top of page
Writer's pictureThe Isaander

ครบ 66 ปี ยุคจอมพลป. เปลี่ยนชื่อ "ภาคอีสาน" เป็น "ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ"



อีสาน : มาจากภาษาบาลีว่า อีสาน และภาษาสันสกฤตว่า อีศาน พจนานุกรม นิยามคำ อีสาน ว่า ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ



ส่วนหนังสือ รู้ รัก ภาษาไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายเพิ่มเติมว่า อีศาน ในภาษาสันสกฤต แปลว่า ผู้ปกครอง หมายถึง พระศิวะ


เหตุผลที่ภาษาไทยนำพระนามของพระศิวะมาเรียกเป็นชื่อทิศตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ก็เพราะว่าตามความเชื่อของอินเดีย ทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีพระศิวะเป็นผู้คอยปกปักรักษาอยู่



แม้ว่า อีสาน กับ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีความหมายเหมือนกัน แต่ก็ใช่ว่าทั้ง 2 คำ จะใช้แทนกันได้ทุกกรณี



อีสาน มักใช้เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของประชาชนที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประชาชนที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น อาหารอีสาน วัฒนธรรมอีสาน ดนตรีอีสาน แต่เมื่อใช้ว่า ภาคอีสาน หรือ คนอีสาน ถือเป็นคำที่ไม่เป็นทางการ คำที่เป็นทางการจะใช้ว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประชาชนที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ



วันนี้ของเมื่อ 66 ปีที่แล้ว 27 พฤษภาคม 2496 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศเชิญชวนให้ส่วนราชการและประชาชนเปลี่ยนการเรียกชื่อ "ภาคอีสาน" เป็น "ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" แทน



แม้ว่าคำว่า "อีสาน" จะเป็นคำในภาษาบาลี-สันสกฤตที่แปลว่า "ตะวันออกเฉียงเหนือ" ก็ตาม แต่เพื่อให้การเรียกชื่อภาคต่างๆ ในประเทศไทยมีความเหมาะสมทั้งในทางภูมิศาสตร์และภาษาไทย กรมประชาสัมพันธ์จึงได้มีประกาศเชิญชวนให้เปลี่ยนการเรียกชื่อภาคอีสานและภาคอื่นๆ ใหม่



"เนื่องจากการเรียกชื่อภาคต่างๆ ของประเทศไทยทางภูมิศาสตร์ในขณะนี้ยังไม่เหมาะสม คือบางภาคใช้เป็นภาษาไทย แต่บางภาคก็ยังใช้ชื่อเป็นบาลีสันสกฤตอยู่ กรมประชาสัมพันธ์จึงขอเชิญชวนให้ส่วนราชการและประชาชนใช้เรียกชื่อภาคต่างๆ ในทางภูมิศาสตร์ให้เหมาะสมตามภาษาไทย เช่น ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคใต้ เป็นต้น"



ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก คุณ ป.ลครพล


( "ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม, สู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ "แดนดอกพยอมไพร" ใน รัฐสภาสาร ปีที่ 3 ฉบับที่ 20 (28 เมษายน 2498) น. 19" ) และ http://www.royin.go.th/



#TheIsaander #ภาคอีสาน #ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ #จอมพลแปลกพิบูลสงคราม — at มหาวิทยาลัยขอนแก่น Khonkaen University.

501 views0 comments

Comments


bottom of page