top of page
Writer's pictureThe Isaander

ติดตารางเพิ่ม! อีก2ราย "คดีบุกรุกอุทยานไทรทอง"





- เครื่อง 5 กด 105 นะครับ ไม่งั้นคุณจะไม่ได้ยินกัน - ตื๊ดด !


The Isaander : สวัสดีครับวันนี้ใส่เสื้อขาวเหมือนกันเลย แปลกตาจัง

N: อ๋อวันนี้วันพระค่ะ เขาให้ใส่ชุดขาว ปกติก็ใส่ชุดสีน้ำตาลปกติ

The Isaander: อย่าเพิ่งหมดกำลังใจนะครับ ข้างในทำอะไรบ้าง

N:อยู่แผนกเบเกอรี่ ไม่ได้ออกไปไหนเลยค่ะ กำลังปรับตัวได้ แต่ห่วงเพื่อนๆมากกว่า บางคนอายุเยอะกว่า

The Isaander:ข้างนอกกำลังทำหลายเรื่องเลยครับ วันก่อนเห็นเขาเพิ่งไปยื่นหนังสือให้สภา ยกเลิกคำสั่งพวกนี้

N: อ๋อค่ะๆ

The Isaander:เคยมีคนถามบ้างไหมครับ ว่าเข้ามาอยู่ในนี้ได้เพราะเรื่องอะไร

N: ตอบไปว่า เพราะปลูกมันสำปะหลังค่ะ (หัวเราะ)

__________________


ติดตารางเพิ่ม! อีก2ราย "คดีบุกรุกอุทยานไทรทอง"

วันที่ 25 มิถุนายน 2562 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตัดสินจำคุก ทองปั่น และวันชัย สองชาวบ้านที่ต่อสู้ในที่ดินทำกินหลังถูกเรียกคืนที่ดิน และฟ้องคดีโดยอุทยานแห่งชาติไทรทองตามนโยบาย "ทวงคืนผืนป่า" ศาลพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งสามคดี

ในคดีของทองปั่น ตัดสินให้จำคุก 8 เดือน ลดจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำคุก 9 เดือน 10 วัน และชดใช้ค่าเสียหาย 100,000 บาทคง คดีของวันชัย จำคุก 6 เดือน เพิ่มการชดใช้ค่าเสียหายเป็น 863,950 บาท ส่วนคดีของสมร ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้รอลงอาญานั้น อัยการอุทธรณ์ในค่าเสียหายที่ต้องชำระต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จากเดิม 80,000 บาท เพิ่มเป็น 366,663 บาท ตามที่โจทก์ได้อุทธรณ์

.............................................



- ศาลจังหวัดชัยภูมิ นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 3 ในคดีของ 3 ใน 14 ชาวบ้านที่ถูกอุทยานแห่งชาติไทรทองฟ้องข้อหาบุกรุกป่า ได้แก่ ทองปั่น , วันชัย และสมร ทั้งสามรายถูกเรียกคืนที่ดินทำกินโดยอุทยานแห่งชาติไทรทองตามนโยบายทวงคืนผืนป่า

-ทองปั่น ตอนแรกถูกแยกฟ้องเป็นสองคดี แยกเป็นบุกรุกแปลงแรกคิดเป็นเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 11 ตารางวา ส่วนแปลงที่สองคิดเป็นเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา จากนั้นศาลรวมสำนวนเป็นคดีเดียว

- วันชัย บุกรุกพื้นที่ 14 ไร่ 3 งาน 73 ตารางวา และสมร บุกรุกพื้นที่ 8 ไร่ 1 ตารางวา ซึ่งทั้งสามคนใช้ที่ดินในการทำไร่มันสำปะหลัง

-คดีนี้ศาลชั้นต้นเคยพิพากษาให้ลงโทษ คดีของทองปั่น ตัดสินจำคุก 9 เดือน 10 วัน และชดใช้ค่าเสียหาย 100,000 บาท, คดีของวันชัย จำคุก 6 เดือน 20 วัน ชดใช้ค่าเสียหาย 150,000 บาท และสมร ศาลลงโทษจำคุก 1 ปี แต่ให้รอลงอาญาไว้ 3 ปี ปรับ 20,000 บาท คุมความประพฤติจำเลยเป็นเวลา 1 ปี และทำงานบริการสังคม หรือสาธารณประโยชน์ เกี่ยวกับทางทรัพยากรธรรมชาติ 24 ชั่วโมง ชดใช้ค่าเสียหาย 80,000 บาท

- วันนั้นช่วงเช้าที่บริเวณชั้นสอง ของศาลจังหวัดชัยภูมิ ชาวบ้านประมาณ 20 คนจากหนวงบัวระเหว มาร่วมให้กำลังใจจำเลยทั้งสามคน โดยศาลนัดพิจารณาทั้งสามคดี แยกออกเป็นสามห้อง คดีของทองปั่น นัดฟังคำพิพากษาในห้องพิจารณาที่ 5 คดีของวันชัย นัดฟังคำพิพากษาในห้องพิจารณาคดีที่ 8 และคดีของสมร นัดฟังคำพิพากษาในห้องพิจารณาคดีที่ 7

-ในห้องพิจารณาคดีที่ 5 มีผู้เข้าฟังการพิจารณาคดีเต็มความจุที่นั่ง ศาลออกนั่งพิจารณาคดีเวลาประมาณ 9.10 น. และเริ่มอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ทันที เนื้อหาสรุปความได้ว่า

ประเด็นที่หนึ่ง – เรื่องอำนาจดำเนินคดี จำเลยอุทธรณ์ว่า เจ้าพนักงานอุทยานแห่งชาติไทรทองที่ดำเนินคดีไม่ได้รับมอบอำนาจจากทางอุทยานฯ จึงไม่มีอำนาจในการแจ้งความดำเนินคดี และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดี

ศาลเห็นว่าฟังไม่ขึ้น เนื่องจากพนักงานพิทักษ์ป่า และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ร้องทุกข์กล่าวโทษนั้นทำไปตามอำนาจหน้าที่ คดีนี้เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน พนักงานสอบสวนมีอำนาจตามกฎหมายโดยตรงที่จะสอบสวนได้เมื่อมีความผิดเกิดขึ้น ไม่จำเป็นต้องมีผู้ริเริ่มคดีก็ได้ เพราะฉะนั้นพนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการได้เลย อุทธรณ์จำเลยจึงฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่สอง – เรื่องการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า ไม่ได้เป็นผู้บุกรุกใหม่และเป็นผู้ยากไร้ ศาลอุทธรณ์ตัดสินว่า จำเลยถือว่า เป็นผู้บุกรุกใหม่เนื่องจากมีพยานโจทก์ยืนยันว่า จำเลยยินยอมเซ็นคืนพื้นที่ถือว่ายอมรับว่าที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวน

จำเลยไม่ได้เป็นผู้ได้รับการผ่อนผันให้ทำกินในที่ดินได้ เพราะไม่มีหลักฐานยืนยันการพิสูจน์สิทธิ ทำให้ไม่ได้รับการยกเว้นตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 อีกทั้งเมื่อพยานโจทก์ตรวจสอบขอคืนพื้นที่ก็พบว่า มีการทำไร่มันสำปะหลัง และได้แจ้งให้หยุดทำแล้ว จำเลยขอผ่อนผันกับทางอุทยานเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต อุทยานก็อนุญาต แต่หลังจากนั้นยังพบการทำไร่ครั้งใหม่อยู่ จึงได้แจ้งความดำเนินคดีดังกล่าว อุทธรณ์ประเด็นนี้จึงฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่สาม - เรื่องชดใช้ค่าเสียหาย ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่า การชดใช้ค่าเสียหาย 100,000 บาท ตามศาลชั้นต้นตัดสิน เหมาะสมแล้ว แม้ทางโจทก์จะคำนวนตามหลักวิทยาศาสตร์เพื่อให้เพิ่มการชดใช้ค่าเสียหาย แต่ศาลเห็นว่าไม่ใช่การคำนวนค่าเสียหายที่แท้จริง ซึ่งอาจจะคลาดเคลื่อนได้ อุทธรณ์โจทก์ที่ขอให้เพิ่ม และอุทธรณ์จำเลยที่ขอให้ลดการชดใช้ค่าเสียหายจึงฟังไม่ขึ้น

** ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้น เนื่องจากศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยหนักเกินไป จึงแก้ไขให้จำเลยมีความผิดตามฟ้องโจทก์ ลดโทษจำคุกเหลือ 8 เดือน จาก 9 เดือน 10 วัน ให้นำสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ และชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด 100,000 บาท โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2559

- หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จึงได้พาตัวทองปั่น ไปยังห้องขังของศาล ท่ามกลางเสียงร้องไห้ของประชาชนผู้มาให้กำลังใจในห้องพิจารณาคดี

----------------------------------------------



ในห้องพิจารณาคดีที่ 7 คดีของสมร ศาลออกนั่งพิจารณาคดีเวลาประมาณ 9.15 น. และได้เริ่มอ่านคำพิพากษาทันที มีประเด็นโดยสรุปดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง – เรื่องอำนาจการดำเนินคดี เนื่องจากพนักงานพิทักษ์ป่า และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ร้องทุกข์กล่าวโทษนั้นกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ คดีนี้เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน พนักงานสอบสวนมีอำนาจตามกฎหมายโดยตรงที่จะสอบสวนได้เมื่อมีความผิดเกิดขึ้น ไม่จำเป็นต้องมีผู้ริเริ่มคดีก็ได้ เพราะฉะนั้นพนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการได้เลย อุทธรณ์จำเลยจึงฟังไม่ขึ้น

สอง – ศาลอุทธรณ์ตัดสินว่า จำเลยเป็นผู้บุกรุกใหม่เนื่องจากมีพยานโจทก์ยืนยันว่า จำเลยยินยอมเซ็นคืนพื้นที่ถือว่ายอมรับว่าที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวน อีกทั้งการเบิกความของพยานฝ่ายจำเลยเป็นการกล่าวอ้างได้โดยง่าย และนำพยานที่โดนคดีเช่นเดียวกันมาเบิกความยืนยัน ย่อมทำให้เบิกความเข้าข้างฝ่ายจำเลยได้ พยานจึงมีน้ำหนักน้อย อีกทั้งเมื่อพยานโจทก์ตรวจสอบขอคืนพื้นที่ก็พบว่า มีการทำไร่มันสำปะหลัง และได้แจ้งให้หยุดทำแล้ว จำเลยได้ขอผ่อนผันกับทางอุทยานเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต อุทยานก็อนุญาต แต่หลังจากนั้นยังพบการทำไร่ครั้งใหม่อยู่ จึงได้แจ้งความดำเนินคดีดังกล่าว อุทธรณ์ประเด็นนี้จึงฟังไม่ขึ้น

สาม - เรื่องชดใช้ค่าเสียหาย ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่า การที่โจทก์ขอเพิมค่าเสียหายเป็น 366,663 บาทนั้น รับฟังได้ เนื่องจากโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐ การคำนวนค่าเสียหายเป็นไปตามหลักวิชาการ และมีความเป็นสากล จึงมีความน่าเชื่อถือและเหมาะสมพอสมควร

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้น แก้ไขการชำระค่าเสียหายจาก 80,000 บาท เป็น 366,663 บาท ตามโจทก์อุทธรณ์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2559 ส่วนคำพิพากษาอื่นให้ยืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุก 1 ปี แต่ให้รอลงอาญาไว้ 3 ปี ปรับ 20,000 บาท คุมความประพฤติจำเลยเป็นเวลา 1 ปี และทำงานบริการสังคม หรือสาธารณประโยชน์ เกี่ยวกับทางทรัพยากรธรรมชาติ 24 ชั่วโมง ชดใช้ค่าเสียหาย 80,000 บาท

-------------------------------------



- ในห้องพิจารณาคดีที่ 8 คดีของวันชัย มีผู้เข้าฟังการพิจารณาเต็มความจุที่นั่ง เวลาประมาณ 09.55 น. เจ้าหน้าที่หน้าบันลังก์แจ้งว่าศาลยังไม่สามารถอ่านคำพิพากษาได้ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้ควบคุมตัวจำเลยไม่เพียงพอ เนื่องจากมีคดีเยอะ จึงต้องทำการรอเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน จนกระทั่งประมาณ 10.30 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี และได้อ่านคำพิพากษาทันที มีประเด็นโดยสรุปดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง – เช่นเดียวกับสองคดีแรก เนื่องจากพนักงานพิทักษ์ป่า และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ร้องทุกข์กล่าวโทษนั้นกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ คดีนี้เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน พนักงานสอบสวนมีอำนาจตามกฎหมายโดยตรงที่จะสอบสวนได้เมื่อมีความผิดเกิดขึ้น ไม่จำเป็นต้องมีผู้ริเริ่มคดีก็ได้ เพราะฉะนั้นพนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการได้เลย อุทธรณ์จำเลยจึงฟังไม่ขึ้น

สอง – เรื่องการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า ไม่ได้เป็นผู้บุกรุกใหม่และเป็นผู้ยากไร้ ศาลอุทธรณ์ตัดสินว่า จำเลยถือว่า เป็นผู้บุกรุกใหม่เนื่องจากมีพยานโจทก์ยืนยันว่า จำเลยได้ยินยอมเซ็นต์คืนพื้นที่ถือว่ายอมรับว่าที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวน จำเลยไม่ได้เป็นผู้ได้รับการผ่อนผันให้ทำกินในที่ดินได้

เพราะไม่มีหลักฐานยืนยันการพิสูจน์สิทธิ ไม่มีเอกสารยืนยันการผ่อนผัน ทำให้ไม่ได้รับการยกเว้นตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 และการกระทำบุกรุกที่ดินดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่จะมี คำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 จึงไม่สามารถอ้างประโยชน์จาก คำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ได้ อีกทั้งเมื่อพยานโจทก์ตรวจสอบขอคืนพื้นที่ก็พบว่า มีการทำไร่มันสำปะหลัง

และได้แจ้งให้หยุดทำแล้ว จำเลยได้ขอผ่อนผันกับทางอุทยานเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต อุทยานก็อนุญาต แต่หลังจากนั้นยังพบการทำไร่ครั้งใหม่อยู่ จึงได้แจ้งความดำเนินคดีดังกล่าว อุทธรณ์ประเด็นนี้จึงฟังไม่ขึ้น

สาม - เรื่องของการชดใช้ค่าเสียหาย ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่า การที่โจทก์ขอเพิมค่าเสียหายเป็น 860,395 บาทนั้น รับฟังได้ เนื่องจากโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐ การคำนวนค่าเสียหายเป็นไปตามหลักวิชาการ และมีความเป็นสากล จึงมีความน่าเชื่อถือและเหมาะสมพอสมควร

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้น แก้ไขการชำระค่าเสียหายจาก 300,000 บาท เป็น 860,395 บาท ตามโจทก์อุทธรณ์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2559 ส่วนคำพิพากษาอื่นให้ยืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุก 6 เดือน 20 วัน และให้นำสิ่งปลูกสร้างจากพื้นที่

ทั้งนี้สองรายที่ศาลสั่งจำคุก ไม่ได้รับประกันตัว และอยู่ห้องขังใต้ถุนศาลจนถึง 16.00 น. โดยมีชาวบ้านอยู่ให้กำลังใจกัน จนกระทั่งรถจากเรือนจำมารับตัวไป

..................................................................



- จำเลยทั้งสามเป็นผู้ถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ แผ้วทาง ทำลายป่า ในพื้นที่บริเวณหมู่ที่ 8 ตำบลห้วยแย้ อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง คิดเป็นเนื้อที่ 11 ไร่ 3 งาน 73 ตารางวา อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 มาตรา 54 55 72 ตรี, พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 มาตรา 4 5 6 9 14 26/4 26/5, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2504 มาตรา 4 5 6 8 16 (1) (2) (4) (13) 24 27

- ในทางต่อสู้คดี ทุกคนให้การปฏิเสธ ต่อสู้ว่า มีการประกาศเขตอุทยานทับที่ดินทำกินของจำเลยซึ่งทำกินและอยู่อาศัยมาก่อนการประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ จำเลยจึงมีความชอบธรรมตามมติคณะรัฐมนตรี ปี 2541 ที่ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบสำรวจการครอบครองเพื่อกำหนดขอบเขตให้ชัดเจน

- ศาลจังหวัดชัยภูมิ เคยพิพากษาให้ลงโทษ ในคดีของทองปั่น ตัดสินให้จำคุก 9 เดือน 10 วัน และชดใช้ค่าเสียหาย 100,000 บาท, คดีของวันชัย จำคุก 6 เดือน 20 วัน ชดใช้ค่าเสียหาย 150,000 บาท และสมร ศาลลงโทษจำคุก 1 ปี แต่ให้รอลงอาญาไว้ 3 ปี ปรับ 20,000 บาท คุมความประพฤติจำเลยเป็นเวลา 1 ปี และทำงานบริการสังคม หรือสาธารณประโยชน์ เกี่ยวกับทางทรัพยากรธรรมชาติ 24 ชั่วโมง ชดใช้ค่าเสียหาย 80,000 บาท

- ทั้งสามคนเป็นหนึ่งในประชาชนหลายพันคน ที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีตามนโนบาย "ทวงคืนผืนป่า" ของรัฐบาล คสช. ตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 สำหรับบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง จังหวัดชัยภูมิ มีประชาชนถูกจับกุมและดำเนินคดีรวมอย่างน้อย 19 คดี ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยต้องมีโทษจำคุกทุกคดี

- ก่อนหน้านี้มีชาวบ้านที่ถูกอุทยานไทรทองฟ้องคดีติดคุกไปแล้วหกคน คือ ศรีนวล ที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไปเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2562 ศาลตัดสินให้ จำคุก 5 เดือน 10 วัน ให้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช 150,000 บาท,

-นิตยา แกนนำต่อสู้ในที่ดินทำกินที่ถูกเรียกคืน ศาลอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์สองคดี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 และวันที่ 5 มิถุนายน 2562 โดยตัดสินให้จำคุกทั้งสองคดี คดีแรก จำคุก 4 เดือน ชดใช้ค่าเสียหาย 40,000 บาท และคดีที่สอง ตัดสินให้จำคุก 8 เดือน และชดใช้ค่าเสียหาย 150,000 บาท เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562 อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อีกสามคดีได้แก่ สุณี ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาจำคุก 5 เดือน 10 วัน ชดใช้ค่าเสียหาย 439,027 บาท,

-สุภาพร จำคุก 5 เดือน 10 วัน ชดใช้ค่าเสียหาย 439,027 บาท,

- ปัทมา จำคุก 8 เดือน ชดใช้ค่าเสียหาย 200,000 บาท และเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 สากล ถูกศาลพิพากษาจำคุก 4 ปี ชดใช้ค่าเสียหาย 1,587,211 บาท จนกระทั่งวันนี้ถูกจำคุกเพิ่มอีกสองคน

และในวันที่ 2-3 กรกฎาคม 2562 ยังมีอีกห้าคดีที่นัดฟังคำพิพากษาจากศาลอุทธรณ์ ได้แก่ วันที่ 2 กรกฎาคม 2562 คดีของ พุทธ และสมพิตร วันที่ 3 กรกฎาคม 2562 เป็นวันนัดวันสุดท้าย ได้แก่ สุวิทย์ , สุวลี และนริศรา



14 views0 comments

Comments


bottom of page