top of page
Writer's pictureThe Isaander

สงครามที่ไม่รู้จบ (2) “เย็บแผ่นดิน”

เรื่องโดย : สมานฉันท์ พุทธจักร

ราวปี  2545 เสียงระเบิดดังขึ้น ‘อีกครั้ง’ ณ ชายป่าบ้าน แปดอุ้มระหว่างที่ หรัส สุทะนัง  และเพื่อนกำลังง่วนอยู่กับการลงแรงแผ้วถางป่า เพื่อจับจองเอามาเป็นพื้นที่ทำกิน เพาะปลูกให้ทันก่อนฤดูแห่งการหว่านเมล็ดพันธุ์จะมาเยือน หลังจากเสียงระเบิดลูกแรกก้องกัมปนาทขึ้น เสียงระเบิดลูกอื่น ๆ ก็ระงมดังไล่เรียงกันมาเป็นชุด นกกาตีปีกพยุงตัวบินหนีไปอย่างโกลาหล  หรัสนอนกองอยู่บนพื้น ร้องลั่นป่าด้วยความเจ็บปวดจากการเหยียบเข้ากับทุ่นระเบิด

ขอบคุณภาพจากเพจ Esan Contemporary Art - ศิลปะร่วมสมัยอีสาน

กองกำลังไม่ทราบฝ่าย


ความขัดแย้งหลายระลอกนับตั้งแต่สงครามประชาชนระหว่างรัฐไทยกับ พรรคคอมมิวนิสต์ สงครามเขมร 3 ฝ่าย ไปจนถึงข้อพิพาทเรื่องเขตแดนกรณีเขาพระวิหาร ที่ทำให้พื้นที่ชายแดนไทย - กัมพูชาต้องปนเปื้อนไปด้วยทุ่นระเบิด โดยเฉพาะสงครามกลางเมืองในกัมพูชาที่นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างเหี้ยมโหดที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก  การถอยร่นข้ามเข้ามาในเขตแดนไทยของทหารกัมพูชาเกิดขึ้นหลายครั้ง ตลอดภาวะสงครามกลางเมือง ซึ่งทุ่นระเบิดก็ถูกติดตั้งไว้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากทุก ๆฝ่าย เพื่อปกป้องฝ่ายตรงข้ามยามฝ่ายของตนเพลี่ยงพล้ำ จนแยกไม่ออกว่าเป็นของฝ่ายใด


แม้ว่าจะมีความพยายามจากทางภาครัฐร่วมกับองค์กรนานาชาติในการเก็บกู้และกำหนดเขตที่มีทุ่นระเบิด  แต่ด้วยพื้นที่ที่กว้าง จึงทำได้อย่างยากลำบาก การเก็บกู้และส่งมอบคืนพื้นที่ให้ประชาชนใช้ประโยชน์เป็นไปอย่างล่าช้า เสียงระเบิดจึงดังขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตามหัวไร่ปลายนา แม้สงครามความขัดแย้งสิ้นสุดไป หมู่บ้านแปดอุ้ม ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี หนึ่งในหมู่บ้านแถบแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ที่เต็มไปด้วยทุ่นระเบิดไม่ทราบฝ่ายจำนวนมากนอนแน่นิ่งรอจนหรัสมาเหยียบเข้า เช่นเดียวกับเหยื่อสงครามรายอื่น ๆ ที่มักจะเป็นพลเมืองที่ไม่เกี่ยวข้องกับอะไรในสงคราม  




ผู้เคราะห์ร้าย


หลังจากที่หรัสเหยียบเข้ากับทุ่นระเบิดลูกแรก แรงระเบิดส่งสะเทือนให้ระเบิดลูกอื่น ๆที่อยู่รอบ ๆเกือบ 10 ลูก ระเบิดตามมาด้วย

“ตอนนั้นผมไม่ให้เพื่อนผมเอามาหรอก ให้เพื่อนยิงผมทิ้งเลย  ”

หลังเสียงระเบิดสงบลงหรัสประกาศความจำนง


“ไม่อยากเป็นภาระของลูกเมีย รู้ว่าตัวเองหมดอนาคตแล้ว มันลำบาก กลัวเลี้ยงลูก เลี้ยงพ่อแม่ไม่ไหว ตัดขาออกก็เหมือนตัดขาดชีวิต ยิ่งเราทำไร่ทำนายิ่งลำบาก ไม่ได้นั่งทำงานในออฟฟิศ ” 


นอกจากทรมานด้วยสารเคมีที่กัดกินแข้งขาอันแหลกละเอียดแล้ว ยังต้องทรมานจากภาพอนาคตที่รอเขาอยู่  จึงขอให้เพื่อนช่วยปลิดชีวิตเขาลงกลางชายป่า ดีกว่าต้องทนลำบากชีวิต ที่มีฉากชีวิตของคนอื่น ๆที่เสียขาจากทุ่นระเบิดหมู่บ้านเป็นตัวอย่าง  แต่เพื่อน ๆของหรัสปฎิเสธเจตจำนงของเขาช่วยกันหาท่อนไม้มาทำเป็นเปลสนามขนย้ายร่างของหรัสเข้าไปส่งที่โรงพยาบาลในตัวอำเภอ 


หลังกลับมาจากการักษาตัวในโรงพยาบาล ภาพที่แล่นเข้ามาที่หัวในวันที่เหยียบระเบิดก็เป็นจริง ชีวิตของผู้พิการที่ยังคงต้องดิ้นรนทำกินตามวิถีต่อไปด้วยขาเพียงขาเดียว ออกหากินทำงานตามที่ร่างกายจะอำนวยให้  ต้องเอาท่อนไม้มาทำเป็นขาเทียมใช้ประทังไป สำหรับสิ่งที่เศร้าไม่ใช่การที่เขาต้องเสียขา แต่เป็นการสูญเสียอาชีพจากที่เคยเป็นเสาหลักของครอบครัว กลับต้องมาตกปลา และเลี้ยงชีพด้วยงานเล็ก ๆน้อยๆ 


จนกว่าหรัสจะมีขาเทียมชิ้นแรกเป็นของตัวเองก็ล่วงมานานหลังจากการเหยียบระเบิดมาได้ 1 ปี จากที่มีหน่วยแพทย์ทหารมาออกหน่วยเคลื่อนที่ ทำขาเทียมให้กับประชาชนในอำเภอน้ำยืน “เขาบอกใส่ไปนานนานก็จะชินเอง” แต่ขาเทียมที่แพทย์ทหารประกอบให้กลับนำไปสวมใส่ไม่ได้จริง ๆ ต้องกลับไปใช้ท่อนไม้เป็นขาเทียมประทังไปตามเดิม  หรัสเองก็ไม่ต่างไปจากผู้พิการในแปดอุ้มคนอื่น ๆที่ขาดโอกาสจะเข้าถึงขาเทียม  เพราะการจะทำขาเทียมต้องเดินทางเข้าไปทำถึงโรงพยาบาลในตัวเมืองอุบลราชธานี ไปตามนัดแพทย์หลายครั้งกว่าจะได้กว่าประกอบขาเทียมเสร็จ หลายคนได้ขาเทียมมาแล้วสวมใส่ไม่พอดีทำให้เกิดความเจ็บปวด ก็ต้องกลับเข้าไปในเมืองเพื่อประกอบใหม่ ทำให้ต้นทุนการจะมีขาเทียมเป็นเรื่องยากเกินเอื้อมถึง สำหรับคนในพื้นที่ห่างไกลจากอำเภอเมืองกว่า 120 กิโลเมตร อย่างพวกเขา                                                                          


หรัส สุทะนัง กำลังประกอบขาเทียม

“เวลาเห็นคนใส่ขาเทียมแล้วเดินได้ ใส่แล้วไม่เจ็บ มันมีแฮง” หรัสกล่าวขณะที่กำลังนั่งประกอบขาเทียม ท่ามกลางส่วนประกอบขาเทียมมากมายที่กองพะเนินอยู่ทั่ว อาคารชั้นเดียวริมถนน ที่ตั้งของ ศูนย์บริการขาเทียม อบต.โดมประดิษฐ์ เกิดจากที่ทางมูลนิธิชาติชาย ชุณหะวัณ ได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่แถบนี้ และเห็นถึงปัญหาของผู้พิการในพื้นที่ จึงได้มีโครงการที่หาคนในท้องที่ไปเรียนทำขาเทียม


เป็น หรัส ที่อาสาไปเรียน ด้วยหวังแค่จะกลับมาประกอบขาเทียมให้กับตัวเองสักชิ้น ถูกส่งไปอบรมทำขาเทียมกับมูลนิธิขาเทียมที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อจบการอบรมได้โอกาสออกหน่วยเคลื่อนที่ไปทั่วประเทศ ทั้งยังข้ามพรมแดนไปทำขาเทียมให้กับผู้พิการถึง มาเลเซีย กัมพูชา เมียนมาร์ ลาว จนได้กลับมาเป็นช่างประจำ ศูนย์บริการขาเทียมแห่งนี้ ทำขาเทียมฟรีให้กับประชาชนทั่วไปที่ต้องพิการจากการเหยียบทุ่นระเบิด รวมไปถึงผู้พิการจากสาเหตุอื่นๆ


“ช่วงนั้นคนเหยียบเยอะ แปดอุ้มก็ 30 ตำบลอื่นก็ 20 ทั้งหมดก็ประมาณ 50 คน อำเภออื่นๆอีกเยอะ  พอรู้ว่ามีกับระเบิดก็ต้องทำมาหากินไปตามประสา คนแถวนี้ไม่มีอะไรให้ทำ มันอยู่กับป่าก็ต้องหากินไปแบบนี้ แต่ก่อนมีปัญหาก็ต้องกลับไปปรับแก้ถึงในตัวเมือง อย่างเราไม่มีปัญญา”


จากผู้พิการมาสู่ผู้ช่วยเหลือ ทำให้ชีวิต หรัส กลับรู้สึกมีคุณค่าอีกครั้ง ความเข้าอกเข้าใจผู้พิการด้วยกับทำให้การประกอบขาเทียมของหรัสสามารถเหมาะกับคนพื้นที่จริง ๆ


“ขาเทียมบางแบบไม่เหมาะกับสภาพชีวิตของชาวบ้านที่ไปไร่ไปนาทำมาหากิน บางขาสวยอย่างเดียว ใส่ลงน้ำไม่ได้”


การประกอบขาให้กับคนในพื้นที่แตกต่างจากประกอบให้กับคนในเมือง ไม่ใช่แค่ประกอบให้สวยงาม สามารถเดินเหินได้อย่างสะดวก แต่ต้องประกอบให้แข็งแรงสามารถใช้สำหรับทำไร่ทำนาประกอบอาชีพได้ ขาเทียมมากกว่า 100 ชิ้นที่ผ่านฝีมือการประกอบของเขา และผู้พิการที่แวะเวียนเข้ามาซ่อมบำรุง ทำให้หรัส เรียนรู้ประสบการณ์การทำขาเทียม และชีวิตของผู้พิการด้วยกันมากขึ้น


“ถามคนไข้ว่าเป็นยังไงบ้างลุง ใส่สบายดีไม่เจ็บไม่ปวด เราก็ภูมิใจ  เพราะครอบครัวเขากับครอบครัวผมไม่ต่างกัน ผมเข้าใจว่าเขาต้องใช้ขาทำมาหากิน” 


ปล หมายเหตุ : ในภาพไม่ใช่งานแสดงที่ สถาบันปรีดีพนมยงค์ ตามที่ผู้เขียนบรรยายลงในบทความ (เพราะวันนั้นไม่ได้ถ่ายรูปมา)  แต่เป็นนิทรรศการลักษณะเดียวกันที่ หอศิลป์ g23 มศว.ประสานมิตร
การแสดงงานศิลปะขาเทียม /หมายเหตุ : ในภาพไม่ใช่งานแสดงที่ สถาบันปรีดีพนมยงค์ ตามที่ผู้เขียนบรรยายลงในบทความ (เพราะวันนั้นไม่ได้ถ่ายรูปมา) แต่เป็นนิทรรศการลักษณะเดียวกันที่ หอศิลป์ g23 มศว.ประสานมิตร

งานศิลปะ


ฌ สถาบันปรีดีพนมยงค์ กลางเมืองกรุง ขาเทียมเก่า ๆใช้มาแล้วอย่างสมบุกสมบัน มีเศษดินคราบปื้อนเกาะแกะ ถูกจัดแสดงเรียงรายทั่วห้องแสดงงานศิลปะ ขาเทียมที่จัดแสดงอยู่เหล่านั้นล้วนมาจากชายแดนอีสานใต้ ในผลงานที่ชื่อ “เย็บแผ่นดิน” ฝีมือของของ พิน สาเสาร์ ศิลปินชาวจังหวัดร้อยเอ็ด 


ในช่วงที่ เข้าศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยศิลปกร พิน มีความสนใจศึกษาเกี่ยวกับความประวัติศาสตร์ขัดแย้งตามแนวชายแดน ในยุครัฐสมัยใหม่  จนเริ่มคิดโปรเจคทางศิลปะเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนระหว่างคนสองฝั่งชายแดน ด้วยสิ่งของไม่ได้มีคุณค่าในระบบตลาดแบบทุนนิยม จนได้ผุดโครงการให้มีการแลกเปลี่ยนให้ชาวบ้าน 2 ฝั่งไทย - ลาว นำซึ้งข้าวเหนียวมาแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งซึ้งข้าวเหนียวเป็นเหมือนสัญญลักษณ์ของการเจริญเติบโต เลี้ยงผู้คนสองฝั่งโขงด้วยข้าวเหนียว



พิน สาเสาร์ ศิลปินชาวจังหวัดร้อยเอ็ด ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน “เย็บแผ่นดิน”

พอคิด ๆไประหว่างไทยกับลาวก็ไม่ได้มีความขัดแย้งอะไรกันมากมายในโลกสมัยใหม่เลยลองเปลี่ยนมาศึกษาชายแดนทางเหนือ ได้มีโอกาสได้เดินทางสำรวจ เส้นทางในอำเภอแม่สอดจังหวัดตาก จนได้เจอกับวัฒนธรรมกระเหรี่ยง ที่ถูกกดทับด้วยวัฒนธรรมส่วนกลาง


“ได้เข้างานวันชาติกระเหรี่ยง KNU ที่สู้กับรัฐบาลพม่า ทหารที่เข้ามาร่วมเข้าใส่กางเกงขายาว แต่เวลาเดินทำใมเดินแปลกๆ เลยพบว่า อ่อเขาขาขาดจาการเหยียบกับระเบิด ที่มีอยู่เต็มชายแดนฝั่งนั้น”


บาดแผลของชายแดนที่เกิดจากทุ่นระเบิดเริ่มสะกิดความสนใจของเขา แต่กาจะเข้าไปทำงานกับกระเหรี่ยง KNU นั้นเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย  จนเริ่มหันกลับมาสนใจชายแดนอีสานใต้ที่มีชายแดนติดต่อกับกัมพูชา


“ในรัฐสมัยใหม่เป็นสองประเทศที่กระทบกระทั่งทางอาวุธมากกมายนับตั้งแต่หลังสงครามโลกเป็นต้นมา ยิ่งไปค้นเจอว่าช่วงปี 2554 ความขัดแย้งเรื่องเขาพระวิหาร มีคนเสียชีวิตบาดเจ็บล้มตายทั้งสองฝ่ายไม่ใช้น้อย ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และชาวบ้าน ยิ่งค้นยิ่งเจอทัศนคติที่เหยียดหยาม กระทบกระทั่งทางความคิดกัน ของคนสองชาติ แต่คนในพื้นที่ต่างเบื่อหน่ายเข็ดขยาด เขาเกิดอยู่แถวนั้น หากินอยู่แถวนั้นอันตรายแค่ไหนเขาก็ต้องอยู่”


พินเริ่มจากการเดินทางลัดเลาะสำรวจไปตามแนวตะเข็บชายแดนไทย -กัมพูชา ตั้งแต่จังหวัดสระแก้วมาจนถึงอุบลราชธานี เพื่อเรียนรู้วิถีความเป็นไปต่าง ๆของผู้คน 2 ฝั่งชายแดน เก็บข้อมูลต่าง ๆ จนมาพบว่าตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน มีคนขาขาดจากการเหยียบกับระเบิดมากที่สุด เช่นเดียวกับอำเภอจอมกระสาร ฝั่งกัมพูชาที่มีผู้ประสบเหตุจำนวนมากไม่ต่างกัน และเป็นพื้นที่ที่มีสัญจร ค้าขายติดต่อ ผู้คนต่างเป็นเครือญาติกันไปมาหาสู่กันตลอดเวลา ไม่ได้ถูกแบ่งแยกด้วยเขตแดนทางกายภาพ ความขัดแย้งและสงครามเป็นเหมือนบาดแผลที่พวกเขาต้องร่วมกันเผชิญ



ขาเทียมแบบใหม่ พร้อมลวดลาย ที่สร้างจากฝีมือของผู้พิการ

จึงเกิดเป็นโครงการ เย็บแผ่นดิน ของพิน ที่ยังคงใช้รูปแบบของการแลกเปลี่ยนสิ่งของเป็นแกนหลัก โดยเป็นการนำขาเทียมใหม่ไปแรกขาเทียมเก่าของชาวบ้านทั้งในอำเภอน้ำยืนและอำเภอจอมกระสาร มีช่างทำขาเทียมมืออาชีพเป็นผู้ประกอบให้ ซึ่งหรัสก็ได้มีส่วนร่วมในการประกอบขาเทียมในโครงการนี้ ส่วนขาเทียมเก่าของชาวบ้านจะถูกนำไปจัดแสดงเป็นงานศิลปะ

ใช้ศิลปะเข้ามาเยียวยาบาดแผลในจิตใจ


ด้วยการให้ผู้พิการได้ลองวาดเขียนออกแบบรวดลาย ลงบนขาเทียมใหม่ของตัวเอง โดยมีกลุ่มนักศึกษาด้านศิลปะอาสามาเป็นพี่เลี้ยงช่วยเหลือผู้พิการออกแบบลวดลาย และขั้นตอนการพิมพ์ภาพที่วาดมาลงไปผ้าใบ ประกอบลงไปในขาเทียม ขาเทียมมากกว่า 100 ชิ้น ถูกเปลี่ยนตลอดการโครงการเย็บแผ่นดิน ทั้ง 3 ครั้ง เป็นที่จอมกระสาร 2 ครั้ง และน้ำยืนอีก 1 ครั้ง เป็นเหมือนการเยียวยาบาดแผลที่เกิดขึ้น ทั้งทางกายภาพจากการได้ทำขาเทียมชุดใหม่ และทางจิตวิญญาณผ่านกระบวนการทางศิลปะ ที่เกิดจากความร่วมมือของผู้คนมากกมายหลายภาคส่วนข้ามเส้นแบ่งเขตแดนของรัฐชาติสมัยใหม่


“ชาวบ้านได้ขาเทียมใหม่ เราก็ได้ขาเทียมเก่ามาเป็นวัสดุศิลปะไปจัดแสดง เพื่อสะท้อนถึงความขัดแย้งของสงครามที่เกิดขึ้น กระตุ้นเตือนว่าเมื่อเกิดความขัดแย้ง คนที่ได้รับความเดือดร้อนที่สุด็คือคนชายแดน โดยเฉพาะพิษภัยที่มองไม่เห็นคือทุ่นระเบิด แม้สงครามจะเลิกไปนานแล้วแต่มันยังเป็นมนตยูที่รอคนโชคร้าย โดยไม่เลือกฝ่าย”



เยา ซัน ชาวอำเภอจอมกระสาน กัมพูชา กำลังใช้ขาเทียมใหม่ที่เป็นหนึ่งในโครงการ'เย็บแผ่นดิน' โดยที่ขาเทียมเก่าจะถูกนำไปจัดแสดงงานศิลปะ

___________________________________________________________________________________________

สามารถติดตาม The Isaander ได้ในหลายช่องทางดังนี้


เว็บไซต์ www.theisaander.com


เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/theisaander/


อินสตาแกรม www.instagram.com/theisaander


ทวิตเตอร์ twitter.com/TIsaander


ไมลด์ www.minds.com/theisaander


บล็อกดิต www.blockdit.com/pages/5ece3fc23a6af2483f799581




247 views0 comments

Comentarios


bottom of page