top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

กินแล้วภาคภูมิใจ? คราฟท์เบียร์ไทยทำเขมร : กฎหมายสุรากีดกันผู้ผลิตเบียร์รายน้อยจริงหรือ?


เมื่อเร็วๆนี้ ผู้คร่ำหวอดในวงการเบียร์รายหนึ่ง กล่าวแก่เราว่า ตอนที่ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ถูกตำรวจจับจากการต้มเบียร์กินเอง เพราะ #ผมชอบเบียร์ คือจุดสูงสุดของวงการคราฟท์เบียร์ไทย ผ่านเวลาไม่นานนัก เท่าพิภพ ได้รับลือกให้กลายเป็นตัวแทนประชาชนในสภาอันทรงเกียรติ สัปดาห์ก่อนเขาเพิ่งตั้งกระทู้ถามเรื่องเบียร์และกฎหมายกับรัฐบาล ด้วยหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง "ความฝันเล็กๆของคนไทยหลายคน อยากผลิตสุรา แต่ทำไม่ได้ เพราะถูกกดทับด้วยโครงสร้างรัฐ ต้องหนีไปทำที่ประเทศอื่น"


ใช่ ปัจจุบัน มีคราฟท์เบียร์ที่อ้างว่า ถือสัญชาติไทยในห้างสรรพสินค้า และร้านอาหารหลายสิบตัว ที่เมื่อพลิกขวดดูกลับพบว่า มันเกิดที่ต่างประเทศ ข้อเท็จจริงคือ ปัจจุบัน กัมพูชากลายมาเป็นห้องทำคลอดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับคราฟท์เบียร์ไทยที่ฝันใฝ่อยากแข่งขัน นี่คงเป็นผลแห่งการกดทับที่เท่าพิภพว่าสินะ


แต่ สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เหมือนจะไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตเรื่องนี้ เขาจึงตอบกระทู้ของเท่าพิภพว่า "สินค้าบริโภคประเภทเครื่องดื่ม ต้องมีมาตรฐานความปลอดภัย จึงได้มีข้อกำหนดเรื่อง ปริมาณผลิตขั้นต่ำ และทุนจดทะเบียนที่สูง"


สันติยังชี้แจงอีกว่า ข้อกล่าวหาที่ว่า กฎหมายสุรากำหนดเงื่อนไขการผลิตเบียร์เพื่อเอื้อรายใหญ่ และกีดกันรายเล็ก ไม่เป็นความจริง "การผลิตเครื่องดื่มต้องมีมาตรฐาน มีคุณภาพ โดยเฉพาะเบียร์ ถ้าไม่ได้มาตรฐานจะเกิดปัญหาได้" นี่คือ เหตุผลที่ทำให้การผลิตเบียร์ในประเทศไทยต้องมีแต่รายใหญ่ ทุนหนาเท่านั้น ต่อข้อถกเถียงที่เกิดขึ้น ดิ อีสานเด้อ จึงอยากจะพาท่านไปอ่าน ข้อมูลที่อาจจะเป็นแนวทางให้ท่านตัดสินใจได้ว่า หมู่เฮาสิเซื่อเท่าพิภพ หรือสันติดี

เบียร์เบ่งบาน


พูดได้เต็มปากว่า สังคมเบียร์ในประเทศไทยเบ่งบานและขยายใหญ่ พร้อมๆ กับการที่รัฐบาลทหารเข้าครองเมืองตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา เบียร์ยี่ห้อใหม่รุ่นต่างๆ กระโจนสู่ชั้นวางตามห้างสรรพสินค้าอย่างถี่รัว ร้านเบียร์ผุดขึ้นรวดเร็วราวเห็ดในฤดูฝน เมื่อก้าวเข้าสู่หน้าฝนที่ 5 ใต้ฝ่าท็อปบู๊ทแล้ว เราสามารถพูดได้เต็มปากว่า เบียร์กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของคนเมืองที่เติบโตและแข็งแรงไม่น้อยหน้ากาแฟ การวิ่ง และการไปซิ่งที่ญี่ปุ่นเลย


‘คราฟท์เบียร์’ (Craft Beer) กลายเป็นคำที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้งจนรำคาญหู และนักการตลาดต่างฉกชิงวิ่งปล้นเอาคำคำนี้มาใช้ในการขายผลิตภัณฑ์ของตัวเอง แม้ความหมายที่แท้ของคราฟท์เบียร์จะกินวงแคบแค่ “เบียร์ที่ผลิตจากโรงงานขนาดเล็ก เป็นอิสระจากทุนขนาดใหญ่ และมีเอกลักษณ์ของตัวเอง” [1] แต่คล้ายว่าคราฟท์เบียร์ในความหมายของคนไทยบางกลุ่มจะคลุมครอบเอาเบียร์ทุกยี่ห้อซึ่งไม่ได้ขายตามร้านชำ หรือร้านโชห่วยเสียมากกว่า


คิว-ณัทธร วงศ์ภูมิ เจ้าของเฟซบุ๊คแฟนเพจ Beercyclopedia สารานุกรมของคนรักเบียร์ นักชิมเบียร์ และผู้ขับเคลื่อนสังคมคนดื่มเบียร์ในประเทศไทย (ภาษาฮิปฮอปเรียกว่า ‘รันวงการ’) สรุปสถานการณ์ ‘เบียร์เบ่งบาน’ นี้ด้วยประโยคไม่กี่ประโยคว่า “เบียร์ทางเลือกเป็นที่รู้จักของสังคมไทยเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ตอนนั้นร้านเบียร์ทางเลือกเท่าที่นับได้มีแค่ 5 ร้าน มีสินค้าแค่ 100-200 SKU (Stock Keeping Unit-ชนิดสินค้า) 4-5 ปีก่อนมีร้าน 20-30 ร้าน สินค้า 400 SKU ปัจจุบัน ร้านเบียร์น่าจะมี 300-400 ร้านแล้ว สินค้าทะลุ 1,000 SKU แล้ว”


การเติบโตนี้ไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่ในเมืองหลวงเท่านั้น จากปากคำของ โชติ วงศ์สามัญ เจ้าของอดีต ร้านเบียร์สดใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน (24 Taps) และบริษัท Monsakod (มนต์สะกด) ตัวแทนจําหน่ายคราฟท์เบียร์รายใหญ่ของภาคอีสาน ทำให้เรารู้ว่า


“ในปี 2558 เพิ่งมีร้านขายคราฟท์เบียร์ 1 ร้านในขอนแก่น แต่ถึงพุทธศักราชนี้ เมืองหมอแคนมีร้านคราฟท์เบียร์เข้าสู่ 40 ร้านแล้ว ขณะที่ทั่วภาคอีสาน จากจำนวนร้านแค่นับนิ้วมือไหว ตอนนี้ ร้านเกิดใหม่เข้าใกล้ 300 ร้านในปัจจุบัน” (ปัจจุบัน 24 Taps ปิดตัวแล้ว แต่แตกแขนงเป็นร้านเบียร์หลายร้านใต้แบรนด์ Monsakod x ในภาคอีสานและกรุงเทพ)


หลังจากที่ประเทศไทยรู้จักคำว่า ‘คราฟท์เบียร์’ ได้ไม่นาน (ราวปี 2558) ก็เกิดคำว่า ‘ไทยคราฟท์เบียร์’ ขึ้น โดยมักใช้เพื่อเรียกเบียร์ที่ผลิตในบ้าน (Homebrew) แล้วนำมาขายในร้านเบียร์ขนาดเล็ก เทศกาลเบียร์ขนาดเล็ก หรือแม้กระทั่งเฟสบุ๊คแฟนเพจ


ผ่านเวลาไม่นาน วงการคราฟท์เบียร์ไทยเติบโตไปพร้อมๆกับตลาดที่ขยายขึ้นเรื่อยๆ ตั๋วเข้าร่วมเทศกาลคราฟท์เบียร์(ไทย) ขายหมดเร็วไม่แพ้ตั๋วคอนเสิร์ตศิลปินดังระดับโลก จนปี 2560 ‘ไทยคราฟท์เบียร์’ ถูกพบบนชั้นวางในห้างสรรพสินค้าจากในอดีตที่จะพบได้แค่ในร้านขายเบียร์บางร้านเท่านั้น


จากข้อมูลของโชติและคิว ปัจจุบัน ‘ไทยคราฟท์เบียร์’ ที่ขายอยู่ในประเทศไทยมีกว่า 70 ตัวแล้ว ความจริงที่เราอาจไม่จำเป็นต้องรู้ แต่น่าสังเกตคือ ไทยคราฟท์เบียร์ทั้งสิ้นทั้งมวล ทั้งที่มีชื่อเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทั้งขวดสูงต่ำ มีสีดำ และขาว ไม่มีแม้แต่ตัวเดียวที่ผลิตในประเทศไทย


เบียร์ที่อ้างตัวว่าเป็น ‘ไทย’ ส่วนใหญ่ในตลาด เป็นเบียร์ที่เดินทางข้ามพรมแดนมาจากประเทศกัมพูชา ตัวหนังสือเล็กๆ บนฉลากปรากฏปิตุภูมิที่แท้ของพวกมันคือ ‘เกาะกง’ ไม่ก็ ‘พนมเปญ’ ขณะที่ ‘เบียร์ (ที่อ้างตัวว่าเป็น) ไทย’ ส่วนที่เหลือมาไกลกว่านั้น ไต้หวันบ้าง ญี่ปุ่นบ้าง ออสเตรเลียบ้าง หรือแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา บางคนอาจจะรู้เหตุผลอยู่แล้วว่าทำไมเบียร์ไทยเหล่านี้จึงไม่ถูกทำคลอดในประเทศไทย แต่คงมีอีกหลายคนเช่นกันที่ไม่เข้าใจในความจริงเรื่องนี้


เหตุผลหนึ่งเดียวที่ทำให้เบียร์ไทยที่อาจกินแล้วภาคภูมิใจหรือไม่ก็ได้ ต้องไปทำไกลถึงกัมพูชาคือ กฎหมายที่ห้ามไม่ให้’คนธรรมดาสามัญ’ ทำเบียร์ออกขายสู่ตลาดได้ และเป็นเหตุผลเดียวกับที่ทำให้ หนุ่มนิติศาสตร์เครางามนาม เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวจากกเคหะสถาน ขณะกำลังผลิตเบียร์ตามสูตรของตนเอง [1]

กฎหมาย


ตามกฎหมายไทยนั้น เบียร์ถูกจัดให้เป็นสิ่งมึนเมาประเภท สุราแช่ (สุราไทยแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ สุราแช่ และสุรากลั่น) การตั้งโรงงานผลิตเบียร์ จำเป็นต้องทำตาม พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ.สรรพสามิตฯ) โดยเงื่อนไขของการดำเนินกิจการถูกขยายความใน กฎกระทรวงการคลัง เรื่อง การอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ.2560 ที่ระบุไว้ว่า


“กรณี สุราแช่ (ก) ชนิดเบียร์ ต้องเป็นบริษัทซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและมีทุนจดทะเบียน ไม่ต่ำกว่าสิบล้านบาท และมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดของจํานวนหุ้นทั้งหมด โดยมีเงินค่าหุ้นหรือเงินลงทุนที่ชําระแล้วไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท”


“โรงอุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์ (ก) โรงอุตสาหกรรมประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต ต้องมีขนาดกําลังการผลิต ไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนลิตรต่อปี และไม่เกินหนึ่งล้านลิตรต่อปี (ข) โรงอุตสาหกรรมนอกจาก (ก) ต้องมีขนาดกําลังการผลิตไม่ต่ำกว่าสิบล้านลิตรต่อปี”


จาก สองย่อหน้าข้างต้น ที่นำมาจากกฎกระทรวงการคลัง เรื่อง การอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ.2560 ตีความโดยสรุปได้เป็นเงื่อนไขของการทำเบียร์ให้ถูกกฎหมายในประเทศไทย คือ 1. ผู้ผลิตต้องมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท 2. ผู้ผลิตต้องถือหุ้น 51 เปอร์เซ็นต์โดยคนไทย และ 3. ผู้ผลิตจำเป็นต้องมีกำลังผลิตขั้นต่ำ [โดยแบ่งประเภทคือ 3.1 โรงงานที่ผลิตและขายภายในสถานที่ผลิตเท่านั้น ห้ามบรรจุขวด เรียกโรงงานลักษณะนี้ว่า Brew Pub (บริวผับ) ต้องมีกำลังผลิตขั้นต่ำ 1 แสนลิตร แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี และ 3.2 โรงงานที่ผลิต และบรรจุขวดขาย ต้องมีกำลังผลิตขั้นต่ำ 10 ล้านลิตรขึ้นไป]


ด้วยเงื่อนไขที่สูง และยากจะปีนระดับเขาเหลียงซานนี้ ผู้ผลิตเบียร์รายเล็กชาวไทยจึงต้องไปผลิตที่อื่น


กดไหม?


“กำหนดขั้นต่ำ 10 ล้านลิตร(ต่อปี) เป็นข้อกำหนดที่ยากมากสำหรับโฮมบริว-ไทยคราฟท์เบียร์ เลยทำให้คนไทยไปต้มเบียร์ต่างประเทศแล้วนำเข้า ในมุมมองผมอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องกฎหมาย ลดข้อกำหนดขั้นต่ำ”


คุณแจ๊ค-เจษฎา ชื่นศิริกุล หนึ่งในเจ้าของเบียร์ไทย (ทำในกัมพูชา) คราฟท์เบียร์แบรนด์ Triple Pearl (ทริปเปิ้ลเพิร์ล-ล้อกับชื่อสามมุก-ชลบุรี ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของแบรนด์) กล่าว


คุณคิว-ดนุ ธรรมรัตน์ หนุ่มสกล คนอีสาน เจ้าของโรงงานผลิตเบียร์ขนาดเล็ก Stonehead (สโตนเฮด) ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา ห่างเส้นสมมติแบ่งความเป็นชนเสียมและกัมพูชาเพียง 15 กิโลเมตร คิดเห็นคล้ายกับคุณแจ๊คว่า ข้อกำหนดของกฎหมายไทยสร้างความยากลำบากให้กับผู้ผลิตเบียร์รายเล็ก หากคิดฝันจะทำมันในประเทศไทย


“การทำโรงเบียร์ขนาด 10 ล้านลิตรต่อปี คุณต้องมีเงินหลักร้อยล้านบาท ตอนนี้โรงงานเราผลิตเดือนละประมาณ 30,000 ลิตร การออกมานอกประเทศใช้งบประมาณน้อยกว่า แต่ต้นทุนการผลิตเราจะสู้ทำในไทยไม่ได้ เพราะมีต้นทุนค่าขนส่ง ค่าแรงงาน เราไม่ใช่คนกัมพูชาโดยพื้นเพ เพราะโรงเบียร์ขนาดใหญ่ทำครั้งละมาก มีต้นทุนก็จะถูกกว่าเรา ด้วยวัตถุดิบ จนถึงตัวเครื่องจักร”


ปัจจุบัน โรงเบียร์สโตนเฮดเป็นฐานที่มั่นหลักของ ผู้ผลิตคราฟท์เบียร์ไทยที่หวังส่งกำลังกลับเข้าตีตับและกระเพาะอาหารของนักดื่มชาวไทย พวกเขามีเบียร์ใต้ชื่อสโตนเฮด 11 รุ่น ปะหน้าฉลากอย่างภาคภูมิว่า ตนเองคือไทยคราฟท์เบียร์ถูกกฎหมายรายแรกของโลก และนอกจากผลิตเบียร์ของตัวเองแล้ว โรงเบียร์แห่งนี้ยังรับเหมาเป็นผู้ช่วยผลิตให้กับแบรนด์อื่นๆ อีกราว 20 เจ้า ทริปเปิ้ลเพิร์ลคือหนึ่งในลูกค้าของสโตนเฮด


ปัจจุบัน ราคาขายปลีกไทยคราฟท์เบียร์ในท้องตลาดอยู่ระหว่าง 79-200 บาท ต่อ 1 กระป๋อง หรือ 1 ขวดเล็ก ปริมาตร 330 มิลลิลิตร และ ราคา 31-40 บาท สำหรับเบียร์ที่ผลิตในประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันที่แน่นแฟ้นว่าไทยนอก ‘สู้’ ไทยในไม่ได้เรื่องราคา


“1 แสนลิตร ผมว่ามันมากเกินไป ผมอยากให้ซอยลงมาอีกเป็น นาโนบริวรี่(Nano Brewery) มาโครบริวรี่(Macro Brewery) เช่น 1 หมื่นลิตร-2 หมื่นลิตร-5 หมื่นลิตร มันก็ยังพอให้คนที่ทำขนาดเล็กทำได้ ผมว่าฝีมือคนไทยก็ทำได้ไม่แพ้ฝรั่ง กฎหมาย 1 แสนลิตร 10 ล้านลิตรจะมีไปก็มี แต่ผมอยากให้เพิ่มขนาดเล็กแก้ไปในกฎหมายก็คงดีกว่า”


คุณกอล์ฟ (สงวนชื่อ-นามสกุลจริง) จากคณะเบียร์ร่วมสมัยลูกกรุงบริว และผู้จัดงานไทยคราฟท์เบียร์ ‘อยู่ที่บางกอก’ เสนอแนวทางแก้ไขกฎหมาย


ด้านแบรนด์ไทยคราฟท์เบียร์ที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดหากมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายอย่างสโตนเฮด ประกาศว่ายอมเจ็บตัวเพื่อให้วงการเบียร์มีความก้าวหน้า


“ถ้ากฎหมายเปลี่ยนแปลงจริงๆ ผมก็คิดว่า ผมย้ายกลับได้นะ เราก็ต้องปรับตัว เราได้รับผลกระทบก็เป็นเรื่องจำเป็น ก็น่าจะมีผลกระทบช่วงแรก แต่ตลาดภาพรวมน่าจะเติบโตมากขึ้น ถ้ากฎหมายเปลี่ยนปุ๊บ ผมว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของตลาด ต้องมาที่คราฟท์เบียร์แน่ คราฟท์เบียร์อาจจะราคาต่างจากเบียร์ทั่วไปแค่ 10-20 บาทต่อขวด มันน่าจะทำให้คนจ่ายเงินได้”


“ในบ้านเรา โรงเบียร์ขนาดใหญ่แทบจะไม่ได้ใช้การจ้างงานเลย ทุกอย่างอัตโนมัติทั้งหมด ในอเมริกาเมื่อเขาเปิดเสรีเบียร์ปุ๊บ ตัวเลขการจ้างงานในธุรกิจเบียร์เขาเพิ่มหลาย 100 เปอร์เซ็นต์เลย ธุรกิจมันกระจายรายได้ไป ถ้าเทียบง่ายๆ ก็เหมือนเอสเอ็มอี 100 เจ้า กับรายใหญ่ 1 เจ้า อย่างแรก ที่ประเทศได้ประโยชน์คือการจ้างงาน อย่างที่สองคือกระจายรายได้” คุณคิวกล่าว


ฐานเศรษฐกิจ เคยรวบรวมตัวเลขเมื่อปลายปี 2560 ระบุ ตัวเลขมูลค่าตลาดเบียร์ในประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 1.8 แสนล้านบาท แบรนด์ลีโอเป็นผู้ถือครองส่วนแบ่งสูงสุด 52 เปอร์เซ็นต์ ช้างฉกมา 35 เปอร์เซ็นต์ และสิงห์ (สังกัดเดียวกับลีโอ) 6 เปอร์เซ็นต์ สามแบรนด์นี้ถูกจัดหมู่หมวดอยู่ในส่วน ‘เบียร์กระแสหลัก’ โดยส่วนแบ่งของตลาดที่เหลือถูกเรียกว่า ‘เบียร์พรีเมียม’ ซึ่งมีไฮเนเก้นเป็นผู้เล่นหลัก [2] และส่วนที่เหลืออีกเล็กมากๆ คือ คราฟท์เบียร์ ซึ่งคนในวงการเชื่อว่าได้พื้นที่ตรงนี้ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น


เบียร์บ้านบานเบอะ


ไม่ใช่เพียงแค่ห้ามทำเบียร์เพื่อการค้าเท่านั้น แม้กระทั่งทำเบียร์เพื่อดื่มเองในบ้านก็ไม่สามารถทำได้ ไทยคราฟท์เบียร์ที่วางขายโดยไม่มีอากรแสตมป์ และเป็นที่นิยมในหมู่มวลนักดื่มไทยช่วงปี 2558-2560 คือ การกระทำผิดกฎหมายทั้งสิ้น จากการสำรวจพบว่าปัจจุบันประเทศไทยน่าจะมีผู้ที่สนใจทำเบียร์ด้วยตนเองกว่า 1,200 คน อ้างอิงข้อมูลจากจำนวนสมาชิกของกลุ่มคนทำโฮมบริวที่รวมกันบนอินเตอร์เน็ต (สงวนชื่อกลุ่ม)


“ออกกฎหมายมาเลยให้คนต้มโฮมบริวได้ กำหนดตายตัวกี่ลิตรต่อปี เพื่อให้เกิดการตื่นตัว ผมคิดว่ามันจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุน เพราะถ้าเรากำหนดให้ต้มปริมาณมาก ต้องมีเงิน 10 ล้านบาทวางอีก กลายเป็นว่า ถ้าไม่มีทุนมันก็ไม่เติบโต โรงเบียร์ก็จะมีอยู่แค่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน” คุณกอล์ฟกล่าวในฐานะนักปรุงเบียร์จากสำนักปรุงอันมีชื่อลือเลื่อง เป็นที่กล่าวถึงในหมู่นักดื่ม


จากการศึกษากฎหมายภาษีสรรพสามิตของหลายประเทศ พบว่าในส่วนของการผลิตเบียร์เพื่อการพาณิชย์ หลายประเทศมีเงื่อนไขทางกฎหมายที่ต้องปฎิบัติตามแตกต่างกัน มีทั้งประเทศที่ได้สิทธิเสรี ไปจนถึงจำเป็นต้องขออนุญาต แต่เป็นที่น่าสังเกตคือการทำเบียร์ในครัวเรือน หรือโฮมบริว ได้รับอนุญาตในประเทศเช่น ออสเตรเลีย แคนาดา เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ สวีเดน สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศ ด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป สำหรับประเทศในเอเชีย เช่น สิงคโปร์อนุญาตให้ทำโฮมบริวได้ แต่จำกัดให้ทำได้เพียง 30 ลิตรต่อเดือนและห้ามขาย ไต้หวันอนุญาตให้ผลิตเสรีแต่ห้ามขายเช่นกัน ฮ่องกงอนุญาตโดยไม่ระบุเงื่อนไขห้ามขายกำกับ หรือตุรกี จำกัดการผลิตในครัวเรือนต่อปี 350 ลิตร และห้ามขาย เป็นต้น


นอกจากธุรกิจคราฟท์เบียร์ไทยที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว ถือว่ากระแสไทยคราฟท์เบียร์ยังแผ่อานิสงส์ไปยัง ร้านขายอุปกรณ์ และวัตถุดิบด้วย ซึ่งร้านเหล่านี้เปิดกิจการอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่างกับผลผลิตที่ได้จากมันซึ่งกฎหมายห้าม เครื่องใช้สำหรับการผลิตเบียร์ภายในบ้านไม่ถูกห้าม (หม้อต้มขนาดใหญ่ต้องมีใบอนุญาต แต่หม้อก๋วยเตี๋ยวอุปกรณ์หลักของโฮมบริว ไม่ต้อง)


ขณะเดียวกัน การประกวดประลองเบียร์จากผู้ผลิตรายเล็กของไทยก็มีให้เห็นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งมีผู้จัดงานและผู้สนับสนุนต่างกันไป มีนักชิมหลายผู้หลายนามและบางรายมีอิทธิพลในการวิจารณ์มาก มีผู้ติดตามเยอะกลายเป็น เซเลบ’ (Celebrity) ของวงการคราฟท์เบียร์เป็นที่เรียบร้อย ถึงตรงนี้ พูดได้เต็มปากว่า วงการคราฟท์เบียร์ไทยกลายเป็นวัฒนธรรมและขบวนการที่เคลื่อนไหวเลื่อนไหลเต็มตัวแล้ว

‘สิงห์’ สอนคนต้มเบียร์ไปทำไม ในเมื่อกฎหมายไทยยังไม่อนุญาตให้มีรายเล็ก? คุณชลวิทย์ สุขอดุม ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารองค์ความรู้และส่งเสริมสังคม บจก. สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ระบุถึงโครงการจัดอบรม ISARA Academy : ISARA Craft Beer Brewer ครั้งแรกเมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ที่สิงห์ คอร์เปอเรชั่น มี และเป็นการร่วมพัฒนาวงการเบียร์ไทย โดยไม่ได้มองว่าคราฟท์เบียร์จะกลายมาเป็นคู่แข่งของสิงห์ คอร์เปอเรชั่น ในอนาคต


“ข้อจำกัดของประเทศเรา มันไม่ได้เอื้อให้คราฟท์เบียร์เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะคุณจะสร้างโรงเบียร์ โรงเหล้า ต้องใช้ทุนมหาศาล คุณจะผลิตในประเทศคุณต้องมียอด 10 ล้านลิตร ซึ่งคราฟท์เบียร์มันขายไม่ได้ถึงอยู่แล้ว ทางออกของพวกคราฟท์เบียร์เลยต้องไปจ้าง Local Producer ในประเทศเพื่อนบ้าน ผลิตแล้วก็นำเข้ามา คนอื่นอาจจะมองว่า เข้ามาแข่งกับสิงห์ กับลีโอของเรา ก็เลยตีเหมาว่า เรามองเขาเป็นคู่แข่งสิงห์ ไม่ได้มองพวกนี้เป็นคู่แข่ง เรามองว่าถ้าคนเหล่านี้ต้องดั้นด้นไปผลิตที่นอกประเทศ อาจจะโดนโกงกลับมาก็ได้ อาจจะโดนหลอกกลับมาก็ได้ คนเหล่านี้มี Passion บางอย่างเกี่ยวกับเบียร์ ทดลองทำให้ Lab เล็กๆ ของตัวเอง จากการสั่งทางอินเตอร์เน็ต แต่การไปขอให้โรงงานที่กัมพูชา ลาว เวียดนาม หรือออสเตรเลียผลิต เขาอาจจะถูกหลอก ผลที่ตามมาคือคุณภาพ สินค้าที่ไม่ดี เขาก็ไม่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน พวกนี้คือเด็กหนุ่มที่มี Passion”


“อย่างน้อยที่สุดเราทำอะไรกับกฎหมายไม่ได้ เขายังต้องไปผลิตข้างนอก เขาก็ต้องไปหาทางเอาเข้ามา แต่ไปแล้ว คุณไปคุยได้อย่างถูกต้อง คุณแก้ปัญหาของคุณได้ การป้องกันการถูกหลอก การพยายามทำให้สินค้าได้มาตรฐาน เราคิดว่าเราควรจะใช้จุดแข็งของเราให้เกิดประโยชน์ต่อคนไทย เราอยากให้คนที่มีโอกาสดื่มคราฟท์เบียร์ มั่นใจว่าดื่มคราฟท์เบียร์ที่มีคุณภาพ ดื่มคราฟท์เบียร์ที่คนทำถูกฝึกสอนมา ไม่ใช่ครูพักลักจำอ่านจาก Textbook อ่านจากข้างขวด หรือไปดูวิดีโอ ถ้าเราปล่อยให้วงการคราฟท์เบียร์โตเอง มันก็ไม่ได้ประโยชน์ต่อส่วนรวม ในเมื่อเขาก็ไม่ได้ทำผิดกฎหมายอะไร เขาอุตส่าห์ไปจ้างคนข้างนอกผลิต ก็ควรผลิตของมีคุณภาพให้คนไทยได้ดื่ม แล้วเบียร์ที่ฝรั่งได้ดื่มก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นๆ ถ้าคนเหล่านี้ผลิตเบียร์ไม่มีคุณภาพ ฝรั่งจะมองเรายังไง ประเทศนี้ ไม่ดีเลย ประเทศไทยล้าหลัง”


เมื่อถามว่าสิงห์ คอร์เปอเรชั่น จะได้ประโยชน์อย่างไรกับการส่งเสริมคราฟท์เบียร์ คุณชลวิทย์เชื่อว่าการที่บุคลากรด้านต่างๆ ของสิงห์ คอร์เปอเรชั่น ได้สอนคนอื่น เท่ากับพวกเขาได้ทบทวนความรู้ที่มี ซึ่งช่วยให้คนของสิงห์ได้พัฒนาตัวเองไปด้วย ขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างการแข่งขันให้ตลาด


“ข้อแรกคนอาจจะไม่มอง แต่ผมว่าได้สองทาง หนึ่ง การที่ Brewmaster (นักปรุงเบียร์) สิงห์ได้ฝึกคนอื่น ได้ Coach คนอื่น มันทำให้เขามีความรู้ความเข้าใจเรื่องการผลิตเบียร์มากขึ้น ทุกคนที่เข้ามามาเทรนให้ ‘อิสระ อคาเดมี’ ไม่ว่าจะเป็นสายงานโฆษณา สายงาน Supply Chain ไม่ว่าสายงานอะไรต่างๆ เท่ากับเขาต้องฝึกตัวเองใหม่ เราต้องมีความเข้าใจ ต้องตอบคำถาม และ สอง การที่ทำให้คนหนุ่มเข้าสู่ตลาดจะทำให้เกิดการแข่งขันที่ดี สิงห์เชื่อเรื่องการแข่งขัน เราไม่เชื่อเรื่องผูกขาดเพราะทำให้สิงห์ คอร์เปอเรชั่น เองก็ต้องรักษาแบรนด์สิงห์ ลีโอ ยูเบียร์ สโนวี่ อันนี้คือสิ่งที่เราคิดว่าเราได้”


สำหรับข้อกล่าวหารุนแรงที่ว่าสิงห์ คอร์เปอเรชั่น เอาคนทำคราฟท์เบียร์เข้ามาเพื่อเก็บข้อมูลแล้วรอดำเนินคดีภายหลัง หรือลอกสูตรของคนทำคราฟท์เบียร์ คุณชลวิทย์ระบุชัดเจนว่าสิงห์ คอร์เปอเรชั่น ไม่มีนโยบายการทำธุรกิจแบบนั้น


“เราจะไปจับเขาทำไมล่ะ เขาเป็นเพื่อนร่วมวงการ เราแข่งกันด้วยการตลาด คุณภาพจะมาแข่งกันด้วยวิธีแบบนี้ มันไม่ใช่นโยบายของบุญรอด บุญรอดไม่เคยทำอะไรที่สกปรก หรือมาเล่นอะไรอยู่ด้านหลัง คุณไม่ต้องมาลงทุนขนาดนี้ให้คนเขาเกลียดเราหรอกครับ มันหาไม่ยากหรอกว่าใครทำอะไรที่ไหน ไม่ต้องทำขนาดนี้แล้วสุดท้ายมารวบตัว เขาเกลียดเราเปล่าๆ”


“เรายืนยันแน่นอนว่าจะไม่ทำแบบนั้น ไม่ต้องกลัวว่าทำกับเราแล้วสิงห์เอาสูตรไปใช้ Brewmaster เรามีตั้ง 25 คน เรียกว่าหลายโรงเบียร์ในเอเชียก็มีจีบคนเหล่านี้ไปทำอยู่ เป็นคนที่มีความสามารถจริงๆ ทำงานที่ไหนก็ได้ในโลก ถ้าเขาจะทำเบียร์สักตัวขึ้นมา เขาทำได้เยอะ พวกที่มาเรียน 12 คนรุ่นแรกก็มีความกังวล แต่พอมาเห็นเครื่องมือเห็นความสามารถของ Brewmaster ของเรา เขาไม่กังวลเลยว่าบุญรอดจะมาเอาเบียร์ของเขาไปทำ มาเอาสูตรเขาไปทำ อนาคตมีโครงการร่วมกันอยู่แล้ว เราเป็นเพื่อนกัน ผมก็ยังแวะไปกินร้านของบางคน มีการวิจารณ์ว่าตัวนี้เปรี้ยวไปนิด ขมไปหน่อย อะไรแบบนี้ ผมคิดว่าในที่สุดแล้ว เราได้คอนเนคชั่น เราเข้าใจกันมากกว่าให้วงการแข็งแรงมากขึ้น ถ้ามีอะไรดีเราก็บอก เขามีอะไรน่าสนใจ เขาก็บอก ไอเดียต่อไอเดีย มันก็อาจจะเกิดอะไรใหม่ๆ”


ต่อเรื่องกฎหมายที่คนทำไทยคราฟท์เบียร์เชื่อว่ากีดกันรายเล็ก คุณชลวิทย์ระบุว่าสิงห์ คอร์เปอเรชั่น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายดังกล่าว


“เรายืนยันว่าเราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายนั้น อย่าว่าแต่เรื่องนี้เลย พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณา เราถูกใช้คำว่า เป็นดุลยพินิจของเจ้าพนักงาน ที่ทำให้ เราผิดมานักต่อนัก เราก็ไม่สามารถที่จะไปพูดได้อะไรได้เลย แทนที่จะใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ที่สุดต่อสังคม แต่กลายเป็นว่า ทำให้มันคลุมเครือ ไม่ชัดเจน การไม่ชัดเจนก็จะเกิดประโยชน์ต่อบางกลุ่ม ที่นี้ถามเราว่า ทำไมไม่มีคนออกออกมาพูดล่ะ ก็ถ้าใครสักคนพูดว่า เห้ย! ทั่วโลกเขาใช้ระบบการจัดเก็บภาษีแบบนี้ ของเรามันผิด ก็จะถูกตราหน้าแล้วว่า คุณได้เงินจากบริษัทหรือเปล่า แนวคิดของเราก็เลยมองว่า อะไรที่เราควบคุมไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เราเปลี่ยนแปลงตัวเองดีกว่า ทำตัวเองให้เก่งขึ้นและอยู่ได้”


เมื่อถามว่าการเติบโตของธุรกิจคราฟท์เบียร์จะกระทบสิงห์ คอร์เปอเรชั่น บ้างหรือไม่ และจากที่ได้ชิม มีความคิดเห็นอย่างไรต่อไทยคราฟท์เบียร์ คุณชลวิทย์ระบุว่าการเข้าสู่ตลาดของคราฟท์เบียร์ไม่กระทบต่อธุรกิจของสิงห์ คอร์เปอเรชั่น


“ไม่กระทบสิงห์ เรื่องรสชาติ เท่าที่เคยชิม ผมว่ามันยังไม่นิ่ง แต่ต้องเข้าใจว่า การทำแต่ละครั้ง อาจจะมีการขาดวัตถุดิบบางอย่าง หรือบางทีอาจจะถูกผู้ผลิตต่างประเทศใส่อะไรมาไม่รู้ ถึงได้อยากคุยกับผู้ผลิตไทยคราฟท์เบียร์เพื่อยกระดับขึ้น”


รัฐ ทั้งรักทั้งห่วง


ด้วยเงื่อนไขของกฎหมายที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตเบียร์รายเล็กสามารถเริ่มต้นธุรกิจโดยง่าย ทำให้เกิดข้อครหาว่ากฎกระทรวงการคลังข้างต้น เป็นกฎหมายที่กีดกันการแข่งขัน เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน ห้ามแม้กระทั่งการต้มเบียร์เพื่อดื่มเองในครัวเรือน


“ถ้าเราปิดโอกาสการทำธุรกิจพวกนี้ไปเลย เราต้องเป็นลูกจ้างไปตลอดชีวิตเหรอ มันไม่ใช่ ถ้าคุณมีความพร้อมก็ควรได้ทำ ยอมรับว่าทำกันเยอะๆ มันจะเฟ้อ ผมว่าให้ไปแข่งกันในตลาดดีกว่า ดีกว่าทำหมันไปเลยว่าพวกมึงไม่ต้องแข่ง อย่างงี้ก็จบแล้ว ใครอยากต้มเบียร์ก็ไปเรียนฟิสิกส์ เคมี ชีวะ แล้วสมัครไปทำงานกับบริษัทเบียร์เจ้าใหญ่หมดเหรอ” คุณกอล์ฟผู้จัดงานไทยคราฟท์เบียร์ ‘อยู่ที่บางกอก’ กล่าว


“ผมเข้าใจว่ากฎหมายทำเพื่อป้องกันไว้ก่อน ถ้าให้ทุกคนกระโดดเข้าไปได้ เขาก็อาจจะเจ๊งกันเยอะ คุณภาพอาจจะไม่ดี ส่วนหนึ่งกฎหมายทำให้โอกาสการเกิดหน้าใหม่แทบจะไม่มี ไม่มีใครสามารถกำเงิน 8-9 หลักเข้ามาในวงการนี้ได้ ทำตลาดเหนื่อยกว่าจะคุ้มทุนเป็น 10 ปี” อาจารย์ต้น-ธวัชชัย วิบูลย์จันทร์ นักวิชาการด้านเบียร์ แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้


อย่างไรก็ตาม ภาครัฐยืนยันหนักแน่นว่า การดำเนินการต่างๆ ของรัฐกับวงการเบียร์ไม่ใช่การเอื้อกลุ่มทุน หรือกันกีดผู้ท้าทายกลุ่มทุน ภาครัฐต้องการที่จะปกป้องผู้บริโภค ธรรมชาติ และสังคมส่วนรวมเท่านั้น เรื่องนี้ คุณณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ชี้แจง


“หลักๆ ของคราฟท์เบียร์มีปัญหาคือเราให้โรงใหญ่ แต่โรงเล็กต้องไม่ต่ำกว่าแสนลิตร ซึ่งตอนนี้คราฟท์เบียร์ส่วนใหญ่ทำหลักหมื่นลิตรต่อเดือน นโยบายของรัฐยังไม่เปิดเสรี เราไม่อยากที่จะไปตอบกระทรวงสาธารณสุขว่าเราทำเบียร์เพื่อมอมเมาประชาชนหรือเปล่า” คุณณัฐกรกล่าว


“เบียร์มันมียีสต์ที่ยังไม่ตาย ถ้ามีปัญหาคนบริโภคอาจมีผลต่อสุขภาพได้ เราห่วงสุขภาพประชาชนเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นจึงยังไม่มีแนวคิดที่จะลดขนาดลง” คุณณัฐกรยืนยันแน่นหนักว่า การกำหนดกำลังผลิตขั้นต่ำจะป้องกันปัญหาคุณภาพเบียร์ที่กระทบสุขภาพผู้บริโภคได้


ในประเด็นเดียวกัน อาจารย์ต้นซึ่งเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพแย้งว่า “โอกาสที่เบียร์จะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพรุนแรงมีน้อย มันแทบจะไม่มีโอกาสปนเปื้อนแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสารพิษแบบอาหารกระป๋องเลย ถ้าไม่ได้ทะลึ่งใส่อะไรแปลกๆ ไป อย่างมากก็ท้องเสีย ถ้ากินวันละ 1 ลิตร ผมถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีอยู่”


ต่อประเด็นสิ่งแวดล้อม คุณณัฐกรระบุว่า “ถ้าทำเบียร์เป็นขนาดเล็กในครัวเรือนจะมีปัญหาในอนาคต เรื่องยีสต์และคุณภาพ เพราะเราไม่สามารถเข้าไปตรวจในโรงเล็กๆ ได้ คือ จำนวนข้าราชการอาจจะไม่เพียงพอกับโรงเล็กๆ สาธารณสุขห่วงเรื่องสุขภาพ ต้องมีขนาดตามเกณฑ์ เพราะการทำเบียร์จะมีน้ำเสีย ต้องมีบ่อบำบัด ไม่ใช่ปล่อยทิ้งได้เลย เพราะเบียร์ก็ค่อนข้างมีผลกระทบพอสมควร ขนาดเล็กลง บ่อบำบัดน้ำเสีย มลพิษ ปัญหาต่างๆ ก็จะตามมาต่อเนื่อง”


ขณะที่อาจารย์ต้น มองว่าสิ่งที่รัฐควรทำเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม คือ การสร้างทรรศนคติที่ดีของผู้ดื่ม มากกว่าการจำกัดโอกาสของผู้ทำเครื่องดื่ม “การจำกัดอายุคนที่ซื้อจริงๆ การจัดการเรื่องเมาแล้วขับ ควรจะมาสนใจจุดนี้ มากกว่าเปิดเสรีได้ไหม ผมว่าประเทศที่เจริญแล้วในโลกนี้ มีเบียร์แทบจะหัวมุมถนน แต่มีอุบัติเหตุเรื่องเมาแล้วขับน้อยมาก เราน่าจะรณรงค์ตรงนั้นมากกว่า ที่สำคัญต้องบอกให้คนรู้จักดื่ม แล้วรู้จักหยุด ทำไมเขาดื่มกลางวันกันได้ กลับมาทำงานกันได้ ตั้งเป้าว่าฉันจะกินแก้วเดียว ก็กินแก้วเดียวได้” อาจารย์ต้นระบุ


ให้คุกกี้ทำนายกัน


ต่อคำถามว่าสถานการณ์กฎหมายที่เกี่ยวกับการผลิตเบียร์ในประเทศว่ามีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่นั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องต่อกรณีนี้ให้ความเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า น่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงได้ยาก


“กฎหมายจะเปลี่ยนเร็วๆ นี้น่าจะยาก เรื่องอื่นขนาดมีคนเฮมากกว่านี้ เขายังไม่เปลี่ยนเลย แล้วเรื่องนี้ละเอียดอ่อนไม่มีใครอยากจะออกหน้า ไม่มีใครอยากเป็นหัวหอก เพราะมีแต่เจ๊ากับเจ๊ง ใครออกหน้าก็เจ็บตัว ใครเป็นหัวหน้าในการให้เปลี่ยนกฎหมายโดนถล่มแน่นอน” อาจารย์ต้นแสดงทัศนะ


“กฎหมายมันถูกเขียนมานานแล้ว มันไม่ได้ถูกทำให้ทันสมัยเพียงพอ มันก็เลยเป็นว่ากฎหมายพวกนี้บล็อคเรา ว่ากันตรงๆ มันเป็นกฎหมายบาป ที่ใครยื่นหัวเข้าไปแก้มันก็กลายเป็นผู้สนับสนุนการดื่มสุรา ทำให้ไม่มีใครอยากจะทำเขาก็เลยปล่อยให้มันคาราคาซัง” คุณกอล์ฟเชื่อ


“มองตามความจริงเป็นไปได้ยากมาก ไม่เกี่ยวกับให้หรือไม่ให้ รัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลปกติ ดังนั้นเขาไม่ได้สนใจเรื่องนี้เป็นเรื่องหลัก การมีวาระประชุมเพื่อปรับไม่ใช่สาระสำคัญของเขา หรือเป็นรัฐบาลปกติ ผมก็มองว่า โอกาสที่อยู่ดีๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลง แทบไม่มี ถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุบางอย่าง หรือมีอะไรไปกระตุ้นเขา” คุณคิว-ณัทธร กูรูแห่ง Beercyclopedia ฟันธง


ต่อกรณีเดียวกัน ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัย จากคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และเว็บไซต์สุราไทย วิเคราะห์ว่า “กฎหมายคงไม่เปลี่ยน เพราะเป็นกฎกระทรวง การจะแก้ต้องเข้าคณะรัฐมนตรี เชื่อว่า เขาผูกพันกับผู้ใหญ่ เขาจะใช้กลุ่มเอ็นจีโอต่อต้านเหล้าออกมาขวางก็ได้ พวกทำเหล้าถูกมองเป็นคนชั่วร้าย สังคมจัดไว้เป็นกลุ่มคนเลว ผิดศีลธรรม คราฟท์เบียร์กินจนเมามายคงไม่ได้ เพราะมันแพงกว่า มันเป็นศิลปะ แต่ตอนนี้ศิลปะก็ถูกจำกัด ต้องไปทำงานศิลปะจากต่างประเทศ แล้วเอาเข้ามาให้คนไทยเสพ”


เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ


“ผมฟันธงว่า 10 ปีแก้ไม่ได้ ถ้าคุณธนาธร (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่) เป็นนายกฯก็อาจเป็นไปได้ เพราะพรรคอนาคตใหม่เขาเอานโยบายพวกนี้เข้ามา แต่โอกาสมันไม่ได้มีเยอะ เพราะการเมืองก็สารพัดอย่าง ให้กลไกการเมืองไปแก้ตรงนี้ก็เป็นไปได้ยาก เพราะกลุ่มที่สนับสนุนทุนการเมืองก็เป็นกลุ่มตรงนี้” ผศ.ดร.เจริญ กล่าว


ซึ่งในประเด็นเดียวกันนั้น ท่านผู้นำสูงสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กราดเกรี้ยวต่อสื่อมวลชนไปแล้วเมื่อคราวมีข่าวคุณเท่าพิภพ สร้าง #ผมชอบเบียร์ [3]


“กรณีจับกุมผู้หมักเบียร์ผิดกฎหมาย ไม่เข้าใจว่ามันถามได้ไงวะเนี่ย ใครถามวะเนี่ย บัวใต้น้ำจริงๆ มีการตั้งคำถามว่า กฎหมายให้ประโยชน์กับกลุ่มทุนมากไปหรือไม่ มันเกี่ยวกันตรงไหนวะ แล้วกลุ่มทุนเขาทำผิดกฎหมายเปล่า ถ้าไม่ผิดกฎหมายก็เล่นงานเขาไม่ได้ หมักเบียร์สดเองมันผิดกฎหมายไหม ผิดไหม ผิดไหม ถ้าผิดก็ดำเนินคดี ถ้าทางโน้นผิดก็ดำเนินคดีทางโน้น เอามาพันกันแบบนี้ ผมว่ามันใช้ไม่ได้คำถามแบบนี้” [4]


คำกล่าวนี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ นอกจากจะเป็นการปฏิเสธเสียงแข็งว่ารัฐบาลไม่ได้เขียนกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้ทุนใหญ่แล้ว ยังเป็นการฉายภาพซ้ำถึงการตีความกฎหมายที่หลายต่อหลายคนมีมุมมองว่าเป็นการ “กีดกันคนน้อย คล้อยตามคนใหญ่” และเป็นการตีความที่ “พลาดเป้า ผิดจุด หลุดประเด็น”


อ้างอิงเพิ่มเติม

[1] ปรับ 5.5 พัน เท่าพิภพ หนุ่มผลิตเบียร์ https://www.thairath.co.th/content/843082

[3] สงครามเบียร์เดือด! ‘สิงห์’ ส่ง 2 แบรนด์ทุบช้าง http://www.thansettakij.com/index.php/content/240314

[4] เท่าพิภพ#ผมชอบเบียร์ freedom to brew https://www.thairath.co.th/content/843555


เผยแพร่ครั้งแรกที่ https://www.tcijthai.com/news/2018/8/scoop/8249 เขียนโดย นนทรัฐ ไผ่เจริญ นักเรียน TCIJ School รุ่นที่ 5 เขาได้แก้ไขปรับปรุง แล้วมอบงานชิ้นนี้ให้ ดิ อีสานเด้อ เป็นที่ระลึก โดยความยินยอมของ TCIJ

#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #เบียร์ #คราฟท#คราฟท์เบียร์ #เบียร์อีสานกะมี #เบียร์อีสานเจ้าใด๋สนใจ #มาเว้านำกันได้เด้อ #บ่เมาเหล้าแต่เมาลัก #ตู้เย็น #โทรทัศน์ #หายเบิด


309 views0 comments
bottom of page