลลงลำน้ำมูลอย่างรวดเร็วเพราะไม่มีสิ่งกีดขวาง ไม่มีแหล่งเก็บน้ำทางธรรมชาติเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูก”
เอกสารประกอบโครงการพัฒนาที่ดินทุ่งกลาร้องไห้ กรมพัฒนาที่ดิน ที่เขียนโดย เผด็จ กาญจนกุล และพรชัย สุธาทร ระบุ ซึ่งข้อมูลข้างต้นนี้หมายความว่า ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของทุ่งกุลาร้องไห้ ค่อนข้างเอื้ออำนวยให้เกิดความแล้ง เพราะนอกจากจะมีแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยแล้ว ความลาดเอียงประกอบกับลักษณะดินยังส่งเสริมเติมแต่งให้น้ำฝนเคลื่อนย้ายมวลของมันออกจากพื้นที่ได้เร็วกกว่าปกติ ทั้งลงแม่น้ำและลงใต้พื้นพิภพ พื้นที่ปลูกข้าว 1.9 พันตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของประมาณ 3.3 พันตารางกิโลเมตรของทุ่งกลาร้องไห้จึงต้องอาศัยฝน และพึ่งพาความเมตตาจากฟ้าเป็นหลัก ที่สำคัญกว่านั้นคือ พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถเก็บความชุ่มชื้นไว้ให้แก่พื้นที่ได้
สามารถติดตามตอนต่อไปได้ที่ The Isaander
รายงานข่าวเชิงลึกชิ้นนี้ ได้รับการสนับสนุนโดย Internews' Earth Journalism Network ซึ่ง The Isaander ทำงานร่วมกับ ประชาไท เผยแพร่ครั้งแรกที่ https://prachatai.com/journal/2021/02/91849
ภาพถ่าย : ดลวรรฒ สุนสุข
กราฟ : Kittiya On-in/ประชาไท
ผู้เขียน : วีรวรรธน์ สมนึก, สมานฉันท์ พุทธจักร, ดลวรรฒ สุนสุข และสมชาย แซ่ฟาด
#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #ข้าว #ข้ามหอมมะลิ #ทุ่งกุลาร้องไห้ #ประเทศไทย #อเมริกา #พญาอินทรี
ติดตาม The Isaander ได้ในหลายช่องทางดังนี้
เว็บไซต์ www.theisaander.com
เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/theisaander
อินสตาแกรม www.instagram.com/theisaander
ทวิตเตอร์ twitter.com/TIsaander
Comentários