top of page
Writer's pictureThe Isaander

ข้าวหอมมะลิ พญาอินทรี และการดิ้นรนของชาวนาทุ่งกุลา(3)


ชาวทุ่งกุลาร้องไห้ ในจังหวัดร้อยเอ็ด (ที่มา: ภาพถ่ายโดย Robert L. Pendleton ลิขสิทธิ์ของ The University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

โครงการซับน้ำตาทุ่งกุลาจะไม่ร้องไห้


ข้ามตำนานมาสู่ปัจจุบันสมัย ‘ทุ่งกุลาร้องไห้’ ในขอบเขตที่กรมพัฒนาที่ดินระบุเมื่อปี 2514 หลังจากการสำรวจลุ่มน้ำมูลตอนกลางว่า พื้นที่ทุ่งกุลา กินอาณาเขต 2,107,680 ไร่ใน 5 จังหวัด ครอบพื้นที่อำเภอเกษตรวิสัย สุวรรณภูมิ ประทุมรัตต์ โพนทรายและหนองฮี จังหวัดร้อยเอ็ด (ก่อนที่อำเภอยางชุมน้อยจะถูกเพิ่มในปี 2522) รวมเนื้อที่ 986,807 ไร่ อำเภอท่าตูม ชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ รวมเนื้อที่ 575,933 ไร่ อำเภอราศีไศล และศิลาลาด จังหวัดศรีสะเกษ รวมเนื้อที่ 287,000 ไร่ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม รวมเนื้อที่ 193,890 ไร่ และอำเภอมหาชัยชนะ ค้อวัง จังหวัดยโสธร รวมเนื้อที่ 64,000 ไร่


ส่วนหนึ่งของทุ่งกลาร้องไห้ (ที่มา: ภาพถ่ายโดย Robert L. Pendleton ลิขสิทธิ์ของ The University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)


หลังจากปี 2514 มีเอกสารหลายชิ้นที่ชี้ว่า พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ถูกพัฒนาอย่างจริงจัง เช่น ‘รายงานการสำรวจดินทุ่งกุลาร้องไห้’ ‘รายการการศึกษาการบรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วมของพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้’ นำมาสู่การปรับปรุงพื้นที่นาซึ่งได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลออสเตรเลียทำให้เกิดถนนและทางลำเลียง เกิดโครงการขุดลำคลองเพื่อเก็บกักและระบายน้ำ เกิดการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน เกิดการจัดรูปแปลงนา รวมทั้งเกิดการปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ และพืชปุ๋ยสด


จากเอกสารระบุว่า การปฏิรูปที่ดินทุ่งกุลาร้องไห้โดยกรมพัฒนาที่ดินแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ ช่วงที่ 1 กระจายการถือครองที่ดินให้กับประชาชน และส่งเสริมอาชีพเกษตรกร ขยายฐานการผลิต ช่วงที่ 2 เพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ ร่วมจัดการแหล่งน้ำกับชุมชน และช่วงที่ 3 ดำเนินการต่อเนื่องจากช่วงที่ 2 จนโครงการพัฒนาที่ดินพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้กลายเป็นโครงการปฏิรูปที่ดินขนาดใหญ่ที่เกิดผลเป็นรูปธรรม ประสบความสำเร็จที่สุดโครงการหนึ่ง และกลายเป็นโครงการต้นแบบในการพัฒนาที่ดินของกรมพัฒนาที่ดินในเวลาต่อมา


ส่วนหนึ่งของทุ่งกลาร้องไห้ (ที่มา: ภาพถ่ายโดย Robert L. Pendleton ลิขสิทธิ์ของ The University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)


ในปี 2522 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีมติรับหลักการแผนแม่บทโครงการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ โดยจัดสรรงบประมาณลงพื้นที่ และมีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้โดยเฉพาะ ต่อมาปี 2530 รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้อนุมัติงบประมาณ 580 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการน้ำพระราชหฤทัยจากในหลวง (อีสานเขียว) ระหว่างปี 2531-2532 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงพัฒนาและอนุรักษ์ธรรมชาติ และยกระดับเศรษฐกิจของประชาชนอีสาน ซึ่งพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ก็ได้รับการพัฒนาไปด้วย


นอกจากนั้นแผนพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ยังถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 9 ปี 2545- 2549 มีโครงการมากมายถูกเสนอให้ใช้พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นที่ดำเนินการ แม้กระทั่งโครงการสร้างสวนสนุกระดับโลกอย่าง Disney’s Land หรือโครงการสร้างบ่อน Casino ถูกกฎหมาย ด้วยหวังพลิกผืนดินอันแห้งแล้งแตกระแหงอับโชคให้กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงโชคบริหารดวงชะตาราศี อย่างไรก็ตาม โครงการที่ว่าเหล่านี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง


ส่วนหนึ่งของทุ่งกลาร้องไห้ (ที่มา: ภาพถ่ายโดย Robert L. Pendleton ลิขสิทธิ์ของ The University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)


และหลังจากที่รัฐบาลพยายามโอ๋เอ๋ ประคบประหงมพื้นที่เชิงสัญลักษณ์นี้ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน โครงการพัฒนาเฉพาะพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ได้ลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยมีการกระจายอำนาจการปกครองสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โครงการพัฒนาจึงกลายเป็นโครงการรายจังหวัด แทนที่จะเป็นโครงการพัฒนา ‘ทุ่งกุลาร้องไห้’ โดยเฉพาะดังเช่นในอดีต สามารถติดตามตอนต่อไปได้ที่ The Isaander



ภาพถ่าย : ลิขสิทธิ์ของ The University of Wisconsin-Milwaukee Libraries ถ่ายโดย Robert L. Pendleton



รายงานข่าวเชิงลึกชิ้นนี้ ได้รับการสนับสนุนโดย Internews' Earth Journalism Network ซึ่ง The Isaander ทำงานร่วมกับ ประชาไท เผยแพร่ครั้งแรกที่ https://prachatai.com/journal/2021/02/91849


---


ผู้เขียน : วีรวรรธน์ สมนึก, สมานฉันท์ พุทธจักร, ดลวรรฒ สุนสุข และสมชาย แซ่ฟาด


---


#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #ข้าว #ข้ามหอมมะลิ #ทุ่งกุลาร้องไห้ #ประเทศไทย #อเมริกา #พญาอินทรี



ติดตาม The Isaander ได้ในหลายช่องทางดังนี้



เว็บไซต์ www.theisaander.com



เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/theisaander



อินสตาแกรม www.instagram.com/theisaander



ทวิตเตอร์ twitter.com/TIsaander



72 views0 comments

Comments


bottom of page