มนุษย์มีทั้งด้านและด้านมืด
หรือทั้งด้านดีและด้านเลว
เราจึงเปรียบคนยุคนั้นเป็นเสมือนคนสองหน้าหรือเป็นมนุษย์สองหน้านั่นเอง
.
(Albert Camus)
.
ครูบ้านนอก ภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายปี 2521 กำกับโดยสุรสีห์ ผาธรรม ผู้มีพื้นเพเป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี ฉบับภาพยนตร์ดัดแปลงมาจากบทประพันธ์ของครูชาวอีสาน คำหมาน คนไค ในชื่อเดียวกันนี้เอง
.
ครูบ้านนอก เวอร์ชั่นจอเงินเล่าถึงครูที่จบการศึกษา ก่อนได้รับการบรรจุเข้าเป็นข้าราชการครูในถิ่นทุรกันดาน ตัวละครหลัก ครูปิยะ นำแสดงโดย ปิยะ ตระกูลราษฎร์ ซึ่งได้บรรจุเข้าเป็นครูของโรงเรียนบ้านหนองหมาว้อพร้อมกับ ครูดวงดาว ที่รับบทโดย วาสนา สิทธิเวช และ ครูพิสิษฐ์ ครูหนุ่มเจ้าสำอาง ที่รับบทโดย สมชาติ ประชาไท โดยมี ครูคำเม้า ที่แสดงโดย นพดล ดวงพร เป็นครูใหญ่โรงเรียนบ้านหนองหมาว้อ โรงเรียนเล็ก ๆ ที่มีเพียงอาคารเรียนชั่วคราวมุงหญ้าคาชั้นเดียวพื้นติดดินเป็นห้องเรียน พร้อมกับผู้เรียนที่มอมแมมทั้งขาดแคลนชุดนักเรียนและทุนทรัพย์
.
ประเด็นที่น่าสนใจจากเนื้อเเรื่อเห็นจะเป็นสิ่งที่ถูกมองผ่านสายตาของครูจบใหม่อย่างครูปิยะ และครูดวงดาว ที่เต็มไปด้วยความสดใหม่ มีทัศนะและมุมมองที่ชื่นชมในความเป็นอีสาน ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะรักใน ความเป็นธรรมและความถูกต้อง เสมือนฮีโร่ของคนธรรมดาที่มองเห็นสิ่งที่เป็นปัญหา และสั่งสอนนักเรียนให้รักและหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติอย่างป่าของชุมชน โดยเฉพาะของครูปิยะที่ดูได้จากแบบเรียนและเนื้อหาที่ใช้ในการสอน ผ่านการจัดเตรียมและใช้สอนนักเรียนในระดับชั้นป.4 ที่ตนรับผิดชอบ
.
ขณะครูใหญ่คำเม้า กลับเป็นสัญญะของข้าราชการยุคเก่าที่มีรูปแบบในการทำงานที่ตายตัวและไม่สู้ปรับเปลี่ยนให้ทันตามยุคสมัย มีความกลมกลืนแน่นแฟ้นกับทั้งชุมชนและผู้มีอำนาจในพื้นที่อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ในขณะที่ครูพิสิษฐ์ นั้นเสมือนกึ่งกลางระหว่างทัศนะเก่าและใหม่ ที่ได้รับรู้ทั้งจากครูปิยะและครูใหญ่คำเม้า แต่โดยรวมคือทุกคนมีทัศนะบางอย่างที่แสดงออกมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอว่า ลึก ๆ แล้วต่างก็ต่อต้านความไม่เป็นธรรมในสังคมบางประการอยู่เนือง ๆ
.
เด็กด้อยโอกาสและขาดแคลน ระบบชนชั้นข้าราชการที่แสนดี และกรณีค้าไม้เถื่อนของนายทุน
.
หากใช้แว่นตาในการมอง ‘ความอยุติธรรมในสังคม’ ที่เกิดขึ้นภายในเนื้อเรื่อง จากบทปาฐกถาของ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ เรื่อง “หน้ากากความอยุติธรรม Injuctice mask” เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2557
.
ซึ่งเป็นนำในการประชุมวิชาการประเพณีสี่สถาบัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และกองทัพเรือครั้งที่ 17 เรื่อง “ความเป็นธรรมในสังคม: เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจะเป็นตัวฉายหน้าตาของความอยุติธรรม และ หน้ากากของความอยุติธรรม เพราะก่อนที่จะทำความเข้าใจต่อเรื่องความยุติธรรมนั้น จำเป็นจะต้องเข้าใจและรู้จักความไม่อยุติธรรมทั้งหน้าตาและสิ่งที่ซ่อนเร้นความอยุติธรรมเสียก่อน
.
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนภายในภาพยนตร์ ประการแรกคือเรื่องของเด็กนักเรียนที่ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์ที่จะสร้างสรรค์โอกาสในการเรียนการสอนอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเป็นสิ่งที่ไม่ว่ายุคใดสมัยใดก็ไม่สามารถแก้ไขได้อย่างครอบคลุม ภายในภาพยนตร์จะมีเด็กคู่หนึ่งพี่น้อง ที่ต้องสลับกันมาเรียนเพราะชุดนักเรียนมีชุดเดียว ซ้ำร้าย ชุดนั้นก็ขาดยุ่ย ภายใต้อาคารไม้มุงหญ้าที่ไม่มีฝากั้นห้อง สิ่งเหล่านี้สะท้อนอะไร หากไม่ใช่เรื่องของความขาดแคลนและด้อยในโอกาสที่จะเข้าถึงทรัพยากรและสื่อการเรียนการสอน รวมไปถึงปัจจัยพื้นฐานอย่างเครื่องนุ่งห่มในภาวะที่ต้องไม่ทำให้ขัดสนและถูกมองเป็นรายจ่ายก้อนโต
.
ขณะที่ชีวิตครูน้อยในโรงเรียนบ้านนอกดำเนินไปก็ต้องประสบกับการจัดลำดับชนชั้นข้าราชการที่แสนดีอย่างฉากไปรับเงินเดือนที่อำเภอของครูใหญ่คำเม้ากับครูพิสิษฐ์ที่มีการหักเงินเดือนอะไรต่ออะไรเพื่อสนองการทำบุญของคุณนายทั้งหลายราวกับว่าเป็น นักบุญทุนคนอื่น แต่ก็ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้
.
พอ ๆ กับเรื่องที่เกิดระหว่างผู้ตรวจการมาที่โรงเรียนบ้านหนองหมาว้อ ที่ทางโรงเรียนจำต้องจัดเลี้ยงใหญ่โตและจึงเกิดเหตุผู้ช่วยที่จอบจ้องครูดวงดาวอยู่นานก่อนที่จะชักชวนไปที่ลับและพยายามขืนใจ จากการกระทำจึงสื่อให้เห็นทัศนะของคนใหญ่คนโตในวงการราชการบางจำพวกที่ความเป็นจริงเป็นเช่นนี้ มองสตรีเพศเป็นเพียงเครื่องบำเรอกาม มองครูสาวเป็นเพียงเครื่องที่จะสนองทางเพศให้ตนเอง และเมื่อเกิดการไม่สมยอมและเกิดการปะทะกันโดยครูปิยะและครูพิสิษฐ์ กับ ผู้ช่วยผู้ตรวจการ สิ่งที่เกิดขึ้นอันเป็นค่าตอบแทนของการผดุงความถูกต้องคือ คำสั่งย้าย จาก เบื้องบน
.
และประเด็นสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดจากการที่คนเป็นครู ได้รับรู้และพบเห็นขบวนการค้าไม้เถื่อนจากอาคารเรียนมุงหญ้าจากเหตุซุงสไลด์ตกจากรถ และได้พบเห็นบ้างประปรายตั้งแต่เริ่มเรื่อง ราวกับเป็นตลกร้ายที่หนังต้องการจะสื่อให้ผู้ชมได้มองความไม่ปกติอันปกตินี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอยุติธรรมที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าอย่างชัดเจน นี่คือสิ่งที่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจนในทางนิตินัย แต่ในทางพฤตินัย เราจะเห็นการอุปถัมภ์ชุมชน อุปถัมภ์โรงเรียนภายใต้ภาพของเสี่ยใหญ่ผู้เป็นพ่อพระมาโปรด แต่เมื่ออยู่ในป่า เสี่ยใหญ่นายทุนก็แสดงธาตุแท้ของตนเองออกมาว่าเป็นเพียงแค่ผู้ตกอยู่ในหลุมทุนนิยมและอำนาจอย่างถึงที่สุด เห็นแก่ตนและความร่ำรวยจากการค้าของเถื่อนซึ่งก็คือทรัพยากรป่าไม้ที่ชุมชนได้ใช้สอยเป็นที่สาธารณะ และผู้ที่กระทำการผิดกฎหมายเช่นนี้ ย่อมกลัวสิ่งๆหนึ่งที่มีพลังและอำนาจในการเปิดโปงขบวนการ นั่นก็คือ 'สื่อ'
.
เป็นธรรมดาว่าหนูโสโครกที่ชอบทำอะไรในที่มืดลับ ๆ ล่อ ๆ มักจะเกรงกลัวต่อแสงสปอร์ตไลท์อยู่เป็นนิจ
.
สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกความเป็นจริงซึ่งแตกต่างจากความฝันแห่งโลกสมบูรณ์แบบคือ ความยุติธรรมเมื่อยืนอยู่ต่อหน้าความอยุติธรรมอย่างโดดเดี่ยว ก็จำต้องพ่ายแพ้ไปในที่สุด ความจริงฆ่าอุดมคติ นิยามดังกล่าวชัดเจนมากในเรื่องของหน้าตาและหน้ากากของความอยุติธรรม มันเป็นสิ่งที่เราแทบทุกคนเห็นและรับรู้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม แต่สิ่งที่เกิดกับครูปิยะคือ ผู้ที่พยายามนำความจริงออกสู่สังคมในฐานะที่ไม่อาจทนต่อความอยุติธรรมได้ จะถูกสิ่งที่หมู่มารในนามความอยุติธรรมได้บันดาลขึ้นคือการ ‘ปิดปาก’ ผู้ที่ต้องการนำเสนอความจริงที่เกิดขึ้นในนามความอยุติธรรม การตายของครูปิยะในตอนจบ จึงตอกย้ำว่า การจะสู้กับความอยุติธรรมจำเป็นต้องอาศัยมากกว่าคน ๆ หนึ่ง มากกว่าคนกลุ่ม ๆ หนึ่ง มากกว่าชุมชนๆหนึ่ง จนพลังในการต่อต้านความอยุติธรรมเป็นนามที่ “นับได้ยาก..” หากถึงวันนั้น วันที่หน้ากากความอยุติธรรมถูกกระชากออกทุกเมื่อเชื่อวัน การตายของครูปิยะในภาพยนตร์จะเป็นการตายของวีรบุรุษอย่างแท้จริง เพราะนั่นคือความตายเพื่อปกป้องความยุติธรรมโดยไม่สนว่าตนเองจะมีฐานะเป็นอะไร เป็นครู เป็นผู้สื่อข่าว หรือเป็นมนุษย์คนหนึ่งผู้หวงแหนในทรัพยากรป่าชุมชน และนี่จะเป็นการหยัดยืนเพื่อต่อต้านความอยุติธรรม โดยไม่สนว่าจะมีค่าเป็นเพียง ‘ครูบ้านนอก’ ที่ใครต่างก็มองว่าควรสอนอยู่แต่ในห้องเรียน
.
ในวันที่หน้ากากความอยุติธรรมครอบงำและปกคลุมไปทั่วสังคม คนแบบครูปิยะ ในนามครูบ้านนอกจึงจำเป็นต่อห้องเรียนเป็นอย่างยิ่ง
______________________________________________________________
บางส่วนของบทความอุทิศถึง ปิยะ ตระกูลราษฎร์ ศิลปินผู้ล่วงลับ พระเอกตลอดกาลในนาม ครูบ้านนอก
______________________________________________________________
ดูอะไรต่อดี: หนองหมาว้อ (2522)
Text: อัยการ ศรีดาวงศ์
Comments