top of page
Writer's pictureThe Isaander

เปิดจักรวาลจุลโหฬาร : เมล็ดฝุ่นทางดนตรีจากอีสาน ผู้ส่งสัญญาณเพลงลูกทุ่งมุ่งเมืองกรุงฯ



จุลโหฬาร ไม่ใช่ชื่อเมนูอาหาร ไม่ใช่ชื่ออาคารบ้านเรือนหรือห้องประชุม แต่เป็นชื่อของวงดนตรีซึ่งมีเทือกเถาเหล่ากอมาจากจังหวัดกาฬสินธุ์ และสกลนคร พื้นที่แทบจะกึ่งกลางของภาคอีสาน


.

ด้วยท่วงทำนองของเพลงร่วมสมัยที่ผสมผสานเครื่องดนตรีพื้นบ้านพิณแคน และเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของนักร้องสาวประจำวง ทำให้เพลงของพวกเขาเข้าหู ครองใจ จนทำให้มียอดเข้าชมทางเว็ปไซต์ยูทูปทะยานรวมกันไปแล้วมากกว่า 30 ล้านครั้ง แถมยังมีผู้ติดตามอีกกว่า 97,600 ยูสเซอร์

วันนี้ The Isaander ชวนมาเปิดจักรวาลของจุลโหฬาร เมล็ดฝุ่นทางดนตรีจากอีสาน ผู้นำสาส์นจากภูธร มาเคาะประตูบ้านนักฟังเพลงทุกท่าน


.


ความลับอันมโหฬารของจุลโหฬาร


.

แม้ไม่มีโฆษกช่วยประกาศให้ เหมือนกับนักมวยก่อนขึ้นชก แต่อย่างน้อยแฟนเพลงของจุลโหฬารควรทราบว่า เกมส์ - สุจิตรา โถตันคำ นักร้องหญิงเพียงคนเดียวของวงนั้น มักมีอาการแพ้ควันบุหรี่ เธอเล่าว่าเคยมีบางครั้งที่เกือบล้มทั้งยืนคาเวที “เราไม่เคยบอกก่อนทำการแสดงเลย เพราะไม่อยากให้คิดว่านี่เป็นข้ออ้างในการทำงาน เพราะการเล่นดนตรีกลางคืน ต้องเจอกับสภาพแวดล้อมของร้านที่แทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว มันจึงมีครั้งสองครั้งที่เกือบจะหน้ามืด ที่เห็นเรามีพลังตลอดเป็นเพราะหลัง ๆ พี่ยั๊วะมือกีต้าร์ยุให้ออกกำลังกายอยู่ตลอด”


.

เช่นกันกับความลับของผู้ชายสักลายเต็มตัว และรูปร่างท่าทางที่เข้าได้กับมาตรฐานผู้ต้องสงสัยของตำรวจไทย เชื่อว่าหากผ่านด่านตรวจไหน ยั๊วะ - อลงกฎ เจริญธรรม มือกีต้าร์ประจำวง จะต้องเป็นคนแรก ๆ ที่ถูกขอตรวจปัสสาวะ แต่นั่นเป็นเพียงรูปกายภายนอก เพราะความจริงแล้วพี่ใหญ่ของวงคนนี้ ไม่ยุ่งกับยาเสพติด และมีชีวิตอยู่เพื่อออกกำลังกาย “ผมออกกำลังกายทุกวันครับเห็นแบบนี้ ไม่อย่างนั้นคงตายห่าไปนานแล้ว วิธีการออกกำลังกายก็ง่ายมาก คือการออกไปวิ่ง เพราะมันดีกว่าอยู่เฉย ๆ ลองคิดว่าเราเป็นคนดูคงไม่สนุก ถ้าไอ้มือกีต้าร์มันยืนเล่นอยู่นิ่ง ๆ เพราะไม่มีเรี่ยวแรงจะกระโดด ทั้งที่เพลงกำลังมัน นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผมทำประจำ”


.

ในขณะที่ เป้ – ณัฐพงษ์ นาพงษ์ มือพิณและหมอแคนแห่งจุลโหฬารเก็บอาการไม่อยู่ เมื่อถูกถามถึงความลับ ราวกับมีเรื่องอึดอัดที่เขาอยากระบาย เขาเริ่มพูดถึงพัฒนาการของวงดนตรีหมอลำในยุคปัจจุบันว่า ก้าวมาไกลกว่าสมัยดั้งเดิม ที่มีเพียงหมอแคนและคนร้องก็สามารถสนุกกันทั้งคืน จากนั้นจึงเริ่มพูดถึงความลับของตัวเอง “การที่เราเอาดนตรีพื้นบ้านอย่างพิณแคนมาใส่ในเพลงตัวเอง นอกจากเป็นการสร้างสรรค์ดนตรีในแบบพวกเราแล้ว ก็กลายเป็นความเสี่ยงที่เราทำให้คนทั้งวงต้องแบกรับ เพราะดนตรีแบบนี้อาจไปกีดกันผู้ฟังบางกลุ่ม รวมทั้งที่ผ่านมา ผมโดนด่าจากผู้คนในสายอนุรักษ์บ่อยมาก เขาจะพูดว่า ทำไมเราต้องเล่นพิณรูปทรงนี้ ทำไมใช้ไลน์ดนตรีของพิณแบบนี้ ทำไมต้องดัดแปลงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้านก็ได้แต่เถียงในใจว่า ถ้าเราไม่เอามาดัดแปลง ไม่เอามาเล่นแล้วมันจะมีสิ่งที่เรียกว่าการสืบสานดนตรีพื้นบ้านไหม ทั้ง ๆ ที่มันก็มีการดัดแปลง ปรับปรุงกันมาอยู่ตลอด”

________________________________________


“เวลาคนมองมาที่วงท้องถิ่น จะเข้าใจว่าต้องการคะแนนท้องถิ่นนิยม หรือคะแนนจากภูธร แต่เราอยากทลายกำแพงนี้ลง ด้วยการดึงทุกคนมาเป็นหนึ่งเดียวกันให้หมด เหมือนเราอยู่ในภูธรเดียวกัน คือภูธรของดนตรี”

________________________________________


วงดนตรีลูกอีสานภูธร ที่เชื่อว่าทุกท้องที่ ที่เพลงของพวกเขาเดินทางไปถึงคือภูธร


เกมส์ นักร้องหญิงหนึ่งเดียวในวง ยกมือซ้ายลูบแขนขวาที่มีรอยสักสีสันสะดุดตาของตัวเองสองสามครั้ง แล้วพูดคุยถึงความเป็น ลูกอีสานผ่านบทเพลงของพวกเขา โดยการยอมรับว่า การใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน คือการไม่บิดเบือนธรรมชาติของพวกเขาเอง “เราไม่ได้ทำดนตรีใหม่แหวกแนวไปกว่าใคร เพลงของจุลโหฬารไม่ใช่เพลงที่คุณฟังแล้วจะร้อง ว้าว โคตรดีเลย แล้วก็ไม่ได้กีดกันว่า จะต้องเป็นคนอีสานถึงฟังสนุก แต่พวกเราทำเพลงให้เห็นตัวตนของเราทุกคน จะเห็นว่าเพลงของจุลโหฬารตรงไปตรงมา ใช้ภาษาง่าย ๆ แล้วก็ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ใคร”


.

ต่อเมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างอีสานกับเมืองหลวงและภูมิภาคอื่น พวกเขาชี้ไปที่พิณที่เพิ่งถูกพักจากการแสดง “นอกจากเครื่องดนตรีเฉพาะแล้ว คงเป็นเรื่องของภาษา สิ่งของ และการแต่งตัว แต่ต้องคิดว่าเรากำลังร่วมกันก้าวผ่านยุคสมัยที่ ผู้คนมีภาพจำว่าคนอีสานต้อง ดั้งแบนหน้าเหลี่ยมไปแล้ว มันเป็นช่วงเวลาที่ทุกพื้นที่คือภูธร ไม่เว้นแม้กระทั่งกรุงเทพ เพียงแต่กรุงเทพกลายเป็นศูนย์กลางของการบริหารจัดการต่าง ๆ จึงถูกเพลงทั้งลูกทุ่ง ลูกกรุง ไม่เว้นแม้แต่เพลงพวกเราหยอกแซวว่า เป็นเมืองแสงสี เมืองเปลี่ยนคน เมืองที่ทำให้คนเปลี่ยนใจ แต่ในความเป็นจริงทั้งเรื่องดีและไม่ดีเกิดขึ้นอยู่ทุกวันในทุกพื้นที่ เราจึงพูดได้ว่าสำหรับพรมแดนของเสียงเพลง ทุกพื้นที่คือภูธรของพวกเรา”


.

และหากมีคำถามว่า เช่นนั้นแล้วคนต่างจังหวัดโดยเฉพาะคนอีสานเมื่อเข้ามาทำงาน มาใช้ชีวิตในเมืองหลวง พวกเขาควรทำตัวอย่างไร จะได้คำตอบตรงไปตรงมาว่า ‘ก็เป็นเหมือนเดิม’ “เพียงแค่เป็นคนที่คุณเป็นก่อนจะเข้ามาในกรุงเทพ การที่คุณได้มีโอกาสเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองหลวง อาจทำให้คุณลืมวิถีชีวิต ภาษา สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม แต่การลืมไม่ใช่ความผิด ไม่ใช่ความตั้งใจที่ใครอยากจะลบเลือนรากเหง้าของตัวเอง ดังนั้น ในมุมหนึ่งเพลงของเรา กำลังจะเตือนคนที่อยู่เหย้าเฝ้าเรือนว่า เราไม่จำเป็นต้องน้อยอกน้อยใจไป ถ้าใครบางคนอาจลืมสิ่งที่เขาเคยเป็น อย่างน้อยเราก็สามารถบอกเขาได้ผ่านเพลงหรือเสียงดนตรี”


.

การเดินทางสู่มหานครผู้ฟัง ที่เบื้องหลังคือ ‘แค่ลองได้ยินเสียงของหัวใจ’


.

ในวันที่สมาชิกวงจุลโหฬารนั่งประเมินกันว่า พวกเขาก้าวมาสู่ความสำเร็จในระดับหนึ่ง ระดับที่เรียกร่วมกันว่า ยิ้มได้ และมีความสุขกับการทำเพลง เล่นดนตรี แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ มีบางวินาทีในอดีตที่ จุลโหฬาร อาจกลายเป็นเพียงชื่อเรียกเชย ๆ ของปัจจุบัน เรื่องนี้ สุจิตรา โถตันคำ นักร้องนำเล่าให้ฟังสั้น ๆ ว่า


.

“โดยส่วนตัวเคยมีช่วงที่คิดจะหันหลังให้ทุกอย่าง คือเราเจอกับมรสุมปัญหา ที่มันเข้ามาพร้อมกัน ทั้งเรื่องทางบ้านที่ต้องสูญเสียพ่อ ต่อด้วยแม่ บางวินาทีเขื่อนความเข้มแข็งของคนเรามันก็พร้อมจะพังลงมาเหมือนกันนะ เราไม่มีแรงจะทำอะไร ไหนจะเรื่องเพลงที่เราทำกัน แต่กลับไม่เห็นหนทางก้าวไปข้างหน้าเลย พอมองย้อนกลับไปแล้วอยากขอบคุณหลาย ๆ วินาทีหลังจากนั้น ที่ให้โอกาสตัวเองได้ทบทวน จนฉุกคิดว่า ถ้าเราหายไปเลย จะเป็นการเห็นแก่ตัวต่อพี่ ๆ ในวงไหม ถ้าเราไม่ตัดสินใจสู้ต่อ ก็ยังนึกภาพจุลโหฬารวันนี้ไม่ออกอยู่เหมือนกัน วันนั้นเราเลยเลือกเชื่อหัวใจตัวเองอีกครั้ง เอาจริง ๆ ถ้าจะพูดกันตรงนี้มันคงเขินอายกันเอง แต่พูดได้เลยว่าจุลโหฬาร กลายเป็นหนึ่งครอบครัวเล็ก ๆ บนโลกใบนี้ เราเดินทางกันมาตั้งแต่เริ่มต้นไม่มีอะไรเลย แล้วเราก็จะเดินทางต่อไปในจักรวาลดนตรี จนกว่าพวกเราจะหมดแรง”


.

เช่นกันกับประสบการณ์ของมือพิณเครางาม ณัฐพงษ์ นาพงษ์ ที่เคยพยายามหัดเล่นเครื่องดนตรีร่วมสมัย เช่น กีต้าร์ กลองชุดอยู่นาน เพราะมองว่าทันสมัยและเท่กว่าการเล่นเครื่องดนตรีพื้นบ้าน แต่จนแล้วจนรอด เขาเองกลับไม่เคยทอดทิ้งเครื่องดนตรีพื้นบ้าน เครื่องดนตรีอีสาน เลยซักครั้ง และสุดท้ายเขาก็เลือกที่จะฟังเสียงของหัวใจตัวเอง “เราฟังเสียงหัวใจตัวเองทีไร มันก็ยังกลับมาอยู่ที่พิณแคน และเครื่องดนตรีพื้นบ้านตลอด จึงตัดสินใจว่าจะเล่นเครื่องดนตรีพวกนี้แหละไปจนตายเลยดีกว่า”


.

หลังจากนั้น กลายเป็นว่าหากมีใครเอ่ยปากถามเรื่องการยอมแพ้ จุลโหฬารจะตบกบาลคุณด้วยเสียงเพลง แล้วบอกพร้อมกันว่า “ไม่มีวินาทีไหนเลยที่เราอยากจะหันหลังให้ดนตรี เพราะนอกจากเล่นดนตรีและร้องเพลงแล้ว สิ่งที่พวกเราจะทำหลังจากนี้ก็คือ เล่นดนตรีและร้องเพลงต่อไป เหมือนที่เคยทำร่วมกันมา”

________________________________________


“พวกเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงธรรมชาติของตัวเอง นั่นคือจุลโหฬาร”

________________________________________


ตัวตน และต้นธาร จักรวาลของจุลโหฬาร


ช่วงเวลาเริ่มต้นของจุลโหฬารเกิดขึ้นเมื่อ ยั๊วะ อลงกฎ เจริญธรรม มือกีต้าร์ และเกมส์ - สุจิตรา โถตันคำ ซึ่งรู้จักกันมาก่อน ร่วมกันออกเล่นดนตรีกลางคืนตามวิถีนักดนตรีอิสระ ทุกคืนจะมีเพลงที่ถูกขอให้พวกร้องเล่นอย่างสนุกสนานมากมาย นานวันเข้า พวกเขาเริ่มสำแดงความขบถ ต่อผู้ฟังหน้าเวที “การเป็นนักดนตรีร้านเหล้า มันมีที่คั่นบรรยากาศระหว่างนักดนตรีกับลูกค้า คือความอิดหนาระอาใจ หลายเพลงเราถูกขอ แต่เราไม่อยากเล่น เพราะเราอยากเล่นเพลงในแบบเรา หลัง ๆ มาจากไม่เล่นให้ลูกค้าเลย ก็ปรับตัวด้วยการเล่นเพลงที่ถูกขอในแบบอย่างของพวกเขา จึงเริ่มมีพิณมีแคนเอามาใส่ บางเพลงลูกค้าทำหน้างงว่าเพลงนี้กูขอเหรอ เพราะมันถูกนำขึ้นมาเล่นในแบบพวกเรา แล้วด้วยความที่พวกเราอยากทำให้ทุกการแสดงออกมาดี ก็เต็มที่มาตลอด”


.


ด้วยความเป็นดนตรีพื้นบ้านจากจังหวัดสกลนคร เป้ มือพิณแคนช่วยอธิบายให้เข้าใจเพิ่มเติมว่า จริง ๆ แล้วจังหวัดของพวกเขาประกอบด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ หากนับนิ้วแล้วอาจมีมากถึง 16 หรือ 17 ชนเผ่าพื้นเมือง รวมทั้งตัวเขาเองเป็นไทโส้ ที่ยึดโยงกับวิถีชีวิตคนภูเขา นับถือต้นไม้ นับถือผีบรรพบุรุษ และมีอัตลักษณ์ทางดนตรีเป็นของตัวเอง จึงเลือกใช้ไลน์พิณแบบไทโส้บ้าง แบบรำมวยโบราณบ้าง ไลน์แคนแบบภูไทบ้าง ซึ่งเป็นท่วงทำนองเฉพาะเจาะจงของชาวสกลนครมาประกอบในเพลง


.


ในขณะที่เกมส์ นักร้องนำที่เป็นลูกหลานชาติพันธุ์กะเลิงช่วยย้ำว่า “เราไม่เคยปิดกั้นโอกาสในการไปทำการแสดงที่ไหน และเราไม่เคยหยุดเล่นดนตรีในแบบเรา เรามีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำการแสดง แสดงออกในแบบที่เราเป็น นี่อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้คนเขาเอ็นดู ติดตามเราก็ได้”


.


การสนทนากับวงจุลโหฬารถูกทิ้งท้ายด้วยคำถามว่า อยากให้พวกเขาเลือก 1 เพลง แล้วหยิบยกชื่อเพลงนั้นขึ้นมาบอกแทนภาพสังคม การเมืองในยุคปัจจุบัน ช่วงวินาทีแรก ๆ พวกเขาพยักหน้าเห็นด้วยกับเพลงที่ชื่อ “แดงกับเขียว” แต่แล้วเมื่อมีเวลาให้ได้ฉุกคิด ยั๊วะ มือกีต้าร์และพี่ใหญ่ประจำวงก็ส่ายหน้าแล้วถอนหายใจ ก่อนเอ่ยขึ้นมาเหมือนคิดอะไรได้ “เอาสามัคคีชุมนุมแทนเถอะ” ทุกคนรีบประสานสบตา มองหน้ากันแล้วทุกอย่างจึงสงบลงจากตรงนั้น โดยไม่มีเหตุผล ก่อนบทสนทนาว่าด้วยจักรวาลจุลโหฬารจะเงียบลง


______________


เรื่องและภาพ : นักเขียนผู้โดดเดี่ยวและมีแมวเหมียวหนึ่งตัว ดูรูปเพิ่มเติม https://www.facebook.com/theisaander/posts/2385859075076787?__tn__=K-R


#Theisaander #จุลโหฬาร #วงดนตร#อาจารย์นักดนตรี #สกลนคร #กาฬสินธุ์ #วันสบาย #โต๊ะกัง

#thevoice #วงโคจร #หนีห่าง #เขียนไขและวาณิช #อภิรมย์ #เจ้าสาวไฉไล

12,701 views0 comments

Comentarios


bottom of page