top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

ศาลสั่งจำคุกเพิ่ม 4 ราย รวม 14 ราย ชาวบ้านสังเวยทวงคืนผืนป่า คสช.



3 กรกฎาคม 2562 ศาลจังหวัดชัยภูมินัดอ่านคำพากษาศาลอุทธรณ์คดีทวงคืนผืนป่า อุทยานแห่งชาติไทรทอง จังหวัดชัยภูมิ จำเลยที่นัดหมายในวันนี้มีทั้งหมด 4 คนคือ นริศรา, สุวลี, สมพิตรและสุวิทย์


ทั้ง 4 คนถือเป็นจำเลยชุดสุดท้ายของคดีทวงคืนผืนป่า อุทยานแห่งชาติไทรทองในชั้นฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์


คดีของสุวิทย์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้น แก้ไขค่าเสียหายที่ต้องชดใช้แก่กรมอุทยานฯ เพิ่มขึ้นตามอุทธรณ์โจทก์ จากเดิม 40,000 บาท เพิ่มเป็น 110,762 บาท ส่วนโทษจำคุกนั้นให้ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำคุก 7 เดือน


คดีของนริศรา ถูกกล่าวหาว่า บุกรุกอุทยานแห่งชาติไทรทองจำนวน 2 แปลง พื้นที่ประมาณ 11 ไร่ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุก 9 เดือน 10 วันและชำระค่าเสียหายจากการบุกรุกแปลงที่หนึ่ง 40,000 บาท แปลงที่ 2 90,000 บาท รวม 130,000 บาท


ในชั้นนี้ศาลอุทธรณ์ สั่งแก้ไขค่าเสียหายเป็นแปลงที่หนึ่ง 162,805 บาท แปลงที่สอง 444,356 บาท รวม 607,161 บาท พร้อมทั้งแก้ไขประเด็นกฎหมายที่โจทก์ไม่ได้ยกมาในชั้นนี้ แต่ศาลอุทธรณ์มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ คือ การกระทำความผิดของจำเลยที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม 2558 - วันที่11 กรกฎาคม 2559 ซึ่งการกระทำความผิดเกิดขึ้นก่อนและหลังการบังคับใช้พ.ร.บ.ป่าสงวน 2559 ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 กฎหมายดังกล่าวกำหนดโทษการบุกรุกพื้นที่ป่าไว้ที่ 1-10 ปีและปรับ10,000-200,000 บาท


แต่ศาลชั้นต้นวางโทษไว้เพียง 9 เดือน 10 วัน ซึ่งต่ำกว่าโทษตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ในประเด็นนี้จึงมิอาจเพิ่มโทษให้แก่จำเลยได้


คดีของสุวลี ถูกกล่าวหาว่า บุกรุกอุทยานแห่งชาติไทรทอง พื้นที่ประมาณ 5 ไร่ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุก 5 เดือน 10 วัน และชำระค่าเสียหายจากการบุกรุกที่ดิน 160,000 บาท


จำเลยอุทธรณ์ในประเด็นที่จำเลยสืบสิทธิการครอบครองต่อจากมารดา เป็นผู้รายได้น้อย มีการกินมาก่อนคำสั่งคสช.ที่ 64/2557 ได้รับประโยชน์จากคำสั่งคสช.ที่ 66/2557 ที่ระบุว่าไม่ใช้บังคับแก่ผู้มีรายได้น้อย เห็นว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นเพียงแนวทางให้เจ้าพนักงานที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งคสช.ที่ 64/2557


เป็นเรื่องของการจัดหาที่อยู่อาศัยไม่ใช่ผ่อนผันให้ทำกินต่อไปไม่ต้องออกจากพื้นที่ ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วว่า ค่าเสียหาย 160,000 บาทเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว โทษจำคุกยืนตามศาลชั้นต้น 5 เดือน 10 วัน


คดีสมพิตร(คดีที่2) ศาลชั้นต้นจำคุก 10 เดือน 20 วัน และชดใช้ค่าเสียหาย 100,000 บาท สมพิตรมาในชุดนักโทษ ผมสั้นเกรียนทั้งหัว พร้อมใส่โซ่ที่เท้า


ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่า การชดใช้ค่าเสียหาย 100,000 บาท ตามศาลชั้นต้นตัดสิน เหมาะสมแล้ว แม้ทางโจทก์จะคำนวนตามหลักวิทยาศาสตร์เพื่อให้เพิ่มการชดใช้ค่าเสียหาย แต่ศาลเห็นว่าไม่ใช่การคำนวนค่าเสียหายที่แท้จริง อีกทั้งจำเลยไม่ได้แผ้วถางเพิ่ม แต่เป็นการทำกินต่อจากที่ดินของคนอื่น ประกอบกับจำเลยเป็นผู้ได้รับผลกระทบตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 64/2557 ควรจะได้รับประโยชน์ตาม คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 66/2557 ที่ทางราชการจะต้องให้การช่วยเหลือเยียวยาไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนเกินควร ไม่ใช่แต่จะเรียกค่าเสียหายจากจำเลยอันเป็นการซ้ำเติมจำเลยที่เดือดร้อนอยู่แล้วให้เดือดร้อนขึ้น อุทธรณ์โจทก์ที่ขอให้เพิ่มเป็น 943,087 บาท จึงฟังไม่ขึ้น


ในส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่อุทธรณ์ว่าจำเลยเป็นผู้ยากไร้ ไม่มีที่ดินทำกิน ย่อมไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายต่อกรมอุทยานฯ ศาลเห็นว่า เนื่องจากที่ที่จำเลยเข้าทำกินมีข้อเท็จจริงเป็นข้อยุติแล้วว่าเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติไทรทอง ซึ่งจำเลยได้เข้าไปแผ้วถางให้โล่งเตียน ฟื้นฟูได้โดยยาก การที่ศาลชั้นต้นลดค่าเสียหายให้เหลือ 100,000 บาทนั้นเหมาะสมแล้ว พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำคุก 10 เดือน 20 วัน และชดใช้ค่าเสียหาย 100,000 บาท


**ดูข้อมูล "19 คดีไทรทอง" เมื่อชาวบ้านจังหวัดชัยภูมิ เตรียมเรียงหน้าเข้าคุก ตามนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า" ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5285


#TheIsaander #Isaannews #ชัยภูมิ #อุทยานแห่งชาติไทรทอง #ชาวบ้านซับหวาย #หนองบัวระเหว #ซึ้งแล้วน้ำใจศาลชัยภูมิ #อันธพาลครองป่า #คำสั่งคสช #ทวงคืนผืนป่า — at ข้างเรือนจำจังหวัดชัยภูมิ.

6 views0 comments
bottom of page