“9 มิถุนายน 2489 “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8” ต้องพระแสงปืนใน ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง ระยะเวลาการครองราชย์ของพระองค์จึงถูกหยุดไว้ที่ 11 ปี 99 วัน”
ข้อมูลข้างต้นทุกคนน่าจะรับรู้กันเป็นอย่างดีแล้ว แต่อาจจะมีคนไม่เยอะจำนวนนักที่รู้ว่า ก่อนหน้านั้น 4 วัน พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจสุดท้ายในฐานะพระมหากษัตริย์ที่ “ทุ่งนา”
ย้อนกลับไปในวันนั้น 5 มิถุนายน 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช” ไปยังสถานีเกษตรกลาง บางเขน เพื่อทอดพระเนตรการทำนา และกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทรงหว่านข้าวในแปลงนาทอดลองหลังตึกขาว หรือ “ตึกสัตวบาล” บ้างเรียกตึกนี้ว่า “ตึกเสือ” เพราะเคยถูกทาสีด้วยลายพราง บางครั้งถูกเรียกว่า “ตึกเคมี” เพราะเคยถูกใช้สอนวิชาเคมี แต่ปัจจุบัน อาคารหลังนี้ถูกใช้เป็น “หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” แต่ด้วยภาพจำของตึกยังคงเป็นสีขาว บางคนจึงเรียกติดปากว่า “ตึกขาว” และแปลงนาทดลองหลังตึกขาวในอดีต ปัจจุบัน ได้กลายเป็นที่ตั้งของ “ตึกพืชพรรณ”
สำหรับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น ได้รับการสถาปนาขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยรัฐบาลดำริให้สร้างสถานีเกษตรกลาง บางเขนขึ้น ที่อำเภอบางเขน จังหวัดพระนครในปี 2482 ก่อนจะย้าย “วิทยาลัยเกษตรศาสตร์” จากเดิมที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ มาตั้ง ณ สถานีเกษตรกลางบางเขน ก่อนยกสถานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยในปี 2486 เบื้องต้นเปิดสอนใน 4 คณะ คือ คณะกสิกรรมและสัตวบาล คณะการประมง คณะวนศาสตร์ และคณะสหกรณ์
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น กระทรวงเศรษฐการ ซึ่งดูแลงานด้านการเกษตรของประเทศในขณะนั้นได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาร่วมส่งเสริมประสิทธิภาพให้กับข้าราชการไทย และต่อมาได้เกิด “โครงการเพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวในประเทศไทย” ปี 2493 ซึ่งได้รวบรวมนักวิชาการการเกษตรจากหลายจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อหาพันธุ์ข้าวที่ยอดเยี่ยมสำหรับการขยายและพัฒนาพันธุ์ ซึ่งโครงการนี้เองทำให้ประเทศไทยค้นพบ “ข้าวหอมมะลิ” หรือ “ข้าวขาวดอกมะลิ 105” ที่กลายเป็นพันธุ์ข้าวที่ชาวไทยภาคภูมิใจ และเป็นสินค้าส่งออกที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ
สุนทร สีหะเนิน พนักงานบำรุงข้าวท้องถิ่น จังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งถูกระบุว่าเป็นผู้ค้นพบพันธุ์ “ข้าวขาวดอกมะลิ 105” เคยเปิดเผยว่า สหรัฐอเมริกาได้ส่งผู้เชี่ยวชาญสำคัญ 2 คน มาช่วยพัฒนาพันธุ์ข้าวในประเทศไทย คือ Harry Houser Love ศาสตราจารย์ด้านเกษตรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Cornell ที่มาทำวิจัยเรื่อง การเพาะพันธุ์ข้าวท้องถิ่น และทำโครงการเพิ่มผลผลิตข้าวในประเทศไทยภายใต้โครงการที่ใหญ่กว่าชื่อ ‘Economic Cooperation Administration’ ของสหรัฐฯ
และ Robert Larimore Pendleton เป็นศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัย John Hopkins ผู้เขียนหนังสือ Thailand: Aspects of landscape and life ซึ่งถูกส่งมายังประเทศไทยโดยโครงการ US Mutual Security Agency's Special Technical and Economic Mission to Thailand โดยทั้งโครงการที่ รอเบิร์ต และแฮรี่ ทำงานให้นั้นอยู่ภายใต้ปีกใหญ่ที่ชื่อ The Marshall Plan ซึ่งสหรัฐฯใช้เป็นแนวทางการต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสม์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้นกระบวนความ
โครงการพัฒนาพันธุ์ข้าวดำเนินต่อมาเรื่อยๆ ณ สถานีเกษตรกลาง บางเขน กระทั่งวันที่ 5 มิถุนายน 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเยี่ยม
“เสด็จฯพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาเพื่อทอดพระเนตรกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เพื่อพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้อาจารย์ ข้าราชการ และนิสิตเฝ้าฯ และพระราชทานพระบรมราโชวาท แล้วเสด็จฯต่อไปยังสโมสรข้าราชการ จากนั้นประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังตึกขาว และเสวยพระกระยาหารที่นั่น หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 เสด็จลงยังชั้นล่างเพื่อทอดพระเนตรการแสดงเกี่ยวกับการเกษตร แล้วเสด็จฯไปยังนาทดลองซึ่งอยู่หลังตึก ทรงหว่านข้าว และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ราษฎรทูลเกล้าฯถวายของ แล้วเสด็จฯกลับ” ศาสตราจารย์กิตติคุณ ชวนชม จันทระเปารยะ อดีตหัวหน้าภาควิชาคหกรรมศาสตร์ เคยให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ครั้งดังกล่าว
4 วันหลังการเสด็จฯ ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลทรงต้องพระแสงปืนจนเสด็จสวรรคต พระราชกรณียกิจเยี่ยม ม.เกษตร และหว่านข้าว จึงกลายเป็นพระราชกรณียกิจทางการครั้งสุดท้ายของพระองค์ และรัฐสภามีมติเป็นเอกฉันท์ ทูลเชิญ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์เป็น “พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9”
ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติในวันที่ 23 มิถุนายน 2552 กำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ” เพื่อให้ คนไทยน้อมเกล้าฯรำลึกถึงพระราชกรณียกิจสุดท้ายในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8
แน่นอน พระบรมฉายาลักษณ์ ร.8 ในวันที่ 5 มิถุนายน 2489 เคยถูกเผยแพร่ไปบ้างในสื่อ และฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์ต่างๆ แต่ทั้งหมดล้วนเป็นมุมมองจากช่างภาพชาวไทย แต่ภาพที่ท่านกำลังดูอยู่นี้เป็นภาพจากกล้องของชาวต่างชาติ ซึ่งเชื่อว่ามีคนไทยน้อยคนที่เคยเห็น เพราะ ภาพเหล่านี้ถูกรวบรวมและเก็บไว้ในฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัยมิลวอกี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ซึ่ง ดิ อีสานเด้อ เพิ่งค้นพบระหว่างการหาข้อมูลประกอบการเขียนงานชุด “ข้าวหอมมะลิ พญาอินทรี และการดิ้นรนของชาวนาทุ่งกุลา” ร่วมกับ สำนักข่าวประชาไท https://prachatai.com/journal/2021/02/91849
ผู้ถ่ายภาพ คือ Robert L. Pendleton ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา ชาวสหรัฐอเมริกา ซึ่งเดินทางมายังประเทศไทยตั้งแต่ยุค 2480 ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการค้นหาและพัฒนาข้าวในประเทศไทย โดยในชุดภาพชุดนี้ เราจะได้เห็นทั้งภาพของในหลวง ร.8 และ ในหลวง ร.9 รวมทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี ทวี บุณยเกตุ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่ง “อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” ก่อนที่จะต้องลี้ภัยออกนอกประเทศในปีต่อมา หลังการยึดอำนาจของทหารซึ่งหนุนหลัง จอมพลแปลก พิบูลสงคราม
--- #TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #รัชกาลที่8 #พระราชกรณียกิจสุดท้าย #รัชกาลที่9 #ในหลวง #ประชาธิปไตย #ปฏิรูป --- ติดตาม The Isaander ได้ในหลายช่องทางดังนี้ --- เว็บไซต์ www.theisaander.com
เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/theisaander
อินสตาแกรม www.instagram.com/theisaander
ทวิตเตอร์ twitter.com/TIsaander
Comments