top of page
Writer's pictureThe Isaander

เป๋อสกลฯ ยล 'ท่าแร่ ' : ส่องตึกฝรั่งเศสในชุมชนคริสต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ



สกลนคร- โดยเฉพาะ ' ท่าแร่ ' ในทรงจำรับรู้ร่วมสมัยของคนอีสานจำนวนหนึ่ง น่าจะเป็นแหล่งที่มีวัฒนธรรมการกินเนื้อหมา ที่กลายเป็นคำกล่าวติดตลกเวลาพบเจอผู้คนมาจากแถบถิ่นนี้


.

แต่เมื่อเวลาผ่านไปมากเข้า คำพูด ความคิด หรือความรับรู้ต่อเรื่องนั้น ค่อยๆจางลง ยิ่งหากคุณรู้ว่าราคาเนื้อหมาสนนราคานั้นแสนแพง กว่าเนื้อหมู หรือเนื้อวัวมาก มันจึงเป็นของหายากราคาสูงมากขึ้นเสียอีก ใครเขาจะกินกันได้ทั้งปีละน้อ ?


.


แต่ย้อนไปก่อนหน้านี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ท่าแร่ คือตลาดค้าเนื้อหมาที่ขึ้นชื่อที่สุดเป็นวงจรธุรกิจที่ทำเงินมหาศาล แต่พอระยะหลัง มีกฎหมายป้องกันทารุณกรรมสัตว์ ทำให้กระแสบริโภคเนื้อหมา ค่อยๆซบเซาลง อีกอย่างกลุ่มคนที่นิยมกินก็ไม่ใช่คนท้องที่ หากแต่เป็นชาวเวียดนามหรือกัมพูชา เสียมากกว่า


.

ท่าแร่ไม่ได้มีแต่เสียงเล่าลือเรื่องเนื้อสวรรค์ สำหรับชุมชนริมบึงหนองหารนี้ สิ่งที่ The Isaander สนใจ และอยากเอามาเล่าขยายคือพวกเขาเป็นหมู่บ้านที่มีประชากรนับถือศาสนาคริสต์มากที่สุดในประเทศ มีสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสผสมเวียดนามที่งดงาม บอกเล่าเรื่องราวกว่า 100 ปีของชุมชน และที่สำคัญช่วงปลายปี ที่นี่มีเทศกาลแห่ดาวคริสต์มาสหนึ่งเดียวในประเทศ


.


ท่าแร่เมื่อแรกเริ่ม


การเข้ามาของอาณานิคมฝรั่งเศส ทำให้เกิดความแพร่หลายของวัฒนธรรมตะวันตกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มจากชายฝั่งทะเลตะวันออกเวียดนาม จากนั้นค่อยๆ ขยายเข้ามาสู่พื้นที่บริเวณแม่น้ำโขง ยิ่งกับการเข้ามาของฝรั่งเศสในเวียดนาม ส่งผลให้ชาวเวียดนามจำนวนมากหนีภัยสงครามจากอาณานิคมเข้ามาในไทยหลายระลอก โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคอีสานแถบจังหวัดนครพนม หนองคาย มุกดาหาร อุบลราชธานี รวมถึงชุมชนบ้านท่าแร่ จังหวัดสกลนคร


.

การอพยพเข้ามาของชาวเวียดนามกลุ่มนี้ มาพร้อมกับวัฒนธรรมการนับถือคริสต์ศาสนา การสร้างที่อยู่อาศัย อาคารบ้านเรือน และศาสนาสถาน โดยเฉพาะการผสมผสานรูปแบบทางสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบฝรั่งเศสเข้ามาด้วย เช่น อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล (Saint Michael Archangel Cathedral) รวมถึงที่อยู่อาศัยของผู้คนที่เน้นการมีระเบียงและบานหน้าต่างตามแบบฉบับของฝรั่งเศสผสมผสานกับกลิ่นไอความเป็นเวียดนาม


.

การตั้งชุมชนครั้งแรกที่บ้านท่าแร่ ผู้คนส่วนหนึ่งนอกจากชาวเวียดนามแล้ว จะเป็นชุมชนชาวคริสต์ อพยพมาจากตัวเมืองสกลนคร ซึ่งเป็นทั้งชาวพื้นถิ่นเช่น ชาวไทญ้อ ที่ไม่พอใจการกีดกันการนับถือศาสนาคริสต์ จากกลุ่มผู้ปกครองเมืองสกลนครในสมัยนั้น (สมัย ร.5) ทั้งนี้ด้วยเหตุที่กลุ่มผู้นับถือศาสนาคริสต์ มีการปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาแตกต่างจากพุทธศาสนิกชน เช่น ทำพิธีมิสซา รับศีลล้างบาป โดยมีบาทหลวงเป็นผู้ประกอบพิธีซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ประกอบกับนโยบายของราชสำนักที่กรุงเทพฯ ต้องการให้บ้านเมืองบำรุงพุทธศาสนามิให้มีการทำลายพุทธศาสนา และถือเป็นนโยบายหลักของเจ้าเมืองด้วย กลุ่มชาวคริสต์จึงถูกกลั่นแกล้งกีดกันอยู่เสมอ


.

ปี 1881 คณะบาทหลวง ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เข้าสู่ภาคอีสานเพื่อเยี่ยมชุมชนคริสต์ จนมาถึง สกลนคร เมื่อคณะของบาทหลวงซึ่งประกอบด้วยบาทหลวงเกโกและครูทัน(ชาวญวน) มาถึงเมืองสกลนคร ทราบปัญหา จึงวางแผนย้ายกลุ่มชาวญวนและชาวคริสต์ และย้านสถานที่เผยแพร่ศาสนาไปอยู่แห่งใหม่ สำรวจจนไปถึงชายฝั่งอีกแห่งหนึ่งของหนองหาร บริเวณนั้นพื้นดินส่วนใหญ่เต็มไปด้วยดินลูกรังที่เรียกว่า "หินแฮ่" จึงพากันตั้งชุมชนใหม่ขึ้นและเรียกว่า "ท่าแฮ่" และมาใช้เป็น “ท่าแร่” ผู้ที่อพยพเข้ามามีทั้งชาวญวน ชาวไทญ้อสกลนคร และในเวลาต่อมา มีชาวภูไทจากที่ต่างๆ อพยพเข้ามา อยู่ในชุมชนแห่งนี้ด้วย ภายใต้การนำ ของบาทหลวงยอแซฟ กอมบูริเออ ซึ่งพัฒนาชุมชน โดยการจัดผังเมืองเป็นระบบเป็นล็อคๆ เช่นเดียวกับเมืองในประเทศยุโรป เมื่อคนอพยพมามากเข้าจึงกลายเป็นชุมชนคริสต์ขนาดใหญ่ไปในที่สุด


.


ส่องตึกฝรั่งเศสในชุมชนคริสต์


ชุมชนท่าแร่มีลักษณะการตั้งถิ่นฐานแบบชุมชนหมู่บ้าน เป็นบริเวณที่มีบ้านพักอาศัยตั้งอยู่รวมกัน ตัวบ้านจะตั้งเป็นหลังเดี่ยว กระจายอยู่ภายในชุมชน มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สวยงาม โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมรูปแบบอาคารก่ออิฐ ซึ่งคาดว่า อาคารก่ออิฐได้รับอิทธิพลจากประเทศเวียดนาม หลังจากเวียดนามตกอยู่ภายใต้อาณานิคมฝรั่งเศส โดยอาคารแบบอาณานิคมลักษณะดังกล่าว ที่พบส่วนใหญ่จะตั้งอยู่เมืองฮอยอัน เนื่องจากเคยเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่


.

การสำรวจ พบการเชื่อมโยงรูปแบบอาคารก่ออิฐที่ชุมชนบ้านท่าแร่ คือ เสาซุ้มวงโค้งแบบหูตะกร้า และแบบประดับซุ้มวงโค้งใหญ่เล็กวางบนหัวเสา และอาคารก่ออิฐที่รับอิทธิพลมาจากประเทศลาวในยุคอาณานิคมฝรั่งเศสเช่นกัน ที่ใกล้เคียงกับที่ท่าแร่ ก็มีที่เมืองสะหวันนะเขต ลักษณะเด่นคือ การใช้เสาจริงประดับแทนเสาหลอก


.

นอกจากนี้ลักษณะโดดเด่นของอาคารก่ออิฐ ในชุมชนท่าแร่ คืออาคารมีรูปทรงสูงโปร่ง ประตูบานเฟี้ยมทรงสูงที่เปิดออกได้กว้างเพื่อระบายอากาศ ซุ้มวงโค้งด้านหน้าก่ออิฐเรียงรับน้ำหนักแล้วถ่ายน้ำหนักลงหัวเสาหรือผนังหนา ในส่วนซุ้มวงโค้งที่ใช้ประดับตกแต่ง รับน้ำหนักเพียงองค์ประกอบของอาคารโดยเฉพาะกับประตูหน้าต่าง


.

อีกความโดดเด่นที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของอาคารคือการใช้อิฐเผาที่ทำขึ้นในหมู่บ้าน นอกจากนั้นยังมีการตกแต่งราวระเบียง การตกแต่งหัวเสา และการตกแต่งลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม โดยช่างได้นำความเชื่อความศรัทธาของคริสต์ศาสนามาเป็นส่วนประกอบจนเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นขึ้น


.

ปัจจุบันมีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ในท่าแร่ ที่เป็นอาคารแบบบ้าน เหลือ 3 ที่หลักๆ ที่นักท่องเที่ยวต้องห้ามพลาดชม ที่แรกคือ บ้านโบราณ 100 ปี ของ หนู ศรีวรกุล (เฮียน เรียนดึงดึง) และหนูนา อุปพงษ์ ซึ่งเป็นบุตรของ พระยาประจันตประเทศธานี อดีตเจ้าเมืองสกลนคร บ้านหลังนี้เคยถูกไฟไหม้ กระทั่งชำรุดทรุดโทรมตามสภาพเวลา ไม่มีการบูรณะซ่อมแซม มีต้นโพธิ์ขึ้นรกรุงรัง จนกลายเป็นบ้านร้างอย่างที่เห็นในปัจจุบัน


.


จุดที่สอง คฤหาสน์ อุดมเดชวัฒน์ เป็นของคำสิงห์ อุดมเดช หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ องเด สร้างขึ้นตามรูปแบบสถาปัตยกรรมฝรั่งเศส (French Colonial Architecture Style) ในปี 1933 โดยช่างชาวเวียดนาม เป็นอาคาร 2 ชั้น พื้นที่ปลูกอาคารแต่เดิมเป็นดินโคลนปลักควาย จึงมีการถมให้แน่น ชั้นล่างทำเป็นร้านค้า สภาพของอาคารในปัจจุบัน พื้นชั้นล่างทรุด ขาดการบูรณะซ่อมแซม เพราะไม่มีผู้อาศัยอยู่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี โครงสร้างส่วนสำคัญของอาคารหลังนี้ ซึ่งช่างได้ใช้เทคนิคแบบโบราณในการก่อสร้าง โดยใช้ปูน ทราย อิฐ ผสมผสานยึดติดกันกับเสาไม้ได้อย่างลงตัว ทำให้ผนังและหลังคามีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย ถือได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นสวยงามล้ำค่าแห่งหนึ่งในจังหวัดสกลนคร



.

และแห่งที่สามคือ บ้านโบราณของ องเลื่อง โสรินทร์ สร้างขึ้นในปี 1932 โดยช่างชาวเวียดนามที่อพยพมาอยู่ในจังหวัดนครพนมและบ้านท่าแร่ เป็นอาคาร 2 ชั้น สร้างในรูปแบบสถาปัตยกรรมฝรั่งเศส (French Colonial Architecture Style) ผสมเวียดนาม ช่างก่อสร้างได้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและประสบการณ์ในการก่อสร้าง แบบก่ออิฐถือปูน ไม่มีปูนซีเมนต์ ไม่มีเหล็ก แต่ช่างใช้วัสดุพื้นบ้าน โดยการนำปูนขาวผสมกับทราย ยางพืชพื้นเมือง คือยางบงและน้ำอ้อยแทนปูนซีเมนต์ โครงสร้างชั้นบนส่วนมากเป็นไม้ อุปกรณ์บางอย่าง นำเข้ามาจากประเทศฝรั่งเศส ผ่านทางคุณพ่อยอแซฟ กอมบูริเออ มิชชันนารีชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดอัครเทวดามีคาแอล ลงเรือมาถึงกรุงเทพ ขึ้นรถไฟมาถึงโคราช และบรรทุกใส่เกวียนต่อมาถึงท่าแร่ อาคารหลังนี้จึงกลายเป็นมรดกที่ล้ำค่าทางสถาปัตยกรรม ที่โดดเด่นสวยงามอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดสกลนคร


จดจ่อรอชม- เทศกาลแห่ดาวคริสต์มาสหนึ่งเดียวในประเทศ


.

ด้วยความเป็นชุมชนคริสต์ “เทศกาลแห่ดาวคริสต์มาส” จึงกลายเป็นเทศกาลสำคัญที่คนในชุมชนร่วมกันจัดขึ้นกันเป็นประจำทุกปีในช่วงเทศกาลคริสต์มาส


.

สาเหตุที่เป็นแห่ดาวมาจากตำนานของชาวคาทอลิกที่เชื่อกันว่า วันที่พระเยซูประสูตินั้น มีดวงดาวดวงหนึ่งทอแสงสุกสกาว ผู้คนจึงออกเดินทางไปตามหาดาวดวงนั้น กระทั่งพบกับสถานที่ประสูติของพระเยซูเจ้าที่เมืองเบธเลเฮม จากนั้น “ดวงดาว” จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่พระเยซูลงมาประสูติบนโลกมนุษย์ ชาวท่าแร่จึงริเริ่มประเพณีแห่ดาวในเทศกาลคริสต์มาสเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์นั้น

.

ในช่วงเทศกาล ชาวท่าแร่จะพากันประดับตกแต่งบ้านเรือนด้วย “ดวงดาว” ติดไฟตามตึกรามบ้านช่อง เมื่อถึงเวลากลางคืนก็จะเปิดไฟที่ติดอยู่กับดวงดาว ดวงดาวก็จะทอแสงส่องสกาวสวยงามไปทั้งชุมชน


.จะจัดขึ้นเป็นระยะเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 23-25 ธันวาคมของทุกปี ในวันแรกจะเป็นการแห่งดวงดาวใหญ่ที่หมู่บ้าน วันที่สองจะเป็นการแห่งดาวเล็กรอบโบสถ์ มีการแสดงละครเทวดา การร้องผสานเสียง และการจับสลากของขวัญหน้าระเบียงวัด ส่วนวันสุดท้ายก็คือวันที่ 25 ธันวาคมนั้น ในเวลาประมาณ 7 โมงเช้า จะมีการทำพิธีมิสซารุ่งอรุณที่วัดท่าแร่ จากนั้นในเวลาประมาณ 6 โมงเย็นจะเริ่มประเพณีแห่ดาวใหญ่ในตัวเมืองสกลนคร


___________________________________


** เฟซบุ๊ก: @อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง และ @ประเพณีแห่ดาวเทศกาลคริสต์มาส สกลนคร

.

การเดินทาง: หมู่บ้านท่าแร่ ตั้งอยู่ริมหนองหาร บนทางหลวงหมายเลข 22 (สกลนคร-นครพนม) ตำบลท่าแร่อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองสกลนคร ประมาณ 21 กิโลเมตร


ขอบคุณข้อมูลประกอบ - บทความ การอนุรักษ์อาคารก่ออิฐที่ได้รับอิทธิพลจากอาณานิคมฝรั่งเศสในชุมชนบ้านท่าแร่ จังหวัดสกลนคร ,ปกรณ์ พัฒนานุโรจน์

-http://www.tharaesakon.go.th/

https://travel.mthai.com/news/197329.html


__________________________________


#Theisaander #ข่าวอีสาน #สกลนคร #หนองหาร #ท่าแร่ #มาจากท่าแฮ่ #เลิกกินหมาแล้ว

#ชุมชนคริสต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ #มรณะสักขี #ฝรั่งเศส #อาณานิคม #เวียดนาม #ลาว

#ชุมชนบ้านท่าแร่ #แห่ดาว #เป๋อสกล #ไปสกล #เต่างอย — at ท่าแร่ ณ สกลนคร.


379 views0 comments

Comments


bottom of page