"จังหวัดอุบลราชธานีมีภูมิศาสตร์เป็นแอ่งกะทะเป็นปลายทางของแม่น้ำ 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำมูล แม่น้ำชี และแม่น้ำโขง
มีป่าบุ่งป่าทาม ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำเป็นที่ลุ่มไว้สำหรับรับน้ำ ในกรณีที่มีน้ำเอ่อล้นออกมา
แต่สภาพของจังหวัดอุบลราชธานีเมื่อแม่น้ำหลายสายไหลมารวมกันก็จะเกิดน้ำท่วมได้ "
_______________________
จากสถานการณ์น้ำท่วมหนักที่อุบลฯ ในรอบ 17 ปี(ตั้งแต่ปี 2545) ส่งผลกระทบอย่างมาก การสัญจรจาก อำเภอเมือง- อำเภอวารินชำราบ ที่เป็นเส้นทางหลักสายหนึ่งของคนในจังหวัด ไม่สามารถใช้งานได้ และเส้นทางที่พอจะเลี่ยงเมือง ก็เริ่มมีน้ำสูงขึ้น จนคาดการณ์ว่าอาจจะต้องปิดเส้นทางไปอีก ขณะที่ รร.บางแห่งเริ่มทะยอยประกาศหยุด อาหารเริ่มขาดแคลนเพราะมีการกักตุนไว้บริโภค
สำหรับวันนี้ 10 กันยายน 2562 เว็บไซด์ไกด์อุบลดอทคอม รายงานว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมา ระดับน้ำที่สถานี M7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย วัดได้ +115.47 ม.รทก. หรือ 10.54 เมตร (ระดับตลิ่ง 7.00 ม.) อัตราการไหล 4,515.00 ลบ.ม./วินาที ทำให้ถนนสายอุบล - วาริน มีน้ำท่วมสูง รถเล็กไม่สามารถผ่านได้
เมื่อเปรียบเทียบกับหลายปีที่ผ่านมาพบว่า
ปี 2521 ความสูงของระดับน้ำอยู่ที่ 12.76 เมตร
ปี 2545 ความสูงของระดับน้ำอยู่ที่ 10.77 เมตร
ปี 2554 ความสูงของระดับน้ำอยู่ที่ 9.81 เมตร
ปี 2555 ความสูงของระดับน้ำอยู่ที่ 7.62 เมตร
ปี 2556 ความสูงของระดับน้ำอยู่ที่ 9.20 เมตร
.
สำหรับประชาชนชาวอำเภอวารินชำราบ ที่ต้องการสัญจรผ่านเส้นทางดังกล่าว ทางค่ายทหาร ร.6 พัน 2 สนับสนุนรถทหารจำนวน 4 คัน จอดรับส่งที่หน้าอาคารป้องกันบรรเทาสาธารณะภัย ถึงวงเวียนน้ำพุ เริ่มเวลา 07.00 -18.00 น. ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2562 จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
____________________________________
ข่าวอุทุกภัยครั้งนี้ ปฎิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากพายุโพดุล ที่โหมกระหน่ำมาเป็นฝนตลอดทั้งสัปดาห์เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ทำให้น้ำสะสมปริมาณมาก แต่สิ่งที่ The Isaander ชวนคิดต่อคือ สถานการณ์มวลน้ำหลากล้นท้นปริมาณแบบนี้ เกิดจากปัจจัยอะไรอื่นบ้าง ?
นั่นทำให้เรานึกถึงข่าวคดีหนึ่งขึ้นมาช่วงปี 2560 ที่จำเลย ชื่อกฤษกร หรือ ป้าย ปากมูล นักกิจกรรมค้านเขื่อนปากมูล ถูกผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี (สฤษดิ์ วิฑูรย์) ฟ้องหมิ่นประมาท + พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก พูดถึงการประชุมปิดเขื่อนปากมูล โดยไม่สนใจว่าน้ำจะท่วมจังหวัดหรือไม่ ข้อความที่สองเขาโพสต์ภาพที่ปรากฎข้อความเหมือนข้อความแรก และข้อความที่สามมีว่า
"3 พฤศจิกายน ขอเชิญร่วม ลอยอังคาร ผู้ว่าอุบลฯ ข้อหาปิดเขื่อนปากมูล" หลังสืบพยานที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานี ไปเมื่อวันที่ 4-5 กันยายน 2562 ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 24 กันยายน 2562
สำหรับการสืบพยานที่ทนายฝ่ายจำเลย นำมาสืบมีด้วยกัน 3 ปาก ได้แก่ ตัวป้าย เอง ที่เป็นจำเลยและผู้ติดตามสถานการณ์น้ำและเขื่อน คนที่สองคือ อ. อานันท์ หาญพาณิชย์พันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานน้ำ และ นพ.นิรันด์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
_____________________
พยานจำเลยคนแกคือป้าย ปากมูล เบิกความไปว่า "เขื่อนปากมูลตั้งอยู่ที่บ้านหัวเห่ว อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี สันเขื่อนอยู่ที่อำเภอโขงเจียม มีประมาณ 5,000 ครัวเรือน ที่การไฟฟ้าจ่ายค่าชดเชยไป ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 10,000 กว่าคน
จึงมีการจัดตั้งสมัชชาคนจน ซึ่งเป็นการรวบรวมคนจำนวนหนึ่งจากผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด โดยที่ตั้งของสมัชชาคนจนตั้งอยู่ที่บ้านน้ำสร้าง ตำบลทรายมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร
ศูนย์ประสานงานสมัชชาคนจนตั้งขึ้นเพื่อการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้กลุ่มสมาชิก ส่งเสริมความรู้ให้กับประชาชนในเรื่องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรต่างๆ และให้ชาวบ้านตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเองในการปกครองของประเทศไทย
และเดิมทีศูนย์ประสานงานมีวิทยุชุมชนด้วย และศูนย์ประสานงานนั้นให้ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำ สถานการณ์น้ำแก่ประชาชนทั่วไป และกลุ่มสมาชิก โดยกระจายเสียงออกทางคลื่นวิทยุที่มีชื่อว่าวิทยุชุมชนเสียงแม่มูล
กฤษกร (ป้าย ปากมูล) เบิกความต่อศาลว่าเขาเป็นที่ปรึกษาของสมัชชาคนจนเนื่องจาก ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย จึงไม่สามารถเป็นแกนนำได้ และมีความเชี่ยวชาญ ในเรื่องน้ำ ทรัพยากรน้ำ ระบบนิเวศน์ พื้นที่ลุ่มน้ำ ในพื้นที่ภาคอีสานรวมทั้งเคยเป็นวิทยากรให้ความรู้ พอรู้สูตรคำนวณน้ำว่า หากมีปริมาณน้ำฝนเท่านี้ในพื้นที่เท่านี้จะมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบระมาณเท่าไหร่
กระทั่งมีรัฐประหารจึงไม่สามารถใช้สถานีวิทยุกระจายเสียงได้ จึงใช้การเผยแพร่ข่าวสารทางเฟซบุ๊ก และสมัชชาคนจนก็มีบัญชีเฟซบุ๊ก โดยตั้งเพจสมัชชาคนจน
ในเพจนั้นมีคนดูแลหลายคน รวมถึงตัวเขาเอง ส่วนบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กของเขาตั้งสถานะเป็นสถานะทั่วไปที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าดูได้ เนื่องจากเป็นบุคคลสาธารณะและต้องการประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้กับสมาชิกสมัชชาคนจนและคนทั่วไปทราบ และเปิดสถานะเป็นสาธารณะมาตลอด เพราะมีความบริสุทธิ์ใจ
เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล กฤษกรเบิกความว่า ได้รับการแต่งตั้งจากทางราชการให้เป็นคณะกรรมการเกือบทุกชุด เป็นคณะกรรมการในชุดปี 2553 แต่ไม่ได้เป็นคณะกรรมการ ในคณะกรรมการอำนวยการปี 2559 แต่ก็ติดตามการดำเนินงานของคณะกรรมการดังกล่าว เขาเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีคำสั่งตั้งคณะอำนวยการ ต่อเนื่องในปี 2558
สำหรับการปิดประตูเขื่อน หากเกิดกรณีแห้งแล้งก็ให้อำนาจอยู่ในดุลพินิจของคณะทำงานที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคณะทำงานสั่งปิดทันที
หลังจากติดตามสถานการณ์น้ำเมื่อปี 2560 ก็ได้ลงข้อความที่เกี่ยวกับการมีฝนตกมาตลอด และมีวิกฤตน้ำหลาก น้ำเยอะในจังหวัดต่างๆในภาคอีสาน ในช่วงกรกฎาคม 2560 และจากการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำช่วงนั้น เห็นว่าไม่สามารถปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลได้ เพราะหากมีน้ำปริมาณมาก หากปิดประตูเขื่อนปากมูลจะทำให้น้ำท่วมทันที
กรณีคณะอนุกรรมการมีมติให้ปิดเขื่อนปากมูลในขณะที่มีอัตราการไหลของน้ำขณะนั้น จึงเป็นการลงมติฝ่าฝืนต่อหลักเกณฑ์ของคณะอำนวยการ
หากกรณีคณะอนุกรรมการปฏิบัติฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ของคณะอำนวยการ ทางกลุ่มสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูลก็มีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่ที่ผ่านมาสมัชชาคนจนไม่ได้ใช้สิทธิตามกฎหมายในการฟ้องร้อง แต่จะใช้สิทธิและเสรีภาพในการยื่นเรื่องร้องเรียนต่างๆ ตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้
สำหรับข้อเท็จจริงที่ผ่านมาในทุกๆ ปีหากมีการเรียกประชุมคณะอนุกรรมการในช่วงเดือนตุลาคมแล้ว ก็จะมีมติปิดประตูเขื่อนปากมูล จึงเป็นเหตุให้กฤษกร เข้าใจว่า ตามหนังสือเรียกประชุมวันที่ 27 ตุลาคม 2560 ที่เรียกประชุมจะเป็นการลงมติให้ปิดเขื่อน และตัวเขามีความห่วงใยต่อประชาชนว่าหากมีการปิดเขื่อนจะทำให้เกิดน้ำท่วม และความเสียหาย
ส่วนตัวกฤษกรเบิกความว่า ไม่เคยรู้จัก สฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีมาก่อน เหตุที่โพสต์เฟซบุ๊กเขาย้ำอีกครั้งว่า เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยที่จะนำวิธีแก้ไขปัญหาน้ำของคณะอนุกรรมการมาใช้กับปัญหาน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้น และไม่สามารถติดต่อสื่อสารต่อผู้ที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในช่องทางอื่น จึงโพสต์ข้อความดังกล่าวลงไป
____________________________________
พยานคนที่สองคือ อ.อานันท์ หาญพาณิชย์พันธ์ ให้ความเห็นว่า ในช่วงรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ครั้งแรกตอนเดือนมิถุนายน 2558 จากการประชุมดังกล่าวสามารถสร้างกฏเกณฑ์การเปิดและปิดเขื่อนใหม่โดยไม่ใช้เวลาที่ตายตัวอย่างที่เคยเป็นมา โดยไม่คำนึงว่าเข้าหน้าฝนหรือยังแต่จะใช้สถานการณ์น้ำเป็นตัวกำหนด
กำหนดว่าจะเปิดเขื่อนต่อเมื่ออัตราไหลของน้ำที่วัดที่สะพานเสรีประชาธิปไตยไหลที่ 500 ลบ.ม. ต่อวินาทีหรือระดับน้ำโขงที่วัดที่ห้วยสะครามสูง 95 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง
หมายความว่าอัตราการไหล 500 ลบ.ม.ต่อวินาทีแสดงว่าน้ำมาก หากไม่เปิดเขื่อนจะทำให้น้ำท่วมหรือกรณีระดับน้ำห้วยสะครามสูงใกล้เคียงกับธรณีประตู ซึ่งการเปิดดังกล่าวจะทำให้ปลาสามารถกลับขึ้นไปวางไข่ได้
เกณฑ์การปิดก็เช่นเดียวกันกับการเปิดคือดูที่อัตราไหลของน้ำ ถ้าอัตราไหลของน้ำอยู่ที่ 100 ลบ.ม.ต่อวินาที แสดงว่าน้ำน้อย หรือระดับน้ำที่สะพานอยู่ที่ 107 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง อันแสดงว่าปริมาณน้ำต่ำ ถ้าต่ำกว่านี้จะกระทบต่อการผลิตน้ำประปาในเมืองอุบลราชธานี
___________________________________________
ปิดท้ายด้วย นพ.นิรันด์ พิทักษ์วัชระ เบิกความต่อหน้าศาลและสาธารณชนว่า ก่อนปี 2560 มีสถานการณ์น้ำหลาก ประชาชนที่อยู่บริเวณริมตลิ่งของแม่น้ำมูลก็จะย้ายขึ้นมาอยู่บนถนนในทุกๆปี ในกรณีที่มีน้ำเยอะมาก
จังหวัดอุบลราชธานี นั้นเป็นที่ตั้งของเขื่อนปากมูล การตกลงครั้งสุดท้ายของรัฐบาลคือจะเปิดประตูเขื่อนปีละ 4 เดือน และปิดประตูเขื่อนปีละ 8 เดือน และหากกรณีสภาพน้ำมีจำนวนมากก็จะเกิดปัญหาขัดแย้งว่าจะเปิดหรือปิดประตูเขื่อน เพราะการเปิดหรือปิดประตูเขื่อนมีผลกระทบต่อประชาชนในภาคอีสาน
การปิดประตูเขื่อนก็จะส่งผลกระทบต่อการเกษตร เนื่องจากน้ำเอ่อล้นขึ้นทำลายพืชผลทางการเกษตร จากปัญหาดังกล่าว ทุกรัฐบาลจึงตั้งคณะอำนวยการขึ้นมาพิจารณาบริหารจัดการปัญหาเขื่อนปากมูล และจัดตั้งคณะอนุกรรมการซึ่งกรรมการส่วนใหญ่จะเป็นคนในพื้นที่เพื่อแก้ไขต่อไป กรณีที่มีพายุและมวลน้ำจำนวนมากไหลเข้ามาที่เขื่อนปากมูล หากมีการปิดประตูเขื่อนปากมูลก็จะทำให้เกิดน้ำท่วม
ช่วงเดือนตุลาคม 2560 เป็นช่วงที่มีจำนวนปริมาณน้ำมาก เนื่องจากน้ำหลากเข้ามา เป็นเรื่องปกติ ประชาชนไม่ได้ตื่นตระหนกตกใจกัน หากเป็นผู้ว่าฯ การที่มีบุคคลลงประกาศข้อความว่าจะมีการปิดเขื่อน ก็จะถามว่าปิดเพราะอะไร แต่คงจะไม่เกิดการตื่นตระหนก และข้อความที่ว่าจะลอยอังคาร อ่านแล้ว จากประสบการณ์การเป็นสมาชิกวุฒิสภาและกรรมการสิทธิมนุษยชนรวมทั้งประสบการณ์อื่นๆ ที่ได้รับมาในชีวิต เข้าว่าเป็นการแสดงออกทางความคิดเห็น
นพ.นิรันด์ ให้ความเห็นอีกว่า สื่อสังคมออนไลน์เพิ่งจะเข้ามาตามยุคสมัย การใช้สื่อสังคมออนไลน์ของคนไทยอยู่ในขั้นตอนการเรียนรู้ ที่จำเลยโพสต์ข้อความทั้ง 3 นั้นเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่ง
และเกี่ยวกับคดีนี้เข้าใจตามฟ้องว่ามีประเด็นหลักอยู่ 2 ประเด็น อย่างแรกเรื่องที่จำเลยไปปลุกระดมคนและก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคม ตลอดที่ผ่านมามีการเปิดปิดประตูเขื่อน ชาวบ้านก็เรียกร้องตลอดให้รื้อเขื่อน เนื่องจากบุคคลผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลและจากการศึกษาของคณะศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ยืนยันว่าการก่อสร้างเขื่อนปากมูลมีผลกระทบต่อประชาชนโดยรอบเขื่อนจริง ไม่คุ้มค่ากับจำนวนเงินที่ลงทุนสร้างไป และที่จำเลยแสดงออกโดยโพสต์ในเฟซบุ๊กนั้น ไม่ใช่การแสดงข้อความเท็จ แต่เป็นการแสดงความเห็นแตกต่างและสะท้อนความคิดเห็นของชาวบ้าน
ส่วนประเด็นที่สอง ที่จำเลยโพสต์เฟซบุ๊กเป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์และเป็นการแสดงความคิดเห็นทางสื่อ เนื่องจากได้รับความลำบากและถูกละเมิดรวมทั้งหมดช่องทางในการสื่อสาร ประการสุดท้ายคิดว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ควรใช้ปราบปรามอาชญากรทางอินเทอร์เน็ตมากกว่าใช้ปราบปรามผู้ที่มีความเห็นต่าง
______________
Comments