top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

One For the road หนังที่มีตัวละครสำคัญเป็น 'เสียง' โดยหัวลำโพงริดดิมสร้างสรรค์อีกแล้วครับทั่น!



รถไฟฟ้าบีทีเอสเคลื่อนตัวออกจากสถานีหมอชิต รับเอาผู้โดยสารที่พรั่งพรูกรูเข้ามาพร้อมสารพัดหมุดหมาย ผมก่อนหน้า คนที่ยืนอยู่หลังจุดช่องว่างชานชาลาและตัวขบวนรถ คือหนึ่งในผู้สัญจรบนเส้นทางนั้น -เวลานั้น พร้อมพงษ์คือจุดหมายปลายทางที่วางไว้


เมื่อเสียงตามสายในห้องโดยสารบอกชื่อสถานีต่อไป ผมหยิบแว่นตาสีดำมาสวมใส่ ราวกับได้รับบทตัวละครบางตัวในหนังที่เคยดู เพียงชั่วครู่ในหัวมีทำนองสกอร์หนังที่เสียงทรอมโบนกับปี่สอดประสานกันอย่างลงตัว (ดื่อ ดือ ดื๊อ ดือ ดื่อ ดือ)ดังขึ้นมากลบเสียงโฆษณาในรถ เมื่อเห็นแสงแดดระอุร้อนในกรุงเทพฯ ชวนให้เข้าใจผิดไปเสียว่า ไม่กี่วันข้างหน้าเราคงได้ออกไปเล่นสงกรานต์กัน เมื่อถึงปลายทางสถานี ตรงหน้าคือท้องฟ้าจำลองที่ที่เขาและเธอเคยคุยกันเรื่องดาวหางแมคไบร์ เมื่อแปดปีก่อน แต่สำหรับผม กับความจริงที่เมื่อไม่ใช่ใครใน “รถไฟฟ้า มาหานะเธอ”


ทางออกประตู 4 คือช่องทางสถานที่ที่ผมนัดใครคนหนึ่งไว้ เขาเป็นเจ้าของสรรพเสียงที่ก่อเกิดในหลายหลากภาพยนตร์ไทยรวมถึงในหนังเรื่องที่พูดไว้บรรทัดก่อนหน้า


จากภาพยนตร์เรื่อง “คนจร” ถึงเรื่องล่าสุดที่กวาดรายได้และเป็นกระแสไปไม่น้อยอย่าง One For the road หัวลำโพงริดดิม คือค่ายที่ทำดนตรีและเพลงประกอบภาพยนตร์ (Music scoreและ Original Soundtrack) มาแล้วกว่า50 เรื่อง โดยเฉพาะให้กับค่ายหนังฟีลกู้ดสุดฮิตอย่าง GTH(GDH) หรือหนังกระแสรองของ เป็นเอก รัตนเรือง และกับค่ายอื่นๆ แล้วถ้าเผื่อจำกันได้


“โปรดเถิดดวงใจ โปรดได้ฟังเพลงนี้ก่อน อย่าด่วนหลับนอน อย่าด่วนทอดถอนฤทัย...”

โปรดเถิดดวงใจ เพลงอมตะของ ทูล ทองใจ ผ่านเสียงร้องไข่ย้อย ในเรื่องเพื่อนสนิท


“...โอ้ น้ำมาหลง คารมอะไรกับปลารูปหล่อ ฟ้ามาทำสัญญาอะไรกับนกตัวดี!...” เสียงใสๆ จากธาริณี ทิวารี ที่โผล่มาตอนท้าย จากความสัมพันธ์อันลับเร้นของ เคนจิ น้อยและนิด ใน Last Life in the Universe


หรืออย่าง “...แดด รอนๆ เมื่อทินกรจะลับเหลี่ยมเมฆา..” กับการอัญเชิญ “ยามเย็น” ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์มาบรรเลงด้วยวงออร์เครสต้าและขับร้องด้วยเสียงอันมีเอกลักษณ์ของวี วิโอเลตพร้อมบอดี้เพอร์คัสชัน ในภาพยนตร์ “พรจากฟ้า” เหล่านี้ล้วนเป็นผลงานส่วนหนึ่งของพวกเขา


บ่ายคล้อยที่ร้านกาแฟชื่อฝรั่งเศส ในห้างเปิดใหม่ที่มีชื่ออ่านยากในภาษาเดียวกันนี้ ผมได้พูดคุย สัมผัสและฟังเสียงของวิชญ์ วัฒนศัพท์ ผู้เป็นดั่งนายสถานีประจำหัวลำโพงริดดิม กับเรื่องราวหลังม่านฉากจอเงินที่นักแสดงกำลังร่ายบทบาทกันอยู่ อาจมีอีกตัวละครที่ไม่ปรากฏกายแต่สัมผัสได้โดยคนดูไม่รู้ตัวนั่นคือ เสียงและเพลงประกอบ ที่สัดส่วนเวลาปรากฏอาจจะดูน้อยนิดแต่ทิ้งบางสิ่งในใจไว้มหาศาล


เมื่อสถานีฯวาบไหวไพเราะได้ปรากฏ


“เป็นที่ที่ทุกคนในประเทศมาเจอกันได้ ” -เป็นอีกความหมายของชื่อค่ายฯพวกเขา


แรกเดิมของหัวลำโพงริดดิมนั้น นครินทร์ ธีระภินันท์ (กอล์ฟ ทีโบน) หนึ่งในผู้ร่วมตั้งเป็นคนคิดชื่อขึ้น มาจาก คำว่าหัว เสียงมันออกมาจากในหัว ก่อนจะผ่านลำโพง เเล้วมันก็ไทยดี มันเป็นชื่อสถานที่ ถ้าเอาแบบเจตจำนง คือหัวกับลำโพง


ก่อนหน้าจะใช้ชื่อนี้ พวกเขาทำเพลง ประกอบหนังมาก่อน เรื่องคนจร ใช้ชื่อว่า Speaker Head ก็คือหัวกับลำโพง ในโลโก้ค่ายจะปรากฏรูปหัว มีลำโพง เเล้วก็มีเสียงออก ส่วนริดดิมมาจากคนจากทีโบนเป็นคนตั้ง เป็นแนวๆ ริธึ่มมากกว่า เรกเก้อะไรแบบนี้ เหมือนเป็นเฟสสั้นๆของจังหวะ (ดึ๊ง ดึ๊ง ดึ่ง ดึ่ง ดึ๊ง ดึ๊ง) ริดดิมแต่ละริดดิมก็อาจจะถูกใช้เอามาต่อๆกัน ถ้าเปรียบเป็นทางอิสานก็จะเป็นลายแคนอะไรแบบนี้ มันก็เลยกลายเป็นรวมๆกัน เลยเป็นชื่อแบบนี้


หัว+ลำโพง+ริดดิม พวกเขาต่างชอบชื่อนี้ เพราะมันเข้าใจง่าย ใครๆก็จะรู้จัก และถ้าจะพูดอีกอย่าง หัวลำโพงริดดิมก็คือเป็นที่ที่ทุกคนในประเทศมาเจอกันได้


ฐานคิดจริงจังของหัวลำโพงริดดิม ไม่ได้ทำเพลงประกอบหนัง เพราะต้องการทำค่ายเพลงกับศิลปิน แต่ว่าไปเรื่อยๆมันกลับด้าน เพลงประกอบหนังมันค่อยโตขึ้นเรื่อยๆ โตขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบอะไรนัก เพราะพวกเขาชอบทำเพลง จะเป็นเพลงแบบไหนก็ได้


ศิลปินเบอร์แรกที่ออกอัลบั้มกับค่ายคือ Skalaxy (ชุด "Look")และต่อมามี Day Tripper The Photo Sticker Machine ส้ม อมรา ฯลฯ และด้วยความที่มีโปรดักชัน มีห้องอัดเสียง มีเพื่อนๆ ในวงการที่อยากทำเพลงโฆษณา เลยทำให้ค่ายมีงานอีกด้านหนึ่งคือรับทำเพลงประกอบด้วย ใครอยากได้เพลงแบบทีโบน ก็อาจจะมาทำ ก็เริ่มทำเพลงโฆษณากัน หรืออย่างค่ายเบเกอรี่มีโปรเจค โดโจ อะคูสติค ก็มีส่งเพลงมาให้หัวลำโพงฯทำบ้าง ช่วงนั้นพวกเขาเลยได้ทำงานให้ศิลปินอื่น แต่ก็ไม่ได้เจตนาทำเป็นเพลงประกอบโฆษณาหรือหนังแบบจริงจัง


แม้พวกเขาจะชอบทำเพลง แต่ก็ยอมรับด้วยไม่มีความรู้ว่า การทำเพลงประกอบหนังต้องเป็นอย่างไร ตอนทำเรื่องแรก (คนจร หนังไทยนอกกระแสสร้างโดยบริษัทยูม่าเมื่อปี 1999 )ก็ยังไม่รู้ว่า ระบบ เซอร์ราว 5.1 นี่คืออะไร จนไปถึงห้องมิกซ์เสียง ทีมงานก็ถามว่าจะ วางแพลนการทำซาวน์ยังไง ใช้ระบบ 5.1 เลยไหม ก็ยังไม่รู้จัก


“เเล้วแบบมั่ว บิดฟิลเตอร์โน่นนี่ สมัยนั้นทำแบบวีดีโอ เปิดไปทำไปใส่เสียงไป เพลย์แบ็ควีดีโอ คอมพิวเตอร์สมัยนั้นก็ยังไม่ทันสมัยมาก ทำเท่าที่เครื่องมันมี ไปลองทำในห้อง เหมือนทำไปเรื่อย ” โหน่ง เปรยไว้เมื่อครั้งแรกทำ

หัวลำโพงฯโชคดีที่โปรเจคคนจร นั้นค่อนข้างทดลองมาก มีซาวน์ประหลาดๆ พอดีกับตอนนั้นค่ายทำ The Photo Sticker machine อัลบั้มแรก เป็นงานอิเล็คทรอนิกส์เชิงทดลองเหมือนกันอาการดนตรีคล้ายๆกัน เป็นดนตรีLoop ไป Loop มา มีเสียงประหลาดๆ คล้ายดนตรีแนวแอฟริกัน

พวก ต่อ นอ นอ นอ นอย ! เอามาปรับใช้ ด้วยเครื่องมือเท่าที่มีอยู่ตอนนั้น เลยยังไม่รู้สึกแย่ สำหรับสกอร์หนังเรื่องแรกของพวกเขาและทิศทางที่หัวลำโพงริดดิมจะเคลื่อนต่อไปในการทำเพลงบนเส้นทางสายนี้


นายสถานีผู้ส่งออกบทเพลงตามฤดูกาล


ก่อนมาทำเพลงประกอบ โหน่ง วิชญ์ วัฒนศัพท์ เรียนมาทางสถาปัตยกรรมฯ ที่ลาดกระบัง แต่จบมาก็ไม่ได้มุ่งในเส้นทางสถาปนิกเลย ด้วยรู้สึกว่าสถาปัตยกรรมนั้นกินพื้นที่โลก และรู้สึกคนออกแบบมักเห็นแก่ตัวหน่อยๆ สมมติอยากสร้างตึกอะไรสักอย่าง เราก็จะมีความอยาก เเล้วเราจะต้องเอาความอยากของเราเข้าไปตั้งในพื้นที่ อะไรแบบนี้ ตอนหลังเลยไม่ค่อยอินอะไรกับเรื่องพวกนี้เท่าไหร่


“มานึกถึงเรื่องเพลง มันมีสิ่งนี้อยู่ มันมีอีโก้ของเราอยู่ แต่ว่ามันไม่มีตัวตนอยู่ในเสียง ถ้าคนไม่ชอบก็ปิดมัน มันก็ไม่อยู่เเล้วในโลก ถ้าคนจะฟัง มันก็มีพลังขึ้นมาเราก็เลยชอบมากกว่า” โหน่งกล่าวไว้ตอนหนึ่ง


เมื่อบัณฑิตสถาปัตย์หนุ่มเห็นเช่นนั้น ขบวนปฐมฤกษ์จึงออกเดินทางด้วยการทำเพลงประกอบนิทานให้มูลนิธิยุวพัฒน์ ที่ทำนิทานสำหรับแจกจ่ายให้เด็กทั่วประเทศ ให้เอาไปฟัง ไปเปิด จากการชักชวนของพื่อนรุ่นพี่เจ้าของโครงการ ความพิเศษที่นิทานทุกเรื่องในโครงการนี้มีคือตัวละครจะร้องเพลงขับกล่อมผู้ฟังด้วย และเพื่อสร้างสรรค์ความพิเศษนั้น โหน่งได้ทำเพลงประกอบนิทานไปมากกว่าหนึ่งร้อยเรื่อง ซึ่งเขาเป็นผู้ประพันธ์ทำนอง ส่วนการเรียงร้อยเนื้อร้องเป็นผลงานของแฟนเขา กระทั่งวันหนึ่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงในชีวิตก็เริ่มบังเกิดขึ้น เมื่อหนึ่งในทีมทำเพลงประกอบนิทาน และอีกสถานะเป็นมือเบสวงละอองฟอง วงดนตรีแนวป็อป สดใส ล้ำสมัยในยุคนั้น กำลังจะมีผลงานแต่ยังขาดคนทำเพลง โหน่งจึงถูกชักชวนเข้ามาประจำตำแหน่งมือคีบอร์ดของวง


แต่เพราะแนวเพลงยังไม่โดนใจเจ้าของค่ายอื่น ละอองฟองจึงต้องมาลงเอยออกเพลงชุดแรกที่ค่ายร่องเสียงลำใยที่ ที่ฮาร์ท สุทธิพงษ์ ทัดพิทักษ์กุลหรือหนึ่งในศิลปินดูโอ้ เบิร์ดกะฮาร์ท เป็นเจ้าของ หลังหนุ่มสาวละอองฟองยื่นเดโมให้ และเจ้าของค่ายได้ฟังแล้วชอบ ผลงานชุดแรกในนามศิลปินก็ได้ออกมาทำความรู้จักกับแฟนเพลง


“เสร็จเเล้วตอนนั้นมันก็เป็นที่รู้จักประมาณหนึ่ง แต่ในวงเราก็ยังรู้สึกว่าไม่ค่อยสำเร็จ ก็แยกย้ายกัน เจตนาตอนนั้นคือการยุบวงเลยนะ เราก็คิดว่าจะทำไรต่อดี ”


กระทั่งมีคนที่ค่ายร่องเสียงลำใย ที่แยกไปเปิดค่ายเพลง โหน่งถูกรบเร้าอีกครั้งให้เขาไปช่วยทำดนตรี เรียบเรียงเพลง ซึ่งตอนนั้นกอล์ฟ ทีโบน เป็นโปรดิวเซอร์อยู่ ทั้งคู่เลยเจอกัน จังหวะนั้นมือคีบอร์ดทีโบนออก โชคชะตาของเขาก็เปลี่ยนไปอีกครั้ง เมื่อกอล์ฟเลยชวนเขาเข้ามาเป็นสมาชิกทีโบน ช่วงที่ออกอัลบั้มกอด เเล้วทำอัลบั้มอะคูสติคชื่อเบาหวาน


ตอนนั้นทีโบนอยู่ที่ค่ายเพลงโซนี่ อดีตมือคีบอร์ดละอองฟอง เข้าไปช่วยทำ เมโทร อะคูสติค อัลบั้มที่เอาเพลงเก่ามาบรรเลงใหม่ เริ่มทำโปรดักชั่น เขามีหน้าที่เรียบเรียง ทำไปประมาณ 3-4 เพลง อย่างเพลงอยากให้รู้ ของเมย์ ภัทรวรินทร์ เพลงอย่าสัญญา ของธาริณี ทิวารี ขณะนั้นทีโบนใกล้จะหมดสัญญากับโซนี่แล้ว แต่ก็มีฐานแฟนเพลงอยู่ พวกเขาเลยคุยว่าน่าจะทำกันเองได้โดยที่ไม่ต้องทำกับค่ายอื่น และแล้วหัวลำโพงริดดิม ก็ก่อกำเนิดในปี 1999 และเขานั่งประจำการในฐานะเป็นนายสถานีผลิตและส่งออกบทเพลงตั้งแต่ตอนนั้นอย่างเต็มตัว


เมื่ออยากรู้สิ่งจุดประกายให้อยากทำเพลง เขาเล่าว่า ตอนเด็กๆฟังเพลงป๊อป อาร์เอส รวมดาว 18กะรัต วงแกรนด์ เอ็กซ์


และอย่างเพลง “เบิร์ดกะฮาร์ทนี่ เปิดสมัยนี้ยังไม่เชย เหมือนวงคาร์เพนเตอร์ วิธีการเรียบเรียงมันจะไม่เก่า และเราชอบเพลงเพราะ ชอบคอร์ดดีๆ เมโลดี้ที่สวยงาม ”


และยังมีสิ่งเร้าต่อการรังสรรค์งานอีกนานา เช่น ดูหนัง อ่านหนังสือ ฟังข่าว ความเก็บกด ความคิดชีวิตการเมือง ส่วนหนังสือแต่ละยุคก็อ่านคนละแบบ วรรณกรรมเด็ก ต้นส้มแสนรัก งานเขียนจากคาริล ยิบราน ปรัชญาชีวิต ปีกหัก หรืออะไรซาบซึ้งๆอย่าง โจนาทาน ลิฟวิงสตัน โหน่งยอมรับว่า ช่วงเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ จะบ้าคอนเซ็ปต์ จะเอาอะไรที่เป็นนามธรรมมาใส่ในงาน อ่านศาสนาเปรียบเทียบ ของคนไทยก็อ่าน ประภัสสร เสวิกุล สิ่งรอบตัวที่เขาสัมผัสมันก็มากลายเป็นเพลง หนังบางเรื่องก็กลายเป็นเพลง เหตุการณ์บางเรื่องก็กลายเป็นเพลง


จังหวะ-ชีวิต-วิธีคิด-ในชานชาลา


หลังเสร็จจากเรื่องคนจร งานชิ้นถัดมา กุมภาพันธ์(2003) โดยผู้กำกับ ต้อม ยุทธเลิศ สิปปภาค พอมาเป็นหนังเเนวรักโรแมนติค ด้วยความที่ตอนนั้นยังวัยรุ่น พวกเขาก็ไม่ได้หวั่นกลัวเท่าไหร่ แต่ก็ยอมรับว่ายากเหมือนกัน เนื่องไม่ได้เรียนมา ไม่รู้ว่าควรเป็นแบบไหน ซีนนี้น่าจะเศร้าต้องใช้ซาวน์นี้ ซีนนี้สนุกหน่อยต้องแบบนี้ หรือขณะกำลังตามหากันต้องเสียงแบบไหน “ทำเท่าที่เราทำ เเล้วมันก็ดันเวิร์ก คนก็ชอบกัน ก็เป็นเรื่องแรกที่ทำให้คนรู้จักพวกเรา ในฐานะคนทำเพลงประกอบหนัง”


และแล้วหัวลำโพงริดดิม ก็เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้นอีกครั้ง ผ่านเรื่อง The last life in universe(2003) หนึ่งในผลงานที่ถูกพูดถึงมากที่สุดของ เป็นเอก รัตนเรือง


คราวนั้นพวกเขาจึงได้ทดลองทำงานเป็นสองคือ จากหนังที่ตลาดมากๆ ของต้อม ยุทธเลิศ ก็ได้ทำหนังแนวกระแสรอง ของ ต้อม เป็นเอก


นอกจากนั้นในปี 2003 พวกเขายังได้โอกาสทำดนตรีประกอบเรื่อง แอบคนข้างบ้าน หนังคอมเมดี้ จากค่าย MAHACHAI Film ที่มีนักแสดงตลกชื่อดังอย่าง เท่ง เถิดเทิง เล่นบทนำ สุดท้ายปลายปีเดียวกัน ต้อม ยุทธเลิศ ทำหนังเขย่าขวัญอย่าง บุปผาราตรี พวกเขาก็ได้ทำมิวสิคสกอร์อีกครั้ง “เลยรู้สึกว่าเราก็ทำหนังผีได้เว้ย ทำหนังอาร์ตด้วยก็ได้เว้ย ทำหนังรักก็ได้เว้ย คนก็รู้จักมากขึ้น “


พูดถึงกระบวนการสร้างงานอย่าง เพลงแรงดึงดูดในเรื่อง รักน้อยนิดมหาศาล( Last Life in The universe) ถูกเลือกนำมาใช้เป็นออริจินัลซาวน์แทร็ค โดยเป็นเอก เป็นคนเลือก การเรียบเรียง ทำเป็นสองเวอร์ชั่น คือมีแบบหม่นๆ เพราะโทนเรื่องนี้มันควรจะดาร์ก เป็นจุดขาย แต่ทีมทำเพลง ก็ยังรู้สึกว่าไม่ดีพอ แล้วพอหยุดไปช่วงหนึ่ง ในห้องอัด กอล์ฟ ทีโบน ขึ้นอินโทรกีต้าร์ไนล่อนมาเป็นจังหวะกึ่งบอสซ่า เเล้วโหน่งเล่นซาวน์อยู่ข้างหลัง

แอบมีLoop มีอะไรซุกซ่อนอยู่ด้วย และพยายามสื่อออกมาว่าเพลงกำลังเก็บอารมณ์บางอย่างในหนังที่ชวนให้รู้สึกไม่ธรรมดาไม่ปกติ จึงกลายเป็นอีกเวอร์ชั่นอะคูสติกมา ผ่านเสียงใสๆ ของธาริณี ทิวารี หนึ่งในผู้ร่วมตั้งหัวลำโพงริดิม ปรากฏว่าทั้งซาวน์และบรรยากาศออกมาดี นอกจากนี้แรงดึงดูด เวอร์ชั่นดังกล่าว ก็ทำให้พวกเขาเข้าใจและค้นพบว่า “เวลาทำเพลงให้หนังกับทำเพลงให้ตัวเอง มันก็เป็นอีกแบบหนึ่ง มันไม่ได้บอกว่าเราอยากได้อะไร แต่ทำสิ่งที่เขาอยากได้ว่าคืออะไร คนที่ทำหนังเขาก็ต้องรู้กว่าเราว่าอยากได้อะไร เพื่อเสียงมันจะไปตอบอะไรบางอย่างในหนังได้ ”


“พอเพลงแรงดึงดูดขึ้นตอนท้ายหนัง มันสว่างซะงั้น ซึ่งเราก็ไม่รู้เหมือนกัน”


กระทั่งเมื่อตอนทำให้ Gth(GDH) เรื่องแรกๆ อย่างเพื่อนสนิท(2005) คนก็จะรู้จักหัวลำโพงริดดิมมากขึ้นไปอีก ยิ่งเป็นหนังดราม่า วัยรุ่น และเกี่ยวกับความสัมพันธ์อย่างนี้ ตอนนั้นทางทีมก็ไม่ได้วางแผน แต่รู้สึกร่วมว่าหนังที่มีบทชัดเจนแบบนี้ ใช้เพียงโน้ตสามโน้ต คนก็รู้สึกตามอารมณ์ได้ เพราะบทมันมาแเล้ว บางเพลงมีออร์เครสต้าร์ขึ้นก็โอเค แต่ก็มาดูว่า แค่นี้มันเหมาะ แค่นี้พอดี


“เพลงแทรกในเพื่อนสนิทมี โปรดเถิดดวงใจ บุพเพสันนิวาส(เนื้อคู่กันแล้ว ก็คงไม่แคล้วกันไปได้ เขาฮัมมันขึ้นมาขณะนึก) โดยมากเราไม่ได้เลือก บางเรื่องเราเลือก โดยมากมันเขียนตั้งแต่ในบทเเล้ว ผู้กำกับเขาก็ต้องเล่าเรื่องผ่านเพลงที่เขาอยากสื่อออกไปตอนนั้น ว่าเพลงไหนมันจะเล่าเรื่องได้ในขณะนั้น ”


ท้ายที่สุดเขาย้ำอีกว่าก็ทำให้เหมือนว่าเราเป็นคนดูหนัง ทำเท่าที่มันควรจะต้องมีจริงๆ อย่าเกินไปกว่านั้น


ส่วนรถไฟฟ้า มาหานะเธอ(2009) เรื่องนั้นมีทรอมโบน กับเสียงขลุ่ย ก็ไม่ได้เกิดจากแนวคิดว่า คอนเซ็ปต์นี้ต้องการอะไร หรือเป็นตัวแทนใคร “มันเป็นเรื่องว่าเสียงนี้ใช้ได้วะ มันเข้ากับเมโลดี้และหนังชวนให้อุ่นๆดี เราก็เลยใช้มันเลย แต่ต้องมีสติพอว่ามันดีพอกับหนังหรือเปล่า ” ตอนท้ายจะมีเสียง “ปู่วุก ปุ๊ปปู่วุก” มันเป็นเหมือนเสียงนก เป็นก้อนขลุ่ยไม้ไผ่ บางทีก็หาอะไรที่คอมเมดี้ น้อยๆ แต่ให้ความรู้สึกดี


ขณะเดียวกันในหนังที่สื่อกับตลาดมากๆ หัวลำโพงริดดิมก็ไม่อยากทำแบบนั้น หรืออย่างตอนทำ ไฟนอล สกอร์ ทั้งเรื่องมันก็ไม่มีอะไรเป็นจุดเด่นมาก แต่มีฉากตอนกลางคืนที่ชายหาด ที่เล่นดอกไม้ไฟ อารมณ์มันพุ่งมาก เเล้วพวกเขาก็เลยเอากีต้าร์มาสาดใส่เป็นท่วงทำนองเลย


ด้านเพลงร้อง(Original Soundtrack)หัวลำโพงริดดิม ก็ได้ผลิต เหมือนกัน ด้วยความเป็นตัวแทนของหนังโดยมากมักจะถูกผลิตขึ้นก่อน คนจะได้รับรู้ก่อนจะดูหนัง มันก็ต้องทำหน้าที่เล่าหมดว่า วิธีการไปของหนังจะประมาณไหน สื่อสารกับใครอยู่ ฮิพฮอพ แร็ปหนักๆ ไลท์มิวสิค หรือว่าออร์เครสต้า มันก็เป็นท่าที ที่จะให้คนจดจำ


“ทำอย่างไรก็ได้ให้คนอยากไปดูหนัง เพลงวันหนึ่ง(จากแฟนเดย์) เราก็ให้เห็นท่าทีของหนัง เป็นอะคูสติค ดูจะเป็นชีวิตจริง เพลงฝากไว้ (ฝากไว้..ในกายเธอ) ก็เป็นท่าทีของหนังมีความไซไฟหน่อยๆ เพลงก็จะเป็นสไตล์แบบนี้ แต่ละเพลงก็เล่าแต่ละแบบ “


ตอนแรกก็ยังไม่ได้ทำออริจินัลซาวน์แทร็ค(เพลงร้อง)เยอะขนาดนี้ ตอนหลังหัวลำโพงริดดิมเหมาทั้ง OST.และ Music Score

ทั้งหมดทั้งมวลนี้อาจจะไม่มีรูปแบบสำเร็จรูป แต่มันต้องตอบอะไรบางอย่างในหนังได้ พอทำไปเรื่อยๆ ก็จะรู้สึกว่า ทำยังอย่างไรให้หนังมันลุล่วง ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าหนังมันจะขายได้


“แต่มันต้องดีในการเล่าเรื่อง คนดูเขาอินไหม จริงแล้วเราอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้สกอร์ก็ได้ แต่ถ้ามีก็ไม่เยอะ น้อยๆดีกว่าอะไรแบบนี้ บางทีความเงียบก็เป็นเสียงได้ ”


ผลงานชิ้นนี้ปรับปรุงจากข้อเขียนในโครงการบ่มเพาะนักเขียนหน้าใหม่ประจำปี 2561 โดยสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

174 views0 comments
bottom of page