ก่อนจะถึงวันนี้ ย้อนเหตุการณ์ไปเมื่อ พ.ศ. 2516 รัฐบาลได้ประกาศให้พื้นที่ที่ภายหลังถูกเรียกว่าป่าคอนสารเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม ต่อมาองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(ออป.) ได้สัมปทานปลูกสร้างสวนป่าคอนสารในระบบสมาชิกโครงการหมู่บ้านป่าไม้ เนื้อที่ 4,401 ไร่ นำมาสู่การผลักดัน ขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย
ในอีกด้านหนึ่ง ชาวบ้านเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการของรัฐบาลโครงการนั้นมาโดยตลอด กระทั่งมีการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง มีหัวหน้าสวนป่าคอนสาร ปลัดอาวุโสอำเภอคอนสาร กำนันผู้ใหญ่บ้าน และตัวแทนชาวบ้านเป็นคณะทำงาน และมีมติเมื่อ ปี พ.ศ. 2548 ว่า "สวนป่าคอนสารได้ปลูกสร้างทับที่ทำกินของราษฎรจริง"
จากตรวจสอบของคณะทำงาน พบว่า ชาวบ้านเข้าถือครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินก่อนการก่อตั้งสวนป่า โดยมีหลักฐานเป็นเอกสารเสียภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บท.11
หลังจากนั้นมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ มีมติ และข้อตกลงหลายครั้งไปในลักษณะเดียวกัน คือให้รัฐบาลยกเลิกสวนป่าคอนสาร และจัดสรรพื้นที่ให้ประชาชน ตัวอย่างเช่น มติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในปี 2550
แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีการดำเนินการ และในที่สุดปี พ.ศ. 2552 ออป. ได้ฟ้องขับไล่ชาวบ้านรวม 31 คน ซึ่งศาลจังหวัดภูเขียวพิพากษา ให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ หลังจากนั้น ปี พ.ศ. 2554 มีกระบวนการแก้ไขความขัดแย้ง ออป. และชาวบ้านได้มีบันทึกความเห็นร่วมกัน ซึ่งมีเนื้อความว่า
1. ออป. จะไม่เร่งรัดบังคับคดีเพื่อให้ชาวบ้านที่มีข้อพิพาทออกจากพื้นที่ในสวนป่า
2. ข้อเรียกร้องให้จัดพื้นที่ทำกินแก่ชาวบ้านในเขตสวนป่าที่ชาวบ้านร้อง มีความเห็นร่วมกันว่า ในหลักการจะพิจารณาให้ชาวบ้านเข้ามาทำกินตามหลักการ-หลักเกณฑ์ การทำสวนป่าของ ออป. โดยให้นำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาทบทวนเพื่อปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เป็นที่ยอมรับร่วมกัน
3. การกำหนดเขตพื้นที่ทำกิน เห็นชอบให้ทั้งสองฝ่ายนัดหมายไปศึกษาสำรวจพื้นที่ร่วมกันโดยเร็ว เพื่อให้ได้ขอบเขตพื้นที่ที่จะให้ชาวบ้านเข้าทำกิน และแนวทางในการปฏิบัติในการเข้าทำกินในพื้นที่ โดยให้สอดคล้องกับศักยภาพและความเหมาะสมกับพื้นที่
แต่กระบวนการต่อสู้ทางคดีดำเนินเรื่อยมา โดยศาลอุทธรณ์ และศาลฏีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ชาวบ้านย้ายออก กลายเป็นที่มาของการปิดหมายบังคับคดี
นายปราโมทย์ ผลภิญโญ สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวถึงกรณีปัญหาสวนป่าคอนสารว่า มีข้อสังเกตต่อกระบวนการแก้ปัญหาอยู่ 2 ส่วน คือ
1. ตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในระดับพื้นที่ได้มีมติว่า สวนป่าคอนสารปลูกทับพื้นที่ดินทำกินของประชาชนจริง จึงมติเป็นไปในลักษณะเดียวกัน ให้จัดสรรพื้นที่ดินทำกินให้ชาวบ้าน การดำเนินการเหลือเพียงการตัดสินใจทางนโยบาย แต่ 14 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีการพิจารณานโยบาย ทำให้เกิดผลร้ายกับประชาชน
การใช้กระบวนการยุติธรรม เป็นช่องทางในการแก้ไขปัญหา รู้โดยทั่วไปว่า ชาวบ้านค่อนข้างเสียเปรียบในการต่อสู้คดี และเสียโอกาสเข้าถึงสิทธิในที่ดิน เพราะข้อพิพาทสิทธิในที่ดินของสังคมต้องใช้กระบวนการทางนโยบายเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา
2. นัยยะของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับพื้นที่ ถ้าเอาไปล้อกับมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ที่จำแนกสวนป่าอยู่ในพื้นทีป่าอื่นๆ ที่สงวนไว้เพื่อกิจการป่าไม้ ซึ่งมีกระบวนการในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ประกอบด้วยส่วนราชการ และประชาชน ในสัดส่วนที่เท่ากัน มีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าใครอยู่ก่อน ใครอยู่หลัง
ผลการตรวจสอบชัดเจนว่า ชาวบ้านอยู่มาก่อนการก่อสร้างผืนป่าใน พ.ศ. 2521 ถ้าเอาไปเทียบเคียงให้ล้อกับมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกลไกสูงสุดในทางบริหาร ก็ควรที่จะมีการตัดสินใจให้ประชาชนสามารถเข้าถึงที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ได้
3. ข้อเสนอของชาวบ้าน คือ กำหนดแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากร โดยชาวบ้านทำกินในพื้นที่ 1,500 ไร่ แบ่งสัดส่วนพื้นที่การใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ คือ ที่ดินแปลงรวม ที่ดินสำหรับใช้ส่วนบุคคล ที่ป่าชุมชน ที่สาธารณะสมบัติของชุมชน ซึ่งหากใช้โจทย์ทางนิเวศน์วิทยา ที่ต้องการให้มีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว พบว่า ตอบโจทย์ได้ดีกว่า การจัดการแบบสวนป่า ที่เป็นการปลูกไม้เชิงเดี่ยว และปลูกในลักษณะสวน เพราะสวนป่าเป็นการปลูกต้นไม้เพื่อตัดใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์มากกว่าการอนุรักษ์
สำหรับ หมู่บ้านเกษตรกรรมอินทรย์บ้านบ่อแก้ว ภายใต้การบริหารจัดการที่ดินที่ดำเนินการมาแล้วส่วนหนึ่ง และรอการตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อรับรองข้อเสนอของชาวบ้าน ที่ตอบโจทย์ทางนิเวศวิทยาสิ่งแวดล้อม ความอยู่ดีมีสุขคุณภาพชีวิต และการกระจายอำนาจ และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน น่าจะเป็นทางออกที่ดีและทุกฝ่ายได้ประโยชน์
ดังนั้น รัฐบาลควรที่จะมีความชัดเจนโดยเร็วที่สุดในการตัดสินใจเรื่องนี้ ก่อนที่อะไรต่างๆจะล่าช้า เพราะหมายบังคับคดีกำหนดไว้ว่า วันที่ 27 สิงหาคม 2562 นี้ ชาวบ้านจะถูกไล่-รื้อ
ด้าน ผศ.ดร.อนุสรณ์ พัฒนศานติ์ นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ อธิบายปัญหาดังกล่าวในเชิงโครงสร้างของประเทศว่า ปัญหาที่ดินเกิดขึ้นกระจัดกระจายทั่วประเทศ ทั้งในภาคเหนือ อีสาน และใต้ ซึ่งชาวบ้านในเขตสวนป่าคอนสารเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาทั้งหมด
แต่ปัญหากรณีสวนป่าคอนสาร เป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐ และประชาชน โดยมีตัวกลางคือ ออป. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ต้องการเข้ามารับสัมปทานพื้นที่ป่าที่ทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน จึงเกิดปัญหา และมีการฟ้องร้อง ซึ่งรากเหง้าที่แท้จริงของปัญหาคือ ระบบกรรมสิทธิ์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กรรมสิทธิ์ที่เป็นของรัฐ และกรรมสิทธิ์ที่เป็นของเอกชน ซึ่งรัฐไม่ยอมรับกรรมสิทธิ์รูปแบบอื่น การตายตัวกับระบบเช่นนี้ จึงทำให้เกิดปัญหา
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา รัฐควรจะยอมรับรูปแบบกรรมสิทธิ์ร่วม ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์แบบที่ให้ประชาชนมีทางเลือก ประชาชนได้ผลักดันเรื่องนี้เอง ได้มีการศึกษา และมีข้อเสนอเรื่องโฉนดชุมชน ประชาชนสามารถเข้าไปจัดการที่ดินในบริเวณที่เป็นปัญหาโดยออกแบบกติการ่วมกันได้ว่า จะใช้ที่ดินอย่างไร ตรงไหนเป็นที่อยู่อาศัย ตรงไหนเป็นที่ที่ทำการเกษตร ตรงไหนจะเป็นแปลงรวมที่สามารถปลูกต้นไม้ หรือใช้ทรัพยากรร่วมกันได้ ถ้ามีรูปแบบกรรมสิทธิ์ร่วม ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ทางเลือกจะช่วยแก้ปัญหานี้
แต่อย่างไรก็ตาม กรรมสิทธิ์ร่วมควรจะมีกฎหมายมารองรับ และควรเป็นกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงสุด เช่น พระราชบัญญัติ ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านมีความมั่นใจว่า พวกเขาจะสามารถอยู่ร่วมกันกับพื้นที่ได้
ถ้ามองออกไประยะไกล ในช่วงต้น พ.ศ. 2500 ที่ประเทศไทยต้องการพัฒนาเป็นประเทศอุตสาหกรรม ยุคที่จอมพสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับแรก พ.ศ. 2504 มีความต้องการที่จะขยายพื้นที่เพาะปลูกให้เยอะที่สุด พื้นที่ที่ต้องการขยายอันดับแรกคือ พื้นที่ภาคอีสาน เพราะเป็นที่ราบสูงที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ จึงมีการตัดป่า ถางป่า เพื่อบุกเบิกพื้นที่ และเอาต้นไม้ออกมา พอสัมปทานต้นไม้ออกไปแล้วก็ไม่ได้สนใจที่ดิน ชาวบ้านจึงเข้าไปอยู่ตามริมถนนมิตรภาพ และลึกลงไปตามบริเวณที่ตัดต้นไม้ออก ชาวบ้านดีใจที่มีคนขุดต้นไม้ออกไปให้ ทำให้เขาจะได้มีพื้นที่ในการเพาะปลูก เพราะการตัดต้นไม้ออกเองทำได้ลำบาก พื้นที่ที่เคยเป็นป่าจึงมีชาวบ้านเข้าไปอยู่ และใช้ประโยชน์ตั้งแต่ตอนนั้น
อีกวาระซ่อนเร้นของการตัดป่ายุคนั้นคือ รัฐบาลต้องการจะปราบปรามคอมมิวนิสต์ ถ้ายังมีป่าอยู่ รัฐบาลจะไม่รู้ว่าคอมมิวนิสต์อยู่ตรงไหน ถ้าถางป่าแล้วเอาถนนเข้าไปให้เยอะ เอาความเจริญกระจายเข้าไป พวกคอมมิวนิสต์ก็จะหายไปเอง ซึ่งพอเอาคนเข้าไปร่วมบุกเบิกป่าในระยะแรก การเพาะปลูก ก็เป็นการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว เน้นปริมาณ ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ที่เขาถางได้ ทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น เพราะได้ผลผลิตป้อนโรงงานอุตสาหกรรม
แต่พอบุกเบิกเยอะ ก็ทำให้ป่าลดลง พอป่าลดลงก็เลยเอ๊ะ! เกิดข้อสงสัยว่า จริงๆแล้ว ป่ามันควรจะเหลือเท่าไหร่ นักวิชาการป่าไม้จึงเสนอว่า ป่าควรสงวนไว้ 40 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นอุดมการณ์ทางวิชาการของป่าไม้ ในยุคที่ตัดป่าเยอะๆ ก็มีโรงเรียนป่าไม้ ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สอนวรรณศาสตร์ สอนเกี่ยวกับเรื่องป่า มีแนวคิดให้อนุรักษ์ป่าไว้ 40 เปอร์เซ็นต์ เกิดเป็นพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) จากนั้นก็มีการเอาแผนที่มากาง เแล้วกำหนดเขตสงวน เขาก็ขีด พอขีดแล้วปรากฏว่า ในบริเวณที่ขีดก็มีคนอาศัยอยู่ ต่อมาก็มีคนมาบอกว่า ให้ชาวบ้านออกจากบริเวณที่ขีดไว้ มี พ.ร.บ.ป่าไม้ จากผู้บุกเบิก กลายเป็นผู้ทำกิน ต่อมากลายเป็นผู้บุกรุก เมื่อเขาอ้างว่า อยู่มาก่อนมีกฎหมายกำหนดเขตอนุรักษ์ ก็เกิดเป็นความขัดแย้ง บวกกับระบบกรรมสิทธิ์ที่มีแค่รัฐกับเอกชน ผู้บุกเบิกกลายเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย
ชัยภูมิเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีพื้นที่ป่า และภูเขาอยู่ครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมด คือ จังหวัดมีพื้นที่ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นป่า 50 เปอร์เซ็นต์ อีก 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นพื้นที่ทำการเกษตร และพื้นที่ที่อยู่อาศัย แต่ใน 50 เปอร์เซ็นต์นี้ มีระบบกรรมสิทธิ์ที่ใช้ได้ไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นคือ ใช้ได้แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในการครอบครองที่ชัดเจน ทำให้รัฐสามารถทวงคืนได้ทุกเมื่อ กลายเป็นปัญหา เพราะกรรมสิทธิ์แบบเอกชนที่รัฐยอมรับคือ โฉนดที่ดินที่รัฐออกให้ และสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้เท่านั้น
ทั้งนี้ ในการออกโฉนดโดยรัฐ ที่เจ้าของโฉนดสามารถเปลี่ยนมือกันได้ ก็ต้องทำการรังวัด โดยเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน แต่เจ้าหน้าที่มีน้อย ภาคอีสาน มีเจ้าหน้าที่ที่ดินออก ที่สามารถออกโฉนดได้แห่งแรกที่นครราชสีมา ในปี พ.ศ. 2512 ด้วยปริมาณเจ้าหน้าที่รังวัดที่มีอยู่จำนวนน้อย ทำให้การที่จะรังวัดที่ดินให้ชัดเจนน่าจะต้องใช้เวลาถึง 200 ปี ยิ่งดำเนินการช้าก็ยิ่งเดือดร้อน จึงกลายเป็นปัญหา
เรื่อง และภาพโดยการอนุเคราะห์ของ อดีตนักข่าวสาวพราวเสน่ห์ : นัฏฐิกา โล่ห์วีระ คนชัยภูมิต้องภูมิใจในตัวเธอ ติดตามการเคลื่อนไหวของเธอได้ที่ https://www.facebook.com/Nattika.official/
Comments