top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

Hello Sophisai : ไปชุมชนกราฟิตี้พญานาคมากที่สุดในโลก



"ถ้าวิ่งถึงอำเภอปากคาด จะมีทางเลี้ยวเข้าไป มันจะถึงก่อนตัวอำเภอโซ่พิสัย ประมาณ 7-8 กิโลเมตร นี่แหละ ไปกับพี่ก็ได้ จะกลับอุดรบ้านแฟนพอดี "


.

อาคม คำภูษา ผู้ที่บ้างเป็นกวีบ้างเป็นครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนบึงกาฬ บอกข้อมูลการเดินทาง เมื่อถามถึงพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต แต่แล้วเราก็ปฏิเสธที่จะร่วมทางไปกับเขา เพราะเช่ามอเตอร์ไซด์คันหนึ่งไว้ อีกอย่างตั๋วรถทัวร์ขากลับที่จองไว้ เราต้องออกจากบขส.บึงกาฬตอนห้าโมงเย็นของวัน มันคนละเส้นทางกับตัวเมืองอุดรธานี



.

แม้เป็นวันออกพรรษาวันแรก แต่อากาศเช้าวันนั้นร้อนเกินกว่าจะจิบลีโอ รถยามาฮ่า รุ่นสปาร์ค ที่เช่าจากร้านกาแฟริมแม่น้ำโขง 350 บาท จึงค่อยๆทะยานออกจากตัวบึงกาฬพร้อมน้ำมันเต็มถัง ตามเส้นทางที่ 212 ขนานกับแม่น้ำโขง เส้นทางยาวไกลที่บอกเล่าถึงการแยกบึงกาฬออกจากจังหวัดหนองคายเมื่อปี 2554 ได้เป็นอย่างดี


.

เราผ่านแก่งอาฮง สถานที่ขึ้นชื่อในนาม สะดือแม่น้ำโขง ว่ากันว่าเป็นจุดที่น้ำลึกกว่า 200 เมตร คดเคี้ยวเป็นวังน้ำวน บ้างก็บอกว่านี่เป็นเมืองของพญานาค แน่นอนว่า การเดินทางย่านนี้ในช่วงวัน 15 ค่ำ เดือน 11 ฉากและชีวิตที่เห็นและเป็นอยู่ของผู้คนริมฝั่งโขง จักต้องมีเรื่องเล่าถึงสัตว์ในตำนานนี้ ปรากฎอยู่เสมอๆ จุดมุ่งหมายของเราก็เช่นกัน ภาพกราฟิตี้พญานาคที่รายรอบหมู่บ้านแห่งนั้น การตีความภาพจำพญานาค ในมุมมองที่ต่างไปจากความขรึมขลังมลังเมลือง เป็นอีกจุดที่ทำให้ตัดสินใจไปที่นั่น


.


ความเร็วของคันเร่งที่เฉลี่ย 60-70 กิโลเมตร พาเรามาถึงอำเภอปากคาด อีกอำเภอริมแม่น้ำโขง ของบึงกาฬ ช่วงวันออกพรรษาก็จะเห็นป้ายชี้บอกทางลงริมตลิ่งแม่น้ำถึงจุดชมบั้งไฟพญานาคเป็นระยะๆ ก่อนที่เลยตัวอำเภอไปหน่อย จะมีป้ายบอกทางเลี้ยวขวาไปอำเภอโซ่พิสัย และขับไปเรื่อยๆจนเจอป้ายสีเขียวเล็กๆ เขียนว่าทางเข้าพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จึงเลี้ยวขวาเข้าไปอีกครั้ง พลันให้คิดว่าหากไม่มีรถส่วนตัวมาเอง คงต้องพึ่งพารถโดยสารที่จะวิ่งเข้าสู่ตัวอำเภอโซ่พิสัย ก่อนจะเพ่งสังเกตทางแยกเข้าให้ดีๆ เพื่อบอกลงรถและเดินเข้าไปในตัวหมู่บ้านอีกราว 1 กิโลเมตร


.


แต่ด้วยพาหนะเครื่องยนตร์สองล้อ ก็พอจะพาเรามาถึงบ้านขี้เหล็กใหญ่ ตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย ในเวลา ชั่วโมงครึ่ง


.

ด้วยระยะทางกว่า 70 กิโลเมตรจากตัวจังหวัด ภาพภายนอกที่แห่งนี้อาจเป็นหมู่บ้านเงียบสงบง่ายงามทั่วไปที่พบเห็นได้ในภาคอีสาน แต่เมื่อภาพกราฟิตี้พญานาคหลากสีสัน ปรากฎในหลายอิริยาบถสองข้างทาง เป็นสิ่งบ่งบอกว่าที่นี่แปลกต่างจากหมู่อื่นๆ และเป็นการบอกเราอีกว่ามาถึงจุดหมายปลายทางแล้ว


.


เรือนไม้อีสานเก่าแก่ 60 ปี โปร่งโล่งด้วยหน้าต่างและเพดานสูง ทาทับตกแต่งด้วยสีเขียวสะอ้านตา เป็นบ้านที่คุณสุทธิพงษ์ สุริยะ เริ่มจัดแสดงพิพิธภัณฑ์มีชีวิตในปี 2561 เป็นที่รวบรวมวิถีภูมิปัญญาและจิตวิญาณของบรรพบุรุษ ก่อนขยายอาณาเขตความคิดและพื้นที่ออกไปสู่ชุมชน โดยเฉพาะความคิดความเชื่อเรื่องพญานาคของชาวบึงกาฬและชาวภาคอีสาน ที่ไม่ได้หยุดแค่ตำนาน แต่ชาวบ้านร่วมกันเลือกพญานาค นำมาปรุงแต่งต่อยอดรังสรรค์ศิลปะร่วมสมัย ผ่านภาพวาดสัตว์ในตำนานที่แทบจะเห็นสถิตอยู่ตามศาสนสถาน ด้วยต้นแบบอยู่ที่เมืองจอร์จทาวน์ ปีนัง รวมถึงสตรีทอาร์ตที่มาเก๊า หมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นแหล่ง ริเริ่มที่ที่มีกราฟิตี้พญานาคมากที่สุดในโลก


.


หลังได้ข้อมูลคร่าวๆจากเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ พร้อมเวลคัมดริ้งก์ เป็นมะนาวอันชัญและ ของว่างข้าวต้มมัด เราเริ่มทอดน่องไปตามรอบๆหมู่บ้าน เป็นการทัศนาจรที่ดูจะแปลกอยู่บ้าง เพราะต้องสอดส่ายสายตา เข้าไปในบ้าน'คนอื่น' เพื่อจะเห็นพญานาคที่จะจำแลงกายในกำแพงและผนังบ้าน กระทั่งบางซอกมุมที่พญานาคอาจซุกซ่อนอยู่ ปรากฎบนผนังบ้าน วัด ร้านค้า

.


โดยกราฟิตี้ร่วม 100 ภาพทั่วหมู่บ้าน เป็นผลงานจากนักศึกษาหลายสถาบัน เช่น จากลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี โดยภาพที่กระจายออกไปจะแบ่งเป็น 50 ภาพแรก สื่อเรื่องราวพญานาคกับปัจจัยสี่ ทั้งอาหารท้องถิ่น อาชีพ ความเชื่อ สินค้าขึ้นชื่อของชุมชน อย่างปลาร้าบอง กระติบข้าว ยาหม่อง ตะไคร้หอม ลูกประคบ ส่วนภาพที่เหลือสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกมนุษย์


.


วันที่ไปน่าเสียดายตรงที่ไม่ใช่เสาร์อาทิตย์ ที่จะมีมัคคุเทศก์น้อย เดินนำชม แต่เราก็ใช้เวลาเดินเองประมาณ 45 นาที ท่ามแดดร้อนระอุ ก่อนขับมอเตอร์ไซด์รอบหมู่บ้านเพื่อ ไล่สายตาดูอีกรอบว่าเราจะไม่พลาดเห็นภาพพญานาคสักภาพ เราประทับใจตรงที่ภาพที่นี่ทำให้ภาพพญานาคมีชีวิตชีวา แฝงฝังความเชื่อถึงสัตว์ในตำนานไปด้วยกัน


โดยไม่รู้สึกว่าเป็นภาพที่น่าหวาดหวั่น หรือมีใครมาบอกว่านี่เป็นการหลบหลู่สิ่งศักสิทธิ์ การสร้างตัวตนพญานาคขึ้นมาแบบนี้ยิ่งต่อยอดความคิดความผูกพันของคนที่นี่กับวิถีริมโขงอย่างไม่ตัดขาดกัน


นอกจากตัวพิพิธภัณฑ์และรูปภาพพญานาคแล้ว บริเวณหมู่บ้านยังมีมุมถ่ายภาพ เส้นทางจักรยานเล็กๆชมทุ่งนาและยางพาราเขียวขจี รวมไปถึงร้านค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน

ในพื้นที่อำเภอโซ่พิสัยเองแม้ไม่ใช่อำเภอติดแม่น้ำโขง ก็ยังมีสถานที่น่าสนใจ เช่น วัดสังขลิการาม ที่มีพระพุทธรูป พระเจ้าแสนสามหมื่นอายุกว่า 800 ปี หอนาฬิกาโซ่พิสัยที่เป็นย่านชุมชนและร้านอาหาร


*** พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต ชุมชนบ้านขี้เหล็กใหญ่ ตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ เปิดทุกวันเวลา 8.00 - 18.00 น. มีค่าเข้าชมคนละ 50 บาท และตลาดชุมชนพอเพียง เปิดเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป โทรศัพท์ 086 -229 -7626

**ถ้าขับรถตั้ง Google Map ไปได้เลย


*ขอบคุณหนังสือ Hello Sophisai ดูรูปเพิ่มเติม https://www.facebook.com/theisaander/posts/2363721387290556?__tn__=K-R


#theisaander #บึงกาฬ #โซ่พิสัย #พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต #HelloSophisai #พญานาค #feeltrip #สาธารณศึกษา #เรียนรู้อะไรก็ได้ #เรียนรู้ที่ไหนก็ได้

60 views0 comments

Comments


bottom of page