คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย
ภาพถ่าย หนังสือ ชีวิต ในห้องจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ ม.ราชภัฏสกลนคร
ไม่ว่าโลกจะขานรับหรือไม่ ?
ในฐานะนักคิดนักเขียน นักปฏิวัติสังคม ชื่อของจิตร ภูมิศักดิ์ มักจะถูกเอ่ยถึงซ้ำๆ หากบทสนทนาไพล่ไปถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
.ในงานกระแสรอง ข้อเขียนของจิตร วิจารณ์สังคมอย่างกระแทกกระทั้น ไม่ลดราวาศอก โฉมหน้าศักดินาไทย, โองการแช่งน้ำ และ ข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา ,บทกวีเปิบข้าว, บทเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ,
คือประดาผลงานที่สร้างชื่อให้กับเขา ผ่านนามปากกาต่างๆไม่ว่าจะเป็น สมชาย ปรีชาเจริญ , สุธรรม บุญรุ่ง, ศูลภูวดล, ศรีนาคร, ทีปกร, สมสมัย ศรีศูทรพรรณ, ฯลฯ และงานเหล่านั้นยังคงอยู่อย่างเย้ยหยัน ท้าทายสังคม แม้ว่าเจ้าตัวจะลาโลกไปแล้วหลายสิบปี
.
ย้อนไปราวห้าสิบปีที่แล้ว วันที่สังคมไทยสับสนกับแนวคิดทางการเมืองทั้งแบบประชาธิปไตยและภัยคอมมิวนิสต์ จิตร ภูมิศักดิ์ ตัดสินใจชนบทไปในอีสานเพื่อจับงานในฐานคอมมิวนิสต์สกลนคร ดินแดนแห่งการเมือง โดยเฉพาะภูพาน - พื้นที่ทางการเมืองที่มีการปะทะทั้งทางความคิดและความรุนแรงเชิงกายภาพกับรัฐอยู่เสมอๆ
.
ในนามสหายปรีชา ที่นั่นนอกจากทำงานมวลชนเขายังแต่งเพลงปฏิวัติอีกหลายเพลง กระทั่งต้นเดือนพฤษภาคม 2509 เขาถูกยิงตายที่ชายป่า บ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ สกลนคร
.
ปี 2520 หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ปีที่สังคมไทยกระหายใคร่รู้เรื่องสังคม-การเมือง ชื่อและผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์ ถูกพูดถึงในวงกว้างมากขึ้นเมื่อมีการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวชีวิตและผลงาน โดยเฉพาะข้อเขียนด้านวิชาการของจิตรมีผลสะเทือนสร้างความก้าวหน้าให้วงวิชาการมาก ด้วยภาพจำของจิตร ที่โดดเด่นและหลากแง่หลายมุมกว่านักปฏิวัติสังคมคนอื่นๆ ทั้งด้านกวีนิพนธ์ ด้านงานวิชาการ เกี่ยวกับภาษาศาสตร์, ประวัติศาสตร์, ชาติพันธุ์วรรณาวิทยา ทำให้มีผู้สนใจศึกษาและพูดถึงงาน-ความคิดเขาอยู่เสมอๆ
.
และเรื่องราวบางส่วนของ “จิตร” ก็ยังถูกเก็บรักษาไว้ถึงปัจจุบันให้คนรุ่นหลังมาต่อยอดความคิด เมื่อ The Isaander มีโอกาสไปเยือนมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ที่นี่มีสาขาวิชารัฐศาสตร์ ที่พวกเขาเรียกตัวเองว่า 'สิงห์ภูพาน ' อันบอกถึง ปูมหลังทางการเมืองและรำลึกถึงเรื่องราวต่างๆที่ทอดเกี่ยวกับ ศาสตร์การเมืองในจังหวัดสกลนคร
.
บริเวณตึกใกล้คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มี ศูนย์เรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมืองภูพาน ห้องจิตร ภูมิศักดิ์ อันเป็นที่เก็บรวบรวมผลงาน นักคิดคนนั้น คนที่เขาหวังเห็นสิ่งดีงามในสังคมไทยผ่านอุดมการณ์สุดเข้มข้น ก่อนชีวิตเขาจะจบลงในวัยเพียง 35 ปี ด้วยการจากไปในแผ่นดินอีสาน พื้นที่แห่งทรงจำที่มีเขาอยู่ในประวัติศาสตร์ย่านถิ่น
.
และถ้ามีโอกาสได้มาเยือนสกลนคร เราก็อยากแนะนำคุณให้มาที่นี่ ที่จะเป็นอีกหมุดหมายของการเดินทางไปเรียนรู้ เราขอขอบคุณ อัครวินทร์ กุลภา หรือปาร์ค นักศึกษาสาขารัฐศาสตร์ปี 3 สิงห์ภูพานรุ่น 6 คนนั้นอีกครั้ง ที่พาพวกเราไปเปิดทัศนะความรู้ พร้อมข้อมูลดีๆไว้สำหรับคนอื่นๆที่อยากไปรับชมห้องแห่งนั้นบ้าง
.
__________________________________
-ที่นี่มีอะไรให้ชมบ้าง?
มีนิทรรศการของจิตร ภูมิศักดิ์ ทั้งรูปภาพ ประวัติส่วนตัว ลำดับเหตุการณ์สำคัญตั้งแต่เกิดจนถึงเสียชีวิต ตกแต่งไว้ภายในห้องอย่างสวยงาม
มีเพลงของจิตร ภูมิศักดิ์ที่แต่งไว้ รวมถึงเพลงการเมืองอื่นๆให้ฟัง มีหนังสือที่เกี่ยวกับจิตร ภูมิศักดิ์ หนังสือที่จิตร ภูมิศักดิ์ แต่งไว้ให้ได้อ่าน
-สิ่งที่ไม่ควรพลาดหรือไฮไลท์ของห้องนี้คือ ?
การถ่ายรูปหรือเซลฟี่กับรูปภาพรูปใหญ่พร้อมตัวหนังสือคำคมของจิตร ภูมิศักดิ์ที่ติดไว้ภายในห้อง
-เดินทางมาได้ยังไงบ้าง ?
ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ที่ตึก1 หรือที่เรียกกันว่าตึกวัฒนธรรม ศูนย์การเรียนรู้จะอยู่ห้องแรกชั้นที่1 ฝั่งทิศตะวันตก
หากเดินทางมาด้วยรถโดยสาร ลงที่บขส.2สกลนคร นั่งวินมอไซค์มาลงที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ให้พี่วินขับรถเข้าไปส่งได้ ค่าวินมอไซค์ประมาณ60บาท
-เปิดปิดเมื่อไหร่ ต้องติดต่อใคร ?
เปิดทุกวัน ในเวลาราชการที่มหาวิทยาลัยทำการเรียนการสอน
แต่ต้องไปติดต่อที่ห้องสาขาวิชารัฐศาสตร์ ตั้งอยู่ที่ตึก3หรือตึกคณะมนุษย์ศาสตร์ฯ ชั้นที่2 ห้องที่1 ตึกตั้งอยู่ติดกันกับศูนย์การเรียนรู้ หรือโทร 0887720126 (ปาร์ค)
หากอยากเข้าชมในวันเสาร์อาทิตย์ หรือวันหยุด ให้ติดต่อล่วงหน้า
-มีที่ไหนแนะนำต่อ หากอยากศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองในสกลนคร ?
มีอนุสรณ์สถานถ้ำเสรีไทย (เตียง ศิริขันธ์) ตั้งอยู่ที่บ้านลาดกะเฌอ ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง
มีศูนย์การเรียนรู้ครูครอง จันดาวงศ์
ตั้งอยู่ที่ที่ว่าการอำเภอสว่างแดนดิน
มีอนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ
____________________________________
เบอร์ติดต่อ 0887720126 (ปาร์ค)
*ขอบคุณภาพจาก พิพิธภัณฑ์สามัญชน Museum of the Commonners
Comments