"กินลาบมันมีความเป็นเพื่อนเป็นชุมชน ไม่มีใครไปนั่งกินลาบคนเดียวหรอก อีสานถ้าบอกว่ากินลาบต้องมีงาน ไม่มีใครฆ่าวัวแล้วกินคนเดียว มีกินลาบกินข้าวกัน แล้วก็ใช้ทำกิจกรรมกัน กินลาบต้านรัฐประหาร กินลาบก็จะพ่วงด้วยเรื่องอื่น"
ด้วยความกึ่งเสียดายกึ่งผยอง หลังเปิดเทอมปี 2546 ได้ไม่ถึงสองเดือน นักศึกษารหัส 4608610400 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัดสินใจหอบหิ้วกระเป๋าตัวเองออกจากหอพักมหาวิทยาลัย เพื่อมุ่งไปทำตามเสียงข้างในจิตใจของเขาคือการเรียนกฎหมาย ในมหาวิทยาลัยเปิดแห่งหนึ่งเพราะด้วยความเชื่ออย่างแรงกล้าว่า นิติศาสตร์คือสิ่งที่เขาหลงใหลใฝ่ฝันและจะเอาดีกับมันได้ สิบกว่าปีผ่านไปเด็กหนุ่มจากโรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัยคนนั้น กลายมาเป็นทนายความมีชื่อเสียงจากการทำคดีการเมืองและสิทธิมนุษยชน
ไอ้คอมมิวนิสต์ของครูที่โรงเรียน, ทนายน้อยๆ ของสาวๆ ที่ติดตามเฟซบุ๊กส่วนตัว, กวีการเมืองกึ่งโรมานซ์ และอีกหลายๆ ฉายาที่แล้วแต่คนอื่นๆ จะมอบให้กับเขา แต่สำหรับเราเขาคือ “ทนายอานนท์ นำภา” ผู้มีบุคลิกสนุกสนาน ร้องเพลงเลียนเสียงติ๊ก ชิโร่ ในแบบประกวดเงาเสียงได้และ “ลาบ” คือกิจกรรมหลักที่แทรกเข้ามาในทุกมิติชีวิต นั่นคือสิ่งที่ The Isaander สนใจและอยากพูดคุยกับเขาในวงลาบ เพื่อนำบทสนทนาวันนั้นมาฝากมาต้อนผู้อ่านของเรา
The Isaander: เรารู้จักอำเภอที่ร้อยเอ็ดไม่น้อย แต่พี่เล่าให้ฟังอีกหน่อยว่าพี่เป็นคนอำเภออะไร?
อานนท์: เดิมเป็นอำเภอธวัชบุรี ตอนหลังแยกออกมาเป็นอำเภอทุ่งเขาหลวง
.
The Isaander: ตอนที่เรียนมัธยมที่ร้อยเอ็ดวิทยาลัยเคยเป็นประธานนักเรียน พี่เคยบอกว่า ครูสมัยมัธยมเรียกพี่ว่าคอมมิวนิสต์นี่มีที่มายังไง?
อานนท์: คือเด็กที่หลุดกรอบขนบเดิม เขาจะเรียกว่าเป็นคอมมิวนิสต์หัวรุนเเรงหมดเเหละ อาจเป็นเพราะเราอ่านหนังสือแล้วอยากเป็นแบบนั้นแบบนี้ มัธยมต้นเราชอบอ่านพวกบทกวี อาจารย์ที่สอนตอนนั้นเขาเป็นคนที่ชอบเอาบทกวีการเมืองมาให้อ่าน พวกวรรณกรรมเราก็ชอบ เราก็ตามอ่าน
.
The Isaander: มีอ่านของใครบ้างตอนนั้น?
อานนท์: ของพวกคมทวน คันธนู ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เเละอีกหลายคน ตอนนั้นจัดโซนเนาวรัตน์เป็นกวีฝ่ายประชาธิปไตย เพราะเห็นเขามีงานเขียนพวกเพียงความเคลื่อนไหว งานเกี่ยวกับแรงงานและประชาธิปไตย นอกจากวรรณคดีขุนช้างขุนแผนที่เราเรียนกัน ยังมีเรื่องพวกนี้อีกเหรอ
จริงๆ ครูเขาไม่เชิงแนะนำ ตอนนั้นเด็กในห้องเสียงดังกัน เขาแค่เดินเข้ามาในห้องแล้วก็เขียนกระดานว่า การศึกษาถ้านั่งแต่ในหอ ชะแง้คอคิดแค่เห็นแก่ได้ ปริญญายื่นหยิบนับสิบใบ คงไว้ใช้เช็ดก้นให้ตนเอง เราก็โอ๊ะ! กลอนแบบนี้ก็มีเหรอวะ ในโลกนี้ เราก็เลยตามอ่าน ตอนแรกเราไม่รู้ว่าอะไรคือซีไรต์ พอไปดูถึงรู้ว่าพวกนี้คือซีไรต์ ซีไรต์เป็นรางวัลของใคร แล้วก็ไปตามดู มีงานพวกนิยายตอนนั้นไม่อ่าน เพราะเป็นคนสมาธิสั้น มันยาวไม่อ่าน ชอบอ่านพวกกวี พวกเรื่องสั้นให้มันจบ จากนั้นพอขึ้นมัธยมปลาย เปิดเทอมเริ่มเขียนบทกวีด่าคุณครูในวันครู เพราะว่าที่โรงเรียนประจำจังหวัด มักจะเปิดโรงเรียนสอนพิเศษ
บางทีก็เปิดคอร์สเองในโรงเรียนแล้วก็สอน บางทีก็ให้ข้อสอบเด็กที่เรียนพิเศษ ทำให้เกรดดีขึ้น เราคิดว่าไม่เวิร์ค มาใช้ชั่วโมง สถานที่โรงเรียน ใช้อะไรมาสอนแล้วก็ไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้กับคนที่ไปเรียน ก็เลยเขียนบทกวีด่าครู ไม่ใช่ด่าวิพากษ์วิจารณ์กับเพื่อน กับพวกรุ่นน้อง เขียนใส่เอสี่แล้วก็ปิดรอบโรงเรียน ตื่นเช้ามาปุ๊ปจะเต็มบอร์ดและห้องเรียนแล้ว
.
The Isaander: จำที่เขียนได้ไหมตอนนั้น?
อานนท์: จำไม่ได้ แต่เท่าที่มีเขียนตอน ม.5 ตอนนั้นจะขยายคาบเรียนจาก 50 นาที เป็นชั่วโมงหนึ่ง ซึ่งเอื้อให้กับเด็กในเมือง แต่เด็กต่างอำเภอจะลำบาก เพราะทำให้เลิกกลับบ้านช้า เราก็เลยล่ารายชื่อ โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดไม่เคยเจอนักเรียนแบบนี้ เราก็ล่ารายชื่อ
.
The Isaander: ไปเอาแนวคิดล่ารายชื่อนี้มาจากไหน?
อานนท์: น่าจะเอามาจากการอ่านหนังสือและการฟังเพลง เพราะจากที่บ้าบทกวีมาสักพัก ก็จะรู้ว่าเหตุการณ์ตุลาฯ คืออะไร การชุมนุมคืออะไร เป็นตัวตั้งตัวตีล่ารายชื่อ ไม่ให้ขยายชั่วโมงเรียน ซึ่งอาจารย์ก็เห็นด้วย เราจะได้รับเสียงสนับสนุนจากเด็กต่างอำเภอเยอะมาก แล้วโรงเรียนประจำจังหวัด จะเป็นโรงเรียนที่มีหัวกะทิแต่ละอำเภอแต่ละหมู่บ้านเลย คือต้องเก่งจึงจะมาอยู่ในโรงเรียนประจำจังหวัดได้ เพราะว่าคนที่อยู่ในจังหวัดจะได้โควต้าของเขาอยู่แล้ว พอจบ ม.5 เราก็สมัครประธานนักเรียนชนะขาดเลย
.
The Isaander: เพราะนโยบายอะไรที่ทำให้อานนท์ นำภาไปถึงตรงนั้น?
อานนท์: เรื่องเปิดกิจกรรมแล้วก็ทำให้เด็กมีส่วนร่วมในการบริหารมากขึ้น เราก็ตั้งเป็นสภานักเรียนมีการประชุมกันจริงจังนะ มีการตัดสูทด้วยแล้วก็กิจกรรมปีนั้นเป็นการริเริ่มหลายอย่าง เช่น เริ่มเตะบอลระหว่างโรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัยกับโรงเรียนสตรีศึกษา (รร.สตรีประจำจังหวัด) เป็นปีแรก ให้เลียนแบบจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ แล้วก็จัดมาถึงทุกวันนี้เกือบยี่สิบกว่าปีแล้ว
.
The Isaander: ย้อนไปคำว่าคอมมิวนิสต์ที่ว่านั้นเป็นยังไง ?
อานนท์: น่าจะหมายถึงเรียกเด็กที่ไม่อยู่ในขนบคือไม่คิดเรื่องคอมมิวนิสต์ขนาดนั้นหรอก เด็กพวกที่ไม่อยู่ในขนบ พวกชอบวิพากษ์วิจารณ์ ด่าการศึกษา ก็คือตั้งแต่มัธยมปลายโดนตีตราอย่างงี้เลย เขาเรียกแบบแซวๆ นะ เราก็ไม่ได้อะไรมาก
.
The Isaander: เรามีความเป็นฝ่ายซ้ายหน่อยๆ สนใจเรื่อง 6 ตุลาฯ ไหมตอนนั้น?
อานนท์: เพราะว่าตอนที่เรามาทำเป็นประธานนักเรียน พอครบรอบตุลาฯ ก็มาแปะที่บอร์ด เด็กก็สนใจ เอ๊ะ! ประเทศไทยมีการลากคอไปกระทืบแบบนั้นด้วยเหรอ
.
The Isaander: แล้วไปเอาเอกสารพวกนี้มาจากไหน?
อานนท์: อินเทอร์เน็ตแล้วก็ผมเข้าใจว่ามีหนังสืออะไรสักอย่าง เพราะว่าพ่อแม่มาทำงานกรุงเทพฯ พอปิดเทอมแล้วเข้ามากรุงเทพฯ เข้าไปดูตามงาน ไปเดินเล่นธรรมศาสตร์ เลยอยากเข้าธรรมศาสตร์ แต่บรรยากาศตอนนั้น ที่โรงเรียนไม่มีการสอน แต่ว่าเราก็พยายามจัดเสียงตามสายก็พูดให้คนมาสนใจ ซึ่งก็จะมีคนคล้ายๆ กับเรา พวกคอมมิวนิสต์น้อยก็จะตาม สุดท้ายเขาก็จะไปเป็นประธานนักเรียนต่อ
.
The Isaander: ตอนนั้นมีความคิดว่าตนเองอยากเป็นนักการเมืองไหม?
อานนท์: ไม่นะ ไม่อยากเป็นนักการเมืองเลย อยากเป็นเหมือนคนแหลมๆ ที่ไม่ใช่นักการเมือง พวกนักปฎิวัติที่เป็นพวกนำประท้วง ได้จับไมค์แล้วพูดต่อหน้าคนหลายคน แต่ว่าอารมณ์แบบนักการเมืองแล้วเรารู้สึกไม่ค่อยชอบ เรารู้ว่า สส.บ้านเรารวย เราไม่ได้คิดภาพตัวเองว่าเป็น สส. เป็นคนที่รวยมีรถ แต่คิดภาพตัวเองว่าเป็นลักษณะผู้นำนักเรียน นักศึกษามากกว่า เพราะว่าไอดอลของเราไม่ใช่นักการเมือง ไอดอลเราเป็นลักษณะเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่เราเคยอ่านหนังสือของพวกเขาที่พูดถึงนักศึกษา อยากเป็นบทกวีมากกว่า
.
The Isaander: แล้วตอนเอนทรานซ์เลือกคณะอะไรบ้าง?
อานนท์: ตอนแรกเป็นระบบโควต้า คือ ม.6 จะสอบรอบหนึ่งก่อน ว่าจะได้เรียนโควต้าที่ไหน ผมเลือกเอกภาษาไทยที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคามเพราะสนใจกวี จากนั้นก็ไปสอบสัมภาษณ์ ได้ไปเห็นบรรยากาศที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามแล้วรู้สึกว่าไม่น่าเรียน มีช่วงก่อสร้างเหมือนอยู่ในป่า แล้วตอนนั้นคิดว่าตัวเองเหมาะกับกฎหมายมากกว่าด้วย และเรียนรามฯ ควบก็น่าจะดี
.
The Isaander: ภาษาไทยเป็นในคณะมนุษศาสตร์?
อานนท์: มนุษยศาสตร์ เอกภาษาไทย ก็สอบได้อันดับต้นๆ เลย ที่หนึ่งหรือที่สองของคณะ เป็นคณะที่คนไม่ค่อยเลือกด้วย ก็ไปรายงานตัวแล้วก็สละสิทธิ์ไป ตอนนั้น ม.6 แล้วด้วยทำกิจกรรมเยอะ
.
The Isaander: ตอนนั้นช่วงปี พ.ศ. ไหน?
อานนท์: ปี 2545 ทำกิจกรรมเยอะแล้วไม่เข้าเรียนด้วยนะ แต่เราเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์ในการทำข้อสอบ รู้ว่าจะอ่านยังไงให้ทำข้อสอบได้ มัธยมต้นผมอยู่ห้องสองรองคิง พอมัธยมปลายชะล่าใจได้โควต้าเรียนต่อมัธยมปลาย เราก็ไม่ได้อ่านอะไร เราก็ไปตกอยู่ในห้อง 11 ห้องเด็กเกเร แต่โชคดีก็คือไปอยู่ห้องเด็กเกเรและเพื่อนต้องมาลอกข้อสอบการบ้านเรา เราก็จะได้รับการปกป้อง เป็นเพื่อนกัน สนิทกัน คือแก๊งค์ขายยาบ้า ไฮโล คือเรากลายเป็นหัวหน้าเลย ทำให้การเป็นประธานนักเรียนของเรา ทุกคนในโรงเรียนจะเกรงใจ เพราะเหมือนมีแก๊งค์ใหญ่
.
The Isaander: แต่คือเด็กห้องท้ายๆ ได้เป็นประธานนักเรียนเลย?
อานนท์: ใช่ แล้วเพื่อนเราเพื่อนเก่ามัธยมต้นก็ไปอยู่ห้องหนึ่งห้องสองหมด เขาก็ซับพอร์ทเราก็สนุก ข้อสอบเทอมสุดท้าย ตอนเรียนจบยังไม่อ่านหนังสือสอบเอนท์เลยนะ แต่เราก็บอกตัวเองแล้วว่าเราน่าจะเหมาะกับธรรมศาสตร์ ด้วยความที่อ่านมาเยอะมันมีความอินบ้าๆบอๆ กับพวกนี้ อ่านมาเยอะพวกสายการเมืองไทย เห็นดินสอโดม เห็นภาพอยู่ในสมอง สอบเอนท์ 4 อันดับเลือกหมดเลย นิติ นิติ นิติ แล้วก็สังคมวิทยา
ตอนนั้น ผมใช้เวลาอ่านหนังสือสอบอยู่ประมาณ 2 เดือน คือเริ่มใหม่หมด ตีนจุ่มน้ำ สูบบุหรี่จัด ตอนนั้นมาลโบโลซองละ 45 บาท สโคปอ่านสอบแค่สี่วิชา ก็อ่านแค่สี่วิชา แล้วทำได้ คือระบบคิดเราดีอยู่แล้ว คือจำสูตรได้ หลักได้ก็ทำได้ หรือจำหลักการได้ อย่างภาษาไทยที่ไปสอบได้ 66 ตอนนั้นถือว่าสูงนะ แล้วก็ผลสอบออกมาเสร็จ
ถามว่ามั่นใจไหมคือไม่มั่นใจ เพราะใช้คะแนนสองส่วน ธรรมศาสตร์ไม่ใช้เกรด ใช้คะแนนดิบก็เลยไม่ได้ มาติดคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เหตุที่ไม่ได้คณิตศาสตร์ เพราะเอาคะแนนภาษาอังกฤษเยอะแล้วก็คณิตศาสตร์ แต่คณะสังคมวิทยาเอาภาษาไทย สังคม แล้วก็วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ใช่วิทยาศาสตร์หลัก เอาแค่ 3 วิชา แล้วอีกสองวิชาคืออังกฤษ กับคณิศาสตร์ บอกให้ผ่านแค่ 25 ก็พอ อังกฤษได้ 27 เต็ม 100 คะแนน เลยต้องไปเรียน 070 เลเวลต่ำสุด เพื่อนที่ไปเรียนด้วยกัน มีตาบอด กับนักกีฬาฟุตบอล เอาโควต้าเล่นกีฬามา แล้วก็โควต้าคนพิการ
.
The Isaander: เข้าปี 1 ธรรมศาสตร์เป็นไง?
อานนท์: คือถ้าสังคมวิทยาฯ คือเราไม่ได้ชอบเลย แล้วเราจะรู้สึกโหดร้ายมากที่เราเดินไปเจอเพื่อนคณะนิติที่เขาแบบต้องไปนั่งในจุดนั้นที่เรียน เราก็มองด้วยความริษยา ทำไมไม่เป็นกูว่ะ เราก็พักหอใน เราก็ฟังมันท่องกฎหมาย ปีหนึ่งจะท่องมาตรา 4 กฎหมายแพ่ง ผมก็ฟังมันท่องอยู่อาทิตย์หนึ่ง กูจำได้แล้วไง แต่มึงยังจำไม่ได้
.
The Isaander: ตอนนั้นมีความคิดว่าจะเรียนรามฯควบไหม?
อานนท์: ยัง สมัครไว้พร้อม ๆ กัน เรียนไปไม่ถึงเทอม คือเรียนประมาณสองเดือน คือต้องออกแล้ว เพราะว่าไปสอบจริง ๆ มันจะอ่านสองคณะควบกันไม่ได้หรอกเพราะเวลามันไม่พอ เรียนสังคมวิทยาอ่านแข่งกับเขาก็จะตายแล้ว ไปเรียนกฎหมายอีกยิ่งหนัก ก็เลยตัดสินใจออกจากธรรมศาสตร์ ด้วยความกึ่งๆ เสียดาย กึ่งๆผยอง มันมีอารมณ์แบบกวี ธรรมศาสตร์กูก็เหยียบมาแล้ว คือกูออกไม่ใช่ว่ากูสอบไม่ติดนะ แต่กูก็เหยียบมาแล้ว ก็เลยออกจากธรรมศาสตร์ ออกแบบไม่ลาออกนะ ออกเฉยๆ เก็บข้าวของออกจากหอใน
ไปเริ่มเรียนเทอมหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งที่เหลือที่รามฯ ก็คือสมัครเรียนไว้แล้วก็เลยไปเรียนให้มันเต็มที่ ขณะที่ธรรมศาสตร์ก็ช่วงเวลาสองเดือน ช่วงเวลาที่อยู่ธรรมศาสตร์ 2-3 เดือน มันก็ทำให้เรารู้จักเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่ง พวกนักกิจกรรมที่มาทำงานสังคมตอนนี้เป็นรุ่นผมก็เยอะ ก็รู้จักกับพวกนี้ ตอนที่มาเรียนรามฯ เขาก็ชวนไปออกค่าย ไปดูโครงการรัฐที่ชาวบ้านโดนรังแกทำให้เรามีเพื่อนกลุ่มนี้ ขณะเดียวกันที่รามฯไปดูเขาทำกิจกรรม เราก็จะมีเพื่อนอีกลุ่มหนึ่ง แต่ความสนิทกันผมจะสนิทกับธรรมศาสตร์มากกว่า เพราะมันกินนอนด้วยกัน ทำกิจกรรมด้วยกันมาก่อน เป็นพวกขาจร ไม่ได้สังกัดกับใคร แต่รู้จักกับเขาไปทุกชมรม
.
The Isaander: คือใจเราอยากเป็นนักกฎหมายแน่นอน ตอนนั้น?
อานนท์: คือมีเซ้นท์ว่าเราทำได้ดีกว่าเรื่องอื่น คือเรื่องเดียวกันนี้อาจจะไม่ได้เก่งกว่าคนอื่นมาก แต่ที่ทำมาทั้งหมด อันนี้น่าจะดีกว่า เพราะว่าตอนม.5 เคยไปตอบปัญหากฎหมายระดับภาคอีสาน แล้วก็ได้ที่หนึ่งของภาค กฎหมายที่ต้องอ่านประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่งพวกนี้ ผมนั่งอ่านประมวลตั้งแต่ม.5 ไปสอบก็เลยชิวๆ
.
The Isaander: สมัยปี 2545 แล้วเข้าปีหนึ่งรหัส 46 ครั้งนั้นคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยภาคอีสานยังไม่ค่อยมีเปิดสาขาด้วยใช่ไหม?
อานนท์: ใช่ คือเรามีความคิดตอนนั้นไม่รามคำแหง ก็ต้องธรรมศาสตร์ สองที่ จุฬาฯในความรู้สึกเราก็ไม่ได้เด่นมาก ผมเข้าธรรมศาสตร์ไม่ได้ก็เลยเข้ารามฯ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ผมอาจจะเข้าม.เชียงใหม่ ซึ่งไปเรียนเชียงใหม่เข้ากับผมมากกว่านะ แต่ตอนนั้นมีทางแค่นั้น
.
The Isaander: แล้วตอนนั้นบอกที่บ้านว่ายังไง?
อานนท์: บอกว่าออกจากธรรมศาสตร์นะ ไปเรียนกฎหมาย อยากเรียนกฎหมายมากกว่า เขาก็โอเค แต่เขาเสียดาย เป็นคนแรกของหมู่บ้าน ที่ติดธรรมศาสตร์
.
The Isaander: บรรยากาศการเมืองตอนปี 2546 ตอนเข้าปี 1 เป็นไงบ้าง?
อานนท์: 2546- 2547 ไม่มีอะไร จะไปหนักเรื่องออกค่ายเรื่องโครงการท่อก๊าซ ไทย – มาเลย์ อยู่ พอปี 2548 ก็เรื่องเสื้อเหลือง หรือว่าปี 2549 มันคาบเกี่ยวกันก็มีกระแสเรื่องทักษิณเข้ามา เราก็ไปร่วม ไปกับเพื่อนที่รามฯ จำได้ว่าวันรัฐประหาร ปี 2549 ผมยังมาแจกใบปลิวเลยอยู่ที่ราม ต้านทหารกับรุ่นน้อง
.
The Isaander: คือตอนนั้นทุกคนก็มุ่งหน้าไปทางพันธมิตรด้วยซ้ำ?
อานนท์: ทุกคน เพราะว่าความเป็นพันธมิตรในช่วงแรกเขาก้าวหน้า คือ ไม่เอานักการเมืองที่ลักษณะแบบเผด็จการ พอไปถึงจุดที่เรียกร้อง นายกพระราชทาน กลุ่มนักศึกษาส่วนใหญ่ เขาก็ไม่เอา เขาก็ออก แล้ววันรัฐประหารก็ร่วมต้านรัฐประหารตั้งแต่วันแรกๆ เลย พอรัฐประหารประมาณ 2-3 วันหลังจากนั้น พี่หนูหริ่ง(สมบัติ บุญงามอนงค์) แกเรียกนักกิจกรรมทั้งหมดที่อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลทั้งหมดไปประชุมกันที่กระจกเงา ตอนนั้นอยู่ที่แถวๆ พญาไท ก็วางแผนจะต้านรัฐประหารยังไง รู้สึกว่าช่วงนั้นไม่รู้กี่วันนะ พวกอาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ ก็นัดรวมตัวไปใส่เสื้อดำที่พารากอน ผมก็ไปตอนนั้น รู้สึกเราเป็นนักฎหมายก็ยืนดูอยู่ห่างๆ แต่พอพวกพี่หนูหริ่ง มาตั้งเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร เราก็ไปแจมกับเขาไปอ่านบทกวี มีหน้าที่อ่านบทกวี
.
The Isaander: ตอนนั้นเริ่มเขียนบทกวีสะสมแล้ว?
อานนท์: เขียน เริ่มตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย แต่เขียนแบบ คือ ผมเป็นคนขี้เกียจ เขียนใส่หนังสือ สมุดก็ทิ้ง ไม่เก็บงานเลย ตอน ปี 2549 ที่ขึ้นไปอ่านบทกวีต้านรัฐประหาร มีอ่านทุกอาทิตย์ผมก็ไม่เก็บ คือ รก คือต้องไปนั่งเขียนตอนที่เขาปราศรัยมันจะได้อารมณ์ เขียนประมาณสัก 5 บท แล้วก็อ่าน อ่านแล้วก็ทิ้ง ไม่มีเก็บเลย พอได้ตั๋วทนายก็ไปทำงาน ทำงานช่วยเหลือชาวบ้านที่โดนนายทุนรังแก ต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อม พอมีคดีอาญามาเราก็ไปช่วย
.
The Isaander: ว่าความคดีแรกของพี่คืออะไร?
อานนท์: คดีแรกที่ว่าความจริง ๆ คือ ศาลทหาร ปี 2550 2551 แต่ตอนเรียนจบต้องไปจับใบดำใบแดงใช่ไหม ได้ใบแดงครับ คือชีวิตโลดโผนมาก
.
The Isaander: ตอนนั้นเป็นทหารยังไม่ได้เป็นทนาย?
อานนท์: ยังไม่ได้เป็นทนาย คือ จบกฎหมายกำลังสอบทนายอยู่ ก็คือจับปี 2550 แล้วไปเป็นทหารปลายปี 2550 เป็นผลัดสอง แล้วช่วงนั้นก็จะค่อมไปปีหนึ่ง คือ ปี 2551 ก็คือเป็นทหารตอนปี 2550 ออกปี 2551
.
The Isaander: ตอนนั้นจับได้ใบแดงแล้วรู้สึกยังไง?
อานนท์: ก็ไม่อยากเป็น แต่ถ้าบังคับก็ต้องไป แต่ว่าด้วยความเป็นคนคิดแง่บวก เวลาไปฝึกเราก็ฝึกว่าเราเป็น ผู้ก่อการคอมมิวนิสต์ เราคิดยังงี้แล้วเราจะอยู่ได้ เขาพาไปกางเต้นท์กางป่า เราเป็นพลปืนเล็กมีหน้าที่ในการลำเลียงกระสุนไปส่ง เข้าไปเดินป่ากลางเต้นท์ ผูกเปลนอน เปิดโทรศัพท์ฟังเพลง คือคิดในแง่บวกว่า “มันเป็นเรื่องสมมติ” ก็ผ่านมันมา ปี 2551 ก็ขอลาไปสอบ แล้วได้ตั๋วทนายตอนขณะที่ผมเป็นทหารพอดี อ่านหนังสือในค่ายเลย แล้วตอนนั้น ผู้บังคับกองพันค่อนข้างเป็นคนชอบเด็กเรียน คือลามาสอบมาเรียน ผมลาได้เป็นเดือน มาสอบเขาก็โอเค พอได้ตั๋วทนาย ตอนนั้นเรายังไม่ออกมา เพื่อน ๆ ทหาร เวลากลับบ้านไป ไปก่อเรื่องไปยิงกัน เราก็ได้ตั๋วปุ๊ป เราก็ไปเป็นทนายให้มัน ก็คือขึ้นศาลทหารตั้งแต่ทหารเกณฑ์ คือเราก็ได้ตั๋วพอดี ก็ไปว่าความให้เพื่อในศาลทหารที่ร้อยเอ็ดเป็นคดีแรก ก็ชนะคดีนะ
.
The Isaander: ระบบศาลทหารเป็นแบบทุกวันนี้ไหม ?
อานนท์: เหมือนกันเป๊ะ และนี่คือที่มาความผูกพันศาลทหารกับผม
.
The Isaander: ที่เราเห็น พี่ว่าความเรื่องสิทธิมนุษยชนมาตลอดเลย เคยมีคดีแพ่งแปลกๆ ไหม?
อานนท์: คดีแพ่งธรรมดาก็ทำนะ ส่วนใหญ่ชนะคดีนะคือเซ้นส์ของความทนายเป็นปกติทำให้เราเห็นช่องเห็นอะไร แต่พอมาอยู่ออฟฟิสทำงานให้ชาวบ้านที่ทำคดีให้สิทธิมนุษยชน ที่เป็นคดีอาญา ชาวบ้านที่ต่อต้านโรงไฟฟ้า เป็นคดีปกครอง เรื่องสิ่งแวดล้อม พวกคนพิการ เราจะเน้นแบบคดีอาญา ว่าความตอนแรก ปี 2551 ได้ตั๋วมาใหม่ๆ หลังจากว่าความศาลทหาร ออกมาก็ว่าความให้ศาลยุติธรรม
.
The Isaander: ก็คือก็มีพวกพี่ๆ ที่เคยเป็นนักกิจกรรมเขาเป็นทนายความแล้วเขาชวนเราไป?
อานนท์: ใช่ เพราะออฟฟิสที่ผมอยู่ มันจะเป็นพวกเด็กรามและนักกิจกรรมมาก่อน ทนายเกือบทุกคนเป็นพวกทำกิจกรรม เราก็จะได้เซ้นส์ช่วยคดีชาวบ้าน ใช้ชีวิตแบบโรแมนติกอยู่ เป็นแบบที่เราชอบอ่ะ ช่วยชาวบ้าน แต่โดยสภาพเศรษฐกิจมันอยู่ไม่ได้ เพราะว่ามันไม่ได้ทำคดีธุรกิจ พอเป็นธุรกิจจริง ๆ มันก็ไม่ใช่สิ่งที่เราชอบ มันเหมือนใช้ชีวิตสูญเปล่า เรารู้สึกอยากทำอะไรที่มันยังมีคุณูปการต่อสังคมมากกว่า
.
The Isaander: พอจะบอกได้ไหมตั้งแต่ปี 2551 พี่ว่าความมาแล้วกี่คดี?
อานนท์: หลายคดี ในรุ่นเดียวกันผมว่าความเยอะสุดคือขึ้นว่าความเกือบทุกวัน ส่วนพวกที่ทำคดี กยศ. ทำคดีธนาคาร อาจจะได้เป็นหมื่นแสนคดีก็ได้นะ แต่ถ้าว่าความจริงๆ นับชั่วโมงต่อกัน ผมว่าเยอะ เพราะผมว่าความทุกวัน นับตั้งแต่ปี 2551-2552 มานี้อาจจะตามพี่ๆ ไปเก็บประสบการณ์ เก็บชั่วโมงบินอยู่ ยังไม่ได้ขึ้นเป็นไม้แรก พอปี 2552 เริ่มขึ้นแล้ว
หลังพฤษภาคม 2553 ก็เริ่มเป็นทนายที่คนรู้จักในมุมทนายโรแมนติก บ้าๆ บอๆ คนหมั่นไส้เยอะ เป็นเรื่องการเมือง พอหลังปี 2553 สลายการชุมนุม ต้องสื่อสารทางการเมือง เราก็เล่าเรื่องคดี เล่าเรื่องคนที่เราไปเจอ โดนจับที่ถูกคุกคามแล้วตอนนั้นมันเป็นช่วงเริ่มของเฟซบุ๊กเลยเริ่มเป็นที่รู้จัก ก็ทำคดีการเมืองมาจนถึงปี 2556 กะว่าจะเลิกทำ มาว่าความท้ายๆ ก็ที่เชียงราย คดีความการชุมนุมปี 2553 คิดว่าถ้าเสร็จอาจจะไปทำอย่างอื่น ทำว่าความคดีธนาคารนั่นแหละให้พออยู่ได้ อีกอันก็คือทำคดีความเพื่อสังคม คิดไว้นะ มีเมียสักคนหนึ่ง ตอนนั้นชอบสาวอยู่ก็คิดไว้
แต่พอมันมีการรัฐประหาร 2557 ชีวิตก็เปลี่ยนเลยคือเราต้องรับภาระหลักในการทำงานด้านกฎหมาย ต้องใช้คำว่าหลัก เพราะว่าคนที่โดนจับโดนกระทำ เป็นพวกเสื้อแดง แล้วพวกนี้จะรู้จักกับผม เวลามีคดีเข้ามาจะรู้คือสายโทรศัพท์จะเข้ามาเยอะ หลังไมค์เฟสบุ๊ก จะกระหน่ำเข้ามาตอนปี 2557 ทนายความกลุ่มหนึ่งเขาเลยตั้งเป็นศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขึ้นมา เราก็รับว่าความเป็นหลัก ช่วงต้นๆ ของการเป็นรัฐประการก็เป็นนักเคลื่อนไหว ไม่มีใครกล้า เราเป็นนักแอคติวิท เราก็จัดชุมนุมกับแม่น้องเกตุ พ่อน้องเชอ (รู้จักกันมาตั้งแต่ปี 53 ลูกเขาตาย ราก็รู้จัก) เป็นตัวตั้งตัวตีขึ้น มีรุ่นน้องจากธรรมศาสตร์มา จานิว ก็รู้จักกันมา โรม มาด้วยกัน ก็เริ่มรู้จัก
.
The Isaander: ตั้งแต่ว่าความมาได้ค่าตัวถูกสุดกี่บาท?
อานนท์: ถูกสุด ก็คือ ไม่ได้ ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้คิดค่าว่าความ
.
The Isaander: แล้วค่าเดินทางต้องแบกรับภาระเองไหม?
อานนท์: มีคนช่วย อย่างมาคดีวันนี้ก็มีศูนย์ทนายฯ ซึ่งเขาก็มีค่าวิชาชีพเบี้ยงเลี้ยงให้สองพัน กินเบียร์หมดไปพันกว่า กินข้าวอีก เหลือสองร้อย มาก็เหมือนมาทำคดีเชิงทำสบายๆ แต่ไม่เหลือเงินหรอก
.
The Isaander: แต่ก็เป็นงานที่รักงานหนึ่ง?
อานนท์: ใช่ มีความสุขนะ มาเจอพวกคุณ มีโอกาสได้กินเบียร์ เล่นดนตรี สูบบุหรี่
.
The Isaander: เป็นแบบพี่ทำให้รวยได้ไหม?
อานนท์: ได้นะ เพราะมีรายได้ มีอะไรเข้ามา ค่าใช้จ่ายใช่ไหม ทำนานก็ยังพอได้เงิน ผมก็ทำนาอยู่ที่บ้าน แต่คงไม่รวย เป็นที่ปรึกษาร่างสัญญา หลักๆ เป็นเบี้ยเลี้ยงค่าเดินทาง ทำงานสิทธิมนุษยชนก็หมดไปด้วย
.
The Isaander: ปกติเรท ทนายว่าความทั่วไป คดีหนึ่งสเกลมันเท่าไหร่?
อานนท์: ถ้าคดี 112 เราก็มาเชียงราย น่าจะประมาณ 2-3 แสน แล้วก็ค่าเดินทางไม่ต้องออก แพงนะ ว่าความจะยาว คิดสูงมาก หมายถึงถ้าคิดในเรทเอกชนทั่วไป ประมาณนั้นอย่างต่ำ หรือถ้าเป็นพวกคดีก่อการร้ายที่เราทำที่ส่วนกลาง พวกชาวบ้าน จะโดนคดีปาระเบิด ราคาประมาณ 2-3 แสนขึ้น 5 แสนก็ยังได้อยู่ แต่เราก็อย่างว่าคือทำแล้วไปเรียกเกินมันก็จะกินเหล้าไม่อร่อย คือเราอร่อยกับเรื่องช่วยคน แล้วความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเราจะดีด้วย อย่างผมกับลูกความ เราเป็นเพื่อนกัน เพราะไม่ได้คิดเรื่องเงินไง พอไม่คิดเรื่องเงินก็เหมือนกับสบายใจ ไม่ได้ทำเพื่อเงิน ไม่ใช่ว่ามึงไม่จ่าย กูก็ไม่ทำให้มึงนะ หรือความสัมพันธ์ระหว่างผมกับลูกความ ถ้าชาวบ้านที่ผมไปช่วย ตอนที่ผมบวชเขาก็ไปร่วมงานกันเป็นร้อยคน คิดดู เขาเหมารถมา มาวนแห่ วงไฟเย็นไปเล่นงานให้ ไม่ได้จ้าง น่าจะเป็นการเล่นต่างจังหวัดก่อนลี้ภัย
อาจารย์หวาน (ผศ.สุดา รังกุพันธ์) พี่ไม้หนึ่ง (ไม้หนึ่ง ก. กุนที ) ตอนนั้น หลายคนๆ ที่เป็นเซเลปๆ รู้สึกพี่ที่เป็นนักเขียนอาจารย์ต้น (อนุสรณ์ ติปยานนท์) ก็ยังไป จากการตามในเฟซบุ๊กคือความสัมพันธ์เรากับฝั่งคนเสื้อแดงเริ่มสนิท ไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขึ้น คดีที่มันสำคัญๆ หรือคดีที่มันสุ่มเสี่ยง การลี้ภัย เขาก็ไว้ใจเราในการมาให้คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งนักโทษที่อยู่ในเรือนจำแล้วก็ช่วยดูแล ฝากเงินฝากทอง ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ
.
The Isaander: คดีที่ยังไม่จบและอยู่ในมือ?
อานนท์: ประมาณ 10 กว่าคดี ก็คือขึ้นศาลเกือบทุกวัน ทุกเดือน ขึ้นถี่มาก อย่างอาทิตย์หน้าก็เต็ม 5 วัน มีคดีพวกแสดงความคิดเห็นทางเฟชบุ๊ก แชร์คลิปแชร์อะไรเข้ามา ด่าทหารก็มี
.
The Isaander: แล้วอย่าง ถ้าไม่เป็นทนายพี่จะทำอะไร เคยคิดไหม?
อานนท์: ขายลาบ ผมว่ามันสนุกนะ ทำเรื่องของกิน ขายเหล้า ขายเบียร์ กาแฟ
.
The Isaander: ทำไมลาบเป็นอาหารมื้อหลักที่เข้ามาประกอบกิจกรรมชีวิตทุกอย่าง ทำไมลาบถึงสำคัญ?
อานนท์: ตอนที่เรียนมหาลัย ก็กินลาบกับเพื่อน คือ เป็นอาหารชั้นเลิศของเด็กรามฯ เด็กรามฯกินข้าวกล่อง 15 บาท ได้กินลาบมันก็เท่แล้ว กินลาบมันมีความเป็นชุมชน มันไม่มีใครไปนั่งกินลาบคนเดียวหรอก มันมีเพื่อน มันมีความเป็นชุมชนสูงมาก การกินลาบ อีสานถ้าบอกว่ากินลาบ มันต้องมีงาน ไม่มีใครฆ่าวัวแล้วกินคนเดียว แล้วเนี่ยมันก็มีกินลาบกินข้าวกันแล้วก็ใช้ทำกิจกรรมกัน กินลาบต้านรัฐประหาร กินลาบมันก็จะพ่วงด้วยเรื่องอื่น ตามด้วยเบียร์
.
The Isaander: แล้วลาบแต่ละที่ต่างกันไหมที่กินมา?
อานนท์: ต่างนะ รสชาติรวมๆ มันก็คล้าย ๆ แต่ว่ามันก็จะมีซิกเนเจอร์ของแต่ละร้าน อย่างทางเหนือบางร้านก็จะใส่มะแขว่น อีสานไม่ค่อยขายลาบปลา หายาก ทางเหนือเขากินลาบปลา ลาบไก่กัน ทางอีสานลาบสัตว์ปีกก็เป็นลาบเป็ดไปเลย
.
The Isaander: ชีวิตทำงานพี่ทำงานที่ศาลทุกวันเลย แล้วชีวิตพี่ถ้าไม่ไปศาลแล้วจะไปไหน?
อานนท์: ก็อยู่ห้อง กินเบียร์ ฟังเพลง เป็นคนที่ชอบฟังเพลงมาก กลับมาก็ค่ำใช่ไหม ก็ซื้อเบียร์มากิน กินกับพี่ทนายอีกคนที่อยู่บ้านด้วยกัน พูดคุยสัพเพเหระ ตื่นก็ไปศาล เสาร์ อาทิตย์ก็อยู่บ้าน อยู่เฉยๆ มันก็มีความสุขดีนะ ฟังเพลงเพราะๆ
.
The Isaander: ศิลปินนักร้อง 3 คน ที่ชอบมีใครบ้าง?
อานนท์: ผมชอบหมอลำ สาธิต ทองจันทร์ ชอบลูกทุ่ง สายัณห์ สัญญา ชอบน้าหมู (พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ) เพื่อชีวิต คอนเสิร์ตแกสักเที่ยวเดี่ยวผมจะไม่พลาดเลยนะ ถ้าไม่ติดอะไรมากๆ ชอบฟังเพลงบรรเลง ไม่ชอบเพลงกระแทก ผมไม่ฟังเพราะว่ามันหนัก หลังมานี่ก็ชอบพวกสุภัทรา โกราษฎร์ มีความไพเราะอย่างเพลงฉันจะฝันถึงเธอ เหมือนไปอยู่อีกภวังค์หนึ่ง
.
The Isaander: ถ้าจะยกบุคคลในอีสาน เป็นไอค่อนสักคน นึกถึงใคร?
อานนท์: พูดถึงคนอีสาน ถ้าคิดแบบฉับพลันคือหม่ำ จ๊กมก คือคนอีสาน บุคลิกอีสานเลยนะ อีสานแบบภูมิภาค ไม่ใช่อีสานในเมือง บุคลิกคนอีสานในเมืองจะไม่ใช่แบบนี้ เขาจะเป็นคนตลกๆ สนุกๆ แววตาเขามีความเป็นอีสาน แห้งแล้งในนัยย์ตา คือเวลาเศร้า มันเศร้านะ ทำเรื่องเศร้าให้เป็นเรื่องสนุกได้ เหมือนคนอีสานโดนกดขี่ แต่ทำให้เป็นเรื่องสนุก ตกเย็นมาก็ร้องหมอลำกันได้ ผมไม่ค่อยมีไอดอลที่เป็นบุคคลมากเท่าไหร่ มีที่เป็นนามธรรมที่ตายไปแล้ว ที่ไปขุดมาแล้วด่าได้ไม่เยอะคือ ตายไปแล้ว
.
The Isaander: ถ้าไม่ใช่เพื่อชีวิตพี่อ่านงานหรือเสพงานของใครบ้างนะ?
อานนท์: เคยบ้านิยายรักของนิโคลัส สปาร์ค (Nicholas Sparks) ช่วงหนึ่งซึ่งจริงๆ ก็เขียนไม่ดีหรอก แต่ตอนที่คุณมีความรัก คุณไปอ่านจะรู้สึกดี อ่านง่ายด้วย นอกนั้นก็เป็นพวกงานนักเขียนในยุคต่อมา เช่น พี่หนึ่ง วรพจน์ พวกแก๊งค์นี้ บุคคลิกเหมือนคุณ อ่านหนังสือเหมือนกับนั่งคุยกับเขา เขาเขียนขึ้นมาไม่มีอะไรซับซ้อน แต่น่าอ่านนะ พวกที่เขียนไม่ซับซ้อน แล้วผมจะสังเกตเห็นเวลาที่คุยด้วย เช่น อาจารย์ต้น (อนุสรณ์ ติปยานนท์) ตอนไปงานบวชผม เขาไปเจอ โบม ส่ายข้าวเหนียว อุปกรณ์ครัวอย่างหนึ่งที่ไว้ระบายความร้อนข้าวเหนียว แกก็สงสัยคืออะไร เป็นไม้ท่อนใหญ่ๆ คือตอนนี้มีวิวัฒนาการใช้เป็นกระด้งแทน แกไปเจออย่างงี้แกก็เอามาลงเขียนมติชน ผมก็ว่าสนุกดีนี่หว่า ไปเที่ยวบ้านเพื่อน ไปเจอก็เขียนลงมติชนสุดสัปดาห์
The Isaander: คิดจะกลับไปอยู่ร้อยเอ็ดไหม?
อานนท์: คงยาก ถึงจะเป็นคนชอบบ้าน กลับบ้านบ่อยที่ร้อยเอ็ด แต่งานอยู่กรุงเทพฯ ครอบครัวอยู่กรุงเทพฯ
.
The Isaander: ถ้าอยู่บ้านทำคดีที่ร้อยเอ็ดเป็นคดีอะไรส่วนใหญ่?
อานนท์: คงคดี กยศ. คดีธนาคาร แต่พอเราทำงานมากขึ้นก็มีเครดิตมากขึ้น ไม่ใช่เครดิตในเชิงไปข่มขู่หรือข่มเหงนะ ก็ทำให้สังคมเข้าใจเรามากขึ้น ศาลที่เขาไม่ชอบฝั่งเราก็เขม่นเต็มที่ แต่ศาลที่เขากลางๆ หรือศาลที่เขารู้ว่าเราทำอะไรมา เราช่วยชาวบ้านมายังไง เขาก็มองเราบวก อย่างไปคดีไผ่ ดาวดิน ที่ภูเขียว (คดีแจกเอกสารประชามติ) ผมก็คิดว่าศาลเขารู้ว่าเราเป็นใครมา เขาก็ค่อนข้างที่จะให้เกียรติหรือศาลทหารเขาก็รู้ว่าเราไม่มีลับลมคมในอะไรเป็นเสื้อแดงก้าวหน้าคนหนึ่ง
ทุกวันนี้ก็ถือว่าชีวิตค่อนข้างปกติสุข มีชีวิตปกติ กิน เที่ยวได้ปกติ เที่ยวเมืองนอกได้ปีละครั้งสองครั้ง กินเหล้ามียี่ห้อหน่อย มาต่างจังหวัดว่าความเบี้ยเลี้ยงก็จะหมดไปกับเบียร์ (หัวเราะราวกับรู้ใจกันดี)
.
The Isaander: ส่วนใหญ่ว่าความให้ฝ่ายจำเลยแล้วคนที่เรียนกฎหมายรุ่นเดียวกับพี่ คนที่เป็นอัยการหรือฝั่งตรงข้ามเคยเจอกันบ้างไหม?
อานนท์: ที่รามฯ จะไม่ค่อยมีรุ่นขนาดนั้น เพราะคนเยอะ แต่ธรรมศาสตร์จะรู้ว่ารุ่นไหนๆ ส่วนเพื่อนมัธยมที่ร้อยเอ็ดก็ยังมองว่าเราเป็นคอมมิวนิสต์น้อย เขาก็ยังมองว่าชีวิตเราก็ยังมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง เรื่องการชุมนุม ล่าสุดก่อนเรื่องเลือกตั้งเราก็ไปเป็นแกนนำคนอยากเลือกตั้ง อันนี้ขึ้นเวทีไฮปาร์กเต็มที่ เป็นหัวโจก
.
The Isaander: สำหรับอานนท์ นำภา ความทรงจำแจ่มชัดที่สุดในการเมืองไทยคืออะไร?
อานนท์: ตอนที่เรียนมัธยมเราได้เป็นประธานนักเรียน เราได้รู้ว่าประวัติโรงเรียนเป็นยังไง เราได้รู้ว่าศิษย์เก่าเราเป็นยังไง จำลอง ดาวเรือง ที่โดนยิงตาย พวกที่เป็นเสรีไทย พวกที่เป็น ส.ส. สายปรีดี พนมยงค์ เราก็มองคนพวกนี้เป็นไอดอล เริ่มจากตรงเรียนมัธยมเลยนะที่เป็นหน่อให้ไปต่อ ทำให้เรามาอ่านหนังสือต่อตอนมหาวิทยาลัย ซึ่งหนังสือเยอะมาก ชมรมวรรณศิลป์ที่ธรรมศาสตร์ งานเสวนาต่างๆ เสวนาหนังสือแล้วไปเจอนักเขียน ทำให้เราละลานตานะ เด็กต่างจังหวัดเข้ามาเรียนกรุงเทพมีความอิ่มเอมลึกๆ ของการที่เป็นคนชอบงานเขียน ชอบนักเขียน ล่าสุดเรานั่งกินเหล้าด้วยกัน คิดเหรอวันหนึ่งว่าจะได้มานั่งกินเหล้ากับเขา
วันหนึ่งคุณจะได้ไปเยี่ยมไม้หนึ่ง ก.กุนที ที่ลี้ภัยไปอยู่เขมร ไปกินอาหารกับเขาไปฟังดูวิสัยทัศน์เขา ปี 2553 เลยนะ เหมือนเป็นเรื่องที่ดำเนินขึ้นมาแล้วเราเป็นตัวเล่นในนั้น คุณลองนึกถึงพวกที่อ่านตุลา คนที่ทำคดีตุลาคือ ทองใบ ทองเปาว์ กับเพื่อน แล้วก็คือเหมือนได้รับบทคล้าย ๆ กัน ก็อิ่มเอมดีนะ แต่ว่าด้วยความที่เรา ชอบ เราไม่อยากเป็นเขาอ่ะ เราก็จะสร้างบุคลิกตัวเองขึ้นมา ให้เป็นทนายบ้าๆ บอๆ นึกออกไหม นั่งกินเหล้ากินเบียร์ คือเราพยายามปฏิเสธไม่อยากให้เป็นไอดอลที่สูงค่า หรือเป็นปูชนียบุคคลจะเป็นมุมกลับ ต้องทำตัวเองให้เป็นคนธรรมดา ไม่อยากทำให้ตัวเองมองว่าตัวเราดีเกินไป หรือว่าเตะต้องไม่ได้เลย แต่เรามีความสุขที่รู้ว่าเราทำในบทที่ไอดอลเราเคยเป็นมาก่อน
.
The Isaander: การได้เล่นบทบาทนี้ เป็นความอิ่มเอมหนึ่งในชีวิต?
อานนท์: เพราะความอิ่มเอมคือการที่รู้ว่าตัวเองเป็นเหมือนตัวละครในยุคนั้น ที่เราเคยอ่านมาแล้วเกิดขึ้นมาใหม่ เราได้รู้จัก นิว (สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์) โรม (รังสิมันต์ โรม) พวกเขาก็อาจจะเป็นเสกสรรค์สมัยนั้น สมัยนั้นเรียกเสกสรรค์ ทองใบ ทองเปาว์ ว่าพี่นะ แล้วพวกนี้ก็เรียกผมว่าพี่ คือเหมือนกับประวัติศาสตร์ซ้ำรอยแล้วเราไปเป็นตัวละครในนั้น เหมือนกงล้อประวัติศาสตร์
ส.ส.ที่พูดเรื่องทหารแล้วออกจากสภามาแล้วโดนยิงอาจจะเป็น ปิยบุตรก็ได้ มันหมุนกลับมา อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็อาจจะเป็น อาจารย์วรเจตน์ อะไรอย่างนี้
.
The Isaander: แล้วคิดว่าจะทำงานต่อไปกับการเป็นทนายความเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน?
อานนท์: ผมทำไปจนตาย ทำอย่างอื่น ไม่ได้หรอกเหมือนพระ พระพอบวชแรกๆ บวชสักยี่สิบพรรษาไม่ค่อยอยากสึกหรอก มีความขลัง แต่การว่าความมีความสนุกด้วย มีความท้าทายที่เหมือนกินเหล้านะ มีความสุขเหมือนกินเหล้ากินเบียร์ ไม่ได้สักว่าจะทำ การว่าความคือความสนุก เป็นการเสพชนิดหนึ่ง เหมือนอะไรที่เราเข้าไปเสพ เราลุ่มหลงกับการว่าความพอสมควร
ผมพยายามสังเกต เทคนิค แต่ยังไม่ถอดบทเรียนออกมาว่ามันจะเป็นตำราอะไรขนาดนั้น แต่คิดว่า ถ้ามันตกผลึกมากๆ วิชาว่าความคือสิ่งที่เราอยากเขียน คือที่เราเห็นตามหนังสือตอนนี้ มันมีแต่ทฤษฎีที่เราเห็น ที่เป็นภาคปฏิบัติจริงๆ น้อย แล้วก็ภาคปฏิบัติคือการสอนเราเขียนคำร้องอะไรอย่างนี้ แต่มันมีความนุ่มลึก เป็นวิทยายุทธที่ยังไม่มีการสอนกันอย่างเป็นระบบของไทยไม่ค่อยเป็นระบบ แต่ถ้าเป็นออฟฟิศใหญ่ๆ เขาจะทำ ของไทยต้องใช้ครูลักพักจำ รุ่นพี่ต้องมาสอนรุ่นน้องว่าความ ตอนนี้เท่าที่เห็นพวกทนายที่ขึ้นมาใหม่ๆ เก่งๆ รุ่นน้องหลายคนว่าความเก่ง แม่นกฎหมาย
.
The Isaander: ทุกวันนี้กวีก็คือเขียนเป็นครั้งคราว?
อานนท์: เขียนตามอารมณ์ แต่ความเก่งของผมคือการเขียนเร็ว เสร็จไว ถ้ามีอารมณ์มีอะไรตกผลึก แป๊ปเดียว เหมือนโครงสร้างทางวรรณกรรม ทางกวีเหมือนมีแก้วเดียว แต่มีแปดใบสี่ชั้น ถ้าคุณมีอารมณ์ คุณกระซวกออกมาก็เต็มแก้ว ไม่ต้องประดิษฐ์ประดอย
.
The Isaander: บางจังหวะชีวิต หากนึกถึงชีวิตที่ธรรมศาสตร์ภาพมันเป็นแบบไหน?
อานนท์: จำความรู้สึกอยู่ธรรมศาสตร์มีความหลากหลายของคณะ จะมีความรู้สึกว่าคนพวกนี้มันจะกลายไปเป็นหัวโขนของสังคม เหมือนหนังฝรั่งที่ผมดู หัวกะทิของสังคมที่มาเรียนธรรมศาสตร์ได้ แล้วคนพวกนี้มันจะออกไปอยู่ในสังคม ซึ่งพออยู่ไปสักพักจะไม่รู้สึกอย่างนั้นแล้ว จะรู้สึกว่าคือคนชนชั้นนำของสังคมที่เข้ามามีโอกาสกว่าคนอื่น เพราะจริงๆ เขาก็ใช้ชีวิตที่ไม่ได้เป็นแบบที่จะออกไปทำเพื่อสังคม เราก็เห็นเขาคิดจะเอาเปรียบ เอาเปรียบในที่นี่ไม่ใช่เลวทรามนะ คือเป็นคนที่ไม่ได้ทำอะไรใส่ใจสังคมมาก ประมาณนั้น คือเป็นคนปกติที่มีโอกาสดีกว่าคนอื่นเท่านั้นเอง เราก็เลยเลือกไปเรียนที่รามฯ เพื่อใช้สิ่งที่เรามี เอาไปช่วยสังคม ที่พูดไม่ใช่ว่าผมเป็นคนดี ผมเป็นคนไม่ดีนะ แต่ผมเป็นคนโรแมนติกกับการใช้ความคิดตรงนี้ พยายามหล่อเลี้ยงตนเองด้วยความรู้สึกอย่างนี้
.
The Isaander: ก็เป็นตัวตนของพี่?
อานนท์: ก็ใช่นะ คือผมมีความโรแมนติกเล็ก ๆ ในการใช้ชีวิต
.
The Isaander: เป็นคอมมิวนิสต์บ้าง เป็นคนโรแมนติกบ้าง เป็นคนบ้าบ้าง?
อานนท์: ใช่ เป็นทนายบ้าง อย่างว่าความศาลไม่ให้ถามความ ก็ถามต่อ เอาสิครับ ไม่ได้กลัวไง คือถ้าโดนขังจะยิ่งเท่ไปอีก เรามีความโรแมนติกกับตัวเอง เป็นทนายตอนนั้นไปว่าความ ชาวบ้านเอาฟักเอาแตงแบกขึ้นรถตู้ ว่าความแล้วได้ของกินกลับมาแล้วเท่ เนื้อแดดเดียวอย่างนี้ บางทีเหมือนกับเราหล่อ เป็นตัวแทน ก็คือคิดในมุมหล่อนะ แต่จะมีความสุขกับความคิด ที่หล่อเลี้ยงตัวเอง เพื่อนที่เรียนรุ่นเดียวกัน เขาก็ประสบความสำเร็จกันไปหมดแล้ว ก็มีเงิน ถ้าพูดเรื่องเศรษฐกิจเขาก็ไปกันสบายล่ะ ก็เหลือแต่เราที่ใช้ชีวิต ใช้ชีวิตแบบไม่ได้รวยมาก แต่ก็ไม่ได้จน แต่ก็ได้ใช้ชีวิตที่ดีกว่าคนที่เขาไม่ได้มีโอกาสหลายคน เราใช้ชีวิตดีกว่ากว่าพวกทำงานรับจ้าง นั่งแท็กซี่ กินข้าว กินเบียร์ดี
.
The Isaander: ถ้าเกิดลูกความมีความคิดเห็นแตกต่างกันจากพี่ พี่จะรับเขาว่าความ?
อานนท์: คดีทั่วไปที่ไม่ใช่การเมืองก็รับนะ
.
The Isaander: ถ้าการเมืองล่ะ?
อานนท์: การเมืองถ้าเห็นไม่ตรงกันอยู่แล้วก็คงไม่ทำ
.
The Isaander: แต่ถ้าเกิดเป็นคดี 112 พี่ทำอยู่แล้ว?
อานนท์: ทำๆ กฎหมายอะไรที่ขัดกับมโนสำนึกเนี่ยเราทำ แต่ไม่ใช่ว่าเราไปรังเกียจเขา อย่างที่เราทำให้เสื้อแดง แล้วไปรับเสื้อเหลือง มันเหมือนเราทำทั้งสองงานนี่หว่า เขาจะให้ความไว้เนื้อเชื่อใจเราน้อยลงด้วย ทั้งที่เราทำตามความสามารถไม่ได้ต่างกัน
.
The Isaander: คำถามสำคัญสุดท้ายแล้วด้วย ตอนนี้มีครอบครัวแล้วหรือยัง?
อานนท์: มีแฟนแล้ว ลูกแล้ว
__________________________________________
Commenti