top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

Isan Sonata : จากเบื้องหน้า สู่เบื้องหลัง เพื่อนำไปสู่กระบวนการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ความจริง

Updated: Feb 6, 2023

Text: อัยการ ศรีดาวงศ์

ยามบ่ายท่ามกลางท้องฟ้าที่ปลอดโปร่งที่มาพร้อมกับอากาศที่เย็นสบายใต้แสงแดดเหิ่มๆคล้ายกับพึ่งจะถูกเปลี่ยนผ่านจะแดดอ่อนมาไม่นานและยังไม่ทันแก่ดี ของวันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม 2565 อันเป็นระยะเวลาก่อนวันสิ้นปีเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้นเอง ณ ห้องออดิทอเรียม ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC ขอนแก่น ได้มีการจัดแสดงภาพยนตร์ที่มีชื่อว่า ‘Isan Sonata ตามรอยอารยธรรมลุ่มน้ำชี’


ใต้ตึกรูปทรงแปลกตาข้างโรงพยาบาลศรีนครินทร์ บริเวณหน้าห้องออดิทอเรียมก็ได้มีการประดับโปสเตอร์ของหนังที่หน้าห้องประกบคู่กับแผ่นโปสการ์ดของภาพยนตร์ที่แจกฟรีพร้อมข้าวโพดคั่วเนยที่เราเรียกกันอย่างติดปากว่า Pop corn โดยมีสาวที่นั่งอยู่โต๊ะลงทะเบียนคอยเชื้อเชิญผู้มาร่วมงานให้ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม และเมื่อสังเกตให้ดีในภายหลังจะพบว่า หญิงสาวที่โต๊ะลงทะเบียนนั้น ก็เป็นหนึ่งในนักแสดงตัวเอกของเรื่อง รวมไปถึงผู้รับผิดชอบในด้านต่างๆ ล้วนแต่เป็นนักแสดงภายในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวทั้งสิ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยแต่ละคนต่างก็กระจายตัวอยู่กับคู่สนทนาบ้าง โดดเดี่ยวและเคลิบเคลิ้มกับมวนบุหรี่ หลังจากติดตั้งอุปกรณ์เสร็จเรียบร้อย เพื่อรอเวลาที่ภาพยนตร์จะเริ่มฉาย ...


หลังจากการจัดแสดงภาพยนตร์จะมีการเสวนาหลังจากรับชมภาพยนตร์เพื่อเป็นการขยายภาพทั้งในเชิงข้อมูลและสัญญะบางอย่างที่ปรากฏในภาพยนตร์ให้เด่นชัดยิ่งขึ้น


ภาพยนตร์ ‘Isan Sonata ตามรอยอารยธรรมลุ่มน้ำชี’ เป็นภาพยนตร์สารคดีชุด ความยาว 97 นาที ผลงานภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับทุนสนับสนุนในการจัดสร้างและจัดแสดงภาพยนตร์จาก กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ Thai media foundation


Isan Sonata นี้เองก็ได้ วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์ เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ และ Ziziphus studio มาเป็นผู้อำนวยการสร้าง โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวของคนกลุ่มหนึ่งที่เดินทางไปตามเส้นทางของ “แม่น้ำชี” ที่ไหลผ่าน 9 จังหวัดในภาคอีสาน ภาพยนตร์สารคดีชุดนี้ ถูกจัดสร้างขึ้นด้วยความเพียรและตั้งใจที่จะถ่ายทอดให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น, สภาพแวดล้อมทางสังคม และร่องรอยทางอารยธรรมของผู้คนบริเวณแถบลุ่มแม่น้ำชี



(สามารถรับชมย้อนหลังได้ ‘ฟรี’ ทาง Youtube โดย search คำว่า “Isan Sonata” โดยจะมีทั้งหมด 9 Chapter ด้วยกัน)


หลังจากการฉายภาพยนตร์ได้จบลงไปนั้น ทางตัวแทนทีมผู้สร้าง Isan Sonata ตั้งแต่ช่างกล้อง ช่างเสียง ผู้กำกับ ซึ่งทั้งหมดนั้นก็เป็นทั้งทั้งเบื้องหลังและเบื้องหน้าของการถ่ายทำก็ได้ขึ้นมาพูดคุย บอกเล่า และแลกเปลี่ยน รวมไปถึงอธิบายที่ไปที่มาของโปรเจ็ค Isan Sonata โดยมี แน็ค วีรววรธ สมนึก จาก The Isaander เป็นผู้ดำเนินวงพูดคุย


หลังจากจัดแจงที่นั่งและยื่นไมค์กันไปมาผู้ดำเนินรายการจึงได้ถามคำถามแรกกับ อั๋น วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์ ในฐานะผู้กำกับว่า ด้วยชื่อว่า ‘Isan Sonata ตามรอยอารยธรรมลุ่มน้ำชี’ อยากทราบว่า ก่อนที่จะทำเรื่องนี้ ไปเจออะไรมาก่อน?

อั๋น ซึ่งนั่งถัดจากพิธีกรที่อยู่ซ้ายสุดของฝั่งผู้ชม ในชุดสบายๆกางเกงขายาวเขียวขี้ม้าอ่อนๆ ผมดำขลับ ไว้เคลา บนเก้าอี้ทรงสูง เหมือนกำลังครุ่นคิดอยู่สักครู่จึงตอบคำถามมาว่า


ก็จะมีช่วง ทำสารคดีเกี่ยวกับมานี มานะ ที่เขียนโดยคุณครรัชนี ศรีไพรวรรณ ซึ่งเป็นวรรณกรรมเยาวชน ผมก็ไปสำรวจ ก็ไปเจอซากกองอิฐ มันเริ่มมาจากตรงนั้น.. ที่กาฬสินธุ์ ซึ่งมันไปสอดคล้องกับที่ลพบุรี แล้วเขาเรียกกองหินที่อยู่กาฬสินธุ์ว่า ศิลปะแบบลพบุรี


พอผมไปค้นเพิ่มเติมก็คือ ก็เลยเจอว่ามันเกี่ยวข้องกัน เป็นซากอารยธรรมขอม

โดยผู้ดำเนินรายการได้อธิบายเสริมอีกว่า นอกจาก อั๋น วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์ จะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์แล้วยังมีงานเขียนที่ถูกตีพิมพ์ลงในสื่อออนไลน์อย่าง The Isaan Records ซึ่งจะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับที่ไปที่มาของ Isan Sonata


หลังจากนั้นผู้ดำเนินรายการจึงถามต่อไปยังชายสวมแว่นผมยาวประบ่าที่นั่งอยู่ขวาสุดหากมองจากผู้ชม โดยผู้ดำเนินรายการได้ขานนามของเขาว่า “คามาโช่” หรือ กฤษณ์ ศรีวิชา ผู้กำกับภาพ


ในฐานะที่เป็นหนึ่งในทีมงาน แล้วก็ร่วมงานกับพี่อั๋นมานาน อยากจะถามว่า อะไรที่ทำให้เชื่อมั่น ว่าจะสามารถข้ามเรื่องราวต่างๆที่เป็นอุปสรรค์ในงานของเราได้ อะไรทำให้พี่มั่นใจในตัวเองครับ?


เสียงขำแห้งๆบนใบหน้าอันยิ้มแย้มของช่างภาพอย่างชายที่ชื่อว่า คามาโช่ ก็ดังขึ้นเพื่อตอบต่อคำถามก่อนจะด้วยน้ำเสียงเรียบๆว่า ก่อนอื่นก็ต้องยกเครดิตให้ ผู้กำกับครับ เพราะเขาสามารถคิด Concept ในงานของเขา Manage และควบคุมการถ่ายทำได้เป็นอย่างดี


ส่วนตัวผมที่ถ่าย ก็คือเราเลือกอุปกรณ์ที่มันเหมาะสมกับการถ่ายทำ กับการทำหนังเรื่องนี้ ให้มันเหมาะสมที่สุดแล้วก็ใช้คนให้น้อยที่สุด แต่ว่าไม่ใช่แบบกองโจร ทว่ามันเป็นการ Design ขนาด แล้วลดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจากการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ทั้งหมด..


หลังจากฟังบอกเล่าจากหัวหน้าทีมกำกับภาพ ผู้ดำเนินรายการจึงถามต่อไปหัวหน้าทีมกำกับเสียงอย่าง กอล์ฟ ว่า ในฐานะผู้กำกับเสียงและผู้แสดง... Symbol ของหนังเรื่องนี้ที่ฉายไปเมื่อสักครู่ มันมีตัวไหนที่บ่งชี้ว่า อันนี้มันเป็นงานของ วิชชานนท์

กอล์ฟ หรือ ยิ่งยง วงค์ตาขี่ กำกับศิลป์/นักแสดง ชายผมสั้นสวมแว่นที่นั่งอยู่ติดกันกับผู้กำกับอั๋น จึงได้ตอบขึ้นมาอย่างกระชับว่า “ตอบยากครับ..”


ก่อนจะกล่าวต่อไปอีกว่า “แต่ว่า เท่าที่เคยทำงานกับพี่อั๋นมา แล้วก็รูปแบบที่จะเหมือนกับงานก่อนๆ ก็จะเป็น หนังสือ ในการทำหนังสือ ตรงนี้แหละ.. ใช่ไหมพี่?” โดยกอล์ฟ ได้หันไปถามอย่างลังเลใจกับผู้กำกับอั๋น


ผู้ดำเนินรายการจึงถามต่อไปว่า คือเริ่มจากหนังสือก่อนใช่ไหมครับ แล้วค่อยไปตามหาเรื่องราวที่มันอยู่แวดล้อม ใช่ไหมครับ?

กอล์ฟตอบอย่างไม่มั่นใจและติดตลกว่า “ใช่ครับ..คือผมนั่งข้างพี่อั๋นแล้วผมค่อนข้างจะตอบยากหน่อย.. เดี๋ยวไม่ถูกใจเขา..” ก่อนจะกลับเข้าเรื่องว่า “โอเค เท่าที่ผมรู้สึกว่า ถ้าเกิดว่าทำงานแล้วออกมาแล้วมีความเป็น วิชชานนท์ ในนั้น หลักๆ จะมีอยู่สองชิ้น ถ้าไม่กรอบรูปก็โปสเตอร์ ถ้าไม่โปสเตอร์ก็จะเป็นหนังสือครับ..”


แล้วก็จะเป็นคือจริงๆมันก็จะไม่มีจริงนะ ทุกอย่างเลย แม้แต่โปสเตอร์ที่ตัวละครตื่นขึ้นมาแล้วก็มองในทีวี ตัวนั้นเราก็ทำขึ้นมาใหม่ คือไม่ได้เอามาจากพิพิธภัณฑ์ หรือว่าไม่ได้เอามาจากรูปแบบไหนเลย คือทำขึ้นใหม่ แม้กระทั่งตัวหนังสือ Isan Journal ก็ไม่มีจริงครับ อันนั้นเราก็ทำขึ้นมาใหม่ ครับ.. ประมาณนั้น”


ผู้ดำเนินรายการจึงถามคำถามไปยังชายในเสื้อแขนยาวลายตาราง กางเกงยีนส์ขาดเข่า ผมสั้นใส่แว่นตาที่นั่งอยู่กึ่งกลางห้องที่ถูกเอ่ยนามว่า “ซุปเปอร์” เกียรติพงษ์ ลงเย นักแสดง/ผู้ช่วยช่างภาพ


“ผมขอถามพี่ซุปเปอร์ต่อ ก็คือว่า พี่ซุปเปอร์จะปรากฏตัวในตอนแรกของหนังเรื่องนี้เลย โดยเริ่มจากจังหวัดชัยภูมิ แล้วไล่มานครราชสีมา แล้วก็มาสู่ขอนแก่น ก็จะเป็น 3 Ep แรกหากใครดูใน Youtube ก็อยากจะถามพี่ซุปว่า มีวิธีในการแสดง แล้วก็วิธีเตรียมตัวเข้าฉากยังไงบ้างครับ?”


พี่ซุปเปอร์ ที่ปรากฏตัวในมาดเสื้อแขนยาวพับแขนอันเป็นชุดตัวเดียวกันที่ใช้ถ่ายทำในภาพยนตร์ จึงตอบด้วยน้ำเสียงเนิบช้าและเรียบเฉยว่า


“ไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลยครับ คือ.. ตอนแรกก็มีบทมา ผมก็อ่านซึ่งก็มีบทพูดมีอะไรอยู่.. พอใกล้ๆจะเริ่มถ่าย ผมก็รู้สึกว่าเดี๋ยวพี่อั๋นก็น่าจะเปลี่ยนก็เลยไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลยครับ ก็คือแกบอกแค่ว่า ผมจะเป็นนักสำรวจอะไรบางอย่าง ก็คือให้ผมไป Improvise เอาเลยว่านักสำรวจมันควรจะ..ยังไง


ผมก็เลยมองซ้ายมองขวาตลอดเวลาเลยครับ” ก่อนที่ซุปเปอร์จะขำแห้งๆและผู้ดำเนินรายการจะกล่าวต่อไปว่า “ทีนี้ผมจะถามคุณสมานะครับ ว่าในฐานะที่ก็คือหนึ่งในทีมงาน แล้วก็เป็นผู้จัดการกลายๆด้วย ในการที่จะต้องเดินทางเหมือนกัน เข้าใจว่าทั้ง 9 จังหวัดก็จะมีสิ่งที่เหมือนและแตกต่างกันพอสมควร สิ่งที่คุณเห็นในภูมิทัศน์ของหนังเรื่องนี้ คิดว่าใน 9 จังหวัดที่ผ่านมามันมีอะไรคล้ายคลึงกันบ้างไหม?”


ชายผู้ปราศจากแว่นบนใบหน้าในเสื้อแขนสั้นกางเกงคลีมรองเท้าแตะที่นั่งถัดจากพี่ซุปเปอร์ ที่ถูกขานนามออกมาว่า “สมา” สมานฉันท์ พุทธจักร จึงได้ตอบมาอย่างฉะฉานว่า


“ก็รู้สึกว่า มันก็ยากในการเดินทางถ่ายทั้ง 9 จังหวัด แต่ว่าในความที่มันเหมือนกันก็คือความ Modern คือผังเมืองจะมีความคล้ายคลึงกันมาก อย่างจังหวัดยโสธร ร้อยเอ็ด เนี่ยแทบจะเป็นเมืองเดียวกันเลย ไม่ว่าจะเป็นขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ผังเมืองล้วนแต่ถูก Design โดยส่วนกลางไว้หมดแล้ว คือมันไม่ต่างกันมากในตัวเมือง ต่างกันด้านความเจริญ แต่ว่าร่องรอยที่เราไปเห็น มันก็มีความแตกต่างในเรื่องร่องรอยของความเป็นลาว ความเป็นเขมร มันก็ทับๆซ้อนๆกันมา ตัวเราก็อยู่ในรัฐไทย แล้วก็อยู่ซ้อนกันไปในทีความเป็นล้านช้าง อยู่ซ้อนกันไปในความเป็นขอม มันก็จะเห็น layer ของแต่ละจังหวัดไปเรื่อยๆ ผ่านการสำรวจของกล้องของพี่ซุป อะไรอย่างนี้อ่ะครับ..”


“โอเค ขอบคุณครับ..” ผู้ดำเนินรายการตอบก่อนจะกล่าวต่อไปว่า “ทีนี้อยากจะถามน้องพลอย หญิงสาวหนึ่งเดียวในที่นี้ว่า จากวันแรกที่เข้ามาแคช แล้วก็ได้มาเป็นนักแสดงแล้วก็เป็นทีมงาน ส่วนตัวแล้วชอบฉากไหนเป็นพิเศษบ้าง?”


(ผู้เข้าร่วมในกิจกรรมดูภาพยนต์เรื่อง Isan Sotana และกิจกรรมเสวนาพูดคุย)


“ฉากในละครเหรอคะ เอ้ยฉากในหนัง?” หญิงสาวเพียงหนึ่งเดียวของวงพูดคุยจึงได้เอ่ยถามก่อนที่ผู้ดำเนินรายการจะขานรับว่า “ใช่ครับ..”


หนึ่งในนักแสดงและหญิงสาวเพียงคนเดียวในภาพยนตร์ “พลอย” จิตรพร ลีรัตนเลิศ นักแสดง

หญิงสาวในเสื้อคลุมสีขาวกางเกงสีดำสวมแว่นตาโตที่เป็นผู้ที่นั่งอยู่โต๊ะลงทะเบียนก่อนหน้าที่ภาพยนตร์จะฉายจึงได้เอ่ยต่อมาว่า


“ชอบฉากที่ตัวละครแบบว่า ไปตามซากอารยธรรม ที่แบบเดินไปตามปรางค์กู๋ของแต่ละจังหวัด เพราะว่าในลุ่มแม่น้ำ ซึ่งเราถ่ายเกี่ยวกับแม่น้ำชี แต่ว่าเราไม่ได้แบบว่าเดินถ่ายตามแม่น้ำอย่างเดียว แต่ว่าเราถ่ายตามแบบโดยรอบด้วย..”


“โอเคครับ ทีนี้ผมจะมีคำถามสุดท้าย ให้คนละหนึ่งคำถาม ก่อนที่จะเปิดโอกาสผู้ฟังได้ลองร่วมแลกเปลี่ยนกัน..” ผู้ดำเนินรายการได้กล่าวไว้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นกระชับเวลาเพราะยังมีการเสวนาที่ยังไม่ทันเริ่มรออยู่นั่นเอง


“ทีนี้คำถามแรกเลย สำหรับพี่อั๋น..” ผู้ดำเนินรายการบ่ายหน้าไปหาผู้กำกับอั๋น ก่อนจะเอ่ยขึ้นว่า “พี่เคยบอกว่า ภาพยนตร์ศิลปะมันเวลาของมัน มันมีช่วงของมัน จะหนึ่งปี สองปี ก็ว่าไป แต่สำหรับเรื่อง Isan sonata นี้พี่คิดว่า เป้าหมายสูงสุดของพี่คืออะไรครับ?”


“ลูกโลกทองคำครับ ฮ่าๆ..” ผู้กำกับอั๋นตอบอย่างติดตลกก่อนจะกล่าวต่อไปว่า “คือจริงๆผมมีโปรเจกต์งานชิ้นหน้าที่เราจะทำ ก็คือว่า เรียกมันว่างานชิ้นก่อนก็พูดได้ ซึ่งจริงๆผมก็วางแผนไว้ก่อนว่าจะทำ แต่ก็เหมือนกับว่ามันไม่สามารถที่จะเดินไปต่อได้ ผมเลยได้ใช้วิธีการแก้ไขเฉพาะส่วน เฉพาะจุดบางจุดเพื่อให้มันเชื่อมโยงกัน ซึ่งในท้ายที่สุดมันเกิด Essay ขึ้นมาก็รู้สึกว่ามันแปลกดี”


อย่างการที่ผมไปปรากฏตัวในหนังมันก็ได้ช่วยแก้ปัญหา แทนที่จะใช้ตัวประกอบเป็นโปรดิวเซอร์แทน ผมก็เป็นแทนเสียเลย..

“คือสุดท้ายแล้วพี่อั๋นจะบอกว่า หนังมันสมบูรณ์แบบในตัวมันเองอยู่แล้วใช่ไหมครับ?”


“จริงๆ ก็ไม่ถึงกับขนาดนั้นครับ ที่ผมคิดคือมันน่าจะจบตั้งแต่ตอนที่เจ็ด แต่ว่ามันก็มีส่วนที่เขาเรียกว่าส่วนสุดท้ายเพิ่มเข้ามา ซึ่งจริงๆแล้วแบ่งเป็นสี่ส่วน แบบ Sonata ซึ่งในส่วนสุดท้ายก็มีผู้กำกับออกมาเพื่อพูดถึงตัวหนัง แต่ว่ามันจะเป็นลักษณะแบบถึงๆ Realism ถึงๆ..”


ผู้ดำเนินรายการจึงถามคำถามต่อไปกับหัวหน้าทีมกล้องอย่าง คามาโช่ ว่า

“ความท้าทายของหนังเรื่องนี้ มันต่างจากสารคดีที่เคยทำมาก่อนหน้านี้บ้างไหมครับ”


บรรยากาศเต็มไปด้วยความสงัดเงียบเพียงชั่วครู่ก่อนที่หัวหน้าทีมภาพอย่างคามาโช่จะเริ่มตอบคำถามโดยมีใจความว่า “ก็เรื่องของการ Design ด้านภาพ อั๋นเขาจะเริ่มใช้วิธีการ รวบ-คัท ซึ่งเราก็ต้องตามจังหวะอารมณ์ของหนังตอนถ่ายให้ทัน เพราะว่าเหตุผลหนึ่งก็คือ เราใช้เวลาหมดไปกับการเดินทางเสียส่วน เวลาการถ่ายทำจึงจะน้อย ตามจังหวะซีน แล้วก็คัทต่อคัท ก็จะยาก ซึ่งสามารถสังเกตได้ในภาพยนตร์เลยก็คือ มันยาวเหมือนเราถ่ายวิดีโอขนาดยาวหรือกิจกรรมอะไรบางอย่าง ซึ่งมันต้อง ใช้วิธีการก็คือ หนึ่งซีนเราจะรวบคัท เพื่อให้มันทำงานและ

เล่าเรื่องดีที่สุด.. ครับผม”


“โอเค งั้นขอพี่กอล์ฟถามอีกรอบนะครับ สำหรับหมวดศิลป์ ว่าการทำงานในครั้งนี้ ทั้งในฐานะนักแสดงด้วยและก็เป็นคนที่ทำ Art ด้วย มันมีสิ่งที่ได้เพิ่มเติมเข้ามาไหมครับ จากที่เคยทำมาก่อนหน้านี้สำหรับงานภาพยนตร์”


“สำหรับสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามา..” น้ำเสียงที่ออกจากปากของหมวดศิลป์อย่างกอล์ฟ อุดมไปด้วยความครุ่นคิด ก่อนจะกล่าวต่อไปว่า “สำหรับโปรเจคนี้มันคือการ ได้อยู่กับทีมงาน ซึ่งเราก็แบบว่าแทบจะกินนอนด้วยกัน อยู่ด้วยกันเลย ไปไหนคือไปด้วยกันหมดเลย เอาจนแบบว่าเบื่อขี้หน้ากันเลยหละครับ..”


“แต่ว่าอีกสิ่งหนึ่งที่ทำโปรเจคนี้แล้วรู้สึกว่าแตกต่างก็คือว่า ทุกคนถูกเลือกมาให้ทำหน้าที่ที่เหมาะสมกับตนเองที่สุดแบบว่าคนนี้เหมาะกับตรงนี้ๆๆไปเลย..”


เหมือนกับว่าพี่อั๋นอ่ะครับ เขาเป็นผู้กับหนังใช่ไหมครับ.. เขาก็จะมองว่าใครเหมาะสมกับตำแหน่งไหนๆ ทีนี้ทุกอย่าง ไม่มีการซ้อม อย่างเช่นซุปเปอร์ บอกให้เดิน บอกให้พูดอะไรแบบเนี้ย มันก็จะเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ถ้าเกิดว่าเราไม่มีพื้นฐานด้านการแสดง หรือว่าไม่มีพื้นฐานของการถ่ายภาพ หรือไม่มีพื้นฐานของการทำ art direction หรือว่าการกำกับศิลป์อะไรอย่างเงี้ย เราจะ ‘ช็อค..’


เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นตอนนั้น แล้วมันก็เปลี่ยนไปตาม การที่เราจะแก้ปัญหากัน..” ก่อนที่หมวดศิลป์จะมองไปยังผู้กำกับและแสยะยิ้มออกมาพร้อมเสียงหัวเราะอย่างเอร็ดอร่อย


“คือพอมันผ่านไปสักจังหวัดนึง.. ก็จะเริ่มชินกับภาวะแบบนี้ถูกไหมครับ? แบบว่าจังหวัดโคราชเป็นแบบนี้ จังหวัดต่อไปก็น่าจะมีภาวะแบบนี้ ถูกไหมครับ?” ผู้ดำเนินรายการถามต่อ


“ใช่ครับ เพราะว่าในส่วนของบท ผมไม่ได้บอกว่าบทเขียนอย่างนึงแล้วทำอย่างนึงนะครับ แต่ในความเป็นไปได้ที่มันจะออกมาดี หรือ ความเป็นไปได้ที่มันจะออกมาแล้วเรารู้สึก ‘เอ้อ..’ มันจะมีความเปลี่ยนแปลง.”


“อย่างเช่นตอนแรกนักแสดงไม่เดินอ่ะ มีมอไซค์ หรืออาจจะเป็นรถยนต์ แต่พอมาคุยกันใหม่ก็จะเป็นอีกแบบนึง..”

วิทยุคลื่นแทรกจึงดังมาจากพี่ซุปเปอร์ว่า “มอเตอร์ไซค์ฮ้างหลายกะบอกล้าขับเว้ย เบรคหน่ากะบอมี..”


“อ่า.. อะไรอย่างเงี้ย” กอล์ฟกล่าวเสริม “เพราะว่าเช่ามอไซค์มา แต่ไอ้นี่ (พี่ซุปเปอร์) ขับไม่เป็น.. มันจะมีอะไรประมาณนี้อ่ะครับ”

“กะรถมันบอมีเบรก..” พี่ซุปเปอร์ก็กล่าวสำทับไปอีกหนึ่งคำรบ


“โอเคพี่ซุปต่อเลยแล้วกัน มีความคิดเห็นยังไงกับการแสดงในโปรเจคนี้บ้างครับ?” ผู้ดำเนินรายการได้ถามต่อไปยังพี่ซุป

หลังจากครุ่นคิดคำตอบอยู่ชั่วครู่พี่ซุปกล่าวออกมาอย่างเรียบๆว่า “ผมว่า ผมก็ไม่ได้แสดงนะครับ..”


เพียงชั่วเคี้ยว Pop corn แหลกบรรยากาศในห้องโถงก็อุดมไปด้วยมวลของรอยยิ้มที่ฉาบแต้มบนใบหน้าที่คละคลุ้งไปด้วยเสียงหัวเราะเบาๆ โดยพี่ซุปเปอร์ก็เล่าต่อไปอีกว่า “ก็คือมันก็เป็นตัวผมอ่ะครับ”

‘ชุดนี้ก็ชุดเดิมเลยเหรอ?’ เสียงคำถามปริศนาจากห้องโถงส่งมอบเข้ามาก่อนที่ผู้คนจะทันสังเกตว่าใช่จริงๆ

“ชุดนี้ก็ชุดในหนังครับ เหมือนในปกที่เล่นเพลงในหนังด้วยครับ” พี่ซุปเปอร์กล่าวอย่างธรรมดาๆ

“สิ่งที่ปรากฏในหนัง เป็นตัวพี่เองเลยใช่ไหมครับ?”

“ใช่ครับ”

“ทั้งท่าทาง การพูด ทุกสิ่งทุกอย่าง?”

“ครับ.. ไม่ได้ไป Medtod Acting อะไรทั้งนั้นครับ ตัวผมเองครับ..” พี่ซุปเปอร์กล่าวก่อนที่จะพับไมค์ลงให้คนต่อไป


“โอเคครับพี่ ทีนี้ผมอยากจะถามสมา ต่อเลยแล้วกันว่า วิธีที่จะดูหนังเรื่องนี้ให้มันเข้าถึงอารมณ์ ทั้งเข้าถึงศิลปะอะไรต่างๆ มันจำเป็นต้องเป็นคนอีสานหรือเป็นคนในพื้นที่ 9 จังหวัดนี้ไหมครับ?” ผู้ดำเนินรายการจึงเริ่มเปลี่ยนไปถามสมา


“ผมคิดว่าก็ไม่จำเป็นครับ ผมก็ดูไม่รู้เรื่องเหมือนกัน..” สมากล่าวอย่างติดตลกก่อนจะเล่าต่อไปว่า

“พูดถึงว่ามันเป็นหนังที่เป็นการตั้งคำถาม ผมรู้สึกว่า แต่ก่อนผมอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับการเดินทางของพวกฝรั่งเศสที่เข้ามาสำรวจอารยธรรมของเรา แล้วก็เอาไปเขียน สำรวจแม่น้ำโขง สำรวจขอมสำรวจพื้นที่ลาว อะไรทำนองนี้”


“คือตัวเราทำหนังมันก็เหมือนการเอามาสำรวจ สำรวจชีวิตตัวเอง สำรวจว่าที่ที่เรายืนอยู่นี้ มันมีอะไรทับซ้อนอยู่บ้าง ซึ่งก็ผ่านการบันทึก ผ่านกล้อง ผ่านตัวหนังสืออะไรอย่างนี้ครับ”


“จริงๆมันไม่ได้ถึงขนาดว่าเราต้องเป็นคนอีสานนะครับ แต่ว่ามันน่าจะเป็นหนังที่ออกจะสากลระดับหนึ่งครับ แค่พูดลาวเฉยๆแต่ว่าออกไปทางสากลในระดับนึงครับ..” สมากล่าวก่อนที่จะส่งไมค์ต่อให้กับผู้ดำเนินรายการ


“สุดท้ายต้องถามน้องพลอยต่อนะครับว่า จากที่ได้ร่วมงานกับหนังเรื่องนี้ เรามองเห็นแม่น้ำชี หรือว่า อารยธรรมขอม ในมุมมองที่เปลี่ยนไปไหมครับ?” ผู้ดำเนินรายการจึงถามไปยังหญิงสาวเพียงหนึ่งเดียวในภาพยนตร์ก่อนที่เสียงอันอ่อนนุ่มแต่กังวารด้วยเครื่องขยายเสียงจึงเอ่ยออกมาอย่างประหม่าเล็กน้อยว่า


“ก่อนหน้านี้ก็คือ หนูไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับแม่น้ำชีเลยค่ะ..แล้วพอได้ทำโปรเจคนี้ก็ ไม่ได้หาความรู้เพิ่มด้วย ไปแบบไม่ได้พกความรู้อ่ะค่ะ เลยทำให้เราได้เจอสิ่งที่น่าสนใจอยู่หน้างานเลยค่ะ แล้วก็เจอมุมมองใหม่ๆต่อแม่น้ำชีด้วย เช่น พี่อั๋น ก็จะพาไปทัวร์พวกอารยธรรมขอมแล้วก็ไปดูวิถีชีวิตชาวบ้านที่อยู่รอบๆแม่น้ำชีอ่ะค่ะ ซึ่งก็ทำให้คิดว่า เวลาพูดถึงแม่น้ำชี หนูก็จะไม่ได้คิดถึงเพียงแม่น้ำอีกต่อไป..”


“โอเคครับ ทีนี้ใครมีคำถามอะไรอย่างจะถามหรือว่าอยากแลกเปลี่ยนอะไรก็เชิญได้เลยนะครับ เดี๋ยวจะมีคนเดินไมค์ให้..”

เพียงชั่วอึดใจก็มีสาวผมสั้นที่นั่งอยู่แถวหน้าท่านหนึ่ง ปรากฏว่าเป็น น้องแก้วใส หญิงสาวจากอำเภอเจริญศิลป์ สกลนคร ก็ได้รับไมค์ แล้วจึงเริ่มทักทายผู้ร่วมวงพูดคุย




(สารคดีเบื้องหลังการผลิตภาพยนตร์ Isan Sonata แบ่งออกเป็น 9 ตอน )


“คำถามก็มีทั้งมีสาระและไร้สาระนะคะ อยากถามว่าทำไมถึงทำหนังเรื่องนี้เป็นหนังขาวดำคะ? แล้วก็ ในบทคือตั้งใจถ่ายให้ตัวละครชอบนั่งอยู่ใกล้ๆหน้าต่างเพื่อให้เห็นภาพของหลังของแบบ เห็น Scenenary เห็น scene ที่ตัวละครแบบเปิดผ้าม่านแรงๆ นั่งอยู่ใกล้หน้าต่าง อะไรประมาณนี้ค่ะ อันนี้คำถามแรกนะคะ..”


ในฐานะผู้กำกับ อั๋น วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์ จึงได้เริ่มร่ายคำตอบออกมาว่า

“ตอนแรก ผมจะทำหนังแบบ Cinéma vérité (French for “Truthful cinema) ที่ภาษาไทยเรียกว่า ภาพยนตร์ความจริง Truthful cinema” ซึ่งแนวคิดนี้มันก็ถูกพัฒนามาจากผู้กำกับฝรั่งเศส

ทีนี้การจะอธิบายว่าสิ่งที่จะปรากฏบนภาพ มันต้องมีความสัมพันกับความเป็นจริงอยู่ การจะออกแบบซีนแต่ละซีนจึงต้องทำงานร่วมกันทั้งทีม


แต่ละซีนจะเสมือนว่ากล้องนี้ไปอยู่กับตัวละคร ซึ่งหมายความว่าถ้านับ Timing จริงๆ นับเวลาจริงๆ แทบจะเท่ากันกับที่นักแสดงอยู่หน้ากล้องทำ ซึ่งก็คือการเผยให้เห็นลักษณะของสิ่งที่ปรากฏต่อหน้ากล้องให้มันมีลักษณะที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด..”


ทีนี้ ด้วยเงื่อนการกำกับซีน เนื่องด้วยเราต้องการถ่ายให้เห็นข้างในข้างนอกพร้อมๆกัน ซึ่งจะไม่ใช้วิธีแบบตัดต่อแบบคลิปเอาภาพมาต่อภาพเคลื่อน แต่ว่าเราใช้วิธีการถ่ายแบบ Cinéma vérité ทำให้ Cover ทั้งซีน เพื่อให้เห็นสภาพห้อง สภาพข้างนอกโดยที่เมื่อคนดูได้พิจารณาแล้วก็จะเห็นความจริงอยู่ เสมือนจริง สมจริงในแบบวิธีการออกแบบในแนว Realism ให้เข้าใกล้หรือคล้ายความจริงมากที่สุด..” ก่อนที่ผู้กำกับอั๋นและทั้งห้องโถงจะเงียบไปชั่วครู่


“ถามอีกได้ไหมคะ? คือหนูชอบงานกำกับภาพมากเพราะว่าหนูดูแล้วเหมือนดูหนังธีสิส เหมือนดูหนังเทศกาลอะไรอย่างนี้อ่ะค่ะ เพราะว่า....” ก่อนจะมีเสียงแทรกจากผู้กำกับอั๋นว่า “อ๊อ!...ผมลืมตอบคำถามเรื่องสีขาวดำ”


“ก็คือว่า พอท้ายสุดแล้วผมก็อยากจะให้เหมือนเป็นงานทรีบิวต์หนังฝรั่งเศสยุค New wave เพราะว่าเราก็หยิบวิธีคิดที่มีการปรากฏตัวของกำกับภาพยนตร์ด้วย วิธีการแบบฝรั่งเศสก็เลยเป็นการคารวะ..”


หลังจากนั้นจึงมีวงพูดคุยสนทนาอีกทั้งในและนอกรอบ เพื่อรอการเสวนาหลังจากพักเบรกทำธุระส่วนตัวสักครู่พร้อมทั้งให้ฝ่ายเทคนิคได้เช็คอุปกรณ์สำหรับการเสวนา โดยการเสวนาในหัวข้อวิถีอารยธรรมโบราณในลุ่มแม่น้ำชี

ซึ่งมีวิทยากรทั้งหมด 2 ท่านด้วยกัน โดยท่านแรกคือ จำนงค์ กิติสกล นักวิชาการอิสระด้านภูมิภาค ที่มาพูดในเรื่อง “ร่องรอยของอารยธรรมขอมในภาคอีสาน อิทธิพลทางการปกครองและงานศิลปกรรม”


และวิทยากรอีกท่านคือ ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี อาจารย์ประจำสาขาวิชามานุษยวิทยาวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยนครพนม ที่มาในเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของลุ่มน้ำชี ก่อนและหลังการสร้างเส้นทางรถไฟจนถึงปัจจุบัน”

217 views0 comments
bottom of page