top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

ทุ่งกุลาตาหวาน รอวันสิ้นตำนานร้องไห้

บทความโดย : นพพล ไม้พลวง / นักเขียนผู้โดดเดี่ยวและมีแมวเหมียวหนึ่งตัว


ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้อนุมัติหลักการ ร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการให้ตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยมีข้อความสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า การตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ ให้สามารถขออนุญาตตั้งโรงงานได้ แม้จะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลไม่ถึง 50 กิโลเมตร จากนั้นเป็นต้นมาพื้นที่ภาคตะวันออกฉียงเหนือ จึงกลายเป็นที่หมายปองของผู้ประกอบกิจการโรงงานน้ำตาลรายใหญ่ คลอเคลียมากับเรื่องค้างคาของชาวอีสาน ที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) ได้ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล สามารถตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ หรือย้ายหรือขยายกำลังผลิตไปตั้งยังที่แห่งใหม่ได้ จึงสร้างความหวาดระแวงต่อประชาชนบนแผ่นดินที่ราบสูงซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเกษตรกรอย่างมาก แล้วคล้อยหลังไม่ทันครึ่งปี มีกระแสข่าวว่า จะเกิดโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล 29 โรงงาน ทั่วทั้งภูมิภาค ตามนโยบายพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Hub)


เวลาเดียวกันนั้น มานะ เหนือโท ผู้อาศัยในหมู่ 16 ตำบลโนนสวรรค์ และหนึ่งในผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและสุขภาพ(นธส.) เริ่มตั้งข้อสงสัยว่า กลุ่มทุนรายไหนกันที่กำลังกว้านซื้อที่ดินกว่า 580 ไร่ ในตำบลโนนสวรรค์ อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด จนกระทั่งความจริงปรากฏ


“ตรงนี้จะเป็นโรงงานผลิตน้ำตาลขนาด 24,000 ตันอ้อยต่อวัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 80 เมกะวัตต์ มีมูลค่าการลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่สุด เท่าที่เคยมีมาในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ตัวผมเองเชื่อว่าระบบการป้องกันของโรงงานใช้เทคโนโลยีที่เชื่อถือได้ แต่วัตถุดิบสำคัญอย่างอ้อยนี่ ไม่ว่ามาจากไหนก็ตามมันต้องขนย้ายมาเป็นสิบกิโล โดยใช้รถพ่วงรถบรรทุก แล้วถนนหนทางในชุมชนไม่ได้รองรับกับการขนส่งนี้เลย ถ้ารถพวกนี้วิ่งไปวิ่งมาทั้งวัน โรงเรียนชุมชนจะได้รับผลกระทบตั้งแต่หน้าบ้าน แล้วหากสมมติเอาว่า โรงงานส่งเสริมให้ชุมชนรอบข้างปลูกอ้อยมาป้อนโรงงานยิ่งน่ากังวล เพราะกระบวนการปลูกอ้อยนั้นต้องใช้สารเคมีมหาศาล คนในชุมชนที่ทำนาข้าวแบบเกษตรอินทรีย์ หรือแม้กระทั่งตัวเกษตรกรทั้งหลายเองก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ”



ป้ายคัดค้านการสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ติดอยู่ในหมู่บ้าน

การสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลขนาดใหญ่ถึง 24,000 ตันอ้อยต่อวันนั้น อาจต้องใช้พื้นที่ปลูกอ้อยมากกว่า 350,000 ไร่ ซึ่งกินบริเวณออกไปใหญ่กว่าอำเภอปทุมรัตต์ทั้งอำเภอ อาจกลายเป็นว่าทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ป้อนข้าวหอมมะลิชั้นดีสู่ผู้บริโภค ถึงเวลาแปรสภาพเป็นไร่อ้อย ที่ต้องพึ่งพาการใช้สารเคมีเข้มข้น รวมทั้งยังไม่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งวาดหวังว่าจะให้พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ของพวกเขา เป็นแหล่งเกษตรคุณภาพของจังหวัด และเขตเศรษฐกิจข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง และหากพิจารณาตามสภาพภูมิอากาศ ทุ่งนาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นนาน้ำฝนหรือนาปี หากฤดูกาลแห้งแล้งเดินทางมาเยือนทุงกุลาร้องไห้ โรงงานขนาดใหญ่และโรงงานไฟฟ้าชีวมวลจะหาน้ำมาจากไหนมาป้อนสู่กระบวนการผลิต


“มันเหมือนเป็นการที่มีคนสองกลุ่ม ถูกปล่อยให้แย่งชิงทรัพยากรกันเอาเอง ผมมองว่าภาครัฐทั้งกระทรวงสิ่งแวดล้อม พลังงาน อุตสาหกรรม ไม่ควรนิ่งเฉย แล้วให้ผู้ประกอบการมาดำเนินการเอง มาเผชิญหน้ากับชาวบ้านเอง โดยไม่มีคำแนะนำ หรือคำชี้แจงกับชาวบ้านว่าเขาจะตั้งโรงงานพื้นที่ตรงนี้ เดี๋ยวจะมีขั้นตอนแบบนี้นะ ถ้าชาวบ้านไม่เห็นด้วยจะทำอะไรได้บ้าง อย่างน้อยควรมีคำแนะนำให้ทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ประกอบการ ชาวบ้านทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาตั้งแง่เกลียดชังทะเลาะกันเอง”


ตลอดปลายปี พ.ศ.2561 ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน ผู้ประกอบการในนาม บริษัทน้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด มีความพยายามจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากชุมชน ตามขั้นตอนของกฎหมายมาแล้วถึงสามครั้ง แต่ทั้งหมดก็ไม่ได้ดำเนินไปอย่างเรียบร้อย มานะ เหนือโท เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศทั้งหมดว่า


“กระบวนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาจัดหนึ่งวัน ในเวลาสามชั่วโมง เพื่อเรียนรู้ว่าโรงงานน้ำตาลเป็นแบบไหน โรงไฟฟ้าชีวมวลดีอย่างไร นี่คือเรื่องสำคัญของอนาคต และเป็นเรื่องทางเทคนิค แล้วจะให้เราเข้าใจเรื่องที่เขาทำมาทั้งชีวิตในเวลาสามชั่วโมง มันจะเป็นไปได้ไหม ?... ชาวบ้านเข้าใจนะว่า เขาจะมาสร้างความเจริญ สร้างรายได้ให้ ที่ผ่านมาก็ถูกกระแนะกระแหนตลอด ว่าคนพวกนี้จะเป็นชาวนาไปตลอดชีวิตหรือยังไง คงต้องบอกว่าแม้จะเป็นแค่ชาวนา แต่ถ้าสนใจเทคโนโลยี รู้จักรวมกลุ่มกันไว้ เราก็สามารถขายข้าวผ่านสื่อออนไลน์ได้ รวมทั้งยังมีช่องทางพัฒนาศักยภาพการทำมาหากิน และการค้าขายอีกเยอะ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอาชีพก็ได้”


มานะ เหนือโท ผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและสุขภาพ(นธส.) ตั้งคำถามว่าโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลเหมาะสมกับพื้นที่ทุ่งกุลาหรือไม่

จากการสำรวจรัศมีของโรงงานน้ำตาลตำบลโนนสวรรค์ อำเภอปทุมรัตต์ จะอยู่ติดถนน หลวงหมายเลข 2269 ภายในรัศมี 5 กิโลเมตร ประกอบด้วย วัด 9 แห่ง โรงเรียน 4 โรง และอีกกว่า 60 หมู่บ้าน


ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อร่างข้อเสนอโครงการ รายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษา และแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โครงการโรงงานน้ำตาลและโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561 และ วันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ภาคประชาสังคมในนาม เครือข่ายคนรักษ์ปทุมรัตต์ ซึ่งรวมตัวกันกว่า 500 คน ประกอบด้วย กลุ่มข้าวอินทรีย์ตำบลโนนสวรรค์ กลุ่มเกษตรกรชาวนาตำบลโนนสวรรค์ เครือข่ายเกษตรอินทรีย์อำเภอปทุมรัตต์ เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านอำเภอปทุมรัตต์ และเครือข่ายครูอำเภอปทุมรัตต์ ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการก่อตั้งโรงงานต่อนายอำเภอปทุมรัตต์ และมาร่วมแสดงออกถึงความชัดเจนในการปฏิเสธโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ภาพบรรยากาศทั้งสองเวที มีบางส่วนได้ถูกบันทึกโดย มานะ เหนือโท และเขาก็ร่วมแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้


“ที่ผ่านมานั้นเคยมีกรณีเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่มชาวบ้านผู้ไม่เห็นด้วยกับตัวแทนโรงงาน ชาวบ้านรวมตัวกันไล่ไม่ให้มาทำเวทีรับฟัง ทีนี้ตำรวจก็เชิญไปพูดคุยกันที่โรงพัก แต่ทางเจ้าหน้าที่เขาบอกแค่ว่า ชาวบ้านอย่าไปไล่เขา เขามีสิทธิเสรีภาพ เขามาตามขั้นตอน ต้องไม่ลิดรอนเสรีภาพเขา แต่ชาวบ้านก็โต้แย้งเพราะสงสัยว่า แล้วไอ้สิทธิชุมชนของพวกเขาไม่มีหรือไง สิทธิในการอยู่อาศัยครอบครองที่ดินของพวกเขา สิทธิที่จะปกป้องดูแลชุมชน อันนี้ตำรวจก็ไม่ยอมอธิบาย บอกแต่ว่าทำไอ้นั่นผิดกฎหมาย ทำไอ้นี่ไม่ได้ พอเขาทำเวทีรับฟังความเห็นไม่สำเร็จ ผมไม่รู้นะว่าทำไมไม่สำเร็จ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยหรือเปล่า แต่ตอนหลังเขาก็เปลี่ยนกลยุทธ์เป็นลงไปทำแบบสำรวจตามหมู่บ้าน วันแรกที่ทำก็มีรถตู้ทีมสำรวจมาหนึ่งคัน แล้วก็มีรถตำรวจนำขบวนสองคัน ปิดท้ายขบวนอีกสองคัน มาทั้งชุดดำทั้งใส่เครื่องแบบ มาโดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านรับรู้รับทราบ หรือช่วยประชาสัมพันธ์เลย”


มีกองดินเตรียมสร้างโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ ตั้งแต่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นยังไม่เสร็จสมบูรณ์

บางเหตุการณ์จากคำบอกเล่าของ มานะ เหนือโท มีหลักฐานปรากฏเป็นคลิปวีดิโอ ตามภาพจะเห็นขบวนรถของทีมสำรวจข้อมูลโรงงานน้ำตาล ซึ่งประกบหน้าหลังด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ กำลังถกเถียงกับกลุ่มประชาชนบนถนน เจ้าหน้าที่ขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านการทำงานของทีมสำรวจข้อมูลโรงไฟฟ้าเปิดทาง เพื่อจะได้อำนวยความสะดวก แต่กลุ่มชาวบ้านซึ่งยืนถือป้าย และแสดงออกคัดค้าน ก็ขอให้เจ้าหน้าที่แสดงเอกสารการอนุญาตให้ดำเนินการดังกล่าว พร้อมขอให้ตำรวจทุกนาย และทีมสำรวจข้อมูลช่วยแสดงตัว พร้อมออกปากอ้อนวอนไม่ให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองทำงานรับใช้ผู้ประกอบการจนเกินงาม


แม้จนถึงปัจจุบัน จะยังไม่มีข่าวคราวเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่หากใครมีโอกาสได้ผ่านไปเยี่ยมเยือน ตำบลโนนสวรรค์ จังหวัดร้อยเอ็ด แทนที่จะสังเกตเห็นป้ายยินดีต้อนรับ ท่านกลับจะพบป้ายสีน้ำเงินข้อความ “ชาวโนนสวรรค์ ไม่เอาโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงงานน้ำตาล” เรียงรายไปแทบทุกปากทาง เหมือนกำลังท้าท้ายกระบวนการพัฒนาว่า ความเจริญควรถามคนชุมชนและชาวบ้านด้วยว่าพวกเขายินดีต้อนรับหรือไม่ แต่ในเรื่องเดียวกันนี้ ยังมีผู้เห็นด้วยกับนโยบายพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยเฉพาะ ทองคำ เชิงกลัด ประธานสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ที่ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจไว้ว่า


“ผมในฐานะตัวแทนชาวไร่อ้อย ต้องขอกราบขอบคุณรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีนโยบายนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญอย่างยั่งยืน รวมทั้งการก่อเกิดโครงการให้ตั้งโรงงานใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ จนกระทั่งมีการออกประกาศฉบับนี้ พวกเราจะขอยืนเคียงข้างแนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเช่นนี้ และร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย ให้ก้าวหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน"



ทุ่งกุลาแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญของประเทศ ถ้ามีโรงงานน้ำตาลพื้นที่จะถูกปลูกอ้อยทดแทนนาข้าว

ถ้าหากกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมนำพาให้พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ กลายเป็นที่ตั้งของโรงงานน้ำตาลได้ในอนาคต แบบเรียนชั้นประถมและภาพจำของสังคมต่อความแห้งแล้งจนถึงขนาดละลานตาด้วยดินแตกระแหงของ “ทุ่งกุลา” คงหมดไป เพราะพื้นที่ราบสูงแห่งนี้จะกลายเป็นทุ่งกุลาตาหวาน มีสัญลักษณ์ตระหง่านเป็นโรงงานน้ำตาล เคียงข้างโรงไฟฟ้าชีวมวล มาพร้อมเรื่องเล่าการต่อสู้ของขบวนการภาคประชาชนอยู่เบื้องหลัง โดยข้อความสุดท้ายก่อนร่ำลากันของ มานะ เหนือโท ที่ฝากไว้ส่งตรงไปถึงผู้ประกอบการในทุกพื้นที่ว่า


“โรงงานควรทำงานประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงชุมชน ต้องทำอะไรแบบเปิดเผย ไม่ใช่ว่าจะสร้างอะไรแล้วไม่เห็นมีป้าย ไม่เห็นมีใบอนุญาตอะไรมาปัก มาแจ้งชาวบ้าน ชุมชนพวกเราก็ต้องวิตกกังวลกับเรื่องในบ้านตัวเองนั่นเป็นเรื่องปกติ แล้วที่สำคัญ อยากขอให้ผู้ประกอบการทุกรายดำเนินการทุกอย่างตามกฎหมาย และให้ภาคประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการติดตาม ตรวจสอบได้”

.

.

บทความโดย : นพพล ไม้พลวง / นักเขียนผู้โดดเดี่ยวและมีแมวเหมียวหนึ่งตัว

.

.

77 views0 comments
bottom of page