"ล่วงดึกของคืนวันที่ 4 สิงหาคม 2539 ต่อเช้าวันที่ 5 สิงหาคม 2539 น่าจะเป็นคืนวันอันชื่นมื่นคืนหนึ่งของชาวไทย เมื่อนักมวยหนุ่มวัย 23 ปี จากจังหวัดขอนแก่นขึ้นชกมวยสากลสมัครเล่นรอบชิงเหรียญทอง โอลิมปิคเกมส์ที่แอตแลนต้า สหรัฐอเมริกา กับคู่แข่งสุดหินจากยุโรปตะวันออก ด้วยสายตาและชั้นเชิงมวยมากฝีมือ การชกวันนั้น เขาคว้าชัยชนะและเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของวงการกีฬาไทยไปตลอดกาล"
.
ตำนานเริ่มขึ้นจาก- สมรักษ์ คำสิงห์ เกิดที่หมู่บ้านโนนสมบูรณ์ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ( ปัจจุบันคืออำเภอบ้านแฮด) ขึ้นชกมวยครั้งแรกตอนอายุ 7 ปี จากนั้นตระเวนชกตามเวทีงานวัดทั่วจังหวัด ภายใต้ชื่อ "สมรักษ์ ณรงค์ยิม" เขากลายเป็นนักมวยมีชื่อในแถบขอนแก่นขึ้นมาทันที
.
จากนั้นสมรักษ์ย้ายไปอยู่ค่ายศิษย์อรัญ กรุงเทพมหานคร เรียนที่โรงเรียนผะดุงศิษย์พิทยา ที่นั่น เขาชกทั้งมวยไทยและมวยสากลสมัครเล่น สมรักษ์ชกมวยไทยในชื่อ "พิมพ์อรัญเล็ก ศิษย์อรัญ" เดินสายชกตามเวทีต่างๆทั้ง ชลบุรี สำโรง อ้อมน้อย ก่อนขึ้นชกเวทีมวยรายการยิ่งใหญ่ทั้งเวทีราชดำเนินและเวทีลุมพินี ค่าตัวสูงสุดที่ได้รับจากการชกมวยไทยอยู่ที่ราว 180,000 บาท
.
สำหรับแวดวงก้ำปั้นสมัครเล่น เขาลงแข่งครั้งแรกในทีมโรงเรียน เมื่อปี 2528 ตอนอายุ 12 ปี โดยมีพิกัดน้ำหนัก 52 กิโลกรัม เมื่อสมรักษ์จบ ม.6 จากโรงเรียนผดุงศิษย์พิทยา สมรักษ์เข้าสู่สังกัดสโมสรราชนาวี ได้รับบรรจุเข้ารับราชการทหารเรือ ก่อนประสบความสำเร็จได้ทั้งแชมป์ประเทศไทยและเหรียญทองกีฬาแห่งชาติ
.
สมรักษ์เข้าสู่ทีมชาติครั้งแรก ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ที่บาร์เซโลนา ปี 2535 รุ่นเฟเธอร์เวท(น้ำหนักไม่เกิน 57 กิโลกรัม) การแข่งขันครังนั้นสมรักษ์ตกรอบรอบสอง เมื่อพ่ายฟาอุสติโน เรเยส จากสเปน นับจากนั้นเขายังคงติดทีมชาติแบบประสบความสำเร็จบ้างและไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมา จากการเป็นนักกีฬาไทย ที่ได้เหรียญทองเพียงคนเดียว ในเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 12 เมื่อปี 2537 ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น
.
กระทั่งคว้าเหรียญทองจากกีฬาซีเกมส์ที่เชียงใหม่ และผ่านการคัดเลือกไปแข่งกีฬาโอลิมปิกรอบสุดท้ายได้อีกครั้ง สมรักษ์ก็มีช่วงเวลาที่ดีที่สุดของเขาในปี 2539 ปีที่คนไทยอยู่ในภาพฝันอันงดงามของฟองสบู่
.
มาสู่การแข่งขันโอลิมปิคเกมส์ที่แอตแลนตา สมรักษ์ผ่านคู่ต่อสู้ตั้งแต่ด่านแรกจนถึงรอบชิงเหรียญทองแดง จากเปอร์โตริโก(13-2) แอฟริกาใต้(12-7) รัสเซีย(13-4) และอาร์เจนตินา(20-8) ด้วยสไตล์การชกที่ว่องไวแต่ทว่าสวยงาม ก่อนจะพบกับคู่ต่อสู้สุดแกร่งตัวเต็งเหรียญทองจากประเทศมหาอำนาจของมวยสากลสมัครเล่นจากยุโรปตะวันออกบัลแกเรีย อย่าง “เซราฟิม โทโดรอฟ” (Serafim Todorov) แชมป์โลกมวยสากลสมัครเล่น 3 สมัย ซึ่งในรอบรองชนะเลิศ เซราฟิม โทโดรอฟ เอาชนะ ฟลอยด์ เมย์เวเธอร์ จูเนียร์” ยอดนักชกดาวรุ่งจากสหรัฐฯ เจ้าภาพการแข่งขันมาแล้ว
.
วันนั้น สมรักษ์ คำสิงห์ อยู่ในมุมแดง เดินออกจากมุมอย่างองอาจ เพื่อประจันหน้ากับ เซราฟิม โทโดรอฟ ที่ได้เปรียบช่วงชกถึง 7 เซนติเมตร (สมรักษ์ สูง 170 เซนติเมตร โทโดรอฟ สูง 177 เซนติเมตร)
.
ชั่วเวลาระฆังลั่น - ยกแรก คล้ายลักษณะดูเชิง และชกวงกว้างกันทั้งคู่ โทโดรอฟซึ่งมีระยะหมัดที่ยาวกว่า จึงทำแต้มไปก่อน และแล้วช่วงกลางยกนักชกจากเมืองหมอแคนเมื่อรู้ว่าคะแนนตาม จึงขยับเข้าหาคู่ต่อกรมากขึ้น แม้เป็นสไตล์ที่เจ้าตัวไม่ถนัด แต่ความรวดเร็วในวัยหนุ่มวัยนั้น เขาก็ปรี่เข้าชกจนทำคะแนนตีตื้นและแซง เป็น 2-1 หมัด ท่ามกลางเสียงเชียร์ล้นหลาม
.
ยกที่สอง จังหวะมวยของทั้งคู่เร็วขึ้น ตามอัตราเวลาที่เร่งขึ้นบนเวที โทโดรอฟเมื่อรู้ว่าคะแนนเป็นรองบ้าง จึงชวนคลุกวงในและออกหมัดถี่เร็ว แม้จะทำคะแนนตีคู่นักชกจากเอเชียได้ แต่เขากลับถูกแซงอีกครั้ง 3 คะแนนรวด เมื่อกลางยกสมรักษ์ นักชกสไตล์บ๊อกเซอร์ ใช้วิธีหลบหมัดและเก็บจังหวะสอง เข้าเป้าจะแจ้ง โดยเฉพาะฮุคขวาที่คล้ายๆจะเป็นหมัดที่สั่งได้เมื่อต้องการคะแนน กระทั่งครบยกสมรักษ์ คะแนนนำ 5-2
.
ยกสุดท้าย เซราฟิม โทโดรอฟ แทบจะสวมหัวใจเพชรฆาต วิ่งไปต่อยไป และหมายมั่นว่าจะน็อคสมรักษ์ คำสิงห์ลงให้ได้ แต่นั่นยิ่งเข้าทางนักชกหนุ่มมุมแดงในวันนั้น ที่เขาเพียงขยับฟุตเวิร์กเข้าออกทั้งสายตาหลีกหลบสไตล์มวยไทย และใช้หมัดแย็บ หนึ่ง สอง อย่างเข้าตากรรมการ ทำให้ชนะคะแนนไป 8-5 คะแนน
.
"กระทั่งสิ้นสัญญาณการชกคืนนั้น สมรักษ์ คำสิงห์วิ่งเข้ากอดทีมนักมวยไทย หนึ่งในนั้นคือ ฮวน ฟอนตาเนียล โค้ชชาวคิวบาผู้ปลุกปั้นเขาจนประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต หลังได้รับการชูมือเป็นผู้ชนะ สมรักษ์ คำสิงห์ ชูพระบรมฉายาลักษณ์ของ ในหลวง ร. 9 อันเป็นภาพจำที่คนไทยคุ้นเคยเมื่อนึกถึงคืนวันแสนสุขวันนั้น ว่ากันว่าเพลงชาติไทยที่ถูกบรรเลงเปร่งร้อง ที่แอตแลนต้า มลรัฐจอร์เจีย เป็นเพลงชาติที่ไพเราะมากที่สุดครั้งหนึ่งของคนไทยเลยก็ว่าได้ "
.
ข้อสังเกตอีกประการจากโอลิมปิคเกมส์ครั้งนั้นคือ สมรักษ์ คำสิงห์ ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "Kamsing Somluck" เจตนาให้มีนัยทางโชคและก็คว้าชัยชนะมาได้จริงด้วยฝีมือล้วนๆ นอกจากเหรียญทองเหรียญนี้
.
ประเทศไทยยังได้เหรียญทองแดง ในกีฬามวยสากลสมัครเล่นรุ่นแบนตั้มเวท จาก วิชัย ราชานนท์(ขัดโพธิ์) นักมวยชาวอำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่นอีกคน หลังกลับจากสหรัฐอเมริกาในครั้งนั้น สมรักษ์ คำสิงห์ และนักชกชุดประวัติศาสตร์ชุดนั้น ไม่ว่าจะเป็น วิชัย ราชานนท์, พงษ์สิทธิ์ เวียงวิเศษ,สมรถ คำสิงห์,ภาคภูมิ แจ้งโพธิ์นาค, ประมวลศักดิ์ โพธิ์สุวรรณ ต่างได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ และตัวสมรักษ์เองนั้นถูกยกให้เป็นฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิคของประเทศไทยไปตลอดกาล
________________________
ตอนสมรักษ์ได้เหรียญทอง สิ่งที่เกิดขึ้น
1. จังหวัดขอนแก่น เพิ่มคำขวัญประจำจังหวัดในวรรคสุดท้ายด้วยว่า "สุดเท่เหรียญทองโอลิมปิก"
พระธาตุขามแก่น เสียงแคนดอกคูณ ศูนย์รวมผ้าไหม ร่วมใจผูกเสี่ยว เที่ยวขอนแก่นนครใหญ่ ไดโนเสาร์สิรินธรเน่ สุดเท่เหรียญทองโอลิมปิก
2. ข้อสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยตอนนั้น มีคำถามด้วยว่า คู่แข่งสมรักษ์เป็นใคร ชาติใด
3. ป้ายโฆษณาต่างๆ สินค้าต่างๆในเซเว่น ร้านขายของชำต่างมีรูปสมรักษ์
4. เป็นกระแสดังให้กับวงการกีฬาไทย ที่ตอนนั้นกำลังเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ ปี 1998 กำลังสร้างสนามรัชมังคลากีฬาสถาน กับอีกหลายๆสนาม
5. สมาคมมวยสากลฯ กล้าพูดได้เต็มปากว่า มวยไทยไม่กลัวใครอีกต่อไป
6. สร้างความหวังให้นักมวยโอลิมปิกคนต่อๆมา คือ วิจารณ์ พลฤทธิ์ ,มนัส บุญจำนงค์ และสมจิตร จงจอหอ
7. วลีติดปาก "ไม่ได้โม้" มีผู้คนเอามาใช้เป็นศัพท์วัยรุ่นในยุคนั้น
8. ไม่นานเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ข่าวในทีวีพอไม่มีอะไรจะออกอากาศก็เอาข่าวเดิมๆ เทป สมรักษ์ มาออก
9. คนชื่อ สมรักษ์ เวลาไปติดต่อราชการหรือไปไหนมาไหนจะกลายเป็นชื่อที่โดดเด่นทันที
10.สมรักษ์เข้าสู่วงการบันเทิงครั้งแรก จากการเล่นละคร นายขนมต้ม พร้อมตัวแสดงนำเป็นนักมวยอีกจำนวนหนึ่ง ก่อนเขาจะผูกติดกับวงการบันเทิงมานับตั้งแต่บัดนั้น
11. เป็นครั้งแรกที่เพลงชาติไทยได้บรรเลงในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ขนลุกน้ำตาไหล
ขอบคุณข้อมูลประกอบจากคุณ ArTolano
และภาพจาก Rediff.com
Comentarios