top of page
Writer's pictureThe Isaander

บึงแก่นนคร บทเพลงลูกกรุงเสน่หา ย้อนเวลาถึงแผนพัฒนาฯฉบับแรก


บึงแก่นนคร อีกหมุดหมายสำคัญของจังหวัดขอนแก่นสำหรับผู้มาเยือน เป็นพื้นที่ที่บรรจุไปด้วยประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมของเมืองนี้ นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์ “เจ้าเพียงเมืองแพน” ผู้ก่อตั้งเมืองขอนแก่นแล้ว พื้นที่กว่า 600 ไร่


ยังบอกเล่าความคลาสิคเก่าแก่อย่างวัดหนองแวงพระอารามหลวง หรือความร่วมสมัยอย่างรูปปั้นไดโนเสาร์และประติมากรรมที่บ่งบอกวิถีชีวิตของชาวไทยอีสานปรากฎอยู่รอบๆบึง หากย้อนไปเมื่อปี 2505 สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ริเริ่มนโยบายพัฒนาเมืองขอนแก่นให้เป็นศูนย์กลางของภาคอีสาน


ก็เปลี่ยนชื่อแหล่งน้ำขนาดใหญ่แห่งนี้จากบึงเมืองเก่าเป็นบึงแก่นนคร ว่ากันว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 1(2504-2509) ถูกร่างขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น ในช่วงเวลาที่จอมพลสฤษดิ์พำนักอยู่ใกล้บึงแก่นนครแห่งนี้นี่เอง ห้วงทศวรรษนั้นขณะที่ประเทศกำลังเร่งพัฒนา รัฐบาลต้องการให้ประชาชนรับทราบข่าวสาร นโยบาย จึงอนุมัติงบประมาณ 25 ล้านบาท ให้กรมประชาสัมพันธ์ขยายวิทยุโทรทัศน์ ไปสู่ภูมิภาค


โดยเลือกเอาจังหวัดขอนแก่นเป็นสถานีแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข่าวสารและความบันเทิงอีกด้วย นั่นเป็นจุดริเริ่มของแนวคิดการส่งบุคคลากรออกจากกรุงเทพฯ เพื่อไปเผยแพร่วิชาการดนตรีเพื่อออกอากาศสดในสถานีโทรทัศน์ประจำภูมิภาค ซึ่งต่อมาทำให้วงการเพลงไทยมีเพลงอมตะเพลงหนึ่ง หลังครูเพลงคนหนึ่งได้มาอิงแอบแนบชิดบรรยากาศที่บึงแก่นนครก่อนกลั่นความรู้สึกออกมาเป็นท่วงทำนอง


"ความ รัก เอย

เจ้า ลอยลมมาหรือ ไร

มาดล..จิต มาดล..ใจ เสน่-หา "


คุณอาจเคยได้ยินเนื้อเพลงนี้มาจากที่ไหนสักแห่ง ท่ามบรรยากาศวาบหวิวพาฝันในท่วงทำนองนุ่มนวลชวนลอยคว้างลอยลม ครูเพลง มนัส ปิติสานต์ ศิลปินแห่งชาติ แต่งไว้ในปี 2507 เมื่อครั้งไปสอนวิชาการเล่นดนตรีให้กับข้าราชการสถานีโทรทัศน์ กรมประชาสัมพันธ์จังหวัดขอนแก่น สมัยที่คุณรักษ์ศักดิ์ วัฒนพานิช เป็นอธิบดี และเข้าพักที่บ้านริมบึงแก่นนคร


โดยครูมนัสมีกำหนดสอน 15 วันทุกๆ 3 เดือน เป็นเวลา 1 ปี ในครั้งสุดท้ายปลายปีหลังจากสอนเสร็จทุกเย็นครูมนัสจะมานั่งกินอาหารและเหล้าที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง จนถึงวันสุดท้ายที่สอนเสร็จ ราวเที่ยงคืนครูมนัส เดินออกจากร้านอาหารดังกล่าวเพื่อที่จะกลับบ้านพัก คืนนั้นพระจันทร์ลอยเด่นเต็มดวงสวยมาก ขณะกำลังเดินผ่านบึงแก่นนครก็ได้เห็นเงาของพระจันทร์ในบึงนั้น สะท้อนกับผิวน้ำเป็นประกายแวววาว ดูช่างสวยงามมากเหลือเกิน


ตอนนั้นเป็นช่วงเดือนธันวาคม อากาศกำลังหนาว จึงเกิดอารมณ์ อยากเขียนเพลงในท่วงทำนองของคนที่ผิดหวังในเรื่องของความรัก แต่ยังไม่ได้ตั้งชื่อ กระทั่งเมื่อนำมาบันทึกแผ่นเสียงออกเผยแพร่ จึงใช้คำในวรรคสุดท้ายของเพลงบรรทัดแรกคือคำว่า "เสน่หา" มาเป็นชื่อเพลง บันทึกเสียงครั้งแรกโดยสุเทพ วงศ์กำแหง นักร้องหนุ่มจากนครราชสีมา เมื่อปี 2509 และมีศิลปินนำไปตีความร้องขยายอีกในหลากหลายเวอร์ชั่น ขณะนี้ครูมนัส ปิติสานต์ อายุ 90 ปี ได้รับเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง เมื่อปี 2555 และเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับที่มาเพลงเสน่หาในที่แห่งหนึ่งว่า


"ไม่เคยคิดเลยว่าเพลงนี้จะหลายเป็นที่ชื่นชอบของผู้ฟัง เพราะเป็นการเขียนที่ใช้ภาษาง่าย ง่ายมากๆเลย เป็นเรื่องของคำถาม เป็นเรื่องของการระบายอารมณ์ของความเจ็บปวด ที่เราถูกทิ้งไว้ แล้วก็ไปเจอคนที่มาใส่ใจ(ในร้านอาหารริมบึงแก่งนคร) เราก็ไม่แน่ใจว่าชีวิตของศิลปินอย่างเราจะมีคนใส่ใจ เพราะตอนเป็นศิลปินเรารู้สึกต่ำต้อย และเมื่อเขามาสนใจ มาสนิทสนมด้วย เลยรู้สึกเป็นปัญหา เลยต้องถามตัวเอง ก็เลยเขียนเพลงนี้ขึ้นมา ถามว่าที่มาเนี่ย จริงใจหรือ เพราะก่อนหน้าเคยเจ็บช้ำในรักมาก่อน สงสารใจฉันบ้าง วานอย่าสร้างรอยช้ำซ้ำเป็นรอยสอง มันง่ายๆแท้ๆเลย "


แม้กาลเวลาจะล่วงผ่านมากว่า 55 ปี เพลงเสน่หายังคงครองใจผู้ฟังอยู่ตลอดกาล ปี 2551 วงโมเดิร์น ด็อก นำไปเรียบเรียงใหม่ในอัลบั้มทิงนองนอย และมีผู้นำไปขับร้องประกวดในรายการเพลงอยู่เสมอๆ สำหรับบึงแก่นนครจุดกำเนิดของบทเพลงนี้ ถูกปรับปรุงทัศนียภาพอยู่ตลอด ปัจจุบันชาวเมืองนิยมใช้เป็นที่พบปะ พักผ่อน ออกกำลังกาย ทั้งช่วงเช้า กลางวัน เย็น ถึงดึกดื่น มีสวนสาธารณะ โรงแรมที่พักและร้านอาหารอยู่รายรอบ


มันคงจะเป็นบรรยากาศที่ดีไม่น้อย หากคุณเดินรับลมโปร่งสบายรอบๆบึงอยู่ แล้วได้ยินเพลงนี้ขึ้นอีกครั้ง ให้ชวนคลอเคล้าไปกับบรรยากาศประวัติศาสตร์และการพัฒนาเมืองขอนแก่นสู่ศูนย์กลางภูมิภาคแห่งนี้ #TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน#ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #บึงแก่นนคร #แผนพัฒนา #ขอนแก่น #ขอนแจ่น #เพลง

322 views0 comments

Comentários


bottom of page