" จงบอกความจริงทุกอย่าง แต่ต้องบอกอย่างอ้อมๆ เมื่อนั้นจึงจะประสบความสำเร็จ "
ใครสักคนหล่นวาทะนี้ไว้ปลอบใจใครอีกหลายคนหากอยากพูดในสิ่งที่อีกฝ่ายยากจะรับไหว และมากมายกว่านั้น เมื่อคุณเป็นศิลปินในประเทศที่ขาดแคลนความรู้เรื่องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
การบอกเล่าความจริงถึงคณะปกครอง ดูจะต้องอ้อมและเหนื่อยยากราวกับวิ่งมาราธอนในระยะที่เส้นชัยถูกผลักออกไปเสมอๆ
---------------
กลางพฤษภาคมที่ผ่านมา Chhun Dymey แรปเปอร์หนุ่มกัมพูชาวัย 24 ปี หรือรู้จักกันในนาม “Dymey-Cambo” เผยแพร่คลิปวีดีโอเพลง “Sangkum Nis” หรือ " สังคมนี้ " ลงในสื่อออนไลน์ มีเนื้อหากล่าววิจารณ์รัฐบาล และความมอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมกัมพูชา
ในจังหวะบีท คลอเคล้าเครื่องเป่าทำนองหม่นเศร้า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทุจริตรับสินบน ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ข้อพิพาทเรื่องที่ดิน การกดขี่ประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และการปิดกั้นเสรีภาพด้านการแสดงออก เนื้อหาเพลง "สังคมนี้ " ยังกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวอย่าสิ้นหวังกับความทุกข์และความอยุติธรรม ผ่านวลีที่ว่า “wake up, wipe away the tears and continue the journey”
หลังวีดีโอถูกเผยแพร่ออกไปได้ไม่นาน มียอดผู้เข้าชมหลายหมื่น และเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังสม รังสี (Sam Rainsy) อดีตผู้นำฝ่ายค้าน ปัจจุบัน ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ที่ฝรั่งเศส(คล้ายๆแอคทิวิสต์ประเทศเพื่อนบ้าน) นำคลิปวีดีโอดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อในยูทูปผ่านบัญชีผู้ใช้ชื่อ Rainsy Sam Channel
Dymey เล่าว่า ช่วงไม่กี่วันนี้ เขาต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐที่เดินทางแวะเวียนมาที่บ้านพ่อแม่ของเขาที่จังหวัดเสียมเรียบ พร้อมแจ้งเตือนให้ลบคลิปวีดีโอเพลงดังกล่าวออกจากสื่อออนไลน์ เนื่องจากมีเนื้อหากระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล
เขายังออกมาเปิดเผยอีกว่า เพราะไม่มีทางเลือกอื่นจึงจำเป็นลบคลิปวีดีโอดังกล่าวออกไป นอกจากนี้ยังกังวลถึงความปลอดภัยของตนเองและบุคคลรอบข้าง
ส่วนเนื้อเพลงที่แต่งขึ้นนั้น มาจากความคิดและความรู้สึกส่วนตัว จากการที่เห็นความทุกข์ของผู้คนและความอยุติธรรมในสังคม โดยที่ไม่ได้รับการผลักดันหรือสนับสนุนจากหน่วยงานใดทั้งสิ้น
องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน อย่างสมาคมเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาของกัมพูชา (ADHOC) และกลุ่มสันนิบาตกัมพูชาเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เห็นตรงกันว่า หากมีเจ้าหน้าที่รัฐเดินทางไปที่บ้านของ Dymey จริง ถือเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษชน สร้างความหวาดกลัว และทำให้ประชาชนคนอื่นๆ ไม่กล้าออกมาวิจารณ์การทำงานของรัฐ เพราะเกรงว่าจะได้รับความไม่ปลอดภัย
เช่นเดียวกับศูนย์สิทธิมนุษยชนแห่งกัมพูชา (Cambodian Centre for Human Rights: CCHR) ระบุว่า แม้กัมพูชาจะมีข้อกฎหมาย คุ้มครองสิทธิเสรีภาพด้านการแสดงความเห็น แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่าประชาชนถูกละเมิดสิทธิดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง
ฉะนั้นการออกมากดดันให้ Dymey ลบเพลง ถือเป็นการส่งสัญญาณไปยังชาวกัมพูชาทุกคนโดยเฉพาะเยาวชนว่า หากกล้าที่จะออกมาวิจารณ์การบริหารประเทศของรัฐบาล ไม่เพียงแต่จะถูกตามไปที่บ้าน และต้องเซ็นเซอร์ตัวเองแล้ว ยังอาจถูกลงโทษอย่างรุนแรงอีกด้วย
ผู้แทนอุตสาหกรรมเพลงในกัมพูชาให้ความเห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Dymey ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะเป็นการวิจารณ์รัฐบาลอย่างชัดเจน พร้อมระบุว่า การวิพากษ์วิจารณ์สังคมผ่านบทเพลงยังสามารถกระทำได้ต่อไป หากไม่ระบุเป้าหมายที่ต้องการกล่าวถึงว่าคือใครหรือหน่วยงานใด แม้จะเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเอง ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกควบคุมตัวและมีโอกาสวิจารณ์สังคมต่อไปได้
ทั้งนี้ที่ผ่านมา รัฐบาลในสมัยสมเด็จฮุน เซน เป็นนายกรัฐมนตรี พยายามรวบรวมบทเพลงที่มีเนื้อหาวิจารณ์และทำลายภาพลักษณ์ของรัฐบาลไว้จำนวนหนึ่ง
โดยในปี 2561 กระทรวงแรงงานของกัมพูชาเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระงับการเผยแพร่ 2 บทเพลง เพราะมีเนื้อหาอธิบายถึงความยากลำบากของแรงงานที่ได้รับค่าแรงน้อย หนึ่งในนั้นก็คือเพลง “counter to the government’s policy”
หมายเหตุ: “wipe your tears, continue the journey” ที่ปรากฏอยู่ในเพลง “Sangkum Nis” เป็นสโลแกนของเขม เลย์ (Kem Ley) นักวิจารณ์การเมืองกัมพูชาคนสำคัญ ที่เสียชีวิตในวัย 45 ปี จากการถูกลอบยิงที่ภายในปั๊มน้ำมันที่กรุงพนมเปญเมื่อปี 2559
หากเทียบกับเพลงที่ดังข้ามปีและเกิดเป็นปรากฎการณ์ อย่าง " ประเทศกูมี" แม้บทเพลงจะมีลักษณาการส่องแสงถึงกัน แต่สิ่งที่ทั้งสองพบเผชิญดูจะแตกต่างกันนัก
เจ้าของบทเพลง "ประเทศกูมี" เพลงแร็ปที่สื่อถึงการต่อต้านอำนาจและเผด็จการในประเทศไทย อยู่ในระหว่างบินลัดฟ้าข้ามไปรับรางวัลอังทรงเกียรติด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศนอร์เวย์ พร้อมยอดวิวผู้ชมขณะนี้เฉียดๆ 64 ล้านวิว แต่ขณะที่ศิลปินเพื่อนบ้านรายนี้กลับมีชะตากรรมที่แปลกต่างออกไป
มันจะมีคำถามแกมประชดประชันในใจว่า ท้ายที่สุดถ้าสถานการณ์บ้านเมืองทั้งสองประเทศไม่ได้เป็นแบบนี้ บทเพลงทั้ง"ประเทศกูมี"และ"สังคมนี้" อาจจะไม่ได้ผุดขึ้นมาในแวดวงดนตรีของทั้งสองประเทศก็เป็นได้
แต่พูดก็พูด ถ้าเลือกได้ใครๆก็คงถวิลหาเสรีภาพในการ พูด ฟัง อ่าน เขียน หรืออย่างน้อยๆก็คิดฝันถึงสังคมที่ดีกว่าที่เห็นและเป็นอยู่ใช่หรือไม่ ?
แหล่งที่มา: phnompenhpost.com, rfa.org และscmp.com
ภาพจาก: Dymey-CAMBO https://soundcloud.com/dymeycamboofficial
Comments